foto1
foto1
foto1
foto1
foto1

In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم

Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم

ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You

WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center

ผู้สืบทอดของบรรดาศาสดา (วะซีย์) โดยพระบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อพิจารณาในประเด็นตัวแทนผู้สืบทอด (วะซีย์) โดยพระบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้า มีคำถามที่สำคัญที่ถูกหยิบยกเกี่ยวกับสาเหตุของการปรากฏขึ้นของ “สำนักคิดแห่งอะฮ์ลุลบัยติ์” และ “สำนักคิดแห่งคุละฟาอ์” นั่นคือ : ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ภายหลังจากการวะฟาต (เสียชีวิต) ของท่าน ท่านได้แนะนำและแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นตัวแทนและค่อลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ภายหลังจากท่านหรือไม่?

      วัตถุประสงค์ของการเขียนบทความนี้ คือการพิสูจน์ประเด็นที่ว่า ทุกศาสดานั้นมีตัวแทนผู้สืบทอด (วะซีย์) โดยพระบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้า ท่านมัรฮูมเชคซอดูก ได้รายงานจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งกล่าวว่า :

إنّ للَّه تعالى مائة ألف نبيّ وأربعة وعشرين ألف نبيّ، أنا سيّدهم وأفضلهم وأكرمهم على اللَّه عزّوجلّ،

ولكلّ نبيٍّ وصيٌّ أوصى إليه بأمر اللَّه تعالى ذكره، وإنّ وصيّي عليّ بن أبيطالب لَسيّدهم وأفضلهم وأكرمهم على اللَّه عزّوجلّ

“แท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่ง ทรงมีนบี (ศาสดา) หนึ่งแสนสองหมื่นสี่พันคน ฉันคือนายของพวกเขา เป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเขา และมีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเขา ณ อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติเกรียงไกร และทุกนบี (ศาสดา) นั้นจะมีวะซีย์ (ตัวแทนผู้สืบทอด) โดยที่เขาจะมอบหน้าที่การสืบทอดแก่บุคคลผู้นั้น ตามพระบัญชาของอัลลอฮ์ (ซบ.) และแท้จริงวะซีย์ (ตัวแทนผู้สืบทอด) ของฉัน คืออะลี บินอบีฏอลิบนั้น เป็นนายของพวกเขา เป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเขา และมีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเขา ณ อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติเกรียงไกร" (1)

      ประเด็นเดียวกันนี้ ยังถูกรายงานไว้ด้วยสำนวนอื่นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีทีเดียวที่จะกล่าวถึงในที่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำรายงานต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในตำราอ้างอิงของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ท่านซัลมาน อัลฟาริซี ซึ่งเป็นหนึ่งในสานุศิษย์และสาวกผู้ยิ่งใหญ่ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่ได้ถามท่านว่า :

يا نبي الله إن لكل نبي وصيا فمن وصيك ؟ قال : فسكت عني ، فلما كان بعد رآني من بعيد فقال : يا سلمان ، قلت : لبيك وأسرعت إليه ، فقال : تعلم من كان وصي موسى ؟ قلت : يوشع بن نون ، ثم قال : ذاك لانه يومئذ خيرهم وأعلمهم ثم قال : وإني أشهد اليوم أن عليا خيرهم وأفضلهم وهو وليي ووصيي ووارثي

“โอ้ท่านศาสดาของอัลลอฮ์! แท้จริงทุกนบี (ศาสดา) นั้นมีวะซีย์ (ตัวแทนผู้สืบทอด) แล้ววะซีย์ (ตัวแทนผู้สืบทอด) ของท่านคือใครหรือ” ท่านศาสดานิ่งเงียบไม่ตอบฉัน แต่วันต่อมาเมื่อท่านเห็นฉันแต่ไกล ท่านได้เรียกฉันว่า “โอ้ซัลมาน!” ฉันกล่าวว่า “ครับ! ข้าพเจ้ามาแล้ว” ฉันรีบรุดไปหาท่าน ท่านกล่าวว่า “เจ้ารู้ไหม ใครคือวะซีย์ (ตัวแทนผู้สืบทอด) ของมูซา” ฉันกล่าวว่า “(เขาคือ) ยูชะอ์ บินนูน” ต่อจากนั้นท่านกล่าวว่า “นั่นเป็นเพราะว่าในวันนั้นเขาเป็นผู้ที่ดีที่สุด และมีความรู้มากที่สุดในหมู่พวกเขา” แล้วท่านได้กล่าวต่อไปว่า “และในวันนี้ฉันขอยืนยันว่า อะลีคือผู้ที่ดีที่สุดและประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเขา และเขาคือผู้ปกครองของฉัน เป็นตัวแทนของฉัน และเป็นผู้สืบทอดของฉัน” (2)

     การมีอยู่ของริวายะฮ์ (คำรายงาน) เหล่านี้ กลายเป็นเหตุทำให้ประเด็นดังกล่าวนี้ถูกกล่าวถึงในหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวกับหลักการศรัทธา (อิลมุลกะลาม) ของชีอะฮ์อิมามียะฮ์ “ท่ามมัรฮูมอัลลามะฮ์ฮิลลี” ในหนังสือ “นะฮ์ญุลฮัก วะกัชฟุศศิดก์” จากการตรวจสอบและพิสูจน์หลักฐานต่างๆ ทางด้านซุนนะฮ์ (ริวายะฮ์) เกี่ยวกับความเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) ของท่านอิหม่ามอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ในคำรายงานที่สี่นั้นท่านได้กล่าวถึงคำรายงานนี้ไว้ (3)

      เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาข้างต้น มีคำถามที่สำคัญที่ถูกหยิบยกเกี่ยวกับสาเหตุของการปรากฏขึ้นของ “สำนักคิดแห่งอะฮ์ลุลบัยติ์” และ “สำนักคิดแห่งคุละฟาอ์” นั่นคือ : ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ภายหลังจากการวะฟาต (เสียชีวิต) ของท่าน ท่านได้แนะนำและแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นตัวแทนและค่อลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ภายหลังจากท่านหรือไม่? หรือว่าการกำหนดตัวแทนและค่อลีฟะฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น ให้อยู่ในอำนาจการตัดสินใจและการเลือกของประชาชน? ผู้ปฏิบัติตามสำนักคิดคุละฟาอ์ (4) เชื่อว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ถึงการแต่งตั้งค่อลีฟะฮ์ (ตัวแทนผู้สืบทอด) จากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เลย แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามสำนักคิดอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) มีความเชื่อมั่นต่อการมีอยู่ของหลักฐานต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงการแต่งตั้งตัวแทนผู้สืบทอดโดยท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แม้การวิเคราะห์ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ เหล่านี้จะต้องอาศัยเวลาและโอกาสที่มากพอสมควร แต่จะขอชี้ถึงหลักฐานและข้อพิสูจน์บางประการไว้ในที่นี้

     เหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์ "เยามุดดาร" วันแรกที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ถูกบัญชาให้ประกาศอิสลามอย่างเปิดเผย หมายถึงในปีที่สามหลังจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสดา ประเด็นเกี่ยวกับตัวแทนและผู้สืบทอด (คิลาฟะฮ์) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ก็ถูกนำเสนอในวันนั้นด้วยเช่นกัน เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ถูกกล่าวถึงและเป็นที่รู้จักกันดีในหนังสือฮะดีษและประวัติศาสตร์ต่างๆ ในนาม "เยามุดดาร" (วันแห่งบ้าน) ในวันนั้นหลังจากที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวคำพูดที่สำคัญของท่านเกี่ยวกับภารกิจ (ริซาละฮ์) ที่ท่านได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า ในการประกาศเชิญชวนประชาชาติไปสู่การยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าแล้วนั้น ท่านได้ขอความร่วมมือและการช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ร่วม ณ ที่แห่งนั้น พร้อมกับกล่าวว่า :

وَ قَدْ أَمَرَنِی اللَّهُ تَعَالَى أَنْ أَدْعُوَكُمْ اِلَیهِ فَأَیكُمْ یؤَازِرُنِی عَلَى هَذا الْأَمْرِ عَلَى أَنْ یكُونَ أَخِی وَ خَلِیفَتِی فِیكُم؟

“และอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงบัญชาให้ฉันเรียกร้องเชิญชวนพวกท่านไปสู่พระองค์ ดังนั้น มีผู้ใดจากพวกท่านไหมที่จะช่วยเหลือฉันในภารกิจนี้ โดยที่เขาจะได้เป็นพี่น้องของฉันและเป็นตัวแทน (ค่อลีฟะฮ์) ของฉันในหมู่พวกท่าน”

      การเรียกร้องดังกล่าวนี้มีเพียงผู้เดียวที่ให้การตอบรับ นั่นคือท่านอิหม่ามอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ด้วยเหตุนี้เอง ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) จึงได้กล่าวคำพูดอันเป็นประวัติศาสตร์ของท่านว่า :

إِنَّ هَذَا أَخِی وَ وَصِیی وَ خَلِیفَتِی فِیكُمْ فَاسْمَعُوا لَهُ وَأَطِیعُوا

“แท้จริงบุคคลผู้นี้คือพี่น้องของฉัน เป็นตัวแทนของฉัน และเป็นผู้สืบทอดของฉันในหมู่พวกท่าน ดังนั้น พวกท่านจงฟังเขาและจงปฏิบัติตามเขา” (5)

     "อายะฮ์ อัตตับลีฆ" และเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ ในช่วงเวลายี่สิบปีหลังจากเหตุการณ์ “เยามุดดาร” ก็มีวาระต่างๆ มากหมายที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับตัวแทนผู้สืบทอด (ค่อลีฟะฮ์) หรือผู้นำ (อิหม่าม) ภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่ถูกหยิบยกโดยท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เอง และวาระที่เด่นชัดมากที่สุดก็คือเหตุการณ์ใน “ฆอดีรคุม” ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ (หมายถึงวันที่ 18 ซุลฮิจญะฮ์) เกี่ยวกับเหตุการณ์ฆอดีรคุมนั้น มีหนังสือ บทความและตำราจำนวนมากถูกเขียนไว้ ในที่นี้จะขอหยิบยก “อายะฮ์ อัตตับลีฆ” เพียงเท่านั้น

یا أَیُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ ما أُنْزِلَ إِلَیْكَ مِنْ رَبِّكَ وَ إِنْ لَمْ تَفْعَلْ فَما بَلَّغْتَ رِسالَتَهُ وَ اللَّهُ یَعْصِمُكَ مِنَ النَّاسِ إِنَّ اللَّهَ لا یَهْدِی الْقَوْمَ الْكافِرینَ

"โอ้ศาสนทูตเอ๋ย! จงประกาศสิ่งที่ถูกประทานลงมายังเจ้า จากพระผู้อภิบาลของเจ้า และหากเจ้าไม่กระทำ ดังนั้นเจ้าก็มิได้ประกาศสาส์นของพระองค์เลย และอัลลอฮ์จะทรงปกป้องเจ้าให้พ้นจากมนุษย์ แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงนำทางหมู่ชนผู้ปฏิเสธศรัทธา" (6)

     จะมีประเด็นใดที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับภารกิจการประกาศสาส์น (ริซาละฮ์) ทั้งหมดของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) อีกกระนั้นหรือ หมายถึง ความเหนื่อยยากในการประกาศศาสนาอิสลามของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ตลอดระยะเวลายี่สิบสามปี เมื่อพิจารณาถึงริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ที่มาอรรถาธิบายเกี่ยวกับโองการนี้ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ประเด็นที่จะต้องถูกประกาศโดยท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) นั้นก็คือ ความเป็นตัวแทนผู้สืบทอด (คิลาฟะฮ์) และอำนาจการปกครอง (วิลายะฮ์) ของท่านอิหม่ามอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) นั่นเอง (7)

      ในหนังสือ “อัลเมี๊ยะอ์ยาร วัลมุวาซะนะฮ์” (หน้าที่ 213) ได้บันทึกคำรายงานจากญาบิร บินอับดุลลอฮ์ อันซอรี และจากอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส ซึ่งบุคคลทั้งสองได้กล่าวว่า :

أمر الله محمداً (ص) أن ينصب عليًا للناس ويخبرهم بولايته ، فتخوف رسول الله (ص) أن يقولوا حابى ابن عمه وأن يطعنوا في ذلك عليه ،

فأوحى الله إليه: يَا أَيُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ مَا أُنْزِلَ إِلَيْكَ مِنْ رَبِّكَ ، فقام رسول الله بولايته يوم غدير خم

อัลลอฮ์ทรงบัญชาให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) แต่งตั้งท่านอะลีแก่ประชาชน และแจ้งข่าวแก่พวกเขาเกี่ยวกับวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของท่าน ดังนั้นท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์กลัวว่าพวกเขาจะกล่าวหาว่าท่านเข้าข้างลูกของอาของตน และพวกเขาจะสบประมาทให้ร้ายต่อท่านในเรื่องนั้น ด้วยเหตุนี้อัลลอฮ์จึงประทานวะห์ยู (วิวรณ์) ลงมายังท่านว่า “โอ้ศาสนทูตเอ๋ย! จงประกาศสิ่งที่ถูกประทานลงมายังเจ้าจากพระผู้อภิบาลของเจ้า...” ดังนั้นท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงได้ประกาศวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของท่านในวันฆอดีรคุม (8)

      เหตุผลที่ชัดเจนทางสติปัญญา นอกเหนือจากหลักฐานต่างๆ เหล่านี้แล้ว หากเราพิจารณาถึงสภาพของสังคมอิสลามในยุคดังกล่าว ศาสนาอิสลามที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาใหม่เพียงเวลาแค่สองทศวรรษ และตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ศาสนานี้เป็นศาสนาสุดท้ายที่จะต้องดำเนินอยู่จวบจนถึงกาลอวสานของโลก (กิยามะฮ์) (9)

      และจะต้องเป็นอารยธรรมและคำสอนแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่อยู่ควบคู่ไปกับมนุษยชาติ ซึ่งจะต้องเผชิญหน้ากับทั้งศัตรูภายใน (พวกมุนาฟิกีน) และศัตรูภายนอก ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือที่ว่า พระองค์จะไม่ใส่ใจต่อการวางแผนและการกำหนดตัวผู้นำของสังคมอิสลาม ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งสำหรับสังคมของมนุษยชาติทั้งมวล!

      ดังนั้นเราสามารถสรุปประเด็นนี้ในรูปของประพจน์ทางตรรกะ (ตามเนื้อหาของคำรายงานต่างๆ ข้างต้น) ได้เช่นนี้ว่า : ศาสดาของพระเจ้าทุกท่านมีตัวแทนผู้สืบทอด และมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ก็เป็นศาสดาของพระเจ้า ดังนั้นมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) จึงมีตัวแทนผู้สืบทอด


เชิงอรรถ :

(1) ซอดูก, มุฮัมมัด บินอะลี บินฮุเซน บินบาบะวัยฮ์ กุมมี (เสียชีวิต ฮ.ศ. 381) จากหนังสือ “มันลายะห์ฎุรุฮุ้ลฟะกีฮ์” เล่มที่ 4, หน้าที่ 180 และท่านยังได้อ้างริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทนี้ไว้ในหนังสือ “อัลเอี๊ยะอ์ติกอดาต” ของตน ในหมวด (บาบ) ที่ 35

(2) ซอดูก, มุฮัมมัด บินอะลี บินฮุเซน บินบาบะวัยฮ์ กุมมี (เสียชีวิต ฮ.ศ. 381) จากหนังสือ “อิละลุชชะรอเยี๊ยะอ์” เล่มที่ 2, หน้าที่ 179 ; ฏ็อบรอนี ในหนังสือ “อัลมุอ์ญะมุลกะบีร” เล่มที่ 6, หน้าที่ 271 ; อะห์มัด บินฮันบัล ในหนังสือ “อัลฟะฎออิล” หมวด “มะนากิบ อมีริ้ลมุอ์มินีน” ฮะดีษที่ 174 (รูปคำแตกต่างกันเล็กน้อย)

(3) ฮิลลี, ฮะซัน ยูซุฟ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 726) หนังสือ “นะฮ์ญุลฮักก์ วะกัชฟุศศิดก์” หน้าที่ 214

(4) สำนวนคำว่า "สำนักคิดอะฮ์ลุลบัยติ์ และสำนักคิดคุละฟาอ์” ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในผลงานและหนังสือต่างๆ ของท่านมัรฮูมอัลลามะฮ์ ซัยยิดมุรตะฎอ อัสกะรี

(5) ฮะดีษบทนี้ นอกเหนือจากบรรดานักรายงานฮะดีษของชีอะฮ์ได้รายงานไว้แล้ว บรรดานักรายงานฮะดีษจำนวนมากจากพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ก็ได้รายงานมันไว้เช่นกัน ตัวอย่างเข่น อะห์มัด บินฮันบัล, อันนะซาอี, อิบนิญะรีร ฏ็อบรี, ญะลาลุดดีน ซุยูฏี และท่านอื่นๆ (ตัวบทข้างต้นจาก ตารีคอัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 217) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ “บะรอฮีน วะนุศูศ อิมามะฮ์” ฮุจญะตุ้ลอิสลาม วัลมุสลิมีน อะลี ร็อบบานี

(6) อัลกุรอานบท อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 67

(7) ฮุจญะตุ้ลอิสลาม วัลมุสลิมีน อะลี ร็อบบานี, บะรอฮีน วะนุศูศ อิมามะฮ์, หน้าที่ 224

8) ชะวาฮิดุตตันซีล, เล่มที่ 1, หน้าที่ 157 ; ตารีค ดิมิชก์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 85 ; ตัฟซีรอัลมีซาน, เล่มที่ 6, หน้าที่ 54 อ้างจากตัฟซีรอัลอัยยาชี

(9) ในโองการที่ 40 ของบทอัลอะห์ซาบ ได้ชี้ถึงประเด็นนี้


แปลและเรียงเรียงโดย :  เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม