หนทางที่ดีที่สุดประการหนึ่งในการจำแนกผู้กล่าวอ้างที่สัจจริงออกจากบรรดาผู้มดเท็จ ก็คือคุณลักษณะต่างๆ ทางด้านจริยธรรมของบุคคลเหล่านั้น คุณลักษณะเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้และเป็นสัญลักษณ์อันชัดแจ้งที่จะนำมาใช้ปฏิเสธหรือพิสูจน์ถึงความสัจจริงของบรรดาผู้กล่าวอ้างตนเองเหล่านั้น การให้ความสำคัญอย่างสมบูรณ์ต่อคัมภีร์อัลกุรอานของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ทำให้จริยวัตรอันเจิดจรัสของท่านเป็นสิ่งที่คู่ควรอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติตาม
คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า
لَّقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ لِّمَن كَانَ يَرْجُو اللَّهَ وَالْيَوْمَ الْآخِرَ وَذَكَرَ اللَّهَ كَثِيرًا
“แน่นอนยิ่ง แบบอย่างอันงดงามสำหรับพวกเจ้านั้นมีอยู่ในศาสนทูตของอัลลอฮ์”
(อัลกุรอานบท อัลอะห์ซาบโองการที่ 21)
ทุกๆ จริยวัตรที่ประสานกลมกลืนกับคัมภีร์ไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามอัลกุรอานในระดับนั้นๆ และเนื่องจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้วางกรอบจริยวัตรของท่านไว้บนข้อเท็จจริงต่างๆ แห่งคัมภีร์อัลกุรอาน ดังนั้นจริยวัตรของท่านจึงเป็นจริยวัตรที่สมบูรณ์ที่สุด ด้วยเหตุนี้เองจึงมีคำกล่าวเกี่ยวกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ไว้เช่นนี้ว่า “บุคลิกของท่านคือคัมภีร์อัลกุรอาน” เพื่อที่จะได้รับประโยชน์อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นจากจริยวัตรอันทรงคุณค่าของท่านศาสนทูต เราจะขอนำเสนอบางตัวอย่างซึ่งมีหลักฐานจากคัมภีร์อัลกุรอานด้วยเช่นกัน
การเคารพภักดีพระเจ้า (อิบาดะฮ์) และการนมาซในยามค่ำคืน (ตะฮัจญุด) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)
พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญชาให้ท่านศาสนทูตผู้ทรงเกียรติ (ซ็อลฯ) ใช้เวลาส่วนใหญ่ในยามค่ำคืนทำอิบาดะฮ์ เพื่อว่าสิ่งดังกล่าวจะทำให้ท่านอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับการสรรเสริญ (มะกอมุน มะห์มูด)
ในบทอัลอิซรออ์ โองการที่ 79 อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสว่า
وَمِنَ اللَّيْلِ فَتَهَجَّدْ بِهِ نَافِلَةً لَّكَ عَسَىٰ أَن يَبْعَثَكَ رَبُّكَ مَقَامًا مَّحْمُودًا
“และบางช่วงของยามกลางคืนเจ้าจงตื่นขึ้นทำนมาซ “ตะฮัจญุด” ด้วยความสมัครใจของเจ้าเถิด หวังว่าองค์อภิบาลของเจ้าจะทรงทำให้เจ้าฟื้นคืนชีพขึ้นด้วยตำแหน่งที่ได้รับการสรรเสริญ”
เกี่ยวกับวิธีการนมาซในยามค่ำคืน (ซอลาตุ้ลลัยน์) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) มีรายงานว่าท่านมักจะเตรียมน้ำสำหรับทำวุฎุอ์และการแปรงฟันของท่านไว้ตั้งแต่ก่อนนอน และจะใช้เวลาในการนอนเพียงเล็กน้อย เหมือนกับทหารที่ตั้งมั่นอยู่ตามแนวรบเพื่อป้องกันข้าศึก ท่านจะตื่นขึ้นหลังจากการนอนหลับไปไม่นานนัก และท่านจะทำนมาซสี่ร่อกะอัต หลังจากนั้นก็จะนอนอีกเพียงเล็กน้อยและตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และจะปฏิบัติอยู่เช่นนี้ทุกครั้งที่ท่านตื่นนอนขึ้นมา ท่านจะมองไปยังท้องฟ้าพร้อมกับอ่านบรรดาโองการอัลกุรอานต่อไปนี้คือ
إِنَّ فِي خَلْقِ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ وَاخْتِلَافِ اللَّيْلِ وَالنَّهَارِ لَآيَاتٍ لِّأُولِي الْأَلْبَابِ
الَّذِينَ يَذْكُرُونَ اللَّهَ قِيَامًا وَقُعُودًا وَعَلَىٰ جُنُوبِهِمْ وَيَتَفَكَّرُونَ فِي خَلْقِ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ رَبَّنَا مَا خَلَقْتَ هَٰذَا بَاطِلًا سُبْحَانَكَ فَقِنَا عَذَابَ النَّارِ
“แท้จริงการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และการหมุนเวียนไปของกลางคืนและกลางวัน ย่อมเป็นหลักฐานต่างๆ สำหรับปวงผู้มีวิจารณญาณ (พวกเขา)
คือบรรดาผู้ซึ่งรำลึกถึงอัลลอฮ์ทั้งในยามยืน ยามนั่ง และในยามนอนตะแคง และพวกเขาจะคิดใคร่ครวญในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน (พร้อมกับรำพึงว่า) โอ้พระผู้อภิบาลของเรา พระองค์มิได้ทรงสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาอย่างไร้สาระ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ ได้โปรดคุ้มครองพวกเราให้พ้นจากไฟนรกด้วยเถิด”
(อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 190, 191)
บรรดาโองการในลักษณะเช่นนี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมมนุษย์ให้คิดใคร่ครวญในระบอบแห่งการสร้างสรรของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ภายใต้การสาธยายคุณลักษณะบางประการของผู้มีสติปัญญาแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างให้บุคคลอื่นๆ กลายเป็นผู้มีสติปัญญาและรู้จักใช้วิจารณญาณอีกด้วย และในขณะเดียวกันได้ชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายของระบอบแห่งการสร้างสรร และพร้อมกันนั้นยังได้สอนถึงวิธีการวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้คุ้มครองความปลอดภัยจากการลงโทษในนรกให้แก่บรรดาผู้มุ่งพัฒนาตนสู่พระผู้เป็นเจ้า (ซาลิกีน) อีกด้วย เป้าหมายของผู้ดำรงอิบาดะฮ์ในยามค่ำคืนที่แท้จริง คือบุคคลผู้ซึ่งการอิบาดะฮ์ในรูปแบบของการกระทำของเขาเป็นสิ่งที่สอดคล้องกันกับการอิบาดะฮ์ในรูปแบบของการคิดใคร่ครวญของเขา
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง บนพื้นฐานของโองการอัลกุรอานจากบทอัลอิซรออ์ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) คือผู้ดำรงอิบาดะฮ์ในยามค่ำคืน และบนพื้นฐานของโองอัลกุรอานการจากบทอาลิอิมรอน ท่านได้ผสมผสานการคิดใคร่ครวญในหลักคำสอนต่างๆ ของศาสนาเข้ากับการดำรงอิบาดะฮ์ในยามค่ำคืนของท่าน
การดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายและการหลุดพ้นจากโลกแห่งวัตถุ
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้วางกรอบกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของตนเองไว้บนพื้นฐานการให้ความสำคัญต่อคัมภีร์อัลกุรอาน เช่นเดียวกับประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอิบาดะฮ์ ดังที่มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) และท่านอิมามบากิร (อ.) เกี่ยวกับการไม่ยึดติดกับโลก (ดุนยา) และการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า : บรรดาขุมคลังของโลกนี้และกุญแจของมันได้ถูกเสนอให้แก่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และท่านได้รับสิทธิ์ที่จะเลือกเอาสิ่งเหล่านั้นได้อย่างอิสระโดยไม่ทำให้ฐานะตำแหน่งของท่านบกพร่องลงไปแต่อย่างใด แต่ทว่าท่านได้อธิบายให้เห็นถึงการเลือกเอาการมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายและปฏิเสธที่จะรับเอาสิ่งที่ถูกเสอนให้โดยกล่าวว่า “โลกนี้ (ดุนยา) คือสถานที่พำนักของผู้ที่ไม่มีที่พำนักใดสำหรับเขา และบุคคลที่ไร้สติปัญญาเท่านั้นที่จะสั่งสมเพื่อมัน”
ความไม่ใส่ใจและความหลุดพ้นจากการยึดติดต่อภาพลวงต่างๆ ของดุนยา เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ให้ความสำคัญต่อหลักคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานอย่างสมบูรณ์ ส่วนหนึ่งจากบรรดาโองการที่ชี้ให้เห็นถึงประเด็นนี้ก็คือโองการที่ว่า
وَلَا تُعْجِبْكَ أَمْوَالُهُمْ وَأَوْلَادُهُمْ إِنَّمَا يُرِيدُ اللَّهُ أَن يُعَذِّبَهُم بِهَا فِي الدُّنْيَا
“และจงอย่าให้ทรัพย์สมบัติของพวกเขาและลูกๆ ของพวกเขา เป็นที่พึงพอใจแก่เจ้า แท้จริงอัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะลงโทษพวกเขาด้วยสิ่งเหล่านั้นในโลกนี้”
(อัลกุรอานบท อัตเตาบะฮ์ โองการที่ 85)
และในอีกโองการหนึ่งซึ่งกล่าวว่า
إِنَّمَا أَمْوَالُكُمْ وَأَوْلَادُكُمْ فِتْنَةٌ
“แท้จริงทรัพย์สมบัติและลูกๆ ของพวกเจ้านั้นเป็นสิ่งทดสอบ”
(อัลกุรอานบท อัตตะฆอบุน โองการที่ 15)
บรรดาผู้ขวนขวายสะสมทรัพย์สมบัติและเลี้ยงดูลูกๆ ของตนเองโดยไม่ระมัดระวังรักษากฎเกณฑ์ต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจะประสบกับการทดสอบ (ฟิตนะฮ์) ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสต่อมารร้าย (ชัยฏอน) ว่า
وَأَجْلِبْ عَلَيْهِم بِخَيْلِكَ وَرَجِلِكَ وَشَارِكْهُمْ فِي الْأَمْوَالِ
“และเจ้าจงร่วมกับพวกเขาในทรัพย์สมบัติและลูกๆ เถิด”
(อัลกุรอานบท อัลอิซรออ์ โองการที่ 64)
และในอีกโองการหนึ่งอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสต่อท่านศาสนทูตของพระองค์ว่า
وَلَا تَمُدَّنَّ عَيْنَيْكَ إِلَىٰ مَا مَتَّعْنَا بِهِ أَزْوَاجًا مِّنْهُمْ زَهْرَةَ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا لِنَفْتِنَهُمْ فِيهِ
“และเจ้าจงอย่าทอดสายตาของเจ้าไปยังสิ่งที่เราได้มอบให้เป็นความสุขเพลิดเพลินแก่กลุ่มชนต่างๆ จากพวกเขา (พวกเนรคุณ) สิ่งนั้นเป็นเพียงดอกไม้ประดับแห่งชีวิตทางโลกนี้ เพื่อเราจะได้ทดสอบพวกเขาในเรื่องนี้”
(อัลกกุรอานบท ฎอฮา โองการที่131)
สีสรรและสิ่งอำนวยสุขแห่งดุนยาเป็นได้แค่เพียงดอกไม้ประดับและจะไม่ให้ผลแก่ผู้ใด โลกดุนยาเปรียบได้ดั่งอณาเขตที่มีอากาศหนาวจัดซึ่งดอกไม้จะไม่ให้ผลใดๆ และจากเหตุผลดังกล่าวนี้ ผู้ใดก็ตามที่ได้รับปัจจัยอำนวยสุขหรือฐานะตำแหน่งหนึ่งๆ สุดท้ายแล้วด้วยผลอันเป็นสาเหตุทางธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ความป่วยไข้ ความแก่ชรา ความตาย หรือสาเหตุต่างๆ ทางด้านการเมืองและทางสังคม ทำให้เขาต้องสูญเสียมันไปให้แก่ผู้อื่น ด้วยการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายเท่านั้นที่เขาจะสามารถมุ่งเดินสู่เส้นทางอันเที่ยงตรงได้อย่างง่ายดาย จากจุดนี้เองท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า“พวกเราคือผู้ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย” ผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายสามารถไปถึงยังเป้าหมายได้ดีกว่า และเป็นกลุ่มชนผู้รอดพ้น
คำขวัญและคำรำลึก (ซิกร์) ต่างๆ ในสนามศึกสงคราม
คำขวัญและคติพจน์ของมุสลิมในสนามศึกสงคราม ได้ถูกวางกรอบไว้ตามคำสั่งสอนของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ด้วยเหตุนี้เองจึงมีเนื้อหาและเจตนารมณ์ที่สูงส่ง และเป็นบทเรียนสอนใจ ในทำนองเดียวกับที่คำขวัญของมุสลิมในช่วงเวลาของการนมาซ คือการอะซานและการอิกอมะฮ์ ซึ่งทุกๆ ถ้อยคำของมันคือคติเตือนใจ แตกต่างจากการดีดสีตีเป่าของชาวคริสเตียนซึ่งไม่มีอะไรมากไปกว่าเสียงกระดิ่งหรือระฆัง คำขวัญของบรรดาทหารหาญในบางสนามรบก็คือ(ภาษาอาหรับ) “ฮามีม ลายุนซ่อรูน” (หมายถึงบทฟุศศิลัต) ซึ่งคำขัวญในลักษณะนี้จะทำให้หัวใจของบรรดาทหารหาญมุ่งความสนใจไปยังคัมภีร์อัลกุรอาน
เกี่ยวกับการให้ความสำคัญต่อคัมภีร์อัลกุรอานของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และการใช้ประโยชน์จากอัลกุรอานในขณะทำศึกสงคราม ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวว่า : ในสงครามบะดัรซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันครั้งแรกระหว่างกองทัพของมุสลิมกับกองทัพของมุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี) ฉันได้เห็นท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) อยู่ในท่าซุญูดพร้อมกับกล่าวซ้ำหลายครั้ง ياحَيُّ يا قَيّومُ “ยาฮัยยุ ยาก็อยยูม” และเพื่อวอนขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านได้กล่าวซ้ำประโยคดังกล่าวจนกระทั่งได้รับชัยชนะในสงคราม ประโยคคำว่า “ยาฮัยยุ ยาก็อยยูม” เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาพระนามอันวิจิตร (อัลอัซมา อุลฮุซนา) ซึ่งมาจากคัมภีร์อัลกุรอาน และในอายะฮ์อัลกุรซี และในโองการอื่นๆ การใช้ถ้อยคำว่า هُوَ الْحَيُّ الْقَيُّومُ “ฮุวัล ฮัยยุลก็อยยูม” (หมายถึงพระองค์ทรงชีวัน ผู้ทรงดำรงอยู่อย่างถาวร)
การให้ความสำคัญต่อคัมภีร์อัลกุรอาน
เนื่องจากความรักและความห่วงใยของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่มีต่อประชาชาติ (อุมมะฮ์) เป็นอย่างมาก ท่านใช้ความอุตสาห์พยายามเพื่อที่จะนำพาพวกเขาไปให้ถึงยังความสมบูรณ์ (กะม้าล) แห่งความเป็นมนุษย์ และเนื่องจากความสมบูรณ์ (กะม้าล) ที่เด่นชัดที่สุดนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อหลักคำสอนต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน และการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ เหล่านั้น ท่านจึงได้ใช้ความพยายามเพื่อให้ประชาชนมีความผูกพันธ์ต่อคัมภีร์อัลกุรอาน ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและปฏิบัติตามมันอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ท่านมักจะกล่าวเสมอว่า กลุ่มชนที่ไม่ให้เกียรติต่อคัมภีร์อัลกุรอานและหันหลังให้กับมัน ไม่เพียงแต่จะไม่ได้รับชะฟาอะฮ์ (การอนุเคราะห์) จากคัมภีร์อัลกุรอานแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น คัมภีร์อัลกุรอานจะฟ้องร้องพวกเขาต่ออัลลอฮ์ และพฤติกรรมเยี่ยงนี้จะนำพาเขาไปสู่ไฟนรก
คัมภีร์อัลกุรอานไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ย่อมจะเป็นทั้งผู้ผลักไส (ซาอิก) และผู้นำทาง (กออิด) หากกลุ่มชนใดยึดเอาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นผู้นำทางของเขาและถือว่าตนเองคือประชาชาติของคัมภีร์อัลกุรอาน มันก็จะนำพาพวกเขาไปสู่สรวงสวรรค์ แต่หากพวกเขาทอดทิ้งมันและวางมันไว้เบื้องหลังของพวกเขา หรือทำตัวเป็นผู้นำทางอัลกุรอานเสียเองและอรรถาธิบายมันตามอำเภอใจ คัมภีร์อัลกุรอานก็จะผลักไสพวกเขาเข้าสู่ไฟนรก
การเชิญชวนสู่การปฏิบัติตามคัมภีร์อัลกุรอาน คือจริยวัตรของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)
وَأُوحِيَ إِلَيَّ هَٰذَا الْقُرْآنُ لِأُنذِرَكُم بِهِ وَمَن بَلَغَ
“คัมภีร์อัลกุรอานนี้ได้ถูกประทานลงมายังฉัน เพื่อที่ฉันจะได้ใช้ในการตักเตือนพวกท่านและบุคคลที่อัลกุรอานนี้ไปถึงเขา”
(อัลกุรอานบท อัลอันอาม โองการที่ 19)
แม้กระทั่งในช่วงเวลาใกล้จะวะฟาต (สิ้นชีวิต) ในขณะที่ท่านได้สั่งเสียต่อบุตรีของท่านคือท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ท่านกล่าวว่า : โอ้ลูกรักของพ่อ! หลังจากการตายของพ่อ เจ้าจงอย่าขูดข่วนใบหน้าของเจ้า และอย่าฉีกเสื้อผ้าของเจ้าเป็นอันขาด แม้ว่าจิตใจของคนเราจะต้องรู้สึกโศกเศร้าเสียใจในการจำพรากจากบุคคลอันที่เป็นที่รักและต้องหลั่งน้ำตาร่ำไห้ก็ตาม แต่ก็จำเป็นต้องอดทนอดกลั้น เพื่อที่จะให้คำสั่งเสีย (วะซียัต) ของท่านมีสีสรรแห่งคัมภีร์อัลกุรอาน ท่านได้อ่านโองการต่อไปนี้ว่า
وَلا يَعْصِينَكَ فِي مَعْرُوفٍ
“และพวกนางจะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าในสิ่งที่ดีงาม”
(อัลกุรอานบท อัลมุมตะฮินะฮ์ โองการที่ 12)
ในโองการนี้อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสกับศาสนทูตของพระองค์ว่า : บรรดาสตรีที่เป็นผู้ศรัทธาจะไม่ละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้า ดังนั้นสตรีผู้ซึ่งได้ขูดข่วนใบหน้าของตนเองและฉีกเสื้อผ้าของตนเองในขณะสูญเสียผู้เป็นที่รักของตนไปนั้น นางได้ละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งเสียของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) แล้ว การที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้อ้างอิงถึงโองการอัลกุรอานไว้ในคำสั่งเสีย (วะซียัต) สั้นๆ ข้างต้นนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและความผูกพันที่ท่านมีต่อคัมภีร์อัลกุรอานนั่นเอง
การมีอุปนิสัยใจคอที่นิ่มนวลของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เป็นศาสนทูตที่มีอุปนิสัยใจคอที่นิ่มนวลและแสดงออกถึงความอ่อนน้อมต่อประชาชน อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงพรรณนาถึงคุณลักษณะของท่านว่า เป็นศาสนทูตที่มีความอ่อนน้อมและมีจิตใจเมตตา ความรุนแรง ความหยาบกระด้าง และกริยาท่าที่ที่ไม่ดีงามนั้นไม่มีในตัวท่าน ความมีมารยาทอันนิ่มนวลดังกล่าวนี้ถือเป็นความเมตตา (เราะฮ์มัต) หนึ่งจากพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมอบให้แก่ท่าน พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า
فَبِمَا رَحْمَةٍ مِّنَ اللَّهِ لِنتَ لَهُمْ وَلَوْ كُنتَ فَظًّا غَلِيظَ الْقَلْبِ لَانفَضُّوا مِنْ حَوْلِكَ فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ فِي الْأَمْرِ فَإِذَا عَزَمْتَ فَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُتَوَكِّلِينَ
“เนื่องจากพระเมตตาจากอัลลอฮ์นั่นเองที่เจ้ามีความสุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และหากเจ้าเป็นผู้หยาบคายและมีหัวใจแข็งกระด้างแล้ว แน่นอนยิ่งพวกเขาต้องแยกตัวออกไปจากรอบๆ เจ้าแล้ว ดังนั้นจงให้อภัยแก่พวกเขาเถิด และจงขออภัยโทษให้แก่พวกเขาด้วย และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้วก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้มอบหมายทั้งหลาย”
(อัลกรุอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 159)
ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้บรรยายคุณลักษณะของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) โดยอ้างคำพูดจากบิดาของท่านว่า : ท่านจะยิ้มแย้มและมีมารยาทที่นิ่มนวลอยู่ตลอดเวลา ไม่มีนิสัยหยาบกระด้าง การด่าทอไม่เคยปรากฏจากท่าน ท่านไม่เคยกล่าวตำหนิใครและจะไม่สรรเสริญยกย่องผู้ใดโดยไม่จำเป็น และท่านจะเบี่ยงเบนสายตาออกจากสิ่งที่ท่านไม่ชอบ
ในหนังสือ “ซุนนะนุนนะบี” ได้รายงานโดยอ้างอิงจากหนังสือ “มะการิมุลอัคลาค” ของท่านฏ็อบริซี ว่า : ท่านศาสนทูตไม่เคยคิดแก้แค้นผู้ใด ในทางตรงกันข้าม ท่านจะให้อภัยต่อบรรดาผู้ที่ประทุษร้ายต่อท่าน ท่านเป็นศาสดาที่มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อมวลมุสลิม
لَقَدْ جَاءَكُمْ رَسُولٌ مِّنْ أَنفُسِكُمْ عَزِيزٌ عَلَيْهِ مَا عَنِتُّمْ حَرِيصٌ عَلَيْكُم بِالْمُؤْمِنِينَ رَءُوفٌ رَّحِيمٌ
“แท้จริงมีศาสนทูตผู้หนึ่งจากพวกเจ้าได้มายังพวกเจ้า เขามีความทุกข์ใจในสิ่งที่พวกเจ้าประสพกับความทุกข์ยาก เป็นห่วงเป็นใยต่อพวกเจ้า อีกทั้งเป็นผู้มีความกรุณาและมีเมตตาจิตต่อบรรดาผู้ศรัทธา”
(อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 128)
ไม่มีคำบรรยายใดที่สูงส่งไปกว่านี้อีกแล้วจากพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อบ่าวคนหนึ่งของพระองค์ ทุกๆ ความสวยงามของมารยาทที่จินตนาการได้นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงพรรณนาออกมาแด่ศาสนทูต (ซ็อลฯ) ด้วยสำนวนถ้อยคำที่แสนสั้น และพระองค์ได้ทรงสรรเสริญยกย่องท่านในฐานะผู้มีอุปนิสัยใจคอที่งดงาม มีคุณลักษณะและบุคลิกภาพอันยิ่งใหญ่ โดยทรงตรัสว่า
وَإِنَّكَ لَعَلَىٰ خُلُقٍ عَظِيمٍ
“และแท้จริงเจ้าตั้งมั่นอยู่บนจริยธรรมอันยิ่งใหญ่”
(อัลกุรอานบท อัลกอลัม โองการที่ 4)
ในโองการหนึ่งจากคัมภีร์อัลกุรอาน อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงกล่าวถึงท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ในฐานะความเมตตาหนึ่ง
وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِّلْعَالَمِينَ
“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเป็นความเมตตาแก่สากลโลก”
(อัลกุรอานบทอัลอัมบิยาอ์ โองการที่107)
เจตนารมณ์ในการส่งท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ลงมา คือการนำสาส์นแห่งความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งมายังมนุษยชาติ ท่านมาเพื่อทำให้ตาน้ำแห่งความเมตตาได้ไหลริน และทำให้โลกทั้งผองได้ดื่มด่ำไปด้วยพระเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ในโลกอันสูงส่ง (อาลัม มะละกูต) ห้องเรียนของท่านคือห้องเรียนสุดท้ายในการแผ่ขยายความเมตตา (เราะฮ์มัต) และความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) ของพระผู้เป็นเจ้าแก่ปวงบ่าวของพระองค์
เขียนโดย : รูยอคอน ซอเดฮ์
แปล : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center