หากวิเคราะห์ข้อบัญญัติและหลักคำสอนของอิสลามให้ดี เราจะประจักษ์ถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งนั่นคือ หลักคำสอนของอิสลามมิได้จำกัดเฉพาะความต้องการด้านใดด้านหนึ่งของมนุษย์เพียงเท่านั้น อิสลามให้ความสำคัญทั้งสองด้านของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งด้านจิตวิญญาณและด้านร่างกาย และกำหนดแบบแผนที่ละเอียดอ่อนไว้สำหรับทั้งสองด้านดังกล่าว
หากเราได้ศึกษาคัมภีร์อัล กุรอาน และบรรดาริวายะฮ์ (คำรายงาน) ที่มาจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ) เราจะประจักษ์แจ้งในประเด็นดังกล่าว และจะได้บทสรุปว่าอิสลามนั้นครอบคลุมในทุกๆ ด้านของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ในเรื่องของการให้ความสำคัญต่อสุขภาพของร่างกาย คำสั่งสอนต่างๆ เกี่ยวกับพลานามัย คุณค่าต่างๆ ของผัก ผลไม้และอาหาร รวมทั้งวิธีการรับประทานอาหาร ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของหลักคำสอนแห่งอิสลามเลยทีเดียว บางส่วนจากคำสอนเหล่านั้นสำหรับปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่ามันคือความมหัศจรรย์ ตัวอย่างได้แก่ คำพูดของผู้เขียนหนังสือ “ค้อบ ว่า คูรอก” (การนอนและอาหาร) ซึ่งอ้างถึงคำกล่าวของท่านอิมามซอดิก (อ) ว่า “ในปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่า ผักกาดหอมนั้นเพียบพร้อมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และวิตามินดี (อี1)ด้วยเหตุนี้เองมันจึงช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงให้เพิ่มมากขึ้น และที่น่ามหัศจรรย์ก็คือ ท่านมัรฮูมกุลัยนีย์ ได้บันทึกรายงาน(ฮะดิษ )บท หนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ไว้ในหนังสือ อัล กาฟี ว่า “ผักกาดหอม จะช่วยบำรุงเลือดได้ดียิ่งกว่าผักชนิดอื่นๆ” (1)
อิสลามกับความสำคัญของสุขภาพร่างกาย
ตราบใดที่ร่างกายยังอ่อนแอและขาดความสมบูรณ์ จิตใจ สติปัญญาและความคิดของมนุษย์ก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตและพัฒนาไปอย่างสมบูรณ์ได้ ในมุมกลับกัน พัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ขึ้นกับสติปัญญาและความคิดความอ่านของเขา มนุษย์จะต้องรู้ว่าการมีสุขภาพที่สมบูรณ์ของร่างกายมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาการของมนุษย์ไปสู่ความยิ่งใหญ่และอัฉริยภาพ
ด้วยเหตุนี้อิมามซอดิก (อ) จึงได้สรุปความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ไว้ 3 ประการคือ
1) ความยากจน
2) ความเจ็บป่วยทางร่างกาย
3) ความเจ็บป่วยทางจิตใจ ตัวอย่างเช่น การอิจฉาริษยา การตระหนี่ถี่เหนียวและการทะนงตน (ตะกับบุร) และอื่นๆ
ในทางกลับกัน 3 ประการที่ท่านถือว่าเป็นความโปรดปราน อันยิ่งใหญ่สำหรับมนุษย์ ซึ่งได้แก่
1) การมีทรัพย์สินที่พอเพียงต่อการดำเนินชีวิต โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น
2) การมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์
3) การมีสุขภาพทางจิตใจที่สมบูรณ์ หมายถึง เพียบพร้อมไปด้วยคุณลักษณะที่งดงามทางด้านจิตใจ ปราศจากอุปนิสัยและพฤติกรรมที่เลวร้ายและน่าตำหนิ
อิมามอะลี (อ) กล่าวว่า “พึงรู้ไว้เถิดว่า แท้จริงส่วนหนึ่งจากบททดสอบ (บะลาอ์) คือความยากจน และที่เลวร้ายไปกว่าความยากจนคือความเจ็บป่วยของร่างกาย และที่เลวร้ายไปกว่าความเจ็บป่วยของร่างกายก็คือความเจ็บป่วยของจิตใจ พึงรู้ไว้เถิดว่า ส่วนหนึ่งจากบรรดาเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) คือความกว้างขวางในทรัพย์สิน และที่ประเสริฐกว่าความกว้างขวางในทรัพย์สินคือการมีสุขภาพร่างกายที่ดี และที่ประเสริฐไปกว่าการมีสุขภาพร่างกายที่ดีก็คือการมีหัวใจที่ยำเกรง (ตักวา)” (2)
ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “โชคดีจงมีแด่ผู้ที่ยอมรับอิสลาม และชีวิตความเป็นอยู่ของเขามีความพอเพียง พละกำลังแห่งร่างกายของเขามีความแข็งแรง” (3)
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) อีกบทหนึ่ง ทอิมามอะลี (อ) ถือว่าการมีสุขภาพที่สมบูรณ์ของมนุษย์คือ เนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) อันยิ่งใหญ่สำหรับเขา ดังที่ท่านได้กล่าวว่า “สุขภาพที่ดีคือความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) ที่ประเสริฐสุด” (4)
อิมามฮูเซน (อ) กล่าวในตอนหนึ่งของบทขอพร (ดุอาอ์) อะรอฟะฮ์ ว่า “และขอพระองค์ได้โปรดยังประโยชน์แก่ข้าฯ โดยอวัยวะต่างๆ (แห่งร่างกาย) ของข้าฯ และโปรดบันดาลให้หูและสายตาของข้าฯ คงอยู่กับข้าพระองค์ (จวบจนชีวิตจะหาไม่)”
เพื่อให้เด็กหนุ่มมีพละกำลังเข้มแข็งและมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ อิสลามจึงกำหนดให้มีการฝึกฝนการว่ายน้ำและยิงธนูให้แก่ลูกๆ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่สำหรับผู้เป็นบิดา
ดังที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงสอนลูกๆ ของพวกท่านให้ยิงธนูและว่ายน้ำ” (5)
จากการที่อิสลามให้ความสำคัญทั้งในด้านร่างกายและจิตวิญญาณของมนุษย์ และถือว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์ต่อกัน อีกด้านหนึ่ง วิชาการด้านการแพทย์และจิตวิทยาสมัยใหม่ก็ยอมรับในทฤษฎีนี้ หมายถึงจิตใจจะสงบโดยปราศจากร่างกายที่สมบูรณ์นั้นมิอาจเป็นไปได้ และร่างกายจะสมบูรณ์ได้ยากหากปราศจากการมีความคิดอ่านและจริยธรรมที่งดงาม
เพื่อป้องกันความเจ็บป่วยต่างๆ อิสลามได้อธิบายหลักคำสอนด้านสุขภาพอันทรงคุณค่าไว้ในเนื้อหาของมุฮัรรอมาต(ข้อห้าม) มักรูฮาต(สิ่งที่น่ารังเกียจ) และมุสตะฮับ(สิ่งที่ควรปฏิบัติ) ซึ่งเมื่อเวลาได้ผ่านไปหลายศตวรรษ ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่จึงค่อยๆ ถูกเปิดเผย
อ้างอิง :
(1) ค้อบ ว่า คูรอก หน้า 205 อ้างรายงานจากหนังสือ ฟุรูอุลกาฟี เล่มที่ 6 หน้า 367, และหนังสือ บิฮารุล อันวาร เล่มที่ 66 หน้า 239
(2) นะฮ์ญุล บะลาเฆาะฮ์ ของท่านฟัยฎุลอิสลาม หน้า 1260
(3) บิฮารุล อันวาร เล่มที่ 72 หน้า 67
(4) ฟะฮ์ริซต์ อัลฆุร็อต หน้า 199
(5) ญะอ์ฟะรียาต หน้า 98
ที่มา : จากหนังสือ “อิสลามกับการแพทย์ที่ไม่พึ่งยา”
แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center