ความขัดแย้งกับซาอุฯ และเรื่องอื้อฉาวในเยเมน ซูดานจะถอนตัวจากพันธมิตรซาอุฯ หรือไม่?

      ทหารซูดานซึ่งได้เข้าสู่การทำสงครามกับเยเมนในนามพันธมิตรของซาอุดิอาระเบียเมื่อสามปีก่อน เมื่อไม่กี่วันมานี้ความล้มเหลวและการสูญเสียชีวิตของพวกเขาที่กลายเป็นประเด็นข่าว เคียงคู่กับเหตุการณ์อื่นๆ ซึ่งล่าสุดได้ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซูดานต้องตกอยู่ในทางตัน

      สำนักข่าวฟาร์สรายงานว่า : การเกิดขึ้นของสองเหตุการณ์ที่ทหารซูดานเป็นฝ่ายหลักของเรื่องนี้ ส่งผลให้ในขณะนี้มีปฏิกิริยาสะท้อนอย่างมากมายทั้งภายในและภายนอกประเทศซูดาน

      เหตุการณ์แรกเกี่ยวกับกรณีที่ทหารของซูดานถูกกล่าวหาว่าข่มขืนเด็กสาวชาวเยเมนคนหนึ่งในเมืองริมทะเล "คูเคาะฮ์" (ทางตะวันตกของเยเมน) โดยใช้อาวุธข่มขู่บังคับกระทำชำเรา การกระทำดังกล่าวนี้ได้สร้างความโกรธแค้นต่อสาธารณชนในเยเมน และดำเนินไปถึงขั้นเรียกร้องให้ประหารชีวิตทหารผู้นี้ต่อหน้าสาธารณชนในศูนย์กลางของเมือง และยังได้เรียกร้องให้ดำเนินคดีกับบรรดาผู้ที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้

       แต่กระนั้นก็ตามผู้บัญชาการกองกำลังของพันธมิตรซาอุดิอาระเบียไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ อย่างเป็นทางการต่ออาชญากรรมครั้งนี้ และไม่มีการตั้งกรรมการเพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ความจริงและส่งตัวจำเลยไปยังศาล

       เหตุการณ์ที่สองเกี่ยวข้องกับการถูกสังหารของทหารซูดานจำนวนหลายสิบนาย ในวันพฤหัสบดีและคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยกองกำลังในเครือของกลุ่มอันซอรุลลอฮ์ ในบริเวณใกล้เมืองมีดี (Midi) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเยเมน ซึ่งสำนักข่าวเอเอฟพีก็ได้รายงานข่าวนี้เช่นกัน และโทรทัศน์ “อัล มะซีเราะฮ์” ก็ได้เผยแพร่ภาพวิดีโอตอนหนึ่งเกี่ยวกับศพของบรรดาผู้เสียชีวิตและสภาพความเสียหายของรถถังและยานพาหนะของพวกเขาที่ถูกทำลาย และนี่เป็นความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดของกองทัพซูดานนับตั้งแต่เข้าสู่การทำสงครามกับเยเมนในปี 2015

      หนังสือพิมพ์ "เราะยุ้ลเยาม์" ได้อธิบายถึงสองเหตุการณ์นี้โดยเขียนว่า การเข้าร่วมจำนวนมากกว่า 3,000 คนของทหารซูดานในการทำสงครามกับเยเมนเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในประเทศซูดาน และบางส่วนเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ในขณะที่อีกบางส่วนก็คัดค้าน แต่จำนวนผู้คัดค้านนั้นมีมากกว่าหลายเท่า และพวกเขาเชื่อว่าการเข้าร่วมของกองทัพซูดานในสงครามครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือต่างๆ ทางการเงินนั้นจะเป็นบ่อเกิดของอับอายขายหน้าของซูดาน       โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ แม้ทหารซูดานจะถูกสังหารเป็นจำนวนนับพันคน แต่รัฐบาลซูดานก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะอธิบายให้ฝ่ายคัดค้านพอใจได้เลย

      ประเทศอาหรับหลายประเทศ อย่างเช่นอียิปต์และจอร์แดนได้ปฏิเสธที่จะส่งทหารของตนไปเยเมนเพื่อเข้าร่วมในปฏิบัติการ "พายุแกร่ง" และอีกบางประเทศ อย่างเช่น โมร็อกโกก็ทำท่าว่าจะเข้าร่วมแต่ก็ไม่เข้าร่วม เนื่องจากผู้นำของประเทศเหล่านี้ ประการแรกพวกเขาทราบดีว่าชัยชนะในสงครามครั้งนี้เป็นเรื่องยากเข็ญยิ่งนัก และนอกจากนี้พวกเขายังหวั่นกลัวต่อปฏิกิริยาของสาธารณชนภายในประเทศอีกด้วย

      หนังสือพิมพ์นี้ยังได้เขียนอีกว่า การตัดสินใจของบรรดาผู้นำของซูดานในการส่งทหารหลายพันคนไปเข้าร่วมในสงครามที่ไม่มีประโยชน์ต่อซูดานและการปรากฏตัวอยู่ในแนวหน้าของทหารซูดาน ในแนวหน้าของสงครามเลือดนั้นได้ก่อให้เกิดคำถามต่างๆ โดยเฉพาะกรณีที่สงครามนี้ได้ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บของผู้คนจำนวนมาก และได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยากจนประเทศหนึ่งในโลกลง

      ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า "อุมัร อัลบะชีร" ประธานาธิบดีของซูดาน ทีกล่าวถึงเหตุผลของการขอบคุณต่อซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการขจัดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากอเมริกาที่มีต่อซูดาน จึงได้ตกลงที่จะเข้าร่วมในการทำสงครามกับเยเมน ด้วยความหวังที่ว่าจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อจะทำให้ซูดานหลุดพ้นออกจากวิกฤตเศรษฐกิจ

      แต่ในช่วงเดือนที่มานี้ความสัมพันธ์ของซูดานกับซาอุดีอาระเบียได้เกิดความบาดหมางขึ้น ทำให้ซูดานต้องหันกลับมาสู่อ้อมกอดของตุรกี โดยที่ในการเดินทางล่าสุดของนาย "รอญับ ฏ็อยยิบ เอร์ดูกาน" ประธานาธิบดีของตุรกีไปยังคาร์ทูมนั้นได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นยิ่ง และซูดานได้ยินยอมที่จะให้ตุรกีลงทุนบนเกาะซะวากิน ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลแดงและการตั้งฐานทัพทหารตุรกีบนเกาะนี้ ประเด็นนี้ได้สร้างความโกรธเคืองต่อซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอร์ดูกานยังมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกาตาร์ และในวิกฤติล่าสุดที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศเหล่านี้ ตุรกีได้ยืนอยู่ข้างกาตาร์ และนอกจากนี้ตุรกียังมีฐานทัพทหารแห่งหนึ่งในกาตาร์ ซึ่งมีทหารของตุรกีจำนวนมากกว่า 30,000 คนอยู่ในประเทศนี้ เพื่อกีดขวางการและป้องกันการแทรกแซงทางทหารจากสี่ประเทศ (อียิปต์, ยูเออี, ซาอุดิอาราเบียและบาห์เรน) ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของกาตาร์

     “เราะยุ้ลเยาม์” ได้เขียนในตอนท้ายว่า รายงานข่าวบางฉบับชี้ให้เห็นว่า ภายใต้ความสัมพันธ์ที่บาดหมางที่มีต่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบียในช่วงหลายเดือนมานี้ เป็นไปได้ว่า อุมัร อัลบะชีร อาจจะถอนกองกำลังของตนออกจากเยเมน และแม้ว่าเขาจะไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็เป็นไปได้ที่สองเหตุการณ์ข้างต้นจะทำให้เขาตกอยู่ในทางตีบตันและเขาจะเผชิญกับแรงกดดันต่างๆ เพื่อให้ถอนตัวออกจากสงครามนี้ ซึ่งการต้านทานแรงกดดันเหล่านี้ก็เป็นเรื่องยากลำบากเช่นกัน และคาดว่า อุมัร อัลบะชีร จะตัดสินใจถอนตัวออกจากสงครามนี้ในอีกไม่กี่วันหรืออีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า


ที่มา : ฟาร์สนิวส์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม