ทำไมศัตรูอย่างอเมริกาจึงกลัวกองทัพกุดส์?!

      สำนักข่าวมัชริก : กระแสข่าวที่สหรัฐอเมริกากำลังพุ่งเป้าไปยังกองทัพกุดส์ (The Qods Force) ของหน่วยกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านและนายพลกอซิม สุไลมานี จากข้อมูลที่ถูกเปิดเผยขึ้นมา ความเป็นจริงนั้น สิ่งดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันอย่างที่คิด เพราะแท้ที่จริงแล้วเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่าหนึ่งทศวรรษที่ชาวอเมริกันเกิดความหวาดกลัวต่อกองทัพกุดส์นี้ และพวกเขาได้แสดงออกถึงความหวาดกลัวดังกล่าวออกมาด้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาได้ก้าวเท้าเข้ามาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางหลังจากปี 2001 และเข้ายึดครองประเทศอิรักและอัฟกานิสถาน อเมริกาได้ลิ้มรสชาติของการเผชิญหน้ากับกองทัพกุดส์ด้วยรูปแบบที่ลึกซึ้งที่สุดและนี่คือความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะพูดได้

     บางทีดูเหมือนว่าต้องใช้เวลายาวนานถึงหนึ่งทศวรรษ ที่ทำให้อเมริกาได้รู้จักคู่ปรับที่แท้จริงของตนเองในภูมิภาคตะวันออกกลางนี้ การรับรู้ของอเมริกาเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “พลังอำนาจของอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลาง” แม้ว่าจะไม่ใช่ในทุกกรณีก็ตาม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากประสบการณ์ต่างๆ ของการเผชิญหน้ากับกองทัพกุดส์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในช่วงเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ที่ชาวอเมริกันได้ตัดสินใจที่จะเริ่มต้นปรากฏกายทางด้านการทหารอย่างกว้างขวางในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น พวกเขาไม่คาดคิดเลยแม้แต่น้อยว่า พวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับพลังอำนาจใดๆ อีก และใครกันที่จะมาเป็นคู่ต่อสู้ที่แท้จริงของพวกเขาได้

      อเมริกาเคยคิดว่าภูมิภาคตะวันออกกลางนั้นเป็นห้วงบรรยากาศที่เปิดกว้างและว่างเปล่าจากคู่แข่ง ดังนั้นการควบคุมอยู่ห่างๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่พวกเขาจะเข้ามาปรากฏตัวในภูมิภาคนี้และทำตัวเป็นผู้บริหารจัดการมันโดยตรงเสียเลย แต่ขณะนี้หลังจากสิบปี การรับรู้ของชาวอเมริกันเกี่ยวกับข้อจำกัดต่างๆ ทางด้านการปฏิบัติการ ด้านวาทะกรรม ด้านข่าวกรองและด้านการเมืองของพวกเขาในพื้นที่นี้ มันได้กลายเป็นความจริงอย่างสมบูรณ์แล้ว และทางเลือกเพียงอย่างเดียวที่พวกเขากำลังมองเห็นอยู่เบื้องหน้าของเขานั้นก็คือ พวกเขาจะต้องเก็บสัมภาระและเดินทางออกไปจากภูมิภาคนี้ บางที่คนจำนวนมากอาจไม่รู้ในเรื่องนี้ แต่ทว่านี่คือข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่สำคัญมากและไม่มีทางเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้ ดังที่ว่ากองทัพกุดส์ (The Qods Force) ของหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน และนายพลฮาจญ์กอซิม สุไลมานีนั้นมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการทำให้อเมริกาจอมอหังการผู้กระหายสงครามต้องถอนตัวออกไปจากภูมิภาคตะวันออกกลางในที่สุด

     ปัญหาของชาวอเมริกันเกี่ยวกับกองทัพกุดส์นั้นเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างเดียวจากปัญหาที่พวกเขามีเกี่ยวกับการปฏิวัติอิสลามโดยรวมทั้งหมดและระบอบที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิวัตินี้ ชาวอเมริกันไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่ากองทัพกุดส์นั้นคืออะไร ปฏิบัติงานอย่างไร และมีการกำหนดเป้าหมายอะไร ทำนองเดียวกันนั้น พวกเขาไม่อาจที่จะสามารถล่วงรู้ถึงเนื้อแท้อันเป็นธรรมชาติของอุดมการณ์และสำนักคิดที่ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ได้ก่อตั้งขึ้น และการให้คำจำกัดความโดยสรุปที่สุดก็คือ ฮาจญ์กอซิม สุไลมานีและบรรดาสหายของเขานั้นคือลูกศิษย์ที่ยอดเยี่ยมของสำนักคิดดังกล่าว

    ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่ผู้คนทั้งหลายจึงไม่สามารถรู้จักหน่วยกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านได้แม้เพียงธุลีเดียว ความพยายามและการดำเนินการต่างๆ ทั้งมวลของอเมริกาที่พยายามผลักดันแผนการสร้างภาพอันน่าหวาดกลัวให้ชาวโลกได้เห็นเกี่ยวกับหน่วยกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านนั้น ดูเหมือนว่าไม่อาจเป็นอะไรได้มากไปกว่าการตีโพยตีพายต่างๆ ที่ชวนขบขันเท่านั้น ซึ่งเราจะย้อนกลับมาพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นนี้ 

     ตรงข้ามกับสิ่งที่ชาวอเมริกันทั้งหลายกำลังคาดคิดกันอยู่ กองทัพกุดส์นั้นเป็นมากยิ่งกว่ากองกำลังปฏิบัติการชั้นยอด (ซึ่งสิ่งนี้เป็นอยู่แล้วโดยไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย) แต่ทว่ากองทัพกุดส์นั้นคือแนวคิดและอุดมการณ์หนึ่ง ซึ่งไม่รู้จักคำว่าพรมแดน และมันกำลังนำสาสน์และเรื่องราวสำคัญต่างๆ ออกไปยังทุกทิศทุกทาง (มันคือแนวคิดและอุดมการณ์) ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามและเผชิญหน้าโดยตรงอย่างถาวรกับค่านิยมต่างๆ อันเป็นพื้นฐานที่สุด และแนวทางต่างๆ ของอารยะธรรมแบบตะวันตก

     เพื่อที่จะให้ชาวอเมริกันรับรู้ว่าทำไมกองทัพกุดส์นั้นถึงมีความแข็งแกร่ง และทำไมพวกเขาจึงประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับชาวอเมริกันได้ถึงเพียงนี้ จึงทำให้พวกเขาต้องถอยหลังออกห่างจากการวิเคราะห์ต่างๆ แบบเจมส์บอนด์สักเพียงเล็กน้อย และหันมาคิดใคร่ครวญและวิเคราะห์ถึงรากฐานต่างๆ ทางด้านแนวคิดและอุดมการณ์ที่กองทัพกุดส์นี้เป็นผู้นำพามันมา

     ความกลัวต่อกองทัพกุดส์ในประเด็นแรกนั่นก็คือ ความกลัวจากกองทัพแห่งการปฏิวัติอิสลามที่ปลุกเร้าประชาชนให้ตื่นและไม่ยอมประนีประนอมกับความชั่วร้ายใดๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดของชาวอเมริกัน ภารกิจหลักของกองทัพกุดส์นั้นไม่ใช่การจัดเตรียมจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และการปฏิบัติการพิเศษทางด้านข่าวกรองแต่อย่างใด แต่ภารกิจหลักของกองทัพกุดส์คือการสอนและการย้ำเตือนประชาชาติมุสลิมให้ตระหนักอยู่เสมอว่า ศาสนาที่แสดงออกด้วยการประนีประนอมและการยอมอ่อนข้อให้กับการปฏิเสธ (กุฟร์) และการกดขี่ การมีจำนวนผู้คนเพียงเล็กน้อยนั้น มิใช่เหตุผลที่เพียงพอที่จะหยุดยั้งพวกเขาจากการปฏิบัติหน้าที่และการย่างก้าวไปบนเส้นทางของการต่อสู้นั้น และสิ่งนั้นมิใช่ศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน

     อิสลามที่แท้จริงนั้นได้วางรากฐานอยู่บนการต่อสู้กับการตั้งภาคี (ชิกร์) และในยุคปัจจุบันนี้การตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้าที่ร้ายแรงที่สุด คือการยอมมอบตนต่อการครอบงำของอเมริกาและชาวไซออนิสต์ทั้งหลาย ในวันนี้สิ่งที่ทำให้อเมริกาต้องพิกลพิการ และทำให้กำลังของพวกเขาต้องถอนตัวตัวออกจากแผ่นดินต่างๆ ของมวลมุสลิมอย่างถาวรนั้น มิใช่ความหวาดกลัวจากขีปนาวุธต่างๆ ของกลุ่มฮามาสและกองกำลังของกลุ่มฮิซบุลลอฮ์แต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่ทว่ามันคือความหวาดกลัวจากแนวคิดและอุดมการณ์ที่ทำให้นักต่อสู้ 30 คนของกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเมือง “อัยตุชชะอ์บิ” ของเลบานอน ซึ่งตกอยู่ภายใต้การปิดล้อมของไซออนิสต์อย่างสมบูรณ์แล้วนั้น แต่ด้วยกับเจตนารมณ์อันสูงส่งทำให้พวกเขา สามารถพิทักษ์รักษาเมืองนี้ (ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนของเลบานอนเพียงไม่กี่ร้อยเมตร) เอาไว้ได้ จากการถูกยึดครองแบบเบ็ดเสร็จจวบจนถึงวันสุดท้ายของการทำสงคราม เมื่อใดก็ตามที่ชาวอเมริกันได้เข้าใจว่า ความลับของการยืนหยัดต้านทานดังกล่าวนั้นคืออะไร เมื่อนั้นพวกเขาจะสามารถรู้จักกองทัพกุดส์ รู้จักนายพลฮาจญ์กอซิม สุไลมานีและซัยยิดฮะซัน นัศรุลลอฮ์ได้ดียิ่งขึ้น 

      ความกลัวต่อกองทัพกุดส์ในประเด็นที่สองก็คือ การยอมรับความเกลียดชังต่ออิสราเอลอาชญากรผู้ชั่วร้ายที่ยึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์ที่กำลังแผ่ปกคลุมอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง การต่อสู้กับอิสราเอลและการยืนหยัดเผชิญหน้ากับทุกๆ สิ่งในภูมิภาคนี้ที่มีกลิ่นอายของอเมริกาอยู่ ตัวจักรสำคัญของการขับเคลื่อนคือการปฏิวัติแห่งอิสลามในภูมิภาคนี้ นี่คือประเด็นหนึ่งที่ก่อนหน้าการเริ่มต้นของการปฏิวัติต่างๆ ของอิสลามในภูมิภาค บรรดาผู้บริหารทำเนียบขาวไม่ได้ตระหนักในเรื่องนี้ รัฐบาลจอมเผด็จการทั้งหลายที่ภายนอกดูเหมือนจะมีความมั่นคงแข็งแกร่งนั้นได้กลายเป็นม่านบังตาของชาวตะวันตก ซึ่งทำให้พวกเขามิอาจมองเห็นถึงก้นบึ้งแห่งความเกลียดชังอิสราเอลและอเมริกาที่แผ่รากหยั่งลึกอยู่ในจิตวิญญาณของประชาชนเหล่านี้  ศิลปะของกองทัพกุดส์นั่นก็คือ ในตลอดระยะเวลาหลายปีที่อเมริกาหลงคิดว่า บรรดาผู้นำชาติอาหรับที่เป็นลูกสมุนและพันธมิตรโดยการนำของชาอุดีอาราเบียนั้น สามารถพิทักษ์รักษาภูมิภาคตะวันออกกลางเอาไว้ในอุ้งมือแห่งอำนาจของอเมริกันได้แล้ว และได้เปลี่ยนให้เป็นสถานที่ที่ให้ความปลอดภัยสำหรับอิสราเอล

      กองทัพกุดส์มิได้เพียงแค่พิทักษ์รักษาไฟแห่งการต่อสู้กับบรรดาไซออนิสต์ไว้ในหัวใจของบรรดาผู้ศรัทธาเพียงเท่านั้น แต่ยิ่งไปกว่านั้น ได้ทำให้ความร้อนแรงและเปลวไฟของมันเพิ่มทวีคูณยิ่งขึ้นในทุกๆ วัน จนกระทั่งบัดนี้เปลวเพลิงต่างๆ ได้ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงและกำลังเผาไหม้บรรดาทายาทอสูรแห่งอเมริกันที่อยู่ในภูมิภาคนี้ เมื่อใดก็ตามที่อเมริกาสามารถค้นหาความลับของความเกลียดชังต่ออิสราเอลที่แผ่ปกคลุมอย่างกว้างขวางอยู่ในภูมิภาคได้แล้ว เมื่อนั้นอเมริกาคงจะเข้าใจถึงความลับของความเป็นที่รักและความเป็นผู้ประสบความสำเร็จของนายพลกอซิม สุไลมานี และประชาชนของเขา

      ประเด็นที่สาม ความหวาดกลัวต่อกองทัพกุดส์ก็คือ ความหวาดกลัวต่อการแผ่ขยายแบบอย่างของการปฏิวัติอิสลาม ครั้งหนึ่งนายพลฮาจญ์กอซิม สุไลมานี ได้แสดงทัศนะต่างๆ ที่ชัดเจนของตนซึ่งน้อยครั้งที่จะมีโอกาสได้ยิน เขาได้กล่าวว่า “ประชาชาติอิหร่านนั้นเป็นเพียงประชาชาติเดียวในโลกที่มีศักยภาพพอที่จะสร้างความปราชัยครั้งประวัติศาสตร์ให้แก่อเมริกาได้” ประมาณหลายปีที่แล้วที่คำพูดประโยคนี้ถูกอ้างอิงมาจากปากของฮาจญ์กอซิม สุไลมานี หลายคนเชื่อว่ามันเป็นเพียงความคาดหวังหนึ่งที่ใหญ่โตและฟังดูหวานหู แต่เป็นเรื่องที่ห่างไกลต่อความเป็นจริง แล้ววันนี้เป็นอย่างไรเล่า?! วันนี้ซึ่ง นายนาทานนาฮู ยังคงได้ยินเสียงของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ก้องกังวานอยู่ในก้นบึ้งแห่งโสตประสาทของตน และโรเบิร์ต เกตส์ ได้กล่าวว่า “การเผชิญหน้า (และการโจมตีทางทหาร) ต่ออิหร่านนั้น ย่อมหมายความว่าในวันพรุ่งนี้สหรัฐอเมริกาจะต้องทำสงครามในแผ่นดินของตนเองกับลูกหลานของการปฏิวัติแห่งอิหร่าน” 

นายพลฮาจญ์กอซิม สุไลมานี

     ดังนั้น ทุกวันนี้จะยังสามารถกล่าวได้อีกไหมว่า คำพูดที่ฮาจญ์กอซิม สุไลมานีได้เคยกล่าวไว้นั้นเป็นเพียงความคาดหวังหนึ่งที่ห่างไกลจากความเป็นจริง?!

     ชาวอเมริกันรู้แล้วว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุด และเป็นปัญหาในอนาคตที่พวกเขาจะต้องใช้กลยุทธ์มากที่สุดนั่นก็คือ พวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับกระแสการหวนกลับคืนมาของการเมืองแบบอิสลามในภูมิภาคนี้ได้อย่างไร?! และสิ่งที่จะทำให้ปัญหานี้กลายเป็นเรื่องน่าหวาดกลัวมากยิ่งขึ้นนั่นก็คือ ชาวอเมริกันได้ประจักษ์แล้วว่า การหวนกลับคืนมาของการเมืองแบบอิสลาม การรวมศาสนจักรและอาณาจักรเข้าด้วยกันในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น ไม่มีความหมายเป็นอย่างอื่นนอกจากการแผ่ขยายแบบอย่างของอิหร่าน และอิหร่านเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ประสบความสำเร็จและมีประสบการณ์ การประสานรวมระหว่างศาสนจักรและอาณาจักรเข้าด้วยกัน

     และผลิตผลจากประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือ สิ่งที่นายพลกอซิม สุไลมานีได้กล่าวไว้ว่า “อิหร่านจะทำให้อเมริกาต้องนั่งมึนอยู่ในที่นั่งของเขาในภูมิภาคนี้” ใช่แล้ว! กองทัพกุดส์ คือผู้ที่จะติดอาวุธให้แก่บรรดานักต่อสู้ในภูมิภาคนี้ แต่ไม่ใช่อาวุธสงคราม ทว่าเป็นอาวุธทางแนวคิดและอุดมการณ์ซึ่งจะมีความแหลมคมมากยิ่งกว่าอาวุธใดๆ เป็นพันๆ เท่า ฮาจญ์กอซิม สุไลมานีไม่เคยให้อาวุธเหล็กแก่ผู้ใดในภูมิภาคนี้ และไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องกระทำเช่นนั้น เขาเพียงแต่สอนบรรดานักต่อสู้ในภูมิภาคนี้ว่า พวกเขาควรจะคิดอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ความคิดและอุดมคติที่แหลมคมที่สุดที่ออกมาจากหัวใจของพวกเขา ซึ่งจะยังอันตรายให้แก่เรือนร่างของมหาอำนาจจอมอหังการนั้นได้ นี่และคืออาวุธที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะเป็นไปได้ เมื่อใดก็ตามที่ชาวอเมริกันประจักษ์ถึงความลับในการหวนกลับคืนมาของการเมืองแบบอิสลาม เมื่อนั้นพวกเขาก็จะรู้จักกองทัพกุดส์

      ประเด็นที่สี่ ความหวาดกลัวต่อกองทัพกุดส์ หมายถึงความหวาดกลัวต่อชัยชนะของพฤติกรรมการแสดงออกในเชิงอุดมการณ์ (Ideological behavior) ที่มีเหนือพฤติกรรมการแสดงออกในเชิงปฏิบัตินิยม (Pragmatic behavior) ชาวอเมริกันนั้นเข้าใจถึงความหมายของประโยคนี้ได้ดีกว่าใครในโลก ท่านทั้งหลายลองพิจารณาเปรียบเทียบตัวอย่างสองกรณีนี้ กรณีแรกคือกรณีที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ ในช่วงเวลาของวันที่สองเดือนโครด๊อด (ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่านที่ก่อให้เกิดขบวนการสีเขียวภายใต้การสนับสนุนของอเมริกา เนื่องจากมิได้เกิดจากอุดมการณ์จึงไม่ประสบความสำเร็จ มีการสลายตัวและหยุดการเคลื่อนไหวไปในที่สุด/ผู้แปล) อีกกรณีตัวอย่างหนึ่งคือ (สงครามแปดปีระหว่างอิหร่านกับอิรัก) กรณีหนึ่งนั้นพวกลัทธิปฏิบัตินิยมทั้งหลายเป็นผู้บริหารจัดการ แต่ในอีกกรณีหนึ่งนั้นบรรดาสานุศิษย์ของฮาจญ์กอซิม เหล่าวีรบุรุษที่มีผิวเกรียมไปด้วยแดดผู้ซึ่งรู้จักเส้นทางต่างๆ ของภูเขาและท้องทะเลทรายดีกว่าสถานที่ต่างๆ ที่งดงามและทันสมัยที่เป็นภาพลวงตาของเมืองต่างๆ ลองดูซิว่ากรณีตัวอย่างใดที่ถูกบริหารจัดการได้ดีกว่า? เมื่อใดก็ตามที่ชาวอเมริกันรับรู้ถึงคำตอบของคำถามข้อนี้ เมื่อนั้นพวกเขาก็จะรู้จักกองทัพกุดส์

     และสุดท้ายของความหวาดกลัวทั้งหมดที่มีต่อกองทัพกุดส์นั่นก็คือ ความหวาดกลัวต่อการไร้ความหมายของคำว่า “พรมแดน” กองทัพกุดส์ได้สอนแก่บรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ว่า การที่พวกเขาจะนั่งรอศัตรูอยู่ในบ้านของตน แต่จงออกไปสู้กับศัตรูในบ้านของเขาเสียเลย บางทีในช่วงเวลาท้ายๆ นี้อเมริกาอาจไม่ได้คิดหรือให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้อย่างจริงจังสักเท่าใดนัก แต่บัดนี้เสียงที่ตะโกนก้องคำว่า “อิสราเอลจงพินาศ” ได้ดังขึ้นจากใจกลางของเมืองนิวยอร์ค และพวกเขาจะได้เข้าใจแล้วว่า ความหมายของคำว่า "ปฏิบัติการนอกพรมแดน" นั้นมันคืออะไร? เมื่อใดก็ตามที่ชาวอเมริกันได้เข้าใจว่า ความเกลียดชังต่ออิสราเอลไปถึงนิวยอร์คได้อย่างไร พวกเขาก็จะได้ประจักษ์ถึงความเป็นต้นแบบในทางปฏิบัติของกองทัพกุดศ์ในตะวันออกกลางได้เช่นกัน

     ข้อเขียนนี้เป็นเพียงบทเริ่มต้นหนึ่งเท่านั้น หากใครก็ตามที่ต้องการจะพูดคุยเกี่ยวกับกองทัพกุดส์ จำเป็นจะต้องสะท้อนอย่างลุ่มลึกถึงแนวคิดอีกด้านหนึ่ง นั่นหมายถึงแนวคิดในเรื่องของการแสวงหาการเป็นชะฮีด (การพลีชีพในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า) แต่อย่างไรก็ตาม ชาวอเมริกันนั้นรู้ดีว่า คำๆ นี้หมายถึงอะไร? เพราะเนื่องจากเป็นไปได้ว่าบรรดานักวิเคราะห์ของพวกเขาคงจะได้อธิบายแก่พวกเขาโดยประมาณแล้ว เหมือนกับคำพูดทั้งหมดของนายพลฮาจญ์กอซิม สุไลมานีที่ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งเขาได้นำเสนอไว้ในที่ชุมนุมต่างๆ ในพิธีเชิดชูเกียรติคุณของบรรดาเหล่าชะฮีด การชุมนุมต่างๆ ที่ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งได้กล่าวว่า ฮาจญ์กอซิม สุไลมานี ไม่เคยปฏิเสธการรับเชิญแม้แต่ครั้งเดียว และคำพูดแรกและคำพูดสุดท้ายของเขาในสถานที่ชุมนุมเหล่านี้ก็คือคำพูดที่เขามักจะกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายได้โปรดวิงวอนขอให้ผมได้เป็นชะฮีดด้วยเถิด” เมื่อใดก็ตามที่ชาวอเมริกันเข้าใจถึงความลับของความรักและความผูกพันที่ฮาจญ์กอซิม สุไลมานี มีต่อชะฮีดอะห์มัด กาซิมี (ผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นดินของหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม) แล้ว เมื่อนั้นพวกเขาก็จะได้รู้จักกองทัพกุดส์

     กล่าวโดยสรุปแล้ว ความหวาดกลัวต่อกองทัพกุดส์นั้น คือความหวาดกลัวต่อเหล่าวีรบุรุษที่ยอดเยี่ยมที่สุดและมีความกล้าหาญที่สุดของอิหร่าน ที่ใช้ชีวิตเยี่ยงบุรุษนิรนามอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของการปฏิบัติภารกิจที่เสี่ยงอันตรายมากที่สุดในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน และพวกเขาไม่เคยรู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อยและทุกข์ยากใดๆ  เพียงเพื่อเป้าหมายอันสูงส่งในการแผ่ขยายอิสลามเท่านั้น แนวคิดอันลึกซึ้งและอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่เช่นนี้ สติปัญญาอันเล็กน้อยของชาวอเมริกันที่ถูกทำให้กลายเป็นดิจิตอลไปแล้วนั้นจะรับรู้ได้อย่างไร?!!


ที่มา : สำนักข่าวมัชริก

เขียนโดย : มะฮ์ดี มุฮัมมะดี

แปลโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม