foto1
foto1
foto1
foto1
foto1

In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم

Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم

ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You

WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center

การเดินทางและการท่องเที่ยวในทัศนะของอิสลาม

      การเดินทางโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่เป็นวาญิบ (ข้อบังคับทางศาสนา) เช่นการเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ และการเดินทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่วาญิบนั้นมีเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งในทัศนะของอิสลามและเหตุผลทางสติปัญญาของมนุษย์ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงามและมีคุณประโยชน์อย่างมาก พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

هُوَ الَّذِي جَعَلَ لَكُمُ الْأَرْضَ ذَلُولًا فَامْشُوا فِي مَنَاكِبِهَا وَكُلُوا مِن رِّزْقِهِ وَإِلَيْهِ النُّشُورُ

“พระองค์คือผู้ทรงบันดาลแผ่นดินนี้ให้ราบเรียบสำหรับพวกเจ้า ดังนั้นจงท่องเดินทางไปในเขตแคว้นที่ราบและที่สูงทั้งหลายของมัน และจงบริโภคจากปัจจัยยังชีพของพระองค์...” (1)

      ทำนองเดียวกัน เกี่ยวกับคุณค่าและคุณประโยชน์ของการเดินทางนั้น ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า

سٰافِروا تَصِحُّوا و جٰاهِدُوا تَغْنَموا

"ท่านทั้งหลายจงเดินทางเถิด แล้วพวกท่านจะมีสุขภาพที่ดี และจงต่อสู้ (ในทางของพระผู้เป็นเจ้า) เถิด แล้วพวกท่านจะได้รับโชคผล" (2)

      หมายความว่า การเดินทางจากดินแดนหนึ่งไปยังอีกดินแดนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บรรยากาศ อิริยาบถ อาหาร น้ำและอื่นๆ นั้น จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพต่างๆ ทางด้านจิตใจของมนุษย์ และสิ่งนี้เองที่โดยตัวของมันแล้วถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

     ในบทกวีภาษาอาหรับ ในหนังสือ “ดีวาน” ซึ่งถูกอ้างสัมพันธ์ไปยังท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า

تَغَزَّبْ عَنِ اْلاَوطانِ فى طَلبِ العُلٰى وَ سٰافِرْ فَفَى اْلاَسْفارِ خَمْسُ فوائِدَ تَفَرُّج هَمِّ وَ اکْتِساب مَعيشَةٍ وَ عِلْمَ و آداب و صُحْبَة مٰاجدٍ

“จงเดินทางและจงออกห่างไปให้ไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนเถิด เพื่อแสวงหาคุณค่าอันสูงส่ง เพราะในการเดินทางนั้นมีคุณประโยชน์ห้าประการ คือ การคลี่คลายจากความทุกข์ การได้รับมาซึ่งปัจจัยดำรงชีพ ความรู้ มารยาท (ขนบธรรมเนียมประเพณี) และการพบมิตรผู้มีเกียรติ”

คุณประโยชน์ห้าประการของการเดินทาง

  1. การคลี่คลายจากความทุกข์ (تَفَرُّج هَمّ) การเดินทางจะช่วยขจัดความทุกข์โศก ความซึมเศร้า ความเครียด ความหมกมุ่นของจิตใจและความจำเจซ้ำซากในชีวิตประจำวันของเราให้หมดไป และจะทำให้เกิดความผ่อนคลาย ความกระปี้กระเป่าและความมีชีวิตชีวาแก่ชีวิตของเรา
  2. การได้รับมาซึ่งปัจจัยดำรงชีพ (اکْتِساب مَعيشَة) การเดินทางจะช่วยทำให้เราสามารถแสวงหาและจัดเตรียมปัจจัยอำนวยสุขได้ดีกว่า และยกระดับการดำเนินชีวิตของตนเองได้ดียิ่งขึ้น คนที่ฉลาดนั้น ในการแสวงหาปัจจัยดำรงชีพของเขา เขาจะไม่จำกัดกรอบความคิดและตัวเองอยู่ในสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเขาเพียงเท่านั้น เขาจะตระหนักเป็นอย่างดีว่าหากเขาย่างก้าวออกไปจากสภาพแวดล้อมที่จำเจรอบตัวของเขา เขาจะพบเห็นสิ่งใหม่ๆ และช่องทางใหม่ๆ.สำหรับการประกอบอาชีพและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองได้
  3. ความรู้ (عَلْم) การเดินทางจะช่วยเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ให้แก่ชีวิตของเรา จะช่วยทำให้เขารู้จักและเข้าใจโลกได้มากยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้สิ่งที่พบเห็น จากเดชานุภาพแห่งการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้าและร่องรอยต่างๆ ของบรรพชนในยุคอดีต เพื่อนำมาเป็นอุทาหรณ์และบทเรียนในการดำเนินชีวิต
  4. มารยาทและขนบธรรมเนียมประเพณี (آداب) การเดินทางจะทำให้เราสามารถรับรู้และเรียนรู้ถึงมารยาทและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของกลุ่มชน และบางทีอาจเป็นไปได้ว่าบางส่วนของมารยาทและขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านั้นอาจจะดีงามกว่าของหมู่ชนของตนเอง ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง การเดินทางจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการเลือกสรรสิ่งที่ดีงามต่างๆ ทางด้านมารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม
  5. การพบมิตรผู้มีเกียรติ (صُحْبَة مٰاجدٍ) การเดินทางจะทำให้เราได้รับเตาฟีก (ความสำเร็จ) ในการพบปะกับประชาชนที่มีเกียรติและเป็นคนดีในสังคมต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพ สถานภาพทางสังคมและทางจิตวิญญาณของเราให้สูงส่งและดีงามมากยิ่งขึ้น

      ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เราพบเห็นได้จากประวัติศาสตร์ บรรดามหาบุรุษแห่งพระผู้เป็นเจ้าจะประสบความสำเร็จในภารกิจและบรรลุสู่เป้าหมายในชีวิตของตนภายหลังจากการเดินทางและการอพยพเกือบทั้งสิ้น

มารยาทของการเดินทาง

      อย่างไรก็ดี การเดินทางที่อิสลามส่งเสริมนั้นจะต้องวางพื้นฐานอยู่บนการแสวงหาความดีงามและคุณค่าต่างๆ ที่สูงส่ง ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงจากความฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย ความไร้สาระและสิ่งที่เป็นฮะรอม (ต้องห้ามตามข้อบัญญัติของศาสนา)

      ทำนองเดียวกัน อิสลามถือว่า ความดีงามและคุณค่าต่างๆ ของการกระทำของคนเรานั้น อยู่ที่เจตนา (เหนียต) เป้าหมายของผู้กระทำและผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ การกระทำที่จะมีคุณค่าได้นั้นจะต้องกระทำเพื่อเป้าหมายที่บริสุทธิ์และถูกต้อง และจะต้องเป็นไปในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า และเพื่อการช่วยเหลือค้ำจุนสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้เองในริวายะฮ์ (คำรายงาน) จำนวนมาก จึงได้แนะนำและกำชับสั่งเสียให้อ่านดุอาอ์ต่างๆ อันเป็นเฉพาะ เพื่อว่าผลประการหนึ่งของการอ่านดุอาอ์เหล่านั้นจะช่วยกำหนดทิศทางที่ถูกต้องและเป้าหมายที่บริสุทธิ์ในการเดินทางของเราได้ จะขอกล่าวถึงตัวอย่างหนึ่งจากฮะดีษเหล่านั้นดังนี้คือ

      ท่านอิมามบากิร (อ.) เมื่อจะออกจากบ้านท่านจะกล่าวเสมอว่า

بسمِ‌الله وَ بِسمِ‌اللهِ و عَلَى‌اللهِ تَوَکَّلْتُ وَ لاٰ حََوَل وَ لاٰ قوةَ اِلاّ بالله الْعَلىّ العَظيمْ

“ด้วยพระนามของอัลลอฮ์และด้วยกับการขอความช่วยเหลือโดยผ่านพระนามของอัลลอฮ์ และด้วยกับอัลลอฮ์เท่านั้นที่ข้าพระองค์ขอมอบหมาย ไม่มีอานุภาพและพลังอำนาจใด นอกจากโดย (การอนุมัติจาก) อัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงยิ่งใหญ่” (3)

      ฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่ง ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ได้กล่าวกับท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า

يٰا عَلىُّ لاٰ يَنْبَغى لِلّرجُلِ العاقِلِ اَنْ يکون طٰاعِناً اِلاّ فى ثلاثٍ: مَرَمَّةٍ لِمَعاشٍ و اَوْ تزدُدٍ لَمِعٰادٍ او لَذّةٍ فى غيرِ مُحرّم

“โอ้อะลีเอ๋ย! ไม่สมควรสำหรับผู้มีสติปัญญาที่เขาจะเป็นผู้ท่องเดินทาง นอกจาก (เป้าหมาย) สามประการ คือ การแก้ไขปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ หรือการสะสมเสบียงเพื่อปรโลก และหรือการแสวงหาความสุขในสิ่งที่ไม่ใช่ฮะรอม (ต้องห้าม)” (4)

     และฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่งได้กล่าวว่า

سِیحُوا، فِاِنَّ الماءَ اِذا ساحَ طابَ و اِذا وَقَفَ تَغَیَّرَ وَ اصفَرَّ

“ท่านทั้งหลายจงเดินทางท่องเที่ยวเถิด เพราะแท้จริงน้ำนั้นหากมันไหลเวียน มันจะคงสภาพความสะอาดบริสุทธิ์ไว้ได้ และเมื่อใดที่มันหยุดนิ่ง มันจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเน่าเสีย” (5)

แหล่งที่มา :

(1) อัลกุรอานบทอัลมุลก์โองการที่ 15

(2) วะซาอิลุชชีอะฮ์ ฮะดีษที่ 14980

(3) วะซาอิลุชชีอะฮ์ ฮะดีษที่ 15080

(4) วะซาอิลุชชีอะฮ์ ฮะดีษที่ 14975

(5) มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล เล่มที่ 8 หน้าที่ 47 ฮะดีษที่ 9349

แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม