ย้อนรอย:เมืองมักกะฮ์และมัสยิดอัลฮะรอม ตอนที่1จากแผ่นดินปาเลสไตน์สู่แผ่นดินฮิญาซ
เมื่อประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว ศาสดาอิบรอฮีม ค่อลีลุลลอฮ์ (อ.) เดินทางจากปาเลสไตน์ นำฮาญัร ภรรยาและอิสมาอีล (อ.) บุตรชายวัยเยาว์มาทิ้งไว้ที่แผ่นดินฮิญาซ ในคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งเมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน ตามคำบัญชาของอัลลอฮ์ (ซบ.) สองคนแม่ลูกถูกทิ้งไว้อย่างโดดเดี่ยว พร้อมด้วยถุงหนังบรรจุน้ำเพียงใบเดียว แต่ในที่สุดฮาญัรและอิสมาอีล (อ.) ก็รอดชีวิตมาได้ทั้งยังพบบ่อน้ำซัมซัม ซึ่งทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นจุดพักของกองคาราวานที่เดินทางผ่านไปมา (ดูภาพที่ 1)
ต่อมาอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงบัญชาให้อิบรอฮีมและอิสมาอีล (อ.) สร้าง “วิหารกะอ์บะฮ์” หรือ “บัยตุลลอฮ์” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการเคารพภักดีต่อพระองค์สำหรับมวลมนุษยชาติ ภายหลังสร้างวิหารกะอ์บะฮ์แล้ว พระองค์ทรงประกาศว่า :
جَعَلَ اللَّـهُ الْكَعْبَةَ الْبَيْتَ الْحَرَامَ قِيَامًا لِّلنَّاسِ
“อัลลอฮ์ทรงให้อัลกะอ์บะฮ์ อันเป็นบ้านที่ต้องห้าม เป็นสถานที่ยืนหยัดสำหรับมนุษย์”
(อัลกุรอานบทที่ 5 อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 97)
มักกะฮ์มีชื่อเดิมว่า “บักกะฮ์” ดังปรากฏในอัลกุรอานบทที่ 3 อาลิอิมรอน โองการที่ 96 ว่า :
إِنَّ أَوَّلَ بَيْتٍ وُضِعَ لِلنَّاسِ لَلَّذِي بِبَكَّةَ مُبَارَكًا وَهُدًى لِّلْعَالَمِينَ
“แท้จริงบ้านหลักแรกที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์ (เพื่อการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) คือบ้านที่บักกะฮ์ โดยเป็นที่ที่ถูกให้มีความจำเริญ และเป็นที่แนะนำแก่ประชาชาติทั้งหลาย”
ซึ่งมีความหมายว่า ทางเดินแคบ ๆ เพราะตั้งอยู่ในหุบเขาส่วนที่ต่ำที่สุดเป็นแอ่งกระทะ ดังนั้นทุกคราที่ฝนตกน้ำจากทุกทิศทุกทางจะไหลมารวมกันที่เมืองมักกะฮ์
พิธีฮัจญ์ที่ปฏิบัติกันในปัจจุบัน ล้วนมีรูปแบบและร่องรอยมาจกการปฏิบัติของท่านศาสดาอิลรอฮีม (อ.) และครอบครัวของท่านทั้งสิ้น รวมทั้งสถานที่สำคัญต่าง ๆ ด้วย
1.การเวียนรอบบัยตุลลอฮ์ (ตอวาฟ) เป็นการปฏิบัติตามท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และท่านศาสดาอิสมาอีล (อ.) ซึ่งกระทำภายหลังจากทั้งสองท่านสร้างบัยตุลลอฮ์เสร็จ
สิ่งที่ควรทราบก็คือ หินที่ใช้ก่อสร้างบัยตุลลอฮ์ปัจจุบันเกือบทั้งหมด เป็นหินชุดเดียวกับที่ท่านศาสดาอิบรอฮีมใช้ก่อสร้างบัยตุลลอฮ์เมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะมีการบูรณะซ่อมแซมกี่ครั้ง ผู้บูรณะก็พยายามใช้ก้อนหินเดิมก่อสร้าง
2. การสะแอ คือการเดินระหว่างสองจุด (ภูเขาซอฟาและมัรวะฮ์) ซึ่งมีระยะทางประมาณ 450 เมตร เป็นการปฏิบัติตามการเดินหาน้ำของท่านหญิงฮาญัร ภรรยาของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) หลังจากน้ำในถุงหนังที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ทิ้งไว้ให้หมด และอิสมาอีล (อ.) ลูกน้อยกำลังจะสิ้นใจด้วยความหิวและความกระหาย ในการเดินหาน้ำของท่านหญิงฮาญัรนี้มีบางช่วงที่เธอออกวิ่ง เพราะความเป็นห่วงว่าจะหาน้ำมาให้ลูกดื่มไม่ทัน ในการเดินสะแอของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จึงมีบางช่วงที่ต้องวิ่งเยาะด้วย โดยมีสัญญาณไฟสีเขียวระบุให้ทราบว่าช่วงนี้ต้องวิ่งเยาะ ๆ (ดูภาพที่ 2)การพักแรมที่มินา ซึ่งอยู่นอกเมืองมักกะฮ์ (ดูภาพที่ 3)
3.การเดินไปยังมุซดะลิฟะฮ์ เพื่อเก็บก้อนหินเล็ก ๆ 21 ก้อน (ภาพที่ 4)
จากนั้นจึงนำไปขว้างเสาหิน 3 ต้น ต้นละ 7 ครั้ง (ภาพที่ 5)
ตามจำนวนหินที่เก็บไปจากมุซดลีฟะฮ์ ระยะทางของมินา มุซดะลีฟะฮ์และอารอฟะฮ์ จากมัสยิดอัลฮะรอมประมาณประมาณ 7, 10 และ 20 กิโลเมตร ตามลำดับ
การขว้างเสาหินนี้ปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ขณะที่ท่านนำอิสมาอีล (อ.) ลูกชายไปเชือดตามบัญชาของอัลลอฮ์ (ซบ.) มารร้ายได้พยายามพูดจาหว่านล้อมไม่ให้ท่านปฏิบัติตามบัญชาของอัลลอฮ์ (ซบ.) ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) จึงหยิบก่อนหินขึ้นขว้างเพื่อขับไล่มารร้ายดังกล่าว
ในการการวิ่งหาน้ำของท่านหญิงฮาญัร ด้วยความพยายามอย่างสุดความสามารถ และด้วยความเชื่อมั่นในความเมตตาของอัลลอฮ์ (ซบ.) ทำให้นางพบตาน้ำที่ไหลออกมาจากพื้นดินบริเวณปลายเท้าที่อิสมาอีล (อ.) ลูกน้อยนอนอยู่ ตาน้ำนี้ต่อมากลายเป็นบ่อน้ำเรียกว่า “ซัมซัม” และยังมีน้ำไหลออกมาให้ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้ดื่มจนถึงทุกวันนี้
การเชือดพลีอิสมาอีล (อ) ของท่านศาสดาอิบรอฮีม ตามบัญชาของอัลลอฮ์ (ซบ.) ด้วยจิตใจที่มอบหมายต่อพระองค์ ทำให้อัลลอฮ์ (ซบ.) มอบสัตว์ที่จะเชือดพลีแทนอิสมาอีล (อ.) การพลีนี้ในภาษาอาหรับเรียกว่า “กุรบาน” ซึ่งผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะต้องกระทำ อันเป็นไปตามแบบฉบับของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และมุสลิมทั่วโลกที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ก็จะเชือดสัตว์ที่เรียกว่า “กุรบาน” นี้ในภูมิลำเนาของตนเองเช่นกัน ในช่วงพิธีฮัจญ์ดังกล่าว
การน้อมปฏิบัติตามบัญชาของอัลลอฮ์ (ซบ.) โดยดุษณีของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) นี้ทำให้ท่านได้รับฉายาจากอัลลอฮ์ (ซบ.) ว่า “ค่อลีลุลลอฮ์” หรือ “มิตรสนิทของพระผู้เป็นเจ้า”
นี่คือประวัติความเป็นมา อุดมการณ์และปรัชญาของพิธีฮัจญ์โดยย่อ ซึ่งเป็นศาสนกิจการรวมตัวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติทุกสิผิว ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกภาษาและทุกวัฒนธรรม ภายใต้ความเสมอภาค ภารภาพและเอกภาพ
ทว่าปัจจุบันเป้าหมาย อุดมการณ์และปรัชญาของฮัจญ์ยังคงดำรงอยู่มากน้อยเพียงใด เป็นประเด็นที่จะได้คุยกันต่อไป
เรียบเรียง : Fareed Denyingyoch
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center