พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงอธิบายถึงสภาพของวันกิยามะฮ์ (วันแห่งการฟื้นคืนชีพ) ไว้ในโองการที่ 88 - 89 ของอัลกุรอานบท (อัลกุรอานบท) อัชชุอะรออ์ โดยอ้างคำพูดของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ที่กล่าวว่า
يَوْمَ لَا يَنفَعُ مَالٌ وَلَا بَنُونَ * إِلَّا مَنْ أَتَى اللَّهَ بِقَلْبٍ سَلِيمٍ
"(จงรำลึกถึง) วันที่ทรัพย์สินและลูกๆ จะไม่ยังคุณประโยชน์ใดๆ นอกจากผู้ที่มาพบอัลลอฮ์ด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์"
คำว่า “ซะลีม” (سَلِيمٌ) มาจากคำว่า “ซะลามะฮ์” (سَلامَةٌ) ซึ่งหมายถึง ความปลอดภัยจากเภทภัยทั้งด้านนอกและด้านใน (1) แต่ความหมายของคำว่า “ก็อลบุน ซะลีม” (قَلْبٌ سَلِيمٌ) นั้น หมายถึง หัวใจที่ห่างไกลจากความป่วยไข้และความเบี่ยงเบนทางด้านศีลธรรมและความเชื่อทุกรูปแบบ (2)
พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า : ในวันกิยามะฮ์ (วันแห่งการฟื้นคืนชีพ) ไม่มีผลประโยชน์และความสุขใดๆ ของชีวิตทางโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติและลูกๆ ที่จะยังคุณประโยชน์แก่มนุษย์ และสิ่งเหล่านั้นจะไม่สามารถช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากการลงโทษและความทุกข์ทรมานของวันกิยามะฮ์ (วันแห่งการฟื้นคืนชีพ) ได้เลย มีเพียงสิ่งหนึ่งที่จะมีคุณค่าและยังคุณประโยชน์ และนั่นก็คือ หัวใจที่บริสุทธิ์และดีงาม หัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์จากทุกรูปแบบของการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า สะอาดบริสุทธิ์จากความกลับกลอก (นิฟาก) และความโลภหลง หัวใจที่ไม่ยึดติดกับโลกแห่งวัตถุและความสุขชั่วคราวทั้งหลาย
ท่านอัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอี ได้กล่าวในกรณีนี้ว่า : จุดประสงค์จากคำว่า “หัวใจที่บริสุทธิ์” (ก็อลบุน ซะลีม) นั้น หมายถึง หัวใจที่ว่างเปล่าจากทุกสิ่งที่เป็นเภทภัยต่อความเชื่อและความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง อย่างเช่น การตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า ทั้งที่ชัดเจน (ญีลีย์) และซ่อนเร้น (ค่อฟีย์) มารยาทที่น่ารังเกียจ ผลต่างๆ ของความชั่ว และทุกรูปแบบของการยึดติดและผูกหัวใจไว้กับสิ่งอื่นจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะทำให้มนุษย์ถูกดึงดูดไปสู่มัน และจะเป็นสาเหตุทำให้ลักษณะของความมีจิตผูกพันและมุ่งตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าเกิดความบกพร่อง (3)
คัมภีร์อัลกุรอานในบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 10 ไม่ได้กล่าวเกี่ยวกับบรรดาผู้กลับกลอก (มุนาฟิกีน) หรอกหรือว่า
فِي قُلُوبِهِم مَّرَضٌ فَزَادَهُمُ اللّهُ مَرَضًا وَلَهُم عَذَابٌ أَلِيمٌ بِمَا كَانُوا يَكْذِبُونَ
“ในหัวใจของพวกเขามีความป่วยไข้ ดังนั้นอัลลอฮ์จึงทรงเพิ่มพูนความป่วยไข้แก่พวกเขา และพวกเขาจะได้รับการลงโทษที่แสนเจ็บปวด ด้วยเหตุที่พวกเขาได้มุสา”
ในฮะดีษ (วจนะ) ที่ทรงคุณค่าหลายๆ บท ได้แนะนำให้เรารับรู้ถึง “หัวใจที่บริสุทธิ์” (ก็อลบุน ซะลีม) ไว้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น ในฮะดีษ (วจนะ) จากท่านอิหม่ามซอดิก (อ.) ที่อธิบายโองการข้างต้น ท่านกล่าวว่า
وَ كُلُّ قَلْبٍ فِیهِ شِرْكٌ أَوْ شَكٌّ فَهُوَ سَاقِطٌ
“และทุกหัวใจที่มีการตั้งภาคี (ต่อพระผู้เป็นเจ้า) หรือความคลางแคลงสงสัยในมัน มันคือหัวใจที่ต่ำช้า” (4)
อีกด้านหนึ่งเราทราบดีว่า ความรักผูกพันที่รุนแรงต่อวัตถุและความลุ่มหลงในชีวิตทางโลกนั้น จะชักนำมนุษย์ไปสู่ความเบี่ยงเบนทางด้านศีลธรรมและความผิดบาปต่างๆ ทั้งมวล ดังที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ว่า
حُبُّ الدُّنْيَا رَأْسُ كُلِّ خَطِيئَةٍ
"ความรักผูกพันต่อ (ชีวิตทาง) โลกนี้ คือบ่อเกิดของความผิดบาปทั้งมวล" (5)
ด้วยเหตุนี้เอง หัวใจที่บริสุทธิ์จึงเป็นหัวใจที่ว่างเปล่าจากความรักผูกพันและ "ความลุ่มหลงในโลกแห่งวัตถุ" เช่นเดียวกับในฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่ง ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวในการอรรถาธิบายโองการนี้ว่า
هو القلبُ الّذي سلم من حب الدنيا
"มันคือหัวใจที่ปลอดภัยจากความรัก (ผูกพัน) ต่อโลก” (6)
เมื่อพิจารณาถึงโองการที่ 197 ของอัลกุรอานบท อัลบะกอเราะฮ์ ที่กล่าวว่า
وَتَزَوَّدُواْ فَإِنَّ خَيْرَ الزَّادِ التَّقْوَى وَاتَّقُونِ يَا أُوْلِي الأَلْبَابِ
“และพวกเจ้าจงตระเตรียมเสบียงเถิด เพราะแท้จริงเสบียงที่ดีงามที่สุดนั่นคือตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) และพวกเจ้าจงยำเกรงต่อข้าเถิด โอ้ปวงผู้มีวิจารณญาณทั้งหลาย”
เป็นที่ชัดเจนว่า หัวใจที่บริสุทธิ์ (ก็อลบุน ซะลีม) คือหัวใจซึ่งด้วยผลของความบริสุทธิ์จากความป่วยไข้และความผิดบาป ได้กลายเป็นบ่อเกิดของความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า
สรุปคำพูดสุดท้ายก็คือว่า “ก็อลบุน ซะลีม” (หัวใจที่บริสุทธิ์) คือหัวใจที่ไม่มีสิ่งใดพำนักอยู่ในมัน นอกจากพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น ดังที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวไว้ในการตอบคำถามเกี่ยวกับโองการนี้ว่า
الْقَلْبُ السَّلِیمُ الَّذِی یَلْقَى رَبَّهُ وَ لَیْسَ فِیهِ أَحَدٌ سِوَاهُ
"หัวใจที่บริสุทธิ์ คือหัวใจที่จะไปพบกับองค์พระผู้อภิบาลของมันโดยไม่มีสิ่งอื่นใดในมัน นอกจากพระองค์” (7)
ดังนั้น ผู้ศรัทธาทุกคนจะระวังรักษาหัวใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์จากทุกการยึดติด ทุกความหลงใหลผูกพันในสิ่งที่เป็นโลกแห่งวัตถุ ที่จะชักนำตัวเราไปสู่ความเบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตคือ ชีวิตแห่งปรโลก การยึดติดและความหลงใหลผูกพันดังกล่าวจะเป็นสื่อนำเราไปสู่ความผิดบาปและการละเมิดฝ่าฝืนต่างๆ และการออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า
القَلْبُ حَرَمُ اللهِ فَلا تُسْكِنْ فِي حَرَمِ الله غيَرَ الله
“หัวใจคือเขตหวงห้ามของอัลลอฮ์ ดังนั้น จงอย่าให้สิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ พำนักอยู่ในเขตหวงห้ามของพระองค์” (8)
แหล่งอ้างอิง :
(1) ตัฟซีร อัลมีซาน (ฉบับแปลภาษาเปอร์เซีย), ลัลามะฮ์ซัยยิดมุฮัมมัดฮุเซน ฏอบาฏอบาอี, เล่มที่ 15, หน้าที่ 404
(2) ตัฟซีร นะมูเนะฮ์, อายะตุลลอฮ์นาซิร มะการิม ชีราซี, เล่มที่ 15, หน้าที่ 89
(3) ตัฟซีร อัลมีซาน (ฉบับแปลภาษาเปอร์เซีย), เล่มที่ 17, หน้าที่ 223
(4) อุซูลุลกาฟี, เชคมุฮัมมัด บินญะอ์กูบ อัลกุลัยนี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 129
(5) ตัฟซีร มัจญ์มะอุลบะยาน, อะมีนุ้ลอิสลาม อัฏฏ็อบริซี, เล่มที่ 7 และ 8, หน้าที่ 305
(6) แหล่งอ้างอิงเดิม
(7) บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มุฮัมมัด บากิร มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 67, หน้าที่ 54
(8) มีซานุ้ลฮิกมะฮ์, เรย์ ชะฮ์รี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 212
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center