การตื่นตัวของอิสลาม จุดเริ่มต้นของการสร้างตะวันออกกลางใหม่

      “ตราบใดที่เรายังไม่ย้อนกลับมาสู่อิสลามของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ปัญหาต่าง ๆ ของเราก็จะยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไป เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของปาเลสไตน์ หรือแม้แต่ปัญหาของอัฟกานิสถาน และสถานที่อื่น ๆ ได้ ประชาคมทั้งหลายจะต้องหันกลับไปสู่ยุคเริ่มต้นของอิสลาม ถ้าหากรัฐบาลทั้งหลายหันกลับมาพร้อมกับประชาชนแล้วย่อมจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากไม่หันกลับมา ประชาชนทั้งหลายจำเป็นต้องแยกตัวออกจากรัฐบาลเหล่านั้น” (ท่านอิหม่ามโคมัยนี (ร.ฮ.))

     ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การลุกฮือในโลกอิสลามซึ่งเริ่มต้นจากประเทศตูนิเชีย และติดตามมาด้วยประเทศอียิปต์ เยเมน บาห์เรนและลิเบีย ทำให้โลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจอ่อน (Soft power) (1) ของโลกอิสลาม และทำให้พวกเขาวิตกกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดการปฏิวัติอิสลามขึ้นในกลุ่มประเทศของโลกอาหรับ

     แม้จะมีสื่อโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ของตะวันตกใช้ประโยชน์จากสงครามสื่อ “Soft War” (ซึ่งได้แก่ ปัจจัยทางด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีการสื่อสารและการดำเนินงานทางจิตวิทยา) พุ่งเป้าไปที่หลักความเชื่อต่าง ๆ ของชาวมุสลิม เอกภาพและความสามัคคีในโลกอิสลามและการตื่นตัวของอิสลาม แต่ก็ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เลยว่า การลุกฮือที่กำลังดำเนินอยู่ในโลกอาหรับนั้นจะสิ้นสุดลงด้วยการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในภูมิภาคตะวันออกกลาง มันคือการเปลี่ยนแปลงซึ่งอิสลามจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ก่อนใคร

     ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในกระบวนการนี้ การหวนกลับมาสู่ตัวตนนั่นก็คือการหันกลับมาสู่อิสลามอันบริสุทธิ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ของบรรดาประเทศมุสลิมนั่นเอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามันคือความสำเร็จที่สำคัญที่สุดจากการลุกฮือและการตื่นตัวของอิสลามในครั้งนี้

     ในอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันนี้ด้วยเหตุผลของการปรากฏขึ้นของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในภูมิภาคและการล่มสลายของระบอบเผด็จการทั้งหลาย ทำให้เราได้เห็นความโดดเด่นของกองกำลังต้านทานแห่งปาเลสไตน์และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในเชิงบวกในเส้นทางแห่งเสรีภาพของแผ่นดินนี้ และความเชื่อในประเด็นที่ว่า อิสราเอลจะต้องถูกทำลายนั้น ก็ดูมีน้ำหนักและใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น แม้แต่อเมริกาในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของรัฐบาลอิสราเอลผู้ยึดครอง ก็กำลังอยู่ในสภาพของการเปลี่ยนแปลงวิธีการ ทั้งนี้เนื่องจากว่า การยืนหยัดทัดทานเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของประชาคมทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และอีกไม่นานนักที่ผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนแปลงและการปฏิวัติต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ จะเป็นของโลกอิสลาม และผู้พ่ายแพ้หลักก็คือรัฐบาลอิสราเอล

     ในการพบปะกับกลุ่มนักต่อสู้ชาวปาเลสไตน์ของท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติ ท่านได้กล่าวไว้เช่นกันว่า “ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เลยว่าบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงต่าง ๆ ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงกำหนด (ตักดีร) นั่นคือ ตะวันออกกลางใหม่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และตะวันออกกลางนี้ จะเป็นตะวันออกกลางของอิสลามอย่างแท้จริง”

     เราคงต้องหวนรำลึกถึงท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ด้วยกับมุมมองที่ลุ่มลึกที่ท่านมีต่อสภาวะเงื่อนไขต่าง ๆ ของโลกปัจจุบัน และด้วยกับการมองอนาคตอย่างลึกซึ้งของท่าน นอกเหนือไปจากกรณีของการล้มสลายของสหภาพโซเวียตและค่ายคอมมิวนิสต์แล้ว ท่านยังได้พยากรณ์ถึงการล่มสลายของค่ายทุนนิยมของโลกตะวันตกไว้เช่นเดียวกัน ท่านอิมาม (อ.) ยังได้กล่าวอีกว่า :

     “ถ้าหากท่านทั้งหลายต้องการที่จะปลดปล่อยอียิปต์และปลดปล่อยประเทศอาหรับอื่น ๆ จากมือของต่างชาติและบรรดาตัวแทนเหล่านี้ ประชาชนทั้งหลายจะต้องยืนหยัดขึ้น เราทุกคนทราบดีว่าโลกอิสลามกำลังรอคอยการบรรลุผลอย่างสมบูรณ์ของการปฏิวัติของเรา เราจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อทุก ๆ ประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำเพื่อให้ได้รับเสรีภาพและอิสรภาพ และเราจะขอบอกกับพวกเขาอย่างชัดเจนว่า สิทธิอันชอบธรรมนั้นสามารถที่จะรับมันมาได้ แต่พวกท่านจะต้องยืนหยัดและจะต้องเหวี่ยงมหาอำนาจออกไปจากเวทีของประวัติศาสตร์และยุคสมัย ข้าพเจ้าได้กล่าวกับพวกท่านมาหลายครั้งแล้ว และขณะนี้ก็จะขอเตือนพวกท่านอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าหากตะวันออกกลางผู้ถูกกดขี่และแอฟริกายังไม่ยืนหยัดและพึ่งพาตัวเองแล้ว พวกเขาจะประสบกับความทุกข์ยากตลอดไป”

     วันนี้ชาวโลกกำลังมองเห็นคำพยากรณ์ของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) บรรลุสู่ความเป็นจริงแล้ว และปรากฏการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือนของ “การยืนหยัดต้านทาน” เผด็จการภายในประเทศและลัทธิล่าอาณานิคมและลัทธิไซออนิสต์สากล ได้กลายเป็นเหตุทำให้เกิดการลุกฮือครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนในตูนิเซีย อียิปต์ แอลจีเรีย จอร์แดน ลิเบียและเยเมน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผลที่ “โจเซฟ เนย์” (Joseph Nye) นักทฤษฎีที่มีชื่อเสียงของอเมริกาและเป็นผู้ค้นคิดทฤษฎีอำนาจอ่อน (Soft Power) ได้ยอมรับว่า “อิหร่านกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอิสรภาพไปแล้ว และกำลังแผ่ขยายคุณค่าและความดีงามต่าง ๆ ของประชาชนของตน ให้เป็นที่ยอมรับและเคารพให้เกียรติจากประเทศอื่น ๆ”

    ในสถานการณ์ที่อันตรายนี้ สหรัฐอเมริกาและบางประเทศในตะวันตก กำลังพยายามหาที่ยืนสำหรับตัวเองในการปฏิวัติเหล่านี้ ทั้งโดยวิธีเปิดเผยและวิธีแอบแฝง เท่าที่สามารถจะกระทำได้พวกเขาจะสร้างความเบี่ยงเบนให้เกิดขึ้นในเส้นทางของขบวนการเคลื่อนไหวนี้ ประเด็นต่าง ๆ อย่างเช่น การสร้างแนวคิดการแยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร หรือที่เรียกว่าการแยกศาสนาออกจากการเมือง (Secularism) เพื่อแทนที่อิสลามอันบริสุทธิ์ในประเทศมุสลิมทั้งหลาย ซึ่งสามารถพบเห็นได้อย่างชัดเจนในวิถีทางดังกล่าว ในความเป็นจริงแล้ว อเมริกาและตะวันตกผู้ซึ่งประสบกับความพ่ายแพ้ในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และไม่ว่าจะด้วยการเสียค่าใช้จ่ายเท่าใดก็ตาม พวกเขาก็ยังคงใช้ความพยายามเพื่อที่จะเบี่ยงเบนเป้าหมายต่าง ๆ ของการปฏิวัติอิสลามเหล่านี้ต่อไป

     วันนี้การทำความรู้จักกับแหล่งที่มาของอำนาจอ่อน (Soft Power) ของโลกอิสลามและการปฏิวัติอิสลามนั้น สามารถติดอาวุธแก่ชาวมุสลิมให้เผชิญหน้ากับสงครามสื่อ (Soft War) (2) ของศัตรูได้ อุดมการณ์อิสลามคือแหล่งที่มาอย่างหนึ่งของอำนาจอ่อน (Soft Power) ของชาวมุสลิม การหยิบยกและการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับคุณค่าต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ อย่างเช่นคำว่า หลักแห่งความยุติธรรม การเรียกร้องเสรีภาพ การมุ่งเน้นอิสรภาพและประชาธิปไตยทางศาสนา ซึ่งได้กลายเป็นสาเหตุของการพัฒนาและทำให้ชาวมุสลิมมีศักดิ์ศรีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

     จุดเด่นดังกล่าวนี้ คือส่วนหนึ่งจากแหล่งที่มาของอำนาจอ่อน (Soft Power) ของชาวมุสลิม หากได้รับการพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งและถูกนำไปใช้อย่างถูกต้อง จะมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการเผชิญหน้ากับสงครามสื่อ (Soft War) ที่ตะวันตกกำลังใช้ต่อต้านโลกอิสลาม

     เกี่ยวกับเรื่องนี้จำเป็นต้องกล่าวว่า บรรดาประเทศอิสลามสามารถป้องกันตนเองจากการดำเนินการทางสงครามสื่อ (Soft War) ที่ตะวันตกกระทำกับตนเองได้ ด้วยการใช้ประโยชน์จากแหล่งที่มาของอำนาจอ่อน (Soft Power) การวางแผนและการจัดตั้งกลไกและงานในด้านต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแอฟริกาเหนือ ที่เป็นเหตุทำให้จอมเผด็จการแห่งอียิปต์และตูนิเซียต้องถูกโค่นอำนาจลงนั้น ชี้ให้เห็นว่าชาวมุสลิมสามารถที่จะลุกขึ้นเผชิญหน้ากับสงครามสื่อ (Soft War) ของฝ่ายศัตรู และสามารถโค่นรัฐบาลทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์กับอิสลามได้ เมื่อพิจารณาจากสถานะทางด้านจิตวิญญาณ ทางด้านคุณค่าและความเชื่อที่มีอยู่ในสังคมแห่งอิสลาม ประกอบกับการอาศัยจิตวิญญาณแห่งการพลีอุทิศตนและการต่อสู้

     วันนี้โลกมุสลิมได้ตื่นขึ้นแล้ว! บรรดาศัตรูของอิสลามกำลังระดมสื่อโฆษณาชวนเชื่อและเทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ ของตนเอง และด้วยกับการดำเนินงานทางจิตวิทยาและการโฆษณาชวนเชื่อในด้านสงครามสื่อนั้น พวกเขาก็ได้เล็งเป้าไปยังแหล่งที่มาของอำนาจอ่อน (Soft Power) ของโลกอิสลามเช่นเดียวกัน

     การจัดประชุมนานาชาติในหัวข้อ “การตื่นตัวของอิสลาม” ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญในการกำหนดทิศทางและการชี้นำขบวนการเคลื่อนไหวการตื่นตัวของอิสลามไปในทิศทางที่ถูกต้อง การยอมรับและความเชื่อที่ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้บรรดาศัตรูของอิสลามได้ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการคุกคามและใช้สงครามสื่อ (Soft War) เพื่อที่จะเบี่ยงเบนขบวนการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของอิสลาม และเปลี่ยนขบวนการเหล่านั้นไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบเสรีนิยม และให้อยู่บนพื้นฐานของลัทธิแยกศาสนาออกจากการเมือง(secularism) นับว่าเป็นก้าวแรกในการเผชิญหน้าอย่างชาญฉลาดของพวกเขาในช่วงสถานการณ์เช่นนี้

     การมีแผนงานและการวางแผนอย่างรัดกุมเพื่อทำให้เป้าหมายต่าง ๆ ของการลุกฮือและการปฏิวัติของอิสลามในโลกอาหรับก้าวไปข้างหน้า และการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ในทางปฏิบัติและการจู่โจมไปยังแผนการและกลอุบายต่าง ๆ ของเหล่าศัตรูนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก หากรัฐบาลต่าง ๆ ในโลกอิสลามและประชาชนชาวมุสลิมใช้ประโยชน์จากแหล่งที่มาของอำนาจอ่อน (Soft Power) ของโลกอิสลามได้อย่างถูกต้องและถูกเวลาแล้ว พวกเขาก็จะสามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงและการปฏิวัติต่าง ๆ ของโลกบังเกิดผลในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อมุสลิมทั่วโลก

    ในท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ การประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการตื่นตัวของอิสลามที่จัดขึ้นในกรุงเตหะราน แน่นอนยิ่งว่าอยู่ภายใต้ร่มเงาของการวางแผนและการกำหนดนโยบายที่ถูกต้อง สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากขบวนการเคลื่อนไหวตื่นตัวของอิสลามในฐานะที่เป็นแหล่งที่มาของพลังของอำนาจอ่อน (Soft Power) เพื่อสร้างเอกภาพและประสานความเข้าใจที่ดีต่อกันให้เกิดขึ้นในโลกมุสลิม และการก้าวไปข้างหน้าในทิศทางของเป้าหมายต่าง ๆ แห่งอิสลามของขบวนการเคลื่อนไหวนี้

หมายเหตุ : (จากผู้แปล)

     (1) อำนาจอ่อน (Soft power) คือ แนวคิดที่พัฒนาโดยโจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งมีความสามารถในการดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วมมากกว่าการบังคับหรือให้เงิน ในปัจจุบันใช้ในการเปลี่ยนแปลงและสร้างอิทธิพลต่อความคิดของสังคมและประชาชนในประเทศอื่น โดยอาศัยทรัพยากรพื้นฐาน 3 ประการได้แก่ วัฒนธรรม (culture) ค่านิยมทางการเมือง (political values) และนโยบายต่างประเทศ (foreign policies)

     Soft Power ซึ่งตรงกันข้ามกับ Hard Power ที่หมายถึง การข่มขู่คุกคามและการซื้อด้วยอำนาจเงินตรา Joseph Nye บอกว่า ผู้ใช้อำนาจนี้อาจไม่ใช่รัฐก็ได้ มีผู้ใช้อำนาจได้ในทุกระดับการเมือง เช่น องค์กรเอกชน หรือ NGO หรือสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ (ข้อมูลจาก www.suthichaiyoon.com ในรายงานพิเศษเรื่อง “จีนเพิ่มความพยายามใช้ Soft Power กุมหัวใจชาวโลก”)

    (2) สงครามอ่อน (Soft War) จะมาในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น การปฏิวัติกำมะหยี่ การปฏิวัติสีต่าง ๆ (การปฏิวัติสีส้มและอื่น ๆ) การปฏิบัติการต่าง ๆ ทางด้านจิตวิทยาสงครามสื่อ การใช้สื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และอื่น ๆ อันเป็นเหตุทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองของบางประเทศได้ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศยูเครนและจอร์เจีย

     ความหมายของคำว่า “Soft War” ตรงข้ามกับคำว่า “Hard War” และยังไม่มีคำจำกัดความหนึ่งเดียวอันเป็นที่ยอมรับของทุกคน

     “จอห์น คาลีนซ์” นักทฤษฎีของมหาวิทยาลัยการสงครามแห่งชาติของอเมริกา ถือว่า สงครามนิ่มนวล “Soft War” นั้น ได้แก่ “การใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ถูกวางแผนไว้ การโฆษณาชวนเชื่อและเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมันเพื่อเป้าหมายในการสร้างอิทธิพลเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะเฉพาะต่าง ๆ ทางด้านแนวคิดของฝ่ายศัตรู หรือการอาศัยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นสาเหตุของความก้าวหน้าในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติของผู้ดำเนินแผนการ” (ข้อมูลจาก jangavaran.blogfa.com ในบทความเรื่อง “Soft War” คืออะไร? (جنگ نرم چیست؟)


บทวิเคราะห์โดย : มุห์ซิน พ๊อกอออีน อดีตเอกอัคราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทย

แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ที่มา : mashreghnews.ir

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม