เป้าหมายในการยืนหยัดต่อสู้ของอิมามฮุเซน (อ.)
แรงบันดาลใจและเป้าหมายหลักของการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้นมีเพียงอย่างเดียว ส่วนเป้าหมายอื่นๆ ทั้งหมดที่ถูกกล่าวถึงนอกเหนือไปจากมันนั้นอยู่ในฐานะข้อปลีกย่อยที่อยู่ภายใต้เป้าหมายหลักดังกล่าว และนั่นก็คือ การพิทักษ์รักษาศาสนาอิสลาม การแผ่ขยายมันออกไปในสังคม และการอธิบายหลักคำสอนต่างๆ ของมันแก่ประชาชน ในความเป็นจริงแล้ว เนื่องจากศาสนาคือสิ่งที่จะมาฉายภาพและปลุกกระตุ้นสัญชาตญาณทางธรรมชาติ (ฟิฏเราะฮ์) อันบริสุทธิ์ของมนุษย์ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวถึงเป้าหมายดังกล่าวนี้ได้ว่า “คือการปลุกจิตสำนึกและการสร้างความเข้าใจแก่มนุษยชาติ” ดังเช่นในบทซิยาเราะฮ์อัรบะอีนของอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งกล่าวว่า
وَ بَذَلَ مُهْجَتَهُ فِيكَ لِيَسْتَنْقِذَ عِبَادَكَ مِنَ الْجَهَالَةِ وَ حَيْرَةِ الضَّلالَةِ
“(โอ้อัลลอฮ์ข้าพระองค์ขอปฏิญาณว่า) ท่าน (อิมามฮุเซน) ได้พลีเลือดของตนในหนทางของพระองค์ เพื่อช่วยปวงบ่าวของพระองค์ให้พ้นจากความไม่รู้และความสับสนของความหลงผิด” (1)
การสืบสานภารกิจของปวงศาสดา
ภารกิจของท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือการสืบสานภารกิจของปวงศาสดา (อ.) ดังที่ท่านอายะตุลลอฮ์ญะวาดี ออมูลีได้กล่าวว่า ภารกิจสองประการที่บรรดาศาสดาได้กระทำ คือ
وَيُزَكِّيهِمْ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ
“และ (ศาสดา) นั้นจะทำให้พวกเขาสะอาด และจะสอนคัมภีร์และวิทยปัญญาแก่พวกเขา”
(อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 164)
ภารกิจทั้งสองประการนี้ก็ถูกกล่าวไว้ในบทซิยาเราะฮ์อัรบะอีนเช่นเดียวกัน บรรดาศาสดา (อ.) มาเพื่อสอนความรู้แก่ประชาชนและชำระขัดเกลาพวกเขา มนุษย์บางคนไม่มีความรู้ (ญาฮิล) บางคนมีความรู้ แต่ไม่มีความยุติธรรม บรรดาศาสดา (อ.) มาเพื่อทำให้เราเป็นผู้รู้และมีความยุติธรรม (อาดิล) คำว่า «يُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ» หมายถึง พวกท่านจะทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ทางศาสนาของเรา และคำว่า «يُزَكِّيهِمْ» หมายถึง พวกท่านจะทำให้เราเป็นผู้มีตักว่า (ความยำเกรง) ต่อพระผู้เป็นเจ้า
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็เช่นเดียวกัน ท่านยอมพลีเลือดเนื้อและชีวิตของตนเอง เพื่อปลดปล่อยประชาชนให้หลุดพ้นจากความไม่รู้และทำให้พวกเขาเป็นผู้มีความรู้ (ท่านพลีเลือดเนื้อและชีวิตของตนเอง) เพื่อทำให้มนุษย์เป็นผู้มีความยุติธรรม (อาดิล) มองเห็นแนวทางที่ถูกต้องของตนและก้าวเดินไปในหนทางของมัน ในขณะเดียวกัน ก็จะไม่ปิดกั้นเส้นทางเดินต่อผู้อื่น
บรรดาอิมาม (อ.) คือนูร (รัศมี) เดียวกัน
ภารกิจของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ก็คือภารกิจเดียวกัน จากจุดนี้เองเราจึงสามารถรับรู้และตระหนักได้อย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) โดยที่ในความเป็นจริงแล้ว การมา (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และการสถาปนารัฐบาลโลกของท่านนั้น คือการสืบสานและทำให้การยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เกิดความสมบูรณ์
เพื่อที่จะให้เกิดความกระจ่างมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับประเด็นนี้ เราจะขอชี้แจงถึงบางประการ
บรรดาอิมาม (อ.) ทั้งหมดคือ นูร (รัศมี) เดียวกัน «کلّهم نور واحد» (ทุกท่านเหล่านั้นคือนูร (รัศมีเดียวกัน) มีเป้าหมายเดียวกัน และพวกท่านก็ไม่มีความแตกต่างใดๆ ต่อกัน ดังในวจนะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่กล่าวว่า
خَلَقَنِيَ اللَّهُ تَبَارَكَ وَ تَعَالَى وَ أَهْلَ بَيْتِي مِنْ نُورٍ وَاحِد
“อัลลอฮ์ ผู้ทรงจำเริญผู้ทรงสูงส่ง ทรงสร้างฉันและอะฮ์ลุลบัยต์ของฉันมาจากนูร (รัศมี) เดียวกัน” (2)
เช่นเดียวกันนี้ เราจะอ่านใน “ซิยาเราะฮ์ ญามิอะตุลกะบีเราะฮ์” ที่กล่าวว่า
أَنَّ أَرْوَاحَكُمْ وَ نُورَكُمْ وَ طِينَتَكُمْ وَاحِدَةٌ طَابَتْ وَ طَهُرَتْ بَعْضُهَا مِنْ بَعْضٍ خَلَقَكُمُ اللَّهُ أَنْوَارًا
“แท้จริงรูห์ (ดวงวิญญาณ) ของพวกท่าน นูร (รัศมี) ของพวกท่าน ธรรมชาติของพวกท่าน คือหนึ่งเดียวกัน ที่เป็นสิ่งที่สะอาดและบริสุทธิ์ ซึ่งมาจากกันและกัน อัลลอฮ์ทรงสร้างพวกท่านขึ้นมาเป็นนูรที่หลากหลาย” (3)
บนพื้นฐานของสถานการณ์และสภาวะเงื่อนไขทางด้านเวลาเท่านั้น ที่ทำให้วิธีการในการปฏิบัติของพวกท่านมีความแตกต่างกันออกไป กล่าวคือหากท่านอิมามซอดิก (อ.) หรือท่านอิมามฮะซัน (อ.) หรืออิมาม (อ.) ท่านอื่นๆ อยู่ในยุคสมัยเดียวกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านอิมามเหล่านั้นก็จะตัดสินใจและปฏิบัติเช่นเดียวกับที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ตัดสินใจและปฏิบัติ
ความสัมพันธ์ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) กับท่านอิมามฮุเซน (อ.)
เกี่ยวกับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) มีประเด็นต่างๆ ที่จะต้องให้ความสนใจ คือ
(1) จากมุมมองของคัมภีร์อัลกุรอาน : โองการจำนวนมากของคัมภีร์อัลกุรอาน ตามการอรรถาธิบายของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นดังกล่าวนี้ ดัง ตัวอย่างในโองการที่กล่าวว่า
وَلَا تَقْتُلُوا النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلَّا بِالْحَقِّ وَمَن قُتِلَ مَظْلُومًا فَقَدْ جَعَلْنَا لِوَلِيِّهِ سُلْطَانًا فَلَا يُسْرِف فِّي الْقَتْلِ إِنَّهُ كَانَ مَنصُورًا
“และพวกเจ้าอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮ์ทรงห้ามไว้ เว้นแต่ด้วยความเที่ยงธรรม และผู้ใดถูกฆ่าอย่างอยุติธรรม ดังนั้นเราได้ให้อำนาจแก่ผู้ปกครองของเขา ฉะนั้นอย่าได้ล่วงเกินขอบเขตในเรื่องการฆ่า เพราะแท้จริงเขา (ผู้ถูกอธรรม) จะได้รับความช่วยเหลือ” (4)
ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า “โองการนี้ถูกประทานลงมาเกี่ยวกับอิมามฮุเซน (อ.) และอิมามมะฮ์ดี (อ.)” (5)
ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า “จุดประสงค์ของโองการนี้ คืออิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งถูกสังหารอย่างอยุติธรรม และพวกเราคือวะลีย์ (เลือด) ของท่าน และเมื่อกออิมของเรายืนหยัดขึ้น เขาจะเรียกร้อง (และแก้แค้น)ให้กับเลือดของฮุเซน” (6)
(2) จากมุมมองของริวายะฮ์ (คำรายงาน) ในคำรายงานหลายบทได้กล่าวว่า ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) คือ ผู้ที่จะมาแก้แค้นหนี้เลือดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ดังเช่นที่ท่านอิมามซัจญาด (อ.) บุตรชายของท่านได้เล่าว่า
خَرَجْنَا مَعَ الْحُسَيْنِ عليه السلام فَمَا نَزَلَ مَنْزِلًا وَ لَا ارْتَحَلَ مِنْهُ إِلَّا ذَكَرَ يَحْيَى بْنَ زَكَرِيَّا وَ قَتْلَهُ.
وَ قَالَ يَوْماً: وَ مِنْ هَوَانِ الدُّنْيَا عَلَى اللَّهِ أَنَّ رَأْسَ يَحْيَى بْنِ زَكَرِيَّا عليه السلام أُهْدِيَ إِلَى بَغِيٍّ مِنْ بَغَايَا بَنِي إِسْرَائِيل ... يَا وَلَدي يَا عَليُّ، وَاللهِ! لاَ يَسْكُنُ دَمي حَتَّى يَبْعَثَ اللهُ الْمَهْديَّ فَيَقْتُلَ عَلَى دَمي مِنَ الْمُنَافِقينَ الْكَفَرَةِ الْفَسَقَةِ سَبْعينَ أَلْفاً
“เราออกเดินทางไปพร้อมกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งไม่มีที่หยุดพักใดที่ท่านหยุดพักและไม่เดินทางออกไปจากมัน นอกเสียจากท่านจะต้องกล่าวถึงเรื่องราวของ (ศาสดา) ยะห์ยา บุตรของ (ศาสดา) ซะกะรียา (อ.) และการถูกสังหารของเขา
ในวันหนึ่งท่านได้กล่าวว่า : และส่วนหนึ่งจากความอัปยศของโลกนี้ ณ อัลลอฮ์ คือการที่ศีรษะของยะห์ยา บุตรของซะกะรียาได้ถูกนำไปมอบเป็นของกำนัลให้กับผู้อธรรมคนหนึ่งจากบรรดาผู้อธรรมของบนีอิสรออีล .... (และท่านได้กล่าวกับฉันว่า) โอ้อะลี ลูกรักของพ่อ! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ เลือดของพ่อจะยังไม่สงบนิ่ง จนกว่าอัลลอฮ์จะส่งมะฮ์ดี (อ.) มาแล้วเขาจะสังหารบรรดาผู้ที่น่าซื่อใจคด ผู้ปฏิเสธ ผู้ประพฤติชั่วถึงเจ็ดหมื่นคน เพื่อแก้แค้นแทนเลือดของพ่อ” (7)
และดังที่เราจะอ่านในบทดุอาอ์นุดบะฮ์ว่า
اَيْنَ الطّالِبُ بِدَمِ الْمَقْتُولِ بِكَرْبَلاءَ
“อยู่ที่ใดเล่า! ผู้ที่จะมาล้างแค้นให้แก่เลือดของผู้ที่ถูกสังหารในแผ่นดินกัรบะลาอ์” (8)
และเช่นเดียวกันนี้ในบทซิยาเราะฮ์อาชูรอได้กล่าวว่า
فَاَسْئَلُ اللَّهَ الَّذى اَکْرَمَ مَقامَكَ وَ اَکْرَمَنى بِكَ اَنْ یَرْزُقَنى طَلَبَ ثارِكَ مَعَ اِمامٍ مَنْصُورٍ مِنْ اَهْلِ بَیْتِ مُحَمَّدٍ صَلَّى اللَّهُ عَلَیْهِ و َآلِهِ
“ดังนั้นข้าพเจ้าวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ ผู้ซึ่งทรงให้ทำให้ตำแหน่งของท่านมีเกียรติ และทรงทำให้ข้าพเจ้ามีเกียรติด้วยสื่อของท่าน ในการที่พระองค์จะทรงประทานโชคผลแก่ข้าพเจ้าให้ได้ทำหน้าที่ล้างแค้นเลือดของท่านร่วมกับอิมามผู้ได้รับการช่วยเหลือจากอะฮ์ลุลบัยติ์ของท่าน (ศาสดา) มุฮัมมัด (ซ็อลฯ)” (9)
และเช่นเดียวกันนี้ คำขวัญของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่าน ในช่วงการมา (ซุฮูร) และการยืนหยัดต่อสู้นั่นก็คือ
یالثارات الحسین علیه السلام
“โอ้บรรดาผู้ล้างแค้นให้กับฮุเซน (อ.)” (10)
ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) บางบท ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) เอง ในช่วงเริ่มต้นการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่าน ท่านจะป่าวประกาศด้วยคำพูด 5 ประโยค ณ บัยตุ้ลลอฮ์ ระหว่างรุกน์และมะกอมอิบรอฮีมว่า
ألا يا أهل العالم أنا الإمام القائم ألا يا أهل العالم أنا الصمصام المنتقم ألا يا أهل العالم إن جدي الحسين قتلوه عطشانا ألا يا أهل العالم إن جدي الحسين طرحوه عريانا ألا يا أهل العالم إن جدي الحسين سحقوه عدوانا
“โอ้ชาวโลกเอ๋ย! พึงรู้เถิดว่า ฉันคืออิมามอัลกออิม (ผู้ยืนหยัดต่อสู้) โอ้ชาวโลกเอ๋ย! พึงรู้เถิดว่าฉันคือดาบที่จะมาแก้แค้น โอ้ชาวโลกเอ๋ย! พึงรู้เถิดว่า แท้จริงฮุเซนปู่ของฉัน พวกเขาสังหารท่านในสภาพที่กระหายน้ำ โอ้ชาวโลกเอ๋ย! พึงรู้เถิดว่า แท้จริงฮุเซนปู่ของฉัน พวกเขาทอดทิ้งท่านไว้ในสภาพเปลือยเปล่า โอ้ชาวโลกเอ๋ย! พึงรู้เถิดว่า แท้จริงฮุเซนปู่ของฉัน พวกเขาบดขยี้ (เรือนร่างของท่าน) ด้วยความเป็นศัตรู” (11)
บทสรุป ก็คือ การยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) คือ การสืบสานและเป็นสิ่งที่จะทำให้เป้าหมายและเจตนารมณ์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) บรรลุสู่ความสมบูรณ์ จึงจำเป็นที่เราทุกคนจะต้องรอคอยการมา (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) เพื่อที่ท่านจะทำให้ผลต่างๆ ของการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นี้ปรากฏอย่างชัดเจน
แหล่งที่มา :
(1) มะฟาตีฮุลญินาน, ซิยาเราะฮ์อัรบะอีน
(2) กิฟายะตุ้ลอะซัร, หน้าที่ 69
(3) มะฟาตีฮุลญินาน, ซิยาเราะฮ์ ญามิอะตุลกะบีเราะฮ์
(4) อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 33
(5) อัลกาฟี, เล่มที่ 8, หน้าที่ 255
(6) ตัฟซีรอัลอัยยาชี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 290
(7) อัลมะนากิบ, อิบนุชะฮ์รอชูบ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 85 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้าที่ 298 – 299
(8) มะฟาตฮุลญินาน, ดุอาอ์นุดบะฮ์
(9)) มะฟาตีฮุลญินาน, ซิยาเราะฮ์ อาชูรอ
(10) อันนุจญ์มุซซากิบ, หน้าที่ 469; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 99, หน้าที่ 194
(11) อิลซามุนนาซิบ, เล่มที่ 2, หน้าที่ 282
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center