ในมุมมองทางด้านศาสนานั้น จุดประสงค์ของการเมืองคือการชี้นำมนุษย์ไปสู่ทางนำและการวิวัฒนาการ ซึ่งเป้าหมายของวิวัฒนาการนี้ก็คือความผาสุกไพบูลย์ทั้งชีวิตในโลกนี้ (ดุนยา) และโลกหน้า (อาคิเราะฮ์) แบบอย่างทางศาสนาและการเมืองการปกครองสำหรับวิวัฒนาการของมนุษย์ นั่นก็คือการปกครองของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในนครมะดีนะฮ์ ตลอดเวลาที่ผ่านมาการปกครองและภารกิจดังกล่าวอันเป็นการเฉพาะต่างๆ ได้กลายเป็นแบบอย่างสำหรับมวลมุสลิมในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ท่านอิมามอะลี (อ.) ก็เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลของความสัมพันธ์โดยตรงที่มีต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และความรอบรู้ของท่านที่มีต่อแหล่งกำเนิดแห่งวะห์ยู (วิวรณ์) ประกอบกับคุณลักษณะอันประเสริฐต่างๆ ที่ได้รับ จึงทำให้ท่านมีแนวคิดและทัศนคติต่างๆ รวมทั้งวิถีปฏิบัติในสนามการเมืองซึ่งในตลอดระยะเวลาแห่งประวัติศาสตร์มันได้ฉายภาพระบอบแห่งอุดมคติให้ประจักษ์สำหรับมวลมุสลิม และโดยเฉพาะชาวชีอะฮ์ ด้วยกับความรู้ที่มีต่อทัศนะและแนวคิดต่างๆ ของท่านอิมามอะลี (อ.) ประตูบานใหม่จะถูกเปิดให้กับมวลมนุษย์ได้เห็นถึงพื้นฐานการปกครองและการบริหารจัดการสังคม ความรู้ความเข้าใจต่างๆ ในทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติทางด้านการเมือง โดยเฉพาะในสภาวะเงื่อนไขต่างๆ ในยุคปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ต่างๆ ทางด้านความคิดและการเมือง จึงทำให้สิ่งนี้กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
คำจำกัดความของคำว่า “การเมือง”
เหตุผลที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์ทั้งหลายก็คือ ความเป็นผู้มีสติปัญญาของเขา พลังแห่งความคิดและการใช้เหตุผลในตัวมนุษย์ได้ทำให้เขากลายเป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริงและเป็นผู้อยากรู้อยากเห็น โดยที่ตลอดเวลาเขาจะมุ่งแสวงหาคำตอบต่อคำถามต่างๆ โดยที่ตลอดเวลาเขาจะมุ่งแสวงหาคำตอบต่างๆ มุ่งมั่นในการเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ส่วนหนึ่งจากบรรดาคำถามขั้นพื้นฐานที่อยู่ในความนึกคิดของมนุษย์ นั้นก็คือคำถามเกี่ยวกับชีวิตทางสังคมของมนุษย์ เนื้อแท้ของสังคม เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม การเมืองและการแสดงออกทางการเมือง
“การเมือง” ในทางภาษานั้นหมายถึง การทำหน้าที่ปกครองเหนือบรรดาผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง การบริหารจัดการกิจการต่างๆ ของประเทศ การบังคับบัญชา การทำหน้าที่ผู้นำ ความยุติธรรม การตัดสินความ การตอบแทนรางวัล การลงโทษ การพิทักษ์ปกป้องอาณาเขตการปกครอง การบริหารจัดการต่างๆ ภายในประเทศและนอกประเทศ (1) การเมืองในอีกความหมายหนึ่งและเป็นความหมายทั่วไป หมายถึงการบริหารจัดการซึ่งครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการกิจการต่างๆ ทั้งส่วนตัวและสังคม ในการให้ความหมายเช่นนี้ การทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวของผู้เป็นบิดา การดำเนินกิจการต่างๆ ทางด้านการค้า การตัดสินใจเกี่ยวกับกรณีของกิจการต่างๆ ทางด้านวัตถุในการดำเนินชีวิต ทั้งหมดล้วนอยู่ในความหมายของคำว่า “การเมือง” ทั้งสิ้น
ในส่วนของการแสดงทัศนะเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีคำจำกัดความอันเป็นการเฉพาะและตายตัวเพียงหนึ่งเดียว แต่มีคำจัดกัดความจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นถึงทัศนะมุมมองที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น
ในทัศนะของท่านมีรซา มุลกิม คาน การบริหารปกครองประเทศ วิธีการดำรงอยู่ของความยุติธรรมและความเจริญก้าวหน้าของชีวิตทางสังคม คือสิ่งที่ถูกพิจารณา ด้วยเหตุนี้เขาจึงให้ความหมายของคำว่า “การเมือง” หมายถึงการปกครองและการบังคับบัญชา (2)
อะห์มัด กัสโรวี ในการให้คำจำกัดความคำว่า “การเมือง” จะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของมวลมหาประชาชนที่มีต่อกัน โดยเขาได้กล่าวว่า “การเมืองคือความสัมพันธ์ของชนกลุ่มหนึ่งที่มีต่อชนกลุ่มอื่นๆ และวิธีการของความสัมพันธ์ การเมืองก็คือการที่มวลชนกลุ่มหนึ่งได้เปิดหนทางสำหรับการดำเนินชีวิตและความเจริญก้าวหน้าของตนเองท่ามกลางมวลชนอื่นๆ และพฤติกรรมการแสดงออกของกลุ่มชนดังกล่าวที่มีต่อกลุ่มชนเหล่านั้นจะต้องเกิดจากความเข้าใจและการมองที่ลึกซึ้ง และหากมีความหวั่นกลัวต่อการดำรงอยู่และความมั่นคงของมันเกิดขึ้นจากผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยมองเห็นและคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า จำเป็นต้องหาทางป้องกันมิให้มันเกิดขึ้น (3)
ในทำนองเดียวกัน มุลลิม คาน ถือว่าการเมืองคือการทำหน้าที่ปกครองรัฐ ซึ่งประกอบด้วยการลงโทษและการตัดสินพิพากษา โดยที่เขาได้กล่าวว่า
“รัฐในโลกของการบริหารปกครองหมายถึงการเมือง และการเมืองได้แก่การตัดสินพิพากษาและการลงโทษ หากปราศจากการลงโทษ ก็ไม่มีการตัดสินพิพากษา และหากปราศจากการตัดสินพิพากษา ก็ไม่ใช่การเมืองและไม่ใช่รัฐ (4)
บรรดาผู้ให้ทัศนะกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ดร.ชะรีอะตี ถือว่าการเมืองคือการตื่นตัวของมนุษย์ที่มีต่อสภาพแวดล้อมและสังคม ดร.ชะรีอะตีได้กล่าวว่า
“การเมืองคือการตื่นตัวของมนุษย์ที่มีต่อสภาพแวดล้อม สังคม และชะตากรรมที่มีส่วนร่วมกันของตน และต่อสังคมที่เขากำลังดำเนินชีวิตอยู่และเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมัน” (5)
มีรีส ดูวิรเจฮ์ ก็เช่นกัน เขาถือว่าการเมืองคือศิลป์และแนวทางการปกครองสังคมต่างๆ ของมนุษย์ (6)
ด้วยการพิจารณาถึงคำจำกัดความต่างๆ ข้างต้น ดูเหมือนว่าการให้คำจำกัดความเหล่านี้มุ่งพิจารณาเพียงด้านเดียวของการเมือง และนั่นก็คือการบริหารจัดการในรูปของการปกครองและการชี้นำ หรือการทำโทษและการตอบแทนต่างๆ ในมุมมองต่างๆ ทางด้านศาสนา การพิจารณาเพียงด้านเดียวของการเมืองถือเป็นการเมืองที่บกพร่อง ซึ่งจะตอบสนองความต้องการทางด้านวัตถุของมนุษย์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในขณะที่การเมืองนอกจากการตอนสนองความต้องการทางด้านวัตถุแล้ว จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญต่อความต้องการทางด้านจิตวิญญาณของมนุษย์อีกด้วย จากเหตุผลดังกล่าวในมุมมองเช่นนี้ เจตนารมณ์จากการเมืองนั่นคือการชี้นำมนุษย์ไปสู่อุดมคติต่างๆ ทางด้านจริยธรรม และการสนองตอบทางจิตวิญญาณอันสูงส่งของเขา
ในมุมมองดังกล่าวนี้ มนุษย์คือผู้ดำรงมั่นอยู่ในเส้นทางของการพัฒนาการไปสู่เป้าหมายอันสูงส่ง ซึ่งนั่นก็คือความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการเมืองจะต้องเป็นการช่วยเหลือมนุษย์ในการที่จะได้มาซึ่งความสมบูรณ์ของเขา และด้วยเหตุผลนี้เองที่แก่นแท้ของการเมืองคือการอบรมฝึกฝน การขัดเกลา และการแก้ไขปรับปรุงที่ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการ ฉะนั้นมุมมองของศาสนาที่มีต่อการเมืองจึงเป็นมุมมองที่ทรงคุณค่า ซึ่งเป้าหมายของมันคือการชี้นำมนุษย์ไปสู่พัฒนาการแห่งความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์
ในบทความนี้ด้วยกับมุมมองของศาสนา เราจะเรียกการบริหารจัดการที่ทรงคุณค่าอันเป็นที่คาดหวังของมนุษย์ว่า “การเมืองแบบเอกเทวนิยม” ซึ่งในการเมืองประเภทนี้ การมองไปยังมนุษย์เป็นการมองอย่างให้คุณค่า และเป็นสิ่งที่ได้รับมาจากคำสอนต่างๆ ของศาสนา แบบอย่างของการเมืองแบบเอกเทวนิยม ก็คือท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งในเนื้อหาถัดๆ ไปเราจะได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์และพื้นฐานต่างๆ ของการเมืองในทัศนะของท่าน
การเมืองแบบเอกเทวนิยมนั้น มนุษย์คือแกนหลักของการเมือง การวางแผนการและการตัดสินใจต่างๆ ทางการเมืองจะต้องเป็นไปในทิศทางของการตอบสนองต่ออุดมคติของมนุษย์ และจะต้องเกิดขึ้นจากความรอบรู้และความเข้าใจถึงเนื้อแท้และข้อเท็จจริงของตัวเขา ฉะนั้นดังที่ได้ชี้ให้เห็นไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า การเมืองแบบเอกเทวนิยม คือการเมืองเพื่อการชี้นำและการนำทาง ในการเมืองแบบนี้ การบริหารปกครองและการกำหนดทิศทางแก่มวลมนุษย์โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ของมนุษย์ดังเช่นที่มันเป็น และตัวมนุษย์ตามที่ควรจะต้องเป็น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ถูกคาดหวัง (7)
การเมืองแบบเอกเทวนิยมนั้น ในการบริหารปกครองเป้าหมายอันสูงส่งทางด้านวัตถุจะได้รับสถานะที่ศักดิ์สิทธิ์และทรงคุณค่า สถานะอันทรงคุณค่านี้เกิดจากข้อเท็จจริงที่การเมืองได้มุ่งแสวงหามันในกรณีที่เกี่ยวกับมนุษย์ ด้วยกับการพิจารณาถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ท่านอัลลามะฮ์ ญะอ์ฟะรี ได้ให้ความหมายและอธิบายการเมืองว่าเป็นการบริหารและการจัดการในทิศทางของการดำรงชีวิตที่มีเหตุมีผล โดยท่านกล่าวว่า
“การเมืองตามความหมายที่แท้จริงของมัน คือการบริหารปกครอง การกำหนดทิศทางและการจัดระเบียบในการดำเนินชีวิตทางสังคมของมวลมนุษย์ ในเส้นทางของการดำรงชีวิตที่มีเหตุมีผล (8)
เพราะฉะนั้นความศักดิ์สิทธิ์ของการเมืองจึงเกิดจากเป้าหมายอันสูงส่งของมัน ด้วยกับการพิจารณาถึงเป้าหมายอันทรงคุณค่านี้ บรรดาศาสดา (อ.) คือบุรุษนักการเมืองแห่งพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้เนื่องจากเป้าหมายของการส่งบรรดาศาสดาลงมา ก็คือการจัดเตรียมสภาวะเงื่อนไขต่างๆ เพื่อการค้นหาคุณค่าต่างๆ และเป้าหมายต่างๆ อันสูงส่งของความเป็นมนุษย์ การที่มนุษย์ได้ยึดมั่นปฏิบัติตามเนื้อหาของสาสน์จากปวงศาสดาที่ได้รับการแต่งตั้งมานั้น เขาสามารถที่จะย่างก้าวไปในเส้นทางการเมืองแบบเอกเทวนิยมได้ และเช่นเดียวกันนี้ ด้วยกับการพิจารณาถึงสถานะและเป้าหมายอันสูงส่งนี้ การเมืองจึงถือเป็นอิบาดะฮ์และเป็นภารกิจหน้าที่ของมวลมนุษย์ที่จำเป็น (วาญิบ) ที่สุดประการหนึ่งที่มีเงื่อนไขต่างๆ หลายประการ (9)
เหตุผลของความจำเป็น (วุญูบ) ของมันก็คือ หากปราศจากการบริหารปกครองและการกำหนดทิศทางแก่มวลมนุษย์ในการดำเนินชีวิตทางสังคมในเส้นทางของชีวิตที่มีเหตุผลนั้น จะทำให้การดำเนินชีวิตของพวกเขาต้องพบกับความยุ่งเหยิง (10) ด้วยเหตุนี้บุคคลที่มีเงื่อนไขต่างๆ ของความเป็นผู้บริหารปกครองมวลมนุษย์อยู่ในตัวเอง เขาจำเป็นจะต้องน้อมรับภารกิจหน้าที่ดังกล่าว และจะต้องชี้นำมวลมนุษย์ไปสู่การดำเนินชีวิตที่มีเหตุมีผล หากบุคคลใดมีความสามารถในการบริหารปกครองแต่เขากลับนิ่งเฉย ในความเป็นจริงแล้วเขาได้ละทิ้งการอิบาดะฮ์อย่างหนึ่งไป เนื่องจากการเพิกเฉยจากการทำหน้าที่บริหารปกครองของเขาจะกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดความบกพร่องและความยุ่งเหยิงในชีวิตทางสังคมของมวลมนุษย์ ผู้ใดก็ตามที่มีความสามารถแต่เขากลับไม่ทำหน้าที่บริหารปกครอง ในความเป็นจริงแล้วเขาคือผู้ที่เป็นต้นเหตุของความบกพร่องและความยุ่งเหยิงในชีวิตของมวลมนุษย์ ประหนึ่งว่าเขาได้ทำให้สภาวะการดำรงอยู่ของมวลมนุษย์ต้องหมดสิ้นไป แต่เนื่องด้วยคุณสมบัติและเงื่อนไขต่างๆ ของการเป็นผู้บริหารปกครอง หากเขาน้อมรับการปฏิบัติภารกิจหน้าที่นี้ ในความเป็นจริงแล้วบุคคลเช่นนี้เขาได้ให้ชีวิตแก่มนุษย์ทั้งมวล (11)
หลักปรัชญาว่าด้วยความสำคัญและองค์กรทางการเมืองของสังคมในทัศนะของเพลโตก็เช่นกัน ได้อธิบายถึงบทบาทในด้านการอบรมขัดเกลาและการแก้ไขปรับปรุงทางการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากในทัศนะของเพลโตนั้น มนุษย์จะสามารถได้รับประโยชน์จากการอบรมขัดเกลาที่ถูกต้องได้ในท่ามกลางสังคมเพียงเท่านั้น (12) ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง เพลโตจึงถือว่าศาสตร์เกี่ยวกับการปกครองจึงเป็นศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีความสำคัญเหนือศาสตร์ทั้งหลาย (13) หากรัฐและองค์กรทางการเมืองของสังคมหนึ่งๆ ไม่สามารถจัดเตีรยมความพร้อมและความเป็นไปได้ในการอบรมขัดเกลาประชาชนได้แล้ว ทั้งสังคมและบุคคลในสังคมนั้นก็ไม่อาจไปถึงยังความเจริญรุ่งเรืองและความผาสุกไพบูลย์ได้ (14)
เชิงอรรถ
1.ญะมาลุดดีน มะดะนี, มะบานี วะกุลลียาต อุลูม ซิยาซี, หน้าที่ 12.
2.อับดุลฮะมีด, อะบุลฮัมด์, มะบานี อิลเม ซิยาซี, เล่มที่ 1, หน้า 17.
3.เล่มเดิม, หน้า 18.
4.เล่มเดิม.
5.เล่มเดิม, หน้า 17.
6.เล่มเดิม, หน้า 21.
7.มุฮัมมัด ตะกี ญะอ์ฟะรี, ฮิกมัต อุซูล ซิยาซี อิสลาม, หน้า 47.
8.เล่มเดิม.
9.เล่มเดิม, หน้า 48.
10.เล่มเดิม.
11.เล่มเดิม.
12.เล่มเดิม, โดยอ้างจาก บะฮาอุดดีน ซารฆอด, ตารีค ฟัลซะเฟฮ์ ซิยาซี, เล่มที่ 1, หน้า 93.
13.เล่มเดิม.
14.เล่มเดิม.
ที่มา : หนังสือ แนวคิดทางการเมือง ในสุนทโรวาทของท่านอะลี (อ.) เขียนโดย อะลี ฟะรีดูนี
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center