27 รอญับ วันมับอัษ มิได้เป็นเพียงวันแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซบ.) เท่านั้น วันนี้มีความสำคัญมากกว่าวันที่อาดัม (อ.) ถูกสร้าง ซึ่งเป็นโอกาสเริ่มต้นของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ
วันนี้ยังสำคัญมากกว่าวันที่มูซา (อ.) นำลูกหลานอิสรออีลหนีการไล่ล่าอย่างเอาเป็นเอาตายของฟาโรห์ ข้ามทะเลแดงจากอียิปต์มายังคาบสมุทรซีนาย
เป็นวันที่อัศจรรย์มากกว่าวันแห่งการถือกำเนิดอย่างมหัศจรรย์ของอีซา (อ.) บุตรของท่านหญิงมัรยัม บุตรีของอิมรอน เพราะเป็นวันที่แสงอาทิตย์แห่งสัจธรรมเริ่มสาดส่องลงบนโลก นำความกระจ่างแจ้งทางปัญญามาสู่มนุษยชาติ เป็นวันที่ไม่เพียงมนุษยธรรมได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น แต่เป้าหมายพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ที่มนุษย์ทุกคนต้องขวนขวายไปให้ถึง ได้รับการนำเสนออีกครั้งหนึ่ง
วันแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นศาสนทูต คือวันที่เป็นหลักกิโลเมตรสำคัญของมนุษยชาติที่แยกสัจธรรมออกจากความเท็จ ความดีงามออกจากชั่วร้าย และกลั่นคุณงามความดีออกจากความเลวทรามต่ำช้า
ทั้งนี้เพื่อเตรียมนุษยชาติ ผ่านสายโซ่แห่งศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าที่ไม่ขาดสะบั้นและคงทนถาวร แผ่กว้างครอบคลุมศักราชต่างๆ ของมนุษยชาติ ในปริมณฑลทางภูมิรัฐศาสตร์ที่หลากหลายแตกต่างกัน เพื่อสร้างคุณลักษณะของทัศนคติทางอารมณ์สำหรับสารสากลที่เป็นเอกภาพแห่งอิสลาม
การพิจารณาและศึกษาสภาพของมนุษย์ก่อนและหลังการประกาศสารนี้ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ยืนยันถึงประเด็นนี้ได้ดีที่สุด
สังคมยุคก่อนอิสลาม ไม่เพียงในคาบสมุทรอาหรับเท่านั้น แต่โลกที่ศิวิไลซ์แล้วอย่างโรมัน เปอร์เซีย จีนและอินเดีย เป็นต้น ล้วนตกอยู่ในสภาพอนารยะ เป็นอนารยะในอารยธรรมมนุษยชาติ เป็นสภาพอวิชชาท่ามกลางวิทยาการ ซึ่งอิสลามเรียกว่า “ญาฮิลียะฮ์”
นอกจากจะมีความตึงเครียดทางการเมืองและการทหารระหว่างอาณาจักรใหญ่สองอาณาจักรในขณะนั้นคือเปอร์เซียและโรมัน ซึ่งทำสงครามกันมาอย่างยาวนานแล้ว ในทางศาสนาและความเชื่อ มนุษย์กำลังขาดหลักธรรมที่เป็นเอกภาพ มีความเป็นสากลที่จะขจัดทั้งความแตกต่างทางเผ่าพันธุ์ ภาษา สีผิว วรรณะและวัฒนธรรม
โลกในยุคก่อนที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะได้รับการแต่ตั้งเป็นศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้า ความยุติธรรมทางสังคมถูกละเลย สตรีซึ่งมีสถานภาพความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับบุรุษกลับถูกถือเป็นเพียงทรัพย์สินส่วนตัวของบุรุษ ไม่มสิทธิที่จะแสดงสิทธิ์ของตนเองผ่านการแต่งงาน ความเป็นภรรยา ความเป็นบุตรและความเป็นแม่
ผู้อ่อนแอและยากไร้ในยุคดังกล่าวไม่มีสภาพความเป็นมนุษย์ และตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์กดขี่บีฑาและข่มเหงกันเอง ผ่านแรงกดดันทางชนชั้นและสถานภาพทางสังคม
ภายหลังการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้า ท่านนำเสนอหลักการความยุติธรรมทางสังคม ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของปัจเจก ที่ยังแยกย่อยรายละเอียดต่างๆ ระหว่างบุรุษ สตรี เด็ก ผู้ใหญ่ พ่อแม่กับลูกๆ ระหว่างพี่น้องและญาติ จนกระทั่งแผ่คลุมไปถึงหลักการทางด้านความยุติธรรมทางสังคมของสมาชิกในสังคมทุกคน
อิสลามดึงสตรีขึ้นมาจากปลักตมแห่งความไร้ศีลธรรมทางเพศ การเป็นเครื่องมือและเครื่องเล่นของบรรดาบุรุษ มอบอาภรณ์ทางด้านกายภาพและด้านจิตวิญญาณแก่เธอ มอบสิทธิและบทบาทให้แก่พวกเธอ ที่เหมาะสมกับธรรมชาติของบรรดาสตรี ที่ถูกสร้างมาเท่าเทียมกับบุรุษแต่แตกต่างกันในเรื่องของบทบาท
การแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้า เป็นกระบวนการและวิธีการในการชำระหลักการต่างๆ ที่ถูกต้องชอบธรรมของมนุษยชาติที่ถูกละเมิดมานานหลายศตวรรษ นับตั้งแต่ยุคของศาสดาอีซา (อ.) ศาสดาท่านสุดท้ายก่อนการมาของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าภารกิจของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแจ้งไว้แล้วในคัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหมดก่อนหน้า ซึ่งหมายความว่าวันที่ 27 เดือนรอญับเป็นวันที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งผู้เป็นความเมตตาแก่มนุษยชาติอย่างเป็นทางการ ดังปรากฏในวจนะของท่านที่รู้จักกันดีคือ “ฉันได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสดาตั้งแต่ยังอยู่ในสภาวะน้ำกับดิน”
เหตุการณ์การแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้า อยู่ในการรับรู้และเป็นประจักษ์พยานของอิมามอะลี (อ.) ลูกพี่ลูกน้องของท่าน ดังปรากฏในธรรมเทศนาบทที่ 1 นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ว่า :
“เวลาล่วงเลยผ่านมา และเพื่อความสัมฤทธิ์ผลแห่งพันธสัญญาและความบริบูรณ์แห่งตำแหน่งศาสดา อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงแต่งตั้งมุฮัมมัดให้เป็นศาสนทูตแห่งพระองค์ ซึ่งศาสนทูตทั้งหลายให้การยอมรับ เกียรติคุณของมุฮัมมัดเป็นที่เลื่องลือ การถือกำเนิดของท่านเป็นสิริมงคลสำหรับทุกสรรพสิ่ง (บนเอกภพนี้) ยุคนั้นมนุษย์ยังเป็นเผ่าพันธุ์ต่างกันและมีการนับถือศาสนาที่แตกต่าง กิจแห่งอารมณ์ใฝ่ต่ำแพร่สะพัด ครรลองชีวิตมีรูปแบบมากมายที่แตกต่างกัน บ้างก็สมมติมนุษย์ที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงสร้างมาเทียบเคียงกับพระองค์ บ้างก็ปฏิเสธพระนามอันไพจิตรของพระองค์ บ้างก็มุ่งหมายไปยังสิ่งอื่นนอกเหนือจากพระองค์ ดังนั้น พระองค์จึงนำทางพวกเขาให้พ้นจากความหลงผิดโดยผ่านท่านศาสดา และทรงปลดปล่อยพวกเขาให้รอดพ้นจากความโง่งมงาย ต่อมาพระองค์ทรงคัดเลือกมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ให้เป็นผู้เข้าเฝ้าพระองค์ และทรงประทานความปิติยินดีแก่ท่านด้วยสิ่งที่มีอยู่ ณ พระองค์ และทรงเทิดเกียรติท่านให้ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยได้รับในโลกแห่งนี้ ทรงปลดปล่อยให้ท่านพ้นจากอุปสรรคปัญหา และทรงถอดถอนดวงวิญญาณของท่านด้วยการให้เกียรติ”
ถึงแม้ว่าจะมีอายุเพียงไม่ถึง 10 ปี อิมามอะลี (อ.) ก็เป็นผู้กล่าวกะลีมะฮ์ อัตตอยยิบะฮ์ ปฏิญาณตนเป็นคนที่สองต่อจากท่านหญิงคอดิยะฮ์ (รฎ.) ภรรยาผู้ทรงเกียรติของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และกลายมาเป็นอัลกุรอานที่มีชีวิตคู่กับอัลกุรอานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอิมามอะลีเองก็เป็นผู้จดบันทึกไว้เช่นกัน โดยอิมามอะลี (อ.) เองกล่าวว่า :
“ไม่มีอัลกุรอานโองการใดที่ฉันไม่รู้ว่าถูกประทานลงมาเมื่อใด ถูกประทานลงมาที่ไหน ถูกประทานลงมาเกี่ยวกับอะไร สาเหตุของการประทานลงมาคืออะไร หากฉันไม่อยู่ในขณะที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็จะแจ้งให้ฉันทราบ และสั่งให้บันทึกเอาไว้”
“และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธากล่าวว่า “ท่านมิใช่เป็นผู้ได้รับแต่ตั้ง” จงกล่าวเถิด “เพียงพอแล้วที่อัลลอฮทรงเป็นพยานระหว่างฉันกับพวกท่าน และผู้ที่เขามีความรู้ในคัมภีร์ (ก็เป็นพยานด้วย)” (อัลกุรอาน บทอัรเราะอ์ดุ โองการที่ 43)
คัดย่อจากบทความจาก www. shafaqna.com
แปล/เรียบเรียง : Fareed Denyingyoch
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center