คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า
قُلْ هَٰذِهِ سَبِيلِي أَدْعُو إِلَى اللَّهِ عَلَىٰ بَصِيرَةٍ أَنَا وَمَنِ اتَّبَعَنِي وَسُبْحَانَ اللَّهِ وَمَا أَنَا مِنَ الْمُشْرِكِينَ
"จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด) ว่า นี่คือแนวทางของฉัน ฉันและผู้ปฏิบัติตามฉันจะเรียกร้องเชิญชวนไปสู่อัลลอฮ์ ด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และมหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮ์ และฉันมิได้อยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี” (1)
โองการนี้นอกเหนือจากจะชี้ให้เห็นว่า ผู้นำนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) และมีความรอบรู้ที่เพียงพอแล้ว ยังชี้ให้เห็นอีกเช่นกันว่า มุสลิมทุกคนที่ดำเนินรอยตามศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น พวกเขาจะต้องเป็นผู้เรียกร้องเชิญชวนผู้อื่นสู่สัจธรรมด้วยเช่นกัน
ดังนั้นพวกเขาจะต้องไม่ส่งเสริมและชักนำประชาชนไปสู่การกระทำใดๆ อย่างหลับหูหลับตา โดยปราศจากความรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ทว่าพวกเขาเองจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่สมบูรณ์และมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง เพื่อจะได้เรียกร้องเชิญชวนและชี้นำประชาชนไปสู่พระผู้เป็นเจ้าด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้งและด้วยวิสัยทัศน์ดังกล่าวที่สมบูรณ์
ทำนองเดียวกัน มนุษย์นั้นในการเคลื่อนไหวและการย่างก้าวจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งนั้น จำเป็นต้องมีดวงตาด้านนอกที่ใช้ในการมองเพื่อจะได้ไม่ตกลงสู่หลุมและอันตราย เช่นเดียวกันนี้ การที่จะบรรลุสู่เป้าหมายที่สูงส่งและรอดพ้นจากกับดักของฟิตนะฮ์ (วิกฤตความเลวร้าย) ต่างๆ ได้นั้น จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) ด้วยเช่นกัน
มีรายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า
مَا مِنْ عَبدٍ إلاَّ وفي وجْهِهِ عَينَان يُبْصرُ بِهِما أمْرَ الدُّنيا، وعَيْنان في قَلبِهِ يُبصِرُ بهما أمْرَ الآخِرَة.. فإذَا أرَادَ بِعبدٍ خَيراً فتحَ عَيْنَيه اللَّتَينِ في قَلبِه، فأبْصَرَ بِهِمَا مَا وَعَدَهُ بالغَيبِ، فآمَنَ بِالغَيبِ عَلى الغَيبِ
“ไม่มีบ่าวคนใดเว้นแต่เขาจะมีสองดวงตาบนใบหน้าของเขา ที่จะใช้มองกิจการแห่งโลกนี้ และจะมีสองดวงตาในหัวใจของเขาที่จะใช้มองกิจการแห่งปรโลก... ดังนั้นเมื่อพระองค์ (อัลลอฮ์) ทรงปรารถนาความดีงามแก่บ่าวคนใด พระองค์จะทรงเปิดดวงตาทั้งสองของเขาที่อยู่ในหัวใจ แล้วเขาจะมองเห็นสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาไว้แก่เขาด้วยสื่อของความเร้นลับ ฉนั้นเขาจะศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับโดยอาศัยสื่อของความเร้นลับ” (2)
บนพื้นฐานของคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานและอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ทุกๆ กิจการงานในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกอบอาชีพ ความเป็นมิตร ความเป็นศัตรูกับบุคคลต่างๆ ท่าทีและจุดยืนต่างๆ และอื่นๆ จำเป็นจะต้องกระทำบนพื้นฐานของความรู้ที่พอเพียงและความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) เพื่อที่เขาจะสามารถย่างก้าวไปบนเส้นทางของตนด้วยความปลอดภัยและมั่นใจถึงความถูกต้องของเส้นทางดังกล่าว
ความจำเป็นที่สำคัญที่สุดของการมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) นั้นก็คือ เมื่อเกิดฟิตนะฮ์ (วิกฤตความเลวร้าย) ต่างๆ ในช่วงเวลาที่สังคมต้องเผชิญกับความผันผวนและการทดสอบที่ยิ่งใหญ่ ในช่วงเวลาเช่นนี้ การมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) เท่านั้นที่จะช่วยให้บุคคลทั้งหลายมีความสามารถในการแยกแยะถูกผิดและการตัดสินใจในการเลือกได้
จากจุดดังกล่าว ในการเผชิญกับฟิตนะฮ์ (วิกฤตความเลวร้าย) ต่างๆ นั้น การรู้จักความถูกต้องและความหลงผิด คือเงื่อนไขสำคัญสำหรับการย่างก้าวเข้าสู่เวทีนี้ ด้วยเหตุนี้เอง ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงใช้ความพยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำให้ผู้ที่ปฏิบัติตามท่านเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ผิดพลาดและถูกหลอกในการทำความรู้จักศัตรูของตนเอง
ทำนองเดียวกันนี้ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เท่าที่มีความสามารถท่านจะเรียกร้องเชิญชวนประชาชนไปสู่การทำความรู้จัก การมีวิสัยทัศน์และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) บางครั้งอาจจะด้วยจดหมายและการส่งสาส์น บางครั้งด้วยการกล่าวสุนทโรวาท และบางครั้งโดยการไปพบปะเป็นการส่วนตัว และท้ายที่สุดท่านได้ทำให้แนวทางแห่งสัจธรรมถูกจำแนกอย่างชัดเจนด้วยการเสียสละชีวิตของตนเอง เพื่อสังคมจะได้ไม่ตกอยู่ในวังวนและกระแสคลื่นของฟิตนะฮ์ (วิกฤตความเลวร้าย) ต่างๆ
ปัจจุบันนี้ก็เช่นเดียวกัน ท่านอายะตุลลอฮ์อะลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลาม ถือว่าการเสริมสร้างวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องและการมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับประชาชาติมุสลิมในยุคนี้
ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ เราในฐานะที่เป็นผู้เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำชี้นำของท่าน จำเป็นที่จะต้องย้อนกลับมาพิจารณาคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานและอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) เกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งคำชี้นำของท่านผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลามในฐานะที่เป็นวะลียุอัมริลมุสลิมีน (ผู้นำปวงชนมุสลิม) ในปัจจุบัน โดยมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมทุกระดับ เราจะได้สามารถย่างก้าวไปในสนามแห่งการดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือของศัตรูโดยไม่รู้ตัว และสามารถแยกแยะความถูกต้องออกจากความหลงผิดในสังคมที่เต็มไปด้วยฟิตนะฮ์ (วิกฤตความเลวร้าย) ต่างๆ ได้
ความหมายของคำว่า “บะซีเราะฮ์”
คำว่า “บะซีเราะฮ์” ในมุมมองของริวายะฮ์ (คำรายงาน) นั้นหมายถึง ความมีวิสัยทัศน์ พลังการรับรู้ด้านใน การตระหนักรู้และการมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับเราในการจำแนกแยกแยะสัจธรรมออกจากความหลงผิด และการเลือกเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสมจากเส้นทางที่ผิดพลาด
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า
لَيْسَ الاَعْمى مَنْ يَعْمى بَصَرَهُ اِنَّما الاَعْمى مَن تَعْمى بَصيرتَهُ
“คนตาบอดนั้นหาใช่ว่าบุคคลที่ดวงตาของเขามืดบอด แท้ที่จริงแล้วคนตาบอดนั้นคือบุคคลที่บะซีเราะฮ์ (ความเข้าใจและการรับรู้ด้านใน) ของเขามืดบอด” (3)
ในฮะดีษ (วจนะ) ข้างตนนี้ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ถือว่าคนที่ขาดวิสัยทัศน์ ขาดพลังการรับรู้ด้านใน ขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) ไม่สามารถแยกแยะสัจธรรมออกจากความเท็จและความถูกต้องออกจากความผิดพลาดได้นั้น คือผู้ที่ตาบอดโดยแท้จริง
ความจำเป็นและความสำคัญของการมีวิสัยทัศน์และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การมีวิสัยทัศน์และความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับกิจการและสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์จะกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจการงานและการกระทำที่เป็นเรื่องส่วนตัวและสังคมนั้น นับว่ามีความสำคัญและมีความจำเป็นมาก ในกรณีที่ไม่มีวิสัยทัศน์และความเข้าใจที่ลึกซึ้งเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวิกฤตต่างๆ ของการดำเนินชีวิตนั้น ถึงขั้นที่สามารถทำให้เราตกสู่หุบเหวต่างๆ และเบี่ยงเบนออกจากเส้นทางอันเที่ยงตรงของพระผู้เป็นเจ้าได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นยุคของสงครามจิตวิทยาและสงครามสื่อโฆษณาชวนเชื่อ ที่กำหนดเป้าหมายไปที่สังคมต่างๆ ในสภาวการณ์เช่นนี้ การประโคมข้อมูลข่าวสารและแนวความคิดต่างๆ ที่บิดเบือนและเป็นพิษภัยที่ดำเนินอยู่ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคแห่งเทคโนยี ดิจิตอล การเชื่อมโยงโลกด้วยกับการสร้างสังคมเครือข่ายออนไลน์ต่างๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ การแยกแยะมิตรออกจากศัตรูกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่ง และในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความแปดเปื้อนและพิษภัยเช่นนี้ มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะสามารถเป็นโล่และอาวุธที่ทำให้มนุษย์ปลอดภัย และนำพามนุษย์ไปสู่ความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ในการดำเนินชีวิตได้ ซึ่งนั่นก็คือการมีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องและความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์)
ในส่วนหนึ่งจากคำปราศรัยของท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลาม เกี่ยวกับความอดทน (ซ็อบร์) และการมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) ท่านได้กล่าวว่า
ผู้เป็นที่รักทั้งหลายของข้าพเจ้า! ปัญหาต่างๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับบุคคลหรือสังคมต่างๆ ของมนุษย์นั้น เป็นผลมาจากหนึ่งในสองประการต่อไปนี้คือ : การขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) หรือการขาดความอดทน (ซ็อบร์) หรือเกิดจากความไม่ใส่ใจ ไม่จำแนกแยกแยะข้อเท็จจริงต่างๆ หรือไม่เข้าใจถึงข้อเท็จจริงต่างๆ แม้จะมีความเข้าใจถึงข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว แต่เหนื่อยหน่ายจากการที่จะยืนหยัดอย่างมั่นคง
ในโลกปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน ผู้ที่อยู่ในระดับผู้นำของอำนาจต่างๆ ทางการเมือง ผู้ที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ และเป็นผู้แทรกแซง หรืออยู่ในส่วนบริหารของบริษัทต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ หรืออยู่ในระดับหัวหน้าของหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเหมือนมะเร็งร้ายทางด้านการโฆษณาชวนเชื่อ และเครือข่ายที่ใหญ่โตที่แสวงหาผลประโยชน์ทางด้านการโฆษณา พวกเขาพยายามที่จะครอบงำและบีบบังคับเหนือประชาชนของชาติทั้งหลาย โดยอาศัยคุณลักษณะหนึ่งจากทั้งสองประการนี้
หรือพยายามที่จะให้ประชาชาติทั้งหลายอยู่ในความไม่สนใจใยดี และทำลายความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) ไปจากพวกเขา ถ้าหากพวกเขาไม่สามารถที่จะทำลายความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) ออกไปจากประชาชนเหล่านั้นได้อย่างสมบูรณ์ ในบางกรณีที่เป็นปัญหาเฉพาะ ก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา พวกเขาพยายามที่จะทำลายการตื่นตัวและการมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) ของประชาชนในสังคมนั้นๆ ให้หมดไป หรือไม่ก็ทำให้พวกเขาหมดความอดทน (4)
แหล่งที่มา :
(1) อัลกุรอานบทยูซุฟ โองการที่ 108
(2) มีซานุ้ลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 8, หน้าที่ 224 ; กันซุ้ลอุมมาล, เล่มที่ 2, หน้าที่ 42, ฮะดีษที่ 3043
(3) นะฮ์ญุลฟะซอฮะฮ์, ฮะดีษที่ 2373
(4) คำปราศรัยในการเข้าพบของบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัย, 12/08/1377 (ปีอิหร่าน)
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center