foto1
foto1
foto1
foto1
foto1

In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم

Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم

ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You

WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center

วิถีธำรงตนอยู่ในความบริสุทธิ์ กุญแจขจัดคุณลักษณะที่ไม่ดีงามในมนุษย์

            ส่วนหนึ่งจากคุณงามความดีแห่งความเป็นมนุษย์และคุณค่าอันสูงส่งแบบอิสลามซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของคุณงามความดีอื่นๆ อีกทั้งจะก่อให้เกิดผลพวงที่สุกใสทางด้านจิตวิญญาณอย่างมากมายติดตามมา นั่นก็คือ คุณลักษณะของการธำรงตนอยู่ในความบริสุทธิ์ (หรือที่เรียกว่า “อิฟฟะฮ์”) ซึ่งสามารถนับได้ว่ามันคือหนึ่งจากบรรดารากฐานของจริยธรรม (อัคลาก) และเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่เป็นเหมือนกุญแจสำคัญที่จะช่วยขจัดคุณลักษณะที่ไม่ดีงาม (ร่อซาอิล) อื่นๆ ออกไปจากมนุษย์ และจะเป็นตัวขับเคลื่อนมนุษย์เราไปสู่พัฒนาสู่ฐานันดร (ดะรอญะฮ์) และความสมบูรณ์ (กะมาลาต) อันสูงส่งทั้งหลาย

          ในคัมภีร์อัลกุรอานและในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ ได้ให้การยกย่องสรรเสริญคุณลักษณะประการนี้ไว้อย่างมากมาย และในแนวทางการปฏิบัติหรือในจริยะวัตรของบรรดาผู้นำผู้บริสุทธิ์(อ.) เองก็ประดับประดาไปด้วยคุณลักษณะประการนี้ ด้วยกับคำกล่าวนำนี้แล้ว เราจะขอนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ดังต่อไปนี้ :

ความหมายของคำว่า “อิฟฟะฮ์” (การธำรงตนอยู่ในความบริสุทธิ์)

          คำว่า “อิฟฟะฮ์” ในรากเดิมในทางภาษานั้น หมายถึง การประคับประคองตน การดูแลตนเอง การควบคุมจิตใจของตนเองและจุดที่ตรงข้ามก็คือ การบูชาอารมณ์ใคร่และบูชากระเพาะ

          ท่าน : “รอฆิบ อัล-อิซฟะฮานี” ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-มุฟร่อดาต” ของตนว่า :

العفة حصول حالة للنفس تمتنع بها عن غلبة الشهوة

          "คำว่า “อิฟฟะฮ์” นั้นหมายถึง การปรากฏขึ้นของสภาพหนึ่งภายในจิตใจ ซึ่งสภาพดังกล่าวจะช่วยยับยั้งจากการครอบงำของอารมณ์ใคร่” [1]

           "ในหนังสือพจนานุกรม"อัตตะห์กีก" ได้ กล่าวว่า : ความแตกต่างระหว่างคำว่า “อิฟฟะฮ์” และคำว่า “ตักวา” นั้นก็คือ “อิฟฟะฮ์” หมายถึงการรักษาจิตใจ (นัฟซ์) ให้สะอาดบริสุทธิ์จากอารมณ์ใคร่และตัณหาต่างๆ ส่วนคำว่า “ตักวา” หมายถึง การควบคุมจิตใจจากการกระทำความชั่วและความผิดบาปต่าง ๆ ดังนั้น คำว่า “อิฟฟะฮ์” คือ สภาพ(การควบคุม)ด้านใน ส่วนคำว่า “ตักวา” คือ สภาพการควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ทางภายนอก [2]

           ท่าน “อัฏฏ่อรีฮี” ได้เขึยนไว้ในหนังสือ "มัจญ์มะอุลบะห์ร็อยน์" ว่า

العفافُ كَفُّ النفس عن المحرّمات، و عَنْ سؤال النّاس

 “อะฟาฟ” นั้น หมายถึงการยับยั้งจิตใจ (นัฟซ์) จากสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย และ(ในทำนองเดียวกัน คือ การยับยั้งตน) จาก (การยื่นมือ) ขอเพื่อนมนุษย์” [3]

           ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ทั้งหลายก็จะสื่อถึงความหมายนี้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เอง คำว่า “อิฟฟะฮ์” จึงถือว่าเป็นคำที่มีความหมายครอบคลุมโดยรวมคำหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะถูกใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการควบคุมตนเองในสองประเด็น คือ :

1 - การควบคุมตนเอง และความพอเพียงในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวัตถุและทรัพย์สินเงินทอง

2 - การควบคุมอารมณ์ธรรมชาติ (ฆอรีซะฮ์) ทางด้านเพศสัมพันธ์ โดยที่ประการแรกนั้นจะเป็นสื่อในการพิทักษ์ปกป้องศักดิ์ศรีและเกียรติของคนเรา และประการที่สองนั้นก่อให้เกิดความละอายใจและความรักในเกียรติศักดิ์ศรีที่จะเผยกายและจิตใจ และความเบี่ยงเบนต่างๆ ทางด้านเพศสัมพันธ์ แน่นอนยิ่งว่าทั้งสองประเด็นนี้ในสำนวนของคำรายงาน (ริวายะฮ์)ต่างๆ เรียกว่า “การรักษาตนให้อยู่ในความสะอาดบริสุทธิ์ทั้งทางด้านปากท้องและด้านเพศสัมพันธ์”

           ตัวอย่างเช่นท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ได้กล่าวว่า :

أَكْثَرُ مَا تَلِجُ بِهِ أُمَّتِى النَّارَ الْأَجْوَفَانِ الْبَطْنُ وَ الْفَرْجُ

      "ส่วนมากของสิ่งที่จะทำให้ประชาชาติของฉันเข้าสู่ไฟนรกนั้น คือสองสิ่งที่อยู่ด้านใน (ร่างกายของมนุษย์) อันได้แก่ ท้อง (เรื่องของการกินและการดื่ม) และอวัยวะเพศ (การปล่อยกายปล่อยใจไปตามอารมณ์ใคร่)” [4]

           คำว่า “อิฟฟะฮ์” ในคำภีร์อัลกุรอานส่วนมากแล้วจะถูกใช้ในกรณี (ความหมาย) ทั้งสองนี้ ตัวอย่างเช่น ในที่หนึ่ง อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสว่า :

وَلْيَسْتَعْفِفِ الَّذِينَ لَا يَجِدُونَ نِكَاحاً حَتَّى‏ يُغْنِيَهُمُ اللَّهُ مِن فَضْلِهِ

 “และบรรดาผู้ที่ไม่พบ (ปัจจัยและโอกาสอำนวยต่างๆ ใน) การสมรสนั้น จงสงวนตัวให้สะอาดบริสุทธิ์ (จากการละเมิดความผิดทางเพศ) จนกว่าอัลลอฮฺจะทรงทำให้พวกเขาพอเพียง อันเกิดจากความโปรดปราณของพระองค์” [5]

           และในอีกที่หนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า :

لِلْفُقَرَاء الَّذِينَ أُحصِرُواْ فِي سَبِيلِ اللّهِ لاَ يَسْتَطِيعُونَ ضَرْبًا فِي الأَرْضِ  يَحْسَبُهُمُ الْجَاهِلُ أَغْنِيَاء مِنَ التَّعَفُّفِ تَعْرِفُهُم بِسِيمَاهُمْ لاَ يَسْأَلُونَ النَّاسَ إِلْحَافًا

 “(การบริจาค (อินฟาก)นั้น) เป็นสิทธิ์ของบรรดาผู้ยากจนที่ถูกจำกัดตัวเองในหนทางของอัลลอฮ์ที่ไม่สามารถท่องไปในหน้าแผ่นดินได้ ผู้โง่เขลานั้นคิดว่าพวกเขาเป็นคนร่ำรวย (ทั้งๆ ที่พวกเขายากจน แต่) เนื่องจากการรักษาตนอยู่บนความบริสุทธิ์ (ของพวกเขา) เจ้าจะรู้จักพวกเขาได้ด้วยเครื่องหมายของพวกเขา คือ พวกเขาจะไม่พิรี้พิไรขอ (ความช่วยเหลือ) จากมนุษย์” [6]

           เกี่ยวกับคุณงามความดีและความประเสริฐของมนุษย์ผู้ที่ระวังรักษาตนให้อยู่ใน ความสะอาดบริสุทธิ์ (อัลอะฟีฟ) นั้น ถือเป็นความเพียงพอแล้ว ที่ท่านอะมีรุลมุอ์มุนีน (อ.)ได้กล่าวว่า

مَا الْمُجَاهِدُ الشَّهِيدُ فِي سَبِيلِ اللَّهِ بِأَعْظَمَ أَجْراً مِمَّنْ قَدَرَ فَعَفَّ لَككَادَ الْعَفِيفُ أَنْ يَكُونَ مَلَكاً مِنَ الْمَلَائِكَةِ

"(รางวัลของ) ผู้ที่ต่อสู้ที่เป็นชะฮีดลงในหนทางของอัลลอฮ์นั้นไม่ยิ่งใหญ่เท่ารางวัลของผู้ที่มีความสามารถ ดังนั้นเขาจึงได้ดำรงตนอยู่ในความบริสุทธิ์ แน่นอนยิ่งคนที่ดำรงตนอยู่ในความบริสุทธิ์ (อะฟีฟ) นั้น เกือบจะเป็นหนึ่งจากปวงมะลาอิกะฮ์ (ทูตสวรรค์)” [7]

บางตัวอย่างของการดำรงตนอยู่ในความบริสุทธิ์ของบรรดาอิมาม (อ.)

1- เกี่ยวกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นั้น พวกเขาได้กล่าวว่า : ท่าน เป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในความบริสุทธิ์มากที่สุดในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ในทุกๆ ด้านท่านจะท่านจะบริหารจัดการกิจการต่างๆ ด้วยความระมัดระวังตนเองอย่างน่าพิศวง ในสงครามอุฮุดนั้น ฟันหน้าของท่านได้หักหลายซี่ และใบหน้าของท่านได้ถูกทำให้แตกเป็นแผลโดยฝ่ายศัตรู บางคนขอให้ท่านสาปแช่งศัตรู ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้กล่าวด้วยความระมัดระวังตนในความบริสุทธิ์ว่า : “ฉัน ไม่ได้ถูกแต่งตั้งมาเพื่อด่าประณามผู้ใด แต่ฉันได้ถูกส่งมาในฐานะเป็นผู้เชิญชวนและเป็นความเมตตาสำหรับมนุษยชาติ ต่อจากนั้น แทนการสาปแช่งท่านได้วิงวอนขอ (ดุอาอ์) เช่นนี้ว่า :

اللهم اهد قومي فإنهم لا يعلمون

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ได้โปรดนำทางกลุ่มชนของข้าพระองค์ด้วยเถิด เพราะแท้จริงพวกเขาไม่รู้”

             วันหนึ่ง ชาวมุสลิมจากมะดีนะฮ์กลุ่มหนึ่งได้มาพบท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และกล่าวกับท่านว่า : “ได้ โปรดให้การค้ำประกันสรวงสวรรค์จากพระผู้เป็นเจ้าแก่พวกเราด้วยเถิด” ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ภายหลังจากนิ่งเงียบอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ท่านกล่าวว่า : “ฉันจะให้การค้ำประกันดังกล่าวแก่พวกท่าน แต่ด้วยกับเงื่อนไขข้อหนึ่ง” พวกเขาถามว่า : “เงื่อนไขที่ว่านั้น คืออะไร?” ท่านกล่าวว่า :

اَنْ لاتسْئلوا احدا شَیْئا

"พวกท่านจะต้องไม่ขอสิ่งใดจากผู้ใด”

            พวก เขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าในชีวิตพวกเขาจะไม่ร้องขอต่อผู้ใด ท่านศาสนฑูตนั้นแม้จะนั่งอยู่ในวงสำรับอาหารและถ้าหากมือเอื้อมไม่ถึงน้ำ ท่านก็จะไม่กล่าวกับผู้ใดว่า เอาน้ำให้ฉันหน่อย แต่ท่านจะลุกขึ้นและไปหยิบภาชนะน้ำด้วยตัวเองและดื่มมัน แน่นอนยิ่งว่าท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นั้นดำเนินชีวิตเช่นนี้ และท่านก็ได้สั่งเสียบรรดาสาวกของท่านให้ดำรงชีวิตเช่นนี้[8]

2- ในกรณีที่เกี่ยวกับความรักในเกียรติศักดิ์ศรี ความรักนวลสงวนตัวและการธำรงตนอยู่ในความบริสุทธิ์ภายในครอบครัวของท่านศาสน ทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ก็เช่นเดียวกัน มีเรื่องเล่าอยู่มากมาย ตัวอย่างเช่น ท่านหญิงอุมมุซะลามะฮ์ ภรรยาคนหนึ่งของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เล่าว่า : ฉันได้อยู่กับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ภรรยาอีกคนหนึ่งของท่านซึ่งมีนามว่า“มัยมูนะฮ์”ก็อยู่ร่วมที่นั่นด้วย ในช่วงเวลานี้เองที่ อิบนุอุมมิ-มัคตูมซึ่งเป็นชายตาบอดได้มายังที่แห่งนั้น ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับพวกเราว่า : "พวกเธอจงแต่งกายคลุมฮิญาบให้เรียบร้อย เมื่ออยู่ต่อหน้าอิบนุอุมมิ-มัคตูม” พวกเราได้ถามว่า : แต่เขาเป็นคนตาบอดไม่ใช่หรือ? ดังนั้นการแต่งกายคลุมฮิญาบของพวกเรา จะมีความหมายอะไร?”

            ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : "แล้วพวกเธอตาบอดด้วยอย่างนั้นหรือ? พวกเธอมองไม่เห็นเขากระนั้นหรือ?” [9]

3- ในเรื่องราวของสงครามซึ่งเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ.ที่ 36  เมื่อกองทัพของท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายศัตรู ท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้อยู่ในเฮาดัจญ์ (ที่นั่งบนหลังอูฐ) ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เดินมาพบนาง พร้อมกับกล่าวขึ้นว่า : “..... ขอสาบานต่ออัลลอฮ์บรรดาผู้ที่ปกป้องรักษาสตรีของตนเองให้อยู่เบื้องหลังม่านปกปิดแห่งความ บริสุทธิ์ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขากลับนำพาท่านออกมาจากบ้าน พวกเขาได้ปฏิบัติต่อท่านอย่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย” ต่อจากนั้นท่านอิมามอะลี (อ.) ไม่ปล่อยให้ชายแปลกหน้าคนใดเดินมาข้างหน้า แต่ ท่านได้ออกคำสั่งแก่มุฮัมมัด บินอบีบักรน้องชายของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ให้นำตัวนางออกมาจากเฮาดัจญ์ (ที่นั่งบนหลังอูฐ) แล้วนำพานางไปพักอาศัยอยู่ในบ้านของซ่อฟียะฮ์ บุตรสาวของฮาริษ [10]

           แล้วต่อจากนั้นท่านได้ส่งนางกลับสู่นครมะดีนะฮ์ด้วยการรักษาเกียรติศักดิ์ศรีและความบริสุทธิ์ให้นางอย่างสมบูรณ์

4-สานุสิทธิ์คนหนึ่งของท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งมีนามว่าอบูบะซีรได้กล่าวว่า ในเมืองกูฟะฮ์ ฉันได้สอนการอ่านโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานให้แก่สตรีคนหนึ่ง ในวันหนึ่งฉันได้พูดจาหยอกล้อนางในเรื่องหนึ่ง (ซึ่งขัดต่อความรักนวลสงวนตัวของนาง) ภายหลังจากเหตุการณ์นี้ได้ผ่านไปอย่างเนิ่นนาน ในนครมะดีนะฮ์ฉันได้ไปพบท่านอิมามบากิร (อ.) ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวกับฉันว่า : “คน ที่ทำบาปในที่ลับตาคนนั้น พระผู้เป็นเจ้าจะละสายตาแห่งความเมตตาของพระองค์ไปจากเขา เจ้าได้พูดเช่นนี้กับสตรีผู้นั้นไปได้อย่างไร?” ฉันรู้สึกอับอายและเกิดความละอายใจอย่างรุนแรง และได้สำนึกผิดพร้อมกับทำการสารภาพผิด (เตาบะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวต่อว่า : "เจ้าจงระวังตนอย่าได้ทำเช่นนี้อีก (และอย่าได้พูดจาเย้าหยอกต่อสตรีคนใดอีก) [11]

5- ท่านอิมามซอดิก (อ.) มีสหายรักคนหนึ่งซึ่งมักจะอยู่ด้วยกันอยู่เสมอ วันหนึ่งสหายคนนี้ได้ปฏิบัติต่อคนใช้ (ผู้ชาย) ของตนอย่างรุนแรง และได้ทำลายเกียรติแห่งความบริสุทธิ์ของเขาด้วยคำพูดที่หยาบคายอย่างยิ่ง โดยเขากล่าวว่า : “โอ้ ลูกซินา (ลูกที่เกิดจากการละเมิดประเวณีของแม่) เจ้าไปอยู่ที่ไหนมา?”  เมื่อท่านอิมามได้ยินคำพูดที่ขัดต่อความดีงาม (อิฟฟะฮ์) ของเขา ท่านไม่พอใจอย่างมาก ถึงกับยกมือของตนเองขึ้นและตบไปที่หน้าผากของตัวเองอย่างแรง พร้อมกับกล่าวว่า : “ซุบฮานัลลอฮ์ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮ์) เจ้ากำลังกล่าวหาว่ามารดาของคนรับใช้ผู้นี้เป็นหญิงชั่วกระนั้นหรือ? ฉันเคยคิดว่าเจ้าเป็นคนมีตักวา (ความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า) แต่บัดนี้ฉันได้เห็นแล้วว่า เจ้าไม่ใช่คนมีตักวา”

           สหายของท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า : ข้าพเจ้าขอพลีเพื่อท่าน! แม่ของเด็กหนุ่มคนนี้เป็นชาวซินด์ (เมืองหนึ่งในประเทศอินเดีย) และเป็นผู้เคารพ บูชารูปเจว็ด (ฉะนั้นการพูดจาด่าประณามแบบนี้ต่อเขาคงไม่เป็นอะไร) ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า : "เจ้าไม่รู้หรอกหรือว่า แต่ละประชาชาตินั้นในระหว่างพวกเขาจะมีข้อบัญญัติเกี่ยวกับการสมรสอยู่? เจ้าจงออกไปให้ไกลจากฉัน!"

           จากนั้นเป็นต้นมา ระหว่างเพื่อนคนนั้นและอิมามซอดิก (อ.) ก็ได้แยกทางกัน และการแยกทางกันครั้งนี้ได้ดำเนินไปจวบจนกระทั่งบั้นปลายชีวิต [12]

           เรื่องราวดังกล่าวนี้ก็เช่นเดียวกัน ได้เรียกร้องพวกเราไปสู่การรักษาความบริสุทธิ์และความระมัดระวังตน (อิฟฟะฮ์) ในคำพูดและการควบคุมตนเองจากการพูดจาที่หยาบคายและไม่สุภาพ ซึ่งเป็นสื่อที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาเกี่ยวกับการรักษาศีลธรรมและความบริสุทธิ์ของสังคมนั้น แม้กระทั่งกับคนต่างเชื้อชาติและต่างศาสนาก็ถือว่ามีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างมาก จำเป็นที่เราจะต้องรู้จักขอบเขตและพยายามระวังรักษามันให้ดีที่สุด


เชิงอรรถ

[1] อัล-มุฟร่อดาต , หน้าที่ 339

[2] อัตตะห์กีก ฟี กะลิมาติล-กุรอาน , ฮะซัน มุสฏอฟะวี , คำว่า “อิฟฟะฮ์”

[3] มัจญ์มะอุลบะห์ร็อยน์ , คำว่า “อิฟฟะฮ์”

[4] อุซูลุลกาฟี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 79. ,บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 77 , หน้าที่ 390

[5] อัลกุรอานบทอันนูร โองการที่ 33

[6] อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 273

[7] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , ฮิกมะฮ์ที่ 474

[8] ฟุรูอุลกาฟี , เล่มที่ 4 , หน้าที่ 21

[9] บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 104 , หน้าที่ 37

[10] ตะติมมะตุลมุนตะฮา , หน้าที่ 12

[11] บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 46 , หน้าที่ 247

[12] วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่มที่ 11 , หน้าที่ 331


แปลและเรียงเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม