بِسْمِ اللهِ الرَّحْمنِ الرَّحِيمِ
جَعَلَ اللَّهُ الْكَعْبَةَ الْبَيْتَ الْحَرَامَ قِيَامًا لِّلنَّاسِ
อัลลอฮ์ทรงบันดาลสร้างสรรค์ให้กะบะฮ์เป็นบ้านต้องห้าม อีกทั้งเป็นที่ยืนหยัดสำหรับมนุษยชาติทั้งหลาย (1)
وَإِذْ جَعَلْنَا الْبَيْتَ مَثَابَةً لِّلنَّاسِ وَأَمْنًا
และเมื่อครั้งที่เราได้บันดาลสร้างสรรค์บ้านหลังนั้น (กะบะฮ์) ให้เป็นที่แสวงบุญ และเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัยสำหรับมนุษยชาติ (2)
وَأَذِّن فِي النَّاسِ بِالْحَجِّ يَأْتُوكَ رِجَالًا وَعَلَىٰ كُلِّ ضَامِرٍ يَأْتِينَ مِن كُلِّ فَجٍّ عَمِيقٍ
“และจงประกาศเถิด ในมวลมนุษยชาติ เพื่อการบำเพ็ญฮัจญ์ซึ่งพวกเขาจะมายังเจ้า มีทั้งพวกที่เดินเท้าและพวกที่ขี่อูฐผอมโซ” (3)
จากคัมภีร์อัลกุรอานที่กล่าวข้างต้น ทำให้เราเข้าใจได้ว่า อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงบันดาลสร้างสรรค์บัยตุลลอห์เพื่อมนุษยชาติ และมีบัญชาให้ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ประกาศเชิญชวนมวลมนุษยชาติมาประกอบพิธีฮัจญ์ ดังนั้นกะบะฮ์มิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง กะบะฮ์เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิของอิสลาม อัลลอฮ์ (ซ.บ.) สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นที่รวมตัวของมนุษยชาติที่เดินทางมาจากส่วนต่างๆ ของโลก
กะบะฮ์เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ ผู้ที่เดินทางมาบำเพ็ญฮัจญ์คือผู้ที่มีความศรัทธา มีจิตสำนึกในการเชื่อฟังและเสียสละด้วยความบริสุทธิใจ เพราะฉะนั้น กะบะฮ์มีรากฐานหยั่งลึกไปในอดีต กะบะฮ์เป็นอาคารที่สร้างขึ้นด้วยหินธรรมดา ไม่ได้ประดับประดาให้วิจิตรพิสดารเหมือนปราสาทราชวัง แต่ความธรรมดาเช่นนี้เป็นที่หวลคืนของมนุษย์
ดินแดนที่กะบะฮ์ตั้งอยู่เป็นดินแดนที่มีความจำเริญ มีความปลอดภัยมั่นคง เป็นสถานที่ชี้นำมนุษยชาติให้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรง คำว่า مثابة للناس ในอัลกุรอานบทอัลบะเกาะเราะห์ โองการที่ 125 ตามรากศัพท์จากคำว่า ثوب หมายถึงการกลับไปสู่สภาพเดิม การรวมตัว ดังนั้นบัยตุลลอฮ์ จึงเป็นบ้านที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ให้มนุษยชาติกลับไปรวมตัวกันในสถานที่ ในสภาพแวดล้อมดั้งเดิม ตามธรรมดาแล้ว บ้านคือสถานที่ๆมีความสงบสุขปลอดภัย บัยตุลลอฮ์เป็นบ้านหลังแรก
إِنَّ أَوَّلَ بَيْتٍ وُضِعَ لِلنَّاسِ لَلَّذِي بِبَكَّةَ مُبَارَكًا وَهُدًى لِّلْعَالَمِينَ
“แท้จริงบ้านหลังแรกที่ได้รับการสถาปนาขึ้นสำหรับมนุษยชาตินั้นได้แก่บ้านที่อยู่ในมักกะฮ์ เป็นสถานที่อันจำเริญและเป็นทางนำสำหรับชาวโลกทั้งหลาย” (4)
หลังจากสมัยของท่านศาสดาอาดัม (อ.) มนุษย์มีจำนวนมากขึ้นและกระจัดกระจายไปยังส่วนต่างๆของโลก อัลลอฮ์ (ซ.บ.) มีบัญชาให้มนุษยชาติเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ คือการกลับไปสู่บ้านหลังแรก กลับไปสู่สภาพดั้งเดิมในฐานะบ่าวของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ไม่คำนึงถึงสถานภาพก่อนเดินทางว่าเขาดำรงตำแหน่งใดก็ตาม เช่น กษัตริย์ ขุนนาง ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี
หลังสงครามโลกครั้งที่1 อาณาจักรออตโตมานล่มสลายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1924 ชารีฟฮุเซน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองมักกะฮ์ในสมัยนั้น ได้เชิญบรรดาอุละมาอ์ผู้รู้จาก อิยิปต์ ซีเรีย ปาเลสไตน์ อินเดีย รวมทั้งมุสลิมผู้ที่มีชื่อเสียงระดับสูงอีกหลายคนไปร่วมประชุมปรึกษาหารือกันในเรื่องการบริหารจัดการเกี่ยวกับฮัจญ์ และพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่เป็นปัญหาของประชาชาติมุสลิม ในที่ประชุมมีการจัดตั้งสภาฮัจญ์ขึ้น และมีมติว่าจะจัดการประชุมเช่นนี้ทุกปีในช่วงพิธีฮัจญ์ นอกจากนี้ยังมีมติให้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการเพื่อรับผิดชอบในด้านการบริหารจัดการโดยตรง (5) แต่ในปีต่อมา ตระกูลอิบนิ ซะอูด ยกกำลังเข้ายึดครองแคว้นฮิญาซซึ่งรวมถึงเมืองมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ด้วย ชะรีฟ ฮุเซน ต้องหนีออกจากมักกะฮ์เพื่อลี้ภัยไปไซปรัส
ในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1926 กษัตริย์อับดุลอะซีซ อิบนิซะอูด ได้ส่งโทรเลขเชิญผู้นำมุสลิม ผู้แทนสมาคมมุสลิมต่างๆ ให้ไปร่วมประชุมที่มักกะฮ์ หลังจากพระองค์ยึดครองแคว้นฮิญาซได้แล้ว การประชุมครั้งนั้นเรียกว่า “Mecca Muslim Congress” หรือสภามุสลิมแห่งมักกะฮ์
การประชุมจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1926 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้นำมุสลิมจากส่วนต่างๆ ของโลกในสมัยนั้น ประเทศมุสลิมหลายประเทศยังตกอยู่ในอำนาจของจักรวรรดินิยมตะวันตก เช่น อิยิปต์ อินเดีย มาเลเซีย เป็นอาณานิคมของอังกฤษ อินโดนีเซียเป็นของเนเธอแลนด์ ซีเรียเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส ลิเบียเป็นอาณานิคมของอิตาลี
ในการประชุมที่มักกะฮ์ครั้งนั้น ที่ประชุมพิจารณาถึงประเด็นสถานภาพของแคว้นฮิญาซซึ่งรวมถึงมักกะฮ์และมะดีนะห์ อันเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของอิสลาม นอกจานี้ยังมีวาระเกี่ยวกับการบริหารจัดการพิธีฮัจญ์ด้วย เพราะการดำเนินงานเรื่องฮัจญ์นั้น ถือเป็นภาระหน้าที่ของประชาชาติมุสลิม แต่การประชุมเช่นนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปีตามมติของที่ประชุม
อย่างไรก็ตาม เมื่อกษัตริย์ไฟซอล บิน อับดุลอะซีซ ขึ้นมามีอำนาจปกครองที่แท้จริงหลัง ค.ศ.1958 พระองค์เสด็จเยือนประเทศอิหร่าน จอร์แดน ซูดาน ปากีสถาน ตุรกี โมร็อคโค กินี มาลี ตูนีเซีย ในช่วงกลางปี ค.ศ.1960 พระองค์ทรงเรียกร้องให้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศมุสลิมเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาของประชาชาติมุสลิม การเรียกร้องกษัตริย์ไฟซอล ได้รับการสนับสนุนจากประเทศอิหร่าน โซมาเลีย โมร็อคโค จอร์แดน ปากีสถาน อิยิปต์
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1962 กษัตริย์ไฟซอล อิบนิซะอูด ทรงจัดประชุมนานาชาติขึ้นที่มักกะฮ์ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนของประเทศมุสลิมและผู้แทนองค์กรเอกชน กษัตริย์ไฟซอล พยายามรวมประเทศมุสลิมให้มีเอกภาพและต่อต้านแนวคิดชาตินิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาตินิยมอาหรับ พระองค์ตรัสว่า “ในขณะที่อิสลามกำลังเผชิญหน้ากับการแบ่งแยกให้เป็น ซ้าย ขวา ตะวันออก ตะวันตก เราจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ในอันที่จะต่อสู้กับปัญหาความยากลำบากที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นแนวคิดประชาชาติอิสลาม (อุมมะฮ์) ที่มีความศรัทธาต่อเอกองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ศาสดา และกฎหมายอิสลาม (ชะรีอะห์) ที่ประชุมมีมติจัดตั้งสันนิบาตโลกมุสลิม (Muslim World Leage) (6)
ใน ค.ศ.1967 เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับ ปรากฏว่าอาหรับพ่ายแพ้อิสราเอลภายในหกวัน และถูกยึดครองดินแดนเพิ่มขึ้น รวมทั้งกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นที่ตั้งของมัสญิดอัลอักซอ ในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1969 มัสญิดอัลอักซอถูกวางเพลิง กษัตริย์ไฟซอล อิบนิ อับดุลอะซีซ จึงทรงเรียกร้องให้มีการประชุมสุดยอดประเทศมุสลิมเพื่อปลดปล่อยเยรูซาเล็ม ในช่วงวันที่ 22 ถึง 25 กันยายน ค.ศ.1969
กษัตริย์ไฟซอลทรงเป็นแกนนำสำคัญที่ริเริ่มจัดการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศมุสลิม ที่ประชุมประกอบด้วยผู้นำประเทศมุสลิมจากทั่วโลก หลังจากอภิปรายอย่ากว้างขวาง ที่ประชุมมีมติจัดตั้งองค์การประชุมกลุ่มประเทศอิสลาม The Organization of the Islamic Conference (OIC) ต่อมามีการจัดประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศช่วงวันที่ 23-25 มีนาคม ค.ศ.1970 ที่ประชุมมีมติให้ ตนกูอับดุลเราะห์มาน อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียเป็นเลขาธิการ
การประชุมสุดยอดของ OIC ครั้งที่สาม จัดขึ้นที่มักกะฮ์ใน ค.ศ.1981 ในช่วงเปิดการประชุม กษัตริย์คอลิด บิน อับดุลอะซีซ ทรงเชิญผู้นำประเทศมุสลิมทั้งหมดเข้าไปภายในกะบะฮ์ นับว่าเป็นการเปิดประชุมครั้งสำคัญมากในประวัติศาสตร์โลกมุสลิม เป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้นำประเทศมุสลิมมีจิตสำนึกในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติอิสลาม ผู้นำทุกคนเดินทางมาอยู่ในบัยตุลลอฮ์ ในฐานะบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า
การอภิปรายและการกระทำทุกอย่างถูกบันทึกอย่างละเอียดมากกว่าการจดรายงานการประชุม การที่ผู้นำมุสลิมได้มีโอกาสละหมาดร่วมกันในมัสญิดฮะรอม จะทำให้จิตใจสงบและมีความอิคลาศ (การทำให้ความตั้งใจของเราบริสุทธิ์ ปราศจากความโสมมทั้งหลาย) มากขึ้น การแสดงความคิดเห็นหรือการลงมติใดๆ ก็กระทำเพื่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อโลกมุสลิมโดยส่วนรวม การพิจารณาเรื่องกิจการงานต่างๆ ของมุสลิมก็ต้องรวมถึงการบริหารจัดการพิธีฮัจญ์
การจัดสัมมนาฮัจญ์ในวันนี้ก็เพื่อจะสนับสนุนแนวความคิดและการดำเนินงานของชะรีฟ ฮุเซน กษัตริย์อับดุลอะซีซ กษัตริย์ไฟซอล กษัตริย์คอลิด ที่ริเริ่มจัดการประชุมที่มักกะฮ์เพื่อพิจารณาถึงการบริหารจัดการพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชาติมุสลิมที่จะพิจารณาร่วมกัน เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการประกอบพิธีฮัจญ์ ส่วนรายละเอียดในการบริหารจัดการนั้นควรเป็นความรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการ OIC ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นองค์การความร่วมมืออิสลาม The Organization of the Islamic Cooperation) ปัจจุบันมีสมาชิก 57 ประเทศ ครอบคลุมประชากรมุสลิมมากกว่า 1,300 ล้านคน
แหล่งอ้างอิง :
(1.) อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 97
(2.) อัลกุรอานบทอัลบะเกาะเราะห์ โองการที่ 125
(3.) อัลกุรอานบทอัลฮัจย์ โองการที่ 27
(4.) อัลกุรอานบท อาลิ อิมรอน โองการที่ 94
(5.) Martin Kramer, Islam Assembled the Advent of the Muslim Congress (New York: Columbia University Press,1986), P 95
(6.) Abdullah al Ahsan, OIC the Organization of the Islamic Conference (USA.: International Institute of Islamic Thought, 1988), P 17
ที่มา : เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ "ฮัจญ์กับสันติภาพของมนุษยชาติ"
ณ โรงแรมอัลมีรอซ รามคำแหง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561
เรียบเรียง : ผ.ศ. มนัส เกียรติธารัย
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center