176 ชีวิต สำคัญสำหรับอเมริกาจริงหรือ?

     เสียงโวยวายของอเมริกาหลังจากเครื่องบินโดยสารยูเครนตก ได้ดังขึ้นประหนึ่งว่าชีวิตของมนุษย์มีความสำคัญสำหรับรัฐบาลของประเทศนี้ แต่ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลายาวนานหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกานอกเหนือจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแล้วยังได้เข่นฆ่าชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์หลายล้านคน

     "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า เขาได้ยืนเคียงข้างประชาชนชาวอิหร่านมานับตั้งแต่เริ่มต้นรัฐบาลของเขา

     ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารว่ามันน่าสงสัย ท่าทีการแสดงออกในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับการรายงานข่าวจากสื่อมวลชนเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา น่าสนใจทีเดียวที่เราจะรู้ว่าสหรัฐฯ เป็นรัฐที่ถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council หรือ UNHRC)

     คำถามก็คือว่า ชีวิตของผู้คนรวมถึงชาวอิหร่านนั้นมีความสำคัญต่อรัฐบาลอเมริกันจริงหรือ? เพื่อเป็นการตอบคำถามนี้ ก่อนอื่นเราจะมาทบทวนดูโดยสังเขป ไม่ใช่โดยละเอียดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต

     สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกและรายเดียวในประวัติศาสตร์ที่ใช้ระเบิดปรมาณูในการสังหารหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 1945

     สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลงในเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ โดยคำสั่งของประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในขณะนั้น จนเป็นเหตุทำให้ผู้คนอย่างน้อย 220,000 คนต้องเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

     โดยรวมแล้วนับจากปี 1945 เป็นต้นมา รัฐบาลได้สังหารชีวิตของประชาชนพลเรือนมากกว่า 20 ล้านคนในสงครามต่างๆ จำนวนมาก

     ในอีกฉากหนึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับเที่ยวบินโบอิ้ง 737 ของยูเครนซึ่งตกใกล้กับสนามบินอิมามโคไมนี (ร.ฮ.) แต่บางทีนายทรัมป์อาจลืมไปหรืออย่างน้อยก็อาจไม่ได้หันกลับมาดูตัวเองว่า ในวันที่ 3 กรกฎาคม 1988 กองทัพสหรัฐฯ จงใจยิงเครื่องบินเที่ยวบินที่ 655 ของสายการบินอิหร่านแอร์ โดยมีผู้โดยสารจำนวน 290 คน ซึ่งประกอยด้วยเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีจำนวน 66 คน รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ ในเรื่องนี้ ซึ่งหลังจากผ่านไปสี่ปีนิตยสาร "นิวส์วีก" ไม่ใช่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมายอมรับว่า กองทัพสหรัฐฯ ต้องรับผิดชอบในการโจมตีนี้

     จนถึงขณะนี้สหรัฐอเมริกาไม่เคยขอโทษต่อการกระทำดังกล่าว แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมอบเหรียญแห่งความกล้าหาญให้แก่ "William Rogers" ผู้บัญชาการเรือรบ "USS Vincennes (CG-49)"  ผู้ที่จงใจฆ่าผู้โดยสารผู้บริสุทธิ์จำนวน 290 คน กลับมาวันนี้กลายเป็นผู้กังวลต่อผู้คนจำนวน 176 คนไปแล้วกระนั้นหรือ?

     หากสหรัฐอเมริกามีความกังวลต่อชีวิตมนุษย์จริงแล้ว ทำไมจึงลอบสังหารเจ้าหน้าที่ทหารของอิหร่านและอิรักในบริเวณใกล้สนามบินแบกแดด? บรรดาผู้ที่เสียชีวิตในการโจมตีดังกล่าวนั้นไม่ใช่มนุษย์อย่างนั้นหรือ? ยิ่งไปกว่านั้นชะฮีดนายพล "กอซิม สุไลมานี" เป็นผู้ช่วยชีวิตประชาชนในภูมิภาคจำนวนนับล้านให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายของกลุ่มไอซิส ด้วยความอุตสาห์พยายามของตน โดยไม่รู้ว่า หากกลุ่มไอซิสไม่ปราชัยและในทางกลับกันหากพวกเขามีอำนาจขึ้นมา ถึงตอนนี้และในอนาคตจะทำให้ชีวิตของผู้คนจำนวนหลายล้านตกอยู่ในภยันตรายอย่างไร การลอบสังหารบุคคลที่จะช่วยให้ชีวิตของมนุษย์รอดพ้นจากอันตรายนั้น ในความเป็นจริงแล้วมิใช่เป็นการทำให้ชีวิตของผู้อื่นตกอยู่ในอันตรายกระนั้นหรือ?

     มีตัวอย่างทางประวัติศาสตร์มากมายเกี่ยวกับอาชญากรรมของสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่การสังหารหมู่ชาวเวียดนามไปจนถึงการฆ่าผู้บริสุทธิ์ในอัฟกานิสถานและอิรัก เรื่องราวของสถานกักกัน "Abu ​​Ghraib" , "Bagram" และ "Guantanamo" และการทรมานนักโทษอย่างโหดร้ายก็ยังไม่ได้ถูกลบเลือนออกไปจากความทรงจำของประชาชน

     อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาได้พยายามเปรียบเทียบระหว่างการตกของเครื่องบินยูเครนในอิหร่านและการยิงเครื่องบิน 655 ของสายการบินอิหร่านแอร์ ในขณะที่เที่ยวบินของอิหร่านถูกยิงตามคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ โดยเจตนา แต่เที่ยวบินของยูเครนได้ตกอันเป็นผลมาจากความผิดพลาดของมนุษย์และไม่มีเจ้าหน้าที่อาวุโสอยู่ในการปฏิบัติการของระบบป้องกันภัยทางอากาศ

     ดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันมากระหว่างสองเหตุการณ์นี้ ถึงแม้ว่า การตกของเครื่องบินยูเครนจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เจ้าหน้าที่อิหร่านก็ได้แสดงความรับผิดชอบและขอโทษ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบและขอโทษ แต่มาตอนนี้กลับทำตัวเป็นเหมือน "พี่เลี้ยงที่เมตตาอาทรกว่าแม่"

     เราคงไม่พูดไปไกลมากกว่านี้ หลังจากการลอบสังหารนายพลกอซิม สุไลมานี "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้ขู่ว่าจะทิ้งระเบิดโจมตีสถานที่ 52 แห่งของอิหร่าน รวมถึงสถานที่ต่างๆ ทางวัฒนธรรม ด้วยกับคำขู่เช่นนี้ ยังจำเป็นต่อเหตุผลอื่นๆ มากไปกว่านี้อีกกระนั้นหรือ ในการพิสูจน์ความเป็นปฏิปักษ์ของเขากับประชาชนชาวอิหร่าน และความไม่ยี่หระใดๆ ของเขาต่อการเข่นฆ่าชีวิตของมนุษย์?

     เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลของสหรัฐฯ สามารถทำให้เรื่องสองเรื่องที่ตรงข้ามกันและไม่อาจรวมกันได้มารวมกันและเป็นจริงขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ในด้านหนึ่งคือการคว่ำบาตรต่างๆ ที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนสามัญชนและต่อกระบวนการรักษาผู้ป่วย และกระทั่งว่าในหลายกรณีที่เด็กๆ ผู้ไร้เดียงสาต้องสูญเสียชีวิตลง แต่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขากู่ก้องร้องตระโกนกล่าวอ้างถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน


ที่มา : สำนักข่าวตัมนีม

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม