ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าในเดือนรอมฎอน
มนุษย์กำลังย่างก้าวไปในเส้นทางสู่สวรรค์หรือไม่ก็เส้นทางสู่นรก กล่าวคือ เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะไม่เป็นทั้งชาวสวรรค์และไม่เป็นทั้งชาวนรก หมายความว่า ใครก็ตามที่ไม่เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า แน่นอนยิ่งว่าเขาก็ต้องเชื่อฟังชัยฏอน (มารร้าย) และไม่มีแนวทางที่สามอย่างแน่นอน คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า :
فَما ذا بَعْدَ الْحَقِّ إِلاَّ الضَّلالُ
"ดังนั้นจะมีอะไรอีกเล่าหลังจากสัจธรรม นอกจากความหลงผิดเท่านั้น" [1]
หมายความว่า หากไม่ใช่สัจธรรมแล้วก็ย่อมเป็นความหลงผิด ชีวิตของคนเรานั้นเปรียบเสมือนเทียนไขที่ถูกใช้ไป ถ้าอายุขัยของเราถูกใช้ไปในทางของพระผู้เป็นเจ้า เราก็เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ หากมิเช่นนั้นแล้วเราก็ได้ย่างก้าวไปสู่เส้นทางที่เบี่ยงเบน
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวถึงเดือนรอมฎอนอันจำเริญนี้ว่า :
ایها الناس ان ابواب الجنان فی هذا الشهر مفتحه فسئلوا ربکم ان لایغلقها علیکم
“โอ้ประชาชนเอ๋ย! แท้จริงบรรดาประตูของสวรรค์ได้ถูกเปิดในเดือนนี้ ดังนั้นจงวิงวอนขอต่อพระผู้อภิบาลของพวกท่าน อย่าได้ทรงปิดมันต่อพวกท่าน” [2]
ทุกสิ่งที่จะทำให้เราเข้าใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าได้ นั่นก็คือประตูสู่สวรรค์ ในเดือนรอมฎอนนั้น คนจำนวนมากจะไปมัสยิด จะกลายเป็นผู้เคร่งครัดในการนมาซ และจะตื่นขึ้นในยามดึก (ซะฮัร) แต่หลังจากเดือนรอมฎอนผ่านพ้นไป พวกเขาก็ละทิ้งจากการกระทำเหล่านี้ เราต้องพยายามทำให้ประตูต่าง ๆ ของสวรรค์ที่ถูกเปิดแล้วนี้เปิดอยู่ตลอดไปสำหรับเรา
ท่านอายะตุลลอฮ์มัรอะชี นะญะฟี (ร.ฮ.) กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงพยายามตื่นขึ้นในช่วงยามดึกก่อนรุ่งอรุณ (ซะฮัร) แม้เพียงไม่กี่นาทีก็ตาม มันเป็นช่วงไม่กี่นาทีที่น่าพิศวง แม้พวกท่านจะไม่มีอารมณ์ในการนมาซในช่วงนั้น ก็จงอ่านหนังสือ จงซิกรุลลอฮ์ (รำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า) จงวิงวอนขออภัยโทษ”
ความเมตตาพิเศษของพระผู้เป็นเจ้าในเดือนรอมฎอน
เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งความเมตตาที่กว้างขวางและแผ่ปกคลุมของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง เดือนนี้เป็นโอกาสพิเศษและเป็นความกรุณาเฉพาะของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อปวงบ่าวผู้กระทำผิดพลาดและเป็นคนบาปของพระองค์ในทั่วทุกมุมโลก ในเดือนนี้ลิขิตต่าง ๆ ของมนุษย์และโลกจะถูกกำหนดในเดือนนี้ คนที่เคยประพฤติชั่วจำนวนมากจะได้รับการอภัยโทษ และคนดีมีคุณธรรมจำนวนมากก็จะได้รับการยกระดับทางด้านจิตวิญญาณ
บุคคลทั้งหลายที่ได้มีชีวิตอยู่ในเดือนรอมฎอนนั้นมีอยู่สองกลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งจะได้รับการอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้าและเข้าใกล้ชิดพระองค์และอิมามซะมาน (อ.ญ.) อีกกลุ่มเป็นผู้ที่ถูกสาปแช่งและออกห่างจากความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
مَنْ أَدْرَكَ شَهْرَ رَمَضَانَ فَلَمْ یُغْفَرْ لَهُ فَأَبْعَدَهُ اللَّهُ
"ผู้ใดที่เข้าสู่เดือนรอมฎอน โดยที่เขาไม่ได้รับอภัยโทษ ดังนั้นอัลลอฮ์จะทรงทำให้เขาห่างไกลออกไป" [3]
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ก้าวขึ้นสู่มินบัร (ธรรมาสน์) ซึ่งมีสามขั้น และในแต่ละขั้นท่านจะกล่าวคำว่า "อามีน" (ขออัลลอฮ์ทรงตอบรับเถิด) บรรดาซอฮาบะฮ์จึงถามถึงสาเหตุที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าว "อามีน" สามครั้ง ท่านตอบว่า “ในขั้นแรกที่ฉันวางเท้าลงนั้น ญิบรออีลได้วิงวอนว่า ใครที่เข้าสู่เดือนรอมฎอนโดยไม่ได้รับการอภัยโทษ ดังนั้นขออัลลอฮ์ทรงสาปแช่งเขา ฉันจึงกล่าวว่า "อามีน" ในขั้นที่สองเมื่อฉันวางเท้าลง ญิบรออีลได้วิงวอนว่า ใครก็ตามที่ไม่เคารพให้เกียรติต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขา ขออัลลอฮ์จะทรงทำให้เขาห่างไกลจากความเมตตาของพระองค์ ฉันจึงกล่าวว่า "อามีน" และในขั้นที่สามเมื่อฉันได้ก้าวขึ้นไป ญิบรออีลได้กล่าวกับฉันว่า :
مَنْ ذُكِرْتُ عِنْدَهُ فَلَمْ يُصَلِّ عَلَيَّ فَلَمْ يُغْفَرْ لَهُ فَأَبْعَدَهُ اَللَّهُ
"ใครก็ตามที่ชื่อของฉันได้ถูกกล่าวถึง ณ ที่เขา โดยที่เขาไม่ซอละวาตให้แก่ฉัน ดังนั้นเขาจะไม่ได้รับอภัยโทษ และขออัลลอฮ์ทรงทำให้เขาห่างไกลจากความเมตตาของพระองค์" [4]
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
فَإِنَّ الشَّقِیَّ مَنْ حُرِمَ غُفْرَانَ اللَّهِ فِی هَذَا الشَّهْرِ
"ผู้ที่โชคร้ายที่สุด คือผู้ที่ถูกหักห้ามจากการอภัยโทษของอัลลอฮ์ในเดือนนี้" [5]
ในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนแห่งความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า โดยที่ผู้คนจำนวนมากมายได้รับอภัยโทษจากพระองค์และจะรอดพ้นจากไฟนรก ดังนั้นใครก็ตามที่ในเดือนอันจำเริญนี้ไม่สามารถที่จะทำให้ตนเองเข้าสู่ความเมตตาอันไพศาลของพระองค์ได้แล้ว เขาคือผู้โชคร้ายโดยแท้จริง
อะมั้ล (การกระทำความดี) ทั้งหมดในเดือนรอมฎอนนั้นเป็นความเมตตาพิเศษ จำเป็นที่เราจะต้องใช้ประโยชน์จากความเมตตาพิเศษของพระผู้เป็นเจ้านี้ ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้วิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า :
إِلَهِی إِنْ أَدْخَلْتَنِی النَّارَ فَفِی ذَلِكَ سُرُورُ عَدُوِّكَ وَ إِنْ أَدْخَلْتَنِی الْجَنَّةَ إِلَهِی إِنْ أَدْخَلْتَنِی النَّارَ فَفِی ذَلِكَ سُرُورُ عَدُوِّكَ وَ إِنْ أَدْخَلْتَنِی الْجَنَّةَ فَفِی ذَلِكَ سُرُورُ نَبِیِّكَ وَ أَنَا وَ اللَّهِ أَعْلَمُ أَنَّ سُرُورَ نَبِیِّكَ أَحَبُّ إِلَیْكَ مِنْ سُرُورِ عَدُوِّكَ
"โอ้อัลลอฮ์! หากพระองค์ทรงทำให้ข้าฯ เข้าสู่นรก สิ่งนั้นย่อมเป็นความดีใจของศัตรูของพระองค์ และหากพระองค์ทำให้ข้าฯ เข้าสู่สวรรค์ สิ่งนั้นย่อมเป็นความปิติยินดีของศาสดาของพระองค์ และขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ข้าฯ ทราบดีว่า ความปิติยินดีของศาสดาของพระองค์นั้นเป็นที่พึงปรารถนา ณ พระองค์ มากกว่าความดีใจของศัตรูของพระองค์" [6]
เชิงอรรถ :
[1] อัลกุรอาน บทยูนุส โองการที่ 32
[2] วะซาอิลุชชีอะฮ์, ฮุรรุ้ลอามิลี, เล่มที่ 10, หน้าที่ 314
[3] บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 71, หน้าที่ 22
[4] เราฎอตุ้ลวาอิซีน, แปลโดย มะฮ์ดี ดามิฆอนี, หน้าที่ 554
[5] วะซาอิลุชชีอะฮ์, ฮุรรุ้ลอามิลี, เล่มที่ 10, หน้าที่ 303
[6] บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 95, หน้าที่ 82
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center