foto1
foto1
foto1
foto1
foto1

In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم

Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم

ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You

WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center

ปรัชญาวันอีดกุรบาน วันเฉลิมฉลองชัยเหนืออารมณ์ใฝ่ต่ำ


       วันอีดกุรบาน คือวันแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จของปวงบ่าวในการปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า ชัยชนะของพวกเขาที่มีเหนืออารมณ์ใฝ่ต่ำ และการปฏิบัติตาม (ฆ่อรีซะฮ์) สัญชาตญาณแห่งความเป็นสัตว์ หรือกล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ วันอีดกุรบาน คือวันแห่งการเฉลิมฉลองชัยชนะของสติปัญญาของมนุษย์ที่มีเหนืออารมณ์ใฝ่ต่ำของตน

สรรพสิ่งถูกสร้าง (มัคลูกอต) ของพระผู้เป็นเจ้าแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

      1.กลุ่มที่ปฏิบัติตามสัญชาตญาณแห่งความเป็นสัตว์ (ฆ่อรีซะฮ์) และอารมณ์ใคร่ ได้แก่ สรรพสัตว์ ทั้งหลาย

      2.กลุ่มที่ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ที่ถูกมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้าและตามสติปัญญาอันบริสุทธิ์ที่  พระองค์ทรงมอบให้แก่พวกเขา ได้แก่ มวลมลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ)

      3.กลุ่มผู้ซึ่งบางครั้งเลือกที่จะปฏิบัติตามสัญชาตญาณแห่งความเป็นสัตว์ (ฆ่อรีซะฮ์) ปฏิบัติตามความใคร่และอารมณ์ใฝ่ต่ำ และบางครั้งก็เลือกที่จะปฏิบัติตามภาระหน้าที่ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า กลุ่มนี้ได้แก่มวลมนุษย์

       เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ยืนอยู่บนทางสองแพ่ง คือระหว่างการที่จะตามสัญชาติญาณแห่งความเป็นสัตว์ (ฆ่อรีซะฮ์) กับการปฏิบัติตามหน้าที่ที่ถูกมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า หากเขาเลือกที่จะปฏิบัติตามสัญชาติญาณแห่งความเป็นสัตว์ (ฆ่อรีซะฮ์) และความใคร่ดังกล่าว เขาก็จะเข้ารวมอยู่ในกลุ่มของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ยิ่งไปกว่านั้น เขาจะมีสถานะที่ต่ำกว่าบรรดาสัตว์เดรัจฉาน เนื่องจากเขาไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสติปัญญา ไม่ได้ใช้ความคิด ไม่ได้ใช้เหตุผลและคำแนะนำสั่งสอนต่างๆ ของปวงศาสดา (อ.) คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

اولئك كالانعام بل هم اضل

“พวกเหล่านั้นประดุจดังปศุสัตว์ ทว่าพวกเขาเป็นผู้ที่หลงทางเสียยิ่งกว่า” (1)

        มนุษย์จำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตประหนึ่งคนหูหนวกและตาบอด ประหนึ่งสัตว์เดรัจฉานและไม่พร้อมที่จะใช้สติปัญญาของตนเองคิดใคร่ครวญสิ่งใดทั้งสิ้น ดังที่คัมภีร์อัลกรุอานได้กล่าวว่า

إِنَّ شَرَّ الدَّوَابِّ عِنْدَ اللَّهِ الصُّمُّ الْبُكْمُ الَّذِينَ لا يَعْقِلُون

“แท้จริงสัตว์ที่ชั่วร้ายยิ่ง ณ อัลลอฮ์ คือผู้ที่หูหนวก ผู้ที่เป็นใบ้ ซึ่งพวกเขาไม่ใช้สติปัญญา” (2)

        แต่มนุษย์คนใดก็ตามเมื่อเขายืนอยู่ในทางสองแพ่งที่อันตรายนี้ แต่เขาเลือกที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ ปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า เขาจะเข้าอยู่ในกลุ่มของมวลมลาอิกะฮ์และปวงบ่าวที่บริสุทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ฮะดีษ (วจนะ) ของท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า

إنّ الله ركّب في الملائكة عقلا بلا شهوة، وركّب في البهائم شهوةً بلا عقل، وركّب في بني آدم كلتيهما، فمن غلب عقله شهوته فهو خير من الملائكة، ومن غلب شهوته عقله فهو شرٌ من البهائم

“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงประกอบไว้ในมลาอิกะฮ์ซึ่งสติปัญญาโดยปราศจากอารมณ์ใคร่ ทรงประกอบเข้าไว้ในสัตว์เดรัจฉานซึ่งอารมณ์ใคร่โดยปราศจากสติปัญญา และทรงประกอบไว้ในลูกหลานของอาดัมซึ่งทั้งสองประการ ดังนั้นผู้ใดที่สติปัญญาของเขาพิชิตอารมณ์ใคร่ของเขา เขาคือผู้ที่ประเสริฐกว่ามลาอิกะฮ์ และผู้ใดที่อารมณ์ใคร่ของเขาพิชิตสติปัญญาของเขา เขาเลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน” (3)

       บุคคลที่สติปัญญาของเขาสามารถพิชิตอารมณ์ใคร่ของเขาได้ มนุษย์ที่เลือกปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้มอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์ที่ถูกรวมเข้าอยู่ในแถวของมวลมลาอิกะฮ์เท่านั้นที่จะเฉลิมฉลองความสำเร็จในชีวิตของเขา และวันนี้คืออีดของเขาได้ ตัวอย่างเช่น สัญชาติญาณ (ฆ่อรีซะฮ์) ของมนุษย์ซึ่งได้แก่ ความหิว ความกระหายและอารมณ์ทางเพศ จะนำพามนุษย์ไปยังอาหาร น้ำและคู่ครองของตนเอง แต่หน้าที่ที่ถูกกำหนดจากพระผู้เป็นเจ้าจะบอกแก่เขาว่า ในเดือนรอมฎอนเจ้าจะต้องงดเว้นสิ่งเหล่านี้ ใครก็ตามที่ตลอด 30 วัน ของเดือนรอมฎอนเขาได้ถือศีลอด เขาเลือกปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า งดเว้นจากการปฏิบัติตามอารมณ์ใคร่ งดเว้นการปฏิบัติตามสัญชาติญาณ (ฆ่อรีซะฮ์) เหล่านั้น เขาคือผู้ที่มีสิทธิ์อย่างแท้จริงในการเฉลิมฉลองวันอีดิลฟิฏรี่ เนื่องจากเขาประสบความสำเร็จในการสนองตอบพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า

        สัญชาตญาณแห่งความรักในลูกของตนเองได้บอกแก่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ว่า “อย่าเชือดและอย่าฆ่าอิสมาอีล (อ.) ลูกรักผู้เป็นแก้วตาดวงใจของตนเอง” แต่หน้าที่ที่ถูกบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้าได้บอกแก่ท่านศาสดาอิรอฮีม (อ.) ว่า “จงเชือดพลีเขา” ในระหว่างทางสองแพ่งของท่านศาสดาอิรอฮีม (อ.) ความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า และการเลือกปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยพระองค์ มีชัยชนะเหนือความต้องการส่วนตัวและสัญชาติญาณของตนเอง ด้วยเหตุนี้วันนั้นจึงถือเป็นวันอีดของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ที่เรียกว่า “อีดกุรบาน” หากเราอ่านในฮะดีษ (วจนะ) ของท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ที่ว่า ทุกๆ วันที่พระผู้เป็นเจ้าไม่ถูกละเมิดฝ่าฝืน วันนั้นถือเป็นวันอีด (วันแห่งการเฉลิมฉลอง) โดยท่านได้กล่าวว่า

كُلُّ يَومٍ لا يُعصَي اللَّهُ فيهِ فَهُوَ عِيدٌ

“ในทุกๆ วันที่พระผู้เป็นเจ้าไม่ถูกละเมิดฝ่าฝืน วันนั้นคือวันอีด” (4)

        หมายความว่า สถานการณ์ที่มนุษย์ต้องยืนอยู่ระหว่างการเลือกสองอย่าง คือความต้องการของอารมณ์ใฝ่ต่ำ กับการสนองตอบพระบัญชาและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์จะเลือกปฏิบัติตามประการที่สองนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้และในช่วงเวลานั้นก็คืออีด (การเฉลิมฉลอง) สำหรับเขา ดังนั้นวันอีดกุรบาน คือวันที่สติปัญญาและพระบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้ามีชัยชนะเหนือความต้องการ อันเป็นสัญญาณทางธรรมชาติและอารมณ์ใฝ่ต่ำ

กุรบานคืออะไร

       ในตัฟซีรมัจญ์มะอุลบะยาน ท่านอัลลามะฮ์ฏ็อบริซีได้กล่าวว่า

والقربان ما يقصد به القرب من رحمة الله من اعمال البر

คำว่า “กุรบาน” หมายถึงทุกๆ อะมั้ลที่เป็นความดีงามที่กระทำเพื่อความมุ่งหวังในการเข้าใกล้ชิดความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า (5)

       ฉะนั้นอะมั้ลที่เป็นคุณธรรมความดีใดๆ ก็ตามที่เราปฏิบัติโดยมีความมุ่งหวังว่ามันจะเป็นสื่อนำพาเราเข้าสู่ความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า ทั้งหมดเหล่านั้นเรียกว่า “กุรบาน” ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) จึงได้กล่าวในเรื่องของการนมาซว่า

إنّ الصّلاةَ قُربانُ المُؤمِنِ

“แท้จริงการนมาซ คือ กุรบานของผู้ศรัทธา” (6)

       การนมาซ หมายถึงสื่อในการแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า และจะนำพามนุษย์เข้าใกล้ความเมตตาของพระองค์

       เป็นที่ชัดเจนยิ่งว่า จุดประสงค์ของคำว่า “การแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง” มิใช่เป็นความใกล้ชิดในด้านของเวลาและสถานที่ แต่จุดประสงค์ของมันก็คือ โดยการเชื่อฟังและการปฏิบัติอะมั้ลต่างๆ ที่เป็นความดีงาม ที่จะสามารถทำให้มนุษย์เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า และได้รับความเมตตาจากพระองค์

       ส่วนหนึ่งจากอะมั้ล (การกระทำ) ที่บรรดาฮุจญาจ (ผู้แสวงบุญ) ในแผ่นดินมินาจะต้องกระทำในวันที่ 10 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ หลังจากการขว้างเสาหินต้นท้ายสุด (ร็อมยุลอะกอบะฮ์) ก็คือการเชือดอูฐ วัวหรือแกะ และแจกจ่ายเนื้อของมันให้กับผู้ยากจนขัดสน เพื่อว่าอะมั้ลดังกล่าวนี้จะทำให้เขาเข้าใกล้ชิดความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า สัตว์ที่ถูกเชือดพลีจึงถูกเรียกว่า “กุรบาน” หมายถึงสื่อที่ทำให้มนุษย์เข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า

       โดยทั่วไปอีดกุรบานเราจะเรียกกันจนติดปากว่า “อีดิลอัฏฮา” และเหตุผลของการเรียกเช่นนั้นก็เนื่องจากคำว่า “อัฏฮา”เป็นพหูพจน์มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ฎุฮา” หมายถึงยามสายของกลางวันหลังจากที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสูงก่อนจะถึงเวลาเที่ยงวัน (ซุฮ์รี่) ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เรียกว่า “ฎุฮา” ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

والشمس و ضحیها

“ขอสาบานด้วยดวงอาทิตย์ และช่วงเวลายามสายของมัน” (7)

       หลังจากที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสูงแล้ว บรรดาฮุจญาจ (ผู้บำเพ็ญฮัจญ์) จะต้องเชือดสัตว์กุรบาน ดังนั้นสัตว์กุรบานจึงถูกเรียกว่า“อัฎฮิยะฮ์” หรือ “ฎ่อฮียะฮ์” ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากในวันที่ 10 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ประชาชนจะเชือดสัตว์กุรบานในช่วงก่อนเวลาเที่ยงวัน ดังนั้นจึงเรียกวันนี้ว่า “อีดิลอัฎฮา” ด้วยเช่นเดียวกัน

การทำกุรบาน (พลีเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า) เริ่มต้นในสมัยใด

       ประวัติการทำกุรบานนั้นมีความเก่าแก่และยาวนานมาก เริ่มต้นตั้งแต่สมัยของท่านศาสดาอาดัม (อ.) และในศาสนาต่างๆ ก่อนหน้าอิสลามก็ถือว่าการกุรบาน (การพลี) เป็นส่วนหนึ่งจากบทบัญญัติของศาสนาซึ่งเราคงไม่มีโอกาสพอที่จะชี้ให้เห็นถึงสิ่งดังกล่าวทั้งหมด แต่จะขอกล่าวถึงในที่นี้เพียง 3 ตัวอย่างคือ

       กุรบาน (การพลี) ของลูกๆ ของท่านศาสดาอาดัม (อ.) ถือเป็นกุรบาน (การพลี) ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งมีปรากฏชัดเจนในกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 27 ถึง 30 คำอธิบายโดยสรุปก็คือ : บุตรชายสองคนของท่านศาสดาอาดัม (อ.) ซึ่งมีนามว่า ฮาบีลและกอบีล ฮาบีลมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ ส่วนกอบีลมีเป็นชาวนา ทั้งสองได้รับผลผลิตจากการประกอบอาชีพของตนเองอย่างมากมาย ท่านศาสดาอาดัม (อ.) จึงสั่งให้ทั้งสองทำการพลี (กุรบาน) ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ฮาบีลได้เลือกอูฐหรือแกะที่อ้วนถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเพื่อพลีให้ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า แต่กอบีลกลับเลือกข้าวสาลีที่ด้อยคุณภาพและไม่สมบูรณ์ในการพลีในครั้งนี้

       ดังนั้นการพลีของฮาบีลจึงได้รับการยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า ส่วนการพลีของกอบีลเนื่องจากไม่ได้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) จึงถูกปฏิเสธ และเนื่องจากกุรบาน (การพลี) ของเขาไม่ได้รับการยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า กอบีลจึงเกิดความอิจฉาและโกรธแค้นฮาบีล ไฟแห่งความโกรธแค้นและอารมณ์จากจิตใจที่ชั่วร้าย ประกอบกับการกระซิบกระซาบของมารร้าย (ชัยฏอน) นี่เอง ที่ได้ชักนำและบีบบังคับเขาให้ฆ่าน้องชายของตนเอง และในที่สุดเขาก็ฆ่าฮาบีล เขาจึงกลายเป็นผู้ขาดทุนทั้งโลกนี้และปรโลก

       เมื่อครั้งที่น้ำท่วมและหลังจากน้ำแห้งลง ท่านศาสดานูห์ (อ.) เมื่อลงจากเรือมายังพื้นดิน ท่านได้จัดเตรียมสถานที่สำหรับการเชือดสัตว์ และท่านได้เชือดพลีสัตว์ (กุรบาน) จำนวนมากในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ณ สถานที่แห่งนั้น

       การกุรบานของท่านศาสดาอิบรอฮีม คอลีลุลลอฮ์ (อ.) ที่ได้ตัดสินใจปฏิบัติตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าในการเชือดพลีบุตรชายผู้เป็นแก้วตาดวงใจของท่านเพียงคนเดียว คือท่านศาสดาอิสมาอีล (อ.) ที่ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า

فَلَمَّا بَلَغَ مَعَهُ السَّعْيَ قَالَ يَا بُنَيَّ إِنِّي أَرَى فِي الْمَنَامِ أَنِّي أَذْبَحُكَ فَانظُرْ مَاذَا تَرَى قَالَ يَا أَبَتِ افْعَلْ مَا تُؤْمَرُ سَتَجِدُنِي إِن شَاء اللَّهُ مِنَ الصَّابِرِينَ فَلَمَّا أَسْلَمَا وَتَلَّهُ لِلْجَبِينِ وَنَادَيْنَاهُ أَنْ يَا إِبْرَاهِيمُ قَدْ صَدَّقْتَ الرُّؤْيَا إِنَّا كَذَلِكَ نَجْزِي الْمُحْسِنِينَ إِنَّ هَذَا لَهُوَ الْبَلَاء الْمُبِينُ وَفَدَيْنَاهُ بِذِبْحٍ عَظِيمٍ

              “ครั้นเมื่อ (อิสมาอีล) บรรลุวัยเจริญเติบโต ทำงาน (และไปไหนมาไหน) กับเขา (อิบรอฮีม) ได้แล้ว อิบรอฮีมได้กล่าวว่า โอ้ลูกรัก แท้จริงพ่อได้เห็นในความฝันว่าพ่อจะเชือดเจ้า (ซึ่งเป็นบัญชามาจากพระผู้เป็นเจ้า) ดังนั้นเจ้าลองพิจารณาดูเถิดว่า เจ้าเห็นเป็นอย่างไร เขากล่าวว่า โอ้พ่อจ๋า ท่านจงปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกบัญชาเถิด หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์ ท่านจะได้พบว่าข้าพเจ้าเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้อดทน ครั้นเมื่อทั้งสอง (อิบรอฮีมและอิสมาอีได้ยอมมอบตน (ต่ออัลลอฮ์) อิบรอฮีมจึงให้อิสมาอีลคว่ำหน้าลงกับพื้น และเราได้เรียกเขาว่า โอ้อิบรอฮีมเอ๋ย เจ้าได้ทำให้ความฝันเป็นจริงแล้ว แท้จริงเราก็เช่นกัน เราจะตอบแทนผู้กระทำความดีทั้งหลาย แท้จริงนั่นคือการทดสอบอันชัดแจ้งและเราได้ไถ่ตัวเขาด้วยสัตว์เชือดพลีอันใหญ่หลวง” (8)

เหตุผลและวิทยปัญญาของการเชือดพลี

      1.การกุรบาน (เชือดสัตว์พลี) : คือการสละทรัพย์สินเงินทองในรูปแบบหนึ่ง และการใช้จ่ายมันออกไปในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า

การเชือดสัตว์พลี (และการสละทรัพย์สิน) : เป็นการบ่งชี้ถึงการเชือดพลีอารมณ์ใฝ่ต่ำ (นัฟซุลอัมมาเราะฮ์) ของตนเอง บุคคลผู้ซึ่งรู้จักและมีศรัทธามั่นต่อพระผู้เป็นเจ้า เขาจะสังหารอารมณ์แห่งความเป็นสัตว์ที่คอยชักนำเขาไปสู่ความชั่วต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ด้วยมีดอันคมกริบแห่งปัญญาและศรัทธา (อีหม่าน) ของตนเอง และทำให้บ้านแห่งหัวใจของเขาสะอาดจากความแปดเปื้อนของอารมใฝ่ต่ำเหล่านั้น และพลีมันไปในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นที่เคารพภักดีของเขา

       มนุษย์ถึงแม้ว่าจะได้รับโชคผลและโอกาสในการทำฮัจญ์อักบัรก็ตาม แต่หากไม่สามารถสังหารอารมณ์ใฝ่ต่ำ (นัฟซุลอัมมาเราะฮ์) ไม่สามารถเชือดพลีความใคร่ต่าง ๆ ของตนเอง และคุมบังเหียนมันไว้ให้ได้แล้ว แม้ว่าเนี๊ยะฮ์มัต (ความโปรดปราณ) ของพระผู้เป็นเจ้าและทรัพย์สมบัติทั้งมวลแห่งโลกนี้ได้ถูกมอบให้อยู่ในอำนาจของเขา หรือฟากฟ้าและแผ่นดินจะอยู่ในอำนาจการใช้สอยของเขาก็ตาม เขาก็จะไม่รู้สึกพอเพียง จะไม่รู้สึกเอิบอิ่มจากสิ่งเหล่านั้น อารมณ์ความต้องการของเขาจะส่งเสียงเรียกร้องอยู่ตลอดไปว่า هل من مزید (ยังมีเพิ่มอีกไหม)

       การให้อาหารแก่ผู้ที่หิวโหย : อีกประการหนึ่งของเหตุผลและฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ของการเชือดสัตว์กุรบาน คือการมอบมันเป็นอาหารแก่ผู้ที่หิวโหยและผู้ยากไร้ ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

فكلوا منها واطعمواالقانع والمعتر

“ดังนั้น พวกเจ้าจงบริโภคบางส่วนจากมัน และจงแจกจ่ายเป็นอาหารแก่คนที่ไม่เอ่ยขอและแก่คนที่เอ่ยขอ” (9)

ตักวา (ความยำเกรงและการสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า)

      อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักในประเด็นเกี่ยวกับการเชือดสัตว์พลี (กุรบาน) คือการไปถึงซึ่งสถานะตำแหน่งอันสูงส่งของความยำเกรง (ตักวา) คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

لَن يَنَالَ اللَّهَ لُحُومُهَا وَلَا دِمَاؤُهَا وَلَكِن يَنَالُهُ التَّقْوَى مِنكُمْ

“เนื้อของมันและเลือดของมันจะไม่ถึงอัลลอฮ์แต่ประการใดแต่ทว่าความยำเกรงของพวกเจ้าจะไปถึงพระองค์”(10)

      ฉะนั้นเป้าหมายของการเชือดสัตว์พลี (กุรบาน) คือการเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งการเสียสละ การพลีอุทิศ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความรักความผูกพันและความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า การปฏิบัติตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า การมีความยำเกรง (ตักวา) และความสำรวมตนต่อพระองค์

เชิงอรรถ :

(1) อัลกุรอานบทอัลอะอ์รอฟ โองการที่ 179

(2) อัลกุรอานบทอัลอันฟาล โองการที่ 22

(3) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 6 หน้าที่ 299

(4) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ฮิกมะฮ์ที่ 428

(5) ตัฟซีรมัจญ์มะอุลบะยาน เล่มที่ 3 หน้าที่ 314

(6) กันซุลอุมมาล เล่มที่ 7 หน้าที่ 287

(7) อัลกุรอานบทอัชชัมซ์ โองการที่ 1

(8) อัลกุรอานบทอัซซอฟฟาต โองการที่ 102 ถึง 107

(9) อัลกุรอานบทอัลฮัจญ์ โองการที่ 36

(10) อัลกุรอานบทอัลฮัจญ์ โองการที่ 37

เรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ