เหตุการณ์แห่งตำบลฮัรเราะฮ์ (วากิอะตุ ฮัรเราะฮ์) เป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่ร้ายแรงและป่าเถื่อนที่สุดอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือของบนีอุมัยยะฮ์ ภายหลังจากการสังหารและการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในแผ่นดินกัรบะลา เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกรู้จักกันเป็นอย่างดีในประวัติศาสตร์อิสลามในนาม “วากิอะตุ ฮัรเราะฮ์” (เหตุการณ์แห่งตำบลฮัรเราะฮ์) เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับการจลาจล การยืนหยัดต่อสู้และการต่อต้านบนีอุมัยยะฮ์ของประชาชนชาวมะดีนะฮ์ ในวันที่ 26 หรือ 27 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ฮิจญ์เราะฮ์ศักราชที่ 63 (1) โดยกองทัพแห่งเมืองชามที่ถูกส่งมาโดยยะซีด บุตรของมุอาวิยะฮ์ ได้ทำการเข่นฆ่า ปล้นสะดมทรัพย์สินและล่วงละเมิดสตรีและหญิงสาวในเมืองนี้เป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการก่อจลาจลและการลุกฮือต่อต้านของประชาชนในครั้งนี้ บรรดานักประวัติศาสตร์ได้ชี้ถึงสาเหตุหลักไว้ 3 ประการ ด้วยกันคือ
1. การที่ประชาชนจำนวนมากได้ให้การบัยอัต (สัตยาบัน) ต่ออับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเขาพำนักอยู่ในนครมักกะฮ์ และกล่าวอ้างตนเป็นค่อลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ของอิสลาม บะลาซุรี ได้เขียนว่า : เมื่ออับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ ได้สังหารอัมร์ อิบนิซุบัยร์ ผู้เป็นน้องชายของตน และเรียกร้องประชาชนให้ยกเลิกการบัยอัต (สัตยาบัน) และกระด้างกระเดื่องต่อยะซีด และทำการญิฮาด (ต่อสู้) เขาได้เรียกร้องประชาชนชาวมะดีนะฮ์ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน และจากผลดังกล่าวนี้เองชาวฮิญาซจึงให้การเชื่อฟังต่อเขาด้วย
อับดุลลอฮ์ บินมุเฏี๊ยะอ์ เป็นตัวแทนของอับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ในการเอาบัยอัต (สัตยาบัน) จากประชาชนชาวมะดีนะฮ์ให้แก่เขา ยะซีดได้รับรู้ข่าวดังกล่าวจึงออกคำสั่งให้ผู้ครองหัวเมือง (มะดีนะฮ์) ของตนส่งบรรดาแกนนำชาวมะดีนะฮ์กลุ่มหนึ่งไปยังเขาเพื่อที่จะเอาใจพวกเขา (2) ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) นี้ ประเด็นหลักก็คือ ชาวมะดีนะฮ์เนื่องจากการบัยอัต (ให้สัตยาบัน) ต่ออับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ พวกเขาจึงลุกขึ้นต่อต้านยะซีด ประจักษ์พยานในเรื่องนี้ก็คือว่า ภายหลังจากเหตุการณ์ "ฮัรเราะฮ์" อิบนิซุบัยร์ได้กล่าวกับบรรดาสหายของตนว่า "มิตรสหายของพวกท่านได้ถูกสังหารในเหตุการณ์ครั้งนี้" (3) เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ภายหลังการเริ่มต้นของการก่อจลาจล ประชาชนชาวมะดีนะฮ์ได้ถอดถอนการบัยอัต (สัตยาบัน) จากยะซีดนั้น และให้การบัยอัต (สัตยาบัน) ต่ออิบนิซุบัยร์นั้น อบุลฟะรัจญ์ อัลอิศฟะฮานี ก็ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้เช่นกัน (4)
2. เมื่ออุษมาน บินมุฮัมมัด ได้เป็นผู้ปกครองหัวเมือง (วาลีย์) มะดีนะฮ์ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของยะซีด บินมุอาวิยะฮ์ได้มายังมะดีนะฮ์ เพื่อที่จะนำทรัพย์สินต่างๆ ที่มีค่าจากบัยตุ้ลมาลกลับไปให้ยะซีด แต่ประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจและถือว่าทรัพย์สินเหล่านี้เป็นสิทธิ์ของตน พวกเขาจึงทำการยับยั้ง และสิ่งนี้เองที่เป็นสาเหตุของการก่อจลาจลของประชาชนชาวมะดีนะฮ์และการขับไล่บนีอุมัยยะฮ์ออกจากเมืองนี้ (5)
3. แกนนำชาวมะดีนะฮ์กลุ่มหนึ่ง ภายใต้การนำของอับดุลลอฮ์ บินฮันซอละฮ์ ได้เดินทางไปยังเมืองชามและได้เข้าพบกับยะซีด ภายหลังจากการเดินทางกลับ พวกเขาได้กล่าวประณามยะซีดและได้อธิบายถึงพฤติกรรมที่ชั่วช้าสามาลย์ของยะซีดให้ประชาชนชาวมะดีนะฮ์ได้รับรู้ โดยกล่าวว่า
لیس له دین، یشرب الخمر، یغرف بالطنابیر و یضرب عنده القیان و یلعب بالکلاب
“ยะซีดเป็นคนไม่มีศาสนา ดื่มสุราเมรัย หมกมุ่นอยู่กับการร้องรำทำเพลง บรรดาข้าทาสบริวารจะขับกล่อมร้องป่าวต่อหน้าเขา และเขานั้นเล่นกับสุนัข”
ด้วยเหตุนี้ประชาชนชาวมะดีนะฮ์จึงกล่าวว่า เราไม่สามารถที่จะเชื่อฟังเขาและยอมรับอำนาจการปกครองของเขาได้อีกต่อไป ดังนั้นพวกเขาจึงก่อการกบฏ (6) ดูเหมือนว่าทั้งสามประเด็นข้างต้นนี้มีส่วนสำคัญด้วยกันทั้งสิ้นที่ทำให้ประชาชนชาวมะดีนะฮ์ก่อการจลาจลและลุกขึ้นต่อต้านอำนาจการปกครองของยะซีด
อย่างไรก็ตาม ผู้นำในการก่อกบฏในมะดีนะฮ์ (จากสาเหตุประการที่สาม) นั่นคือ "อับดุลลอฮ์ บินฮันซอละฮ์" บุตรชายของชะฮีดผู้เรืองนามของอิสลาม คือ "ฮันซอละฮ์ ฆอซีลุลมะลาอิกะฮ์" (ผู้ที่ได้รับการฆุซุลโดยมะลาอิกะฮ์) บิดาของเขานั้น เพียงวันเดียวหลังจากการแต่งงานก็ได้เป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ลงในสงครามอุฮุด และได้รับฉายานามจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ว่า "ฮันซอละฮ์ ฆอซีลุลมะลาอิกะฮ์" (ผู้ได้รับการทำฆุซุลโดยมะลาอิกะฮ์) เขามีบุตรชายกับภรรยาผู้เป็นหม้ายหลังการแต่งงานเพียงวันเดียว ซึ่งมีนามว่า "อับดุลลอฮ์ บินฮันซอละฮ์" มารดาของเขาได้อบรมเลี้ยงดูเขาเป็นอย่างดี จนกระทั่งเติบใหญ่และกลายเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงคนหนึ่งของนคร “มะดีนะตุ้ลมุเนาวะเราะฮ์”
บรรดาผู้ก่อจลาจลและทำการกบฏได้ปิดล้อมบนีอุมัยยะฮ์ บรรดามิตรสหายและข้าทาสบริวารของบนีอุมัยยะฮ์ไว้ในบ้านของมัรวาน บินฮะกัม ซึ่งมีประมาณหนึ่งพันคน (7) และต่อจากนั้นได้ทำการขับไล่พวกเขาออกจากเมืองอย่างน่าอัปยศอดสูและน่าสะพรึงกลัว ในสภาพที่เด็กๆ เองก็ได้ขว้างปาพวกเขาด้วยก้อนหิน (8) พวกเขาได้วางเงื่อนไขกับพวกที่ถูกขับไล่ออกจากเมืองเหล่านี้ว่า ถ้าหากคนเหล่านี้ให้คำสาบานว่าจะไม่ย้อนกลับมาอีกพร้อมกับกองทัพของเมืองชามแล้ว พวกเขาจะยอมปล่อยให้คนเหล่านี้ออกไปจากเมือง พวกเขาก็ยอมทำตาม แต่ทว่าพวกที่ชั่วร้ายอย่างเช่น มัรวาน บินฮะกัม (9) และคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่ผิดคำสาบานและละเมิดคำมั่นสัญญาของตน
อัลวากิดีย์ เชื่อว่าการขับไล่ครั้งนี้เกิดขึ้นโดยฝีมือของอับดุลลอฮ์ อิบนุซุบัยร์ และเขาได้เขียนว่า : ผู้ที่ถูกขับไล่ทั้งหมด ทั้งจากนครมักกะฮ์ นครมะดีนะฮ์และจากพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งสิ้นมีประมาณสี่พันคน (10) แต่อิบนุอะอ์ซัม ได้เขียนว่า ผู้นำการก่อกบฏในนครมะดีนะฮ์ครั้งนี้คือ อับดุลลอฮ์ บุตรชายของอันซอละฮ์ ฆอซีลุลมะลาอิกะฮ์ ซึ่งถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ครองหัวเมือง (วาลีย์) มะดีนะฮ์ โดยอับดุลลอฮ์ อิบนุซุบัยร์ (11)
เหตุการณ์แห่ง ตำบลฮัรเราะฮ์
ผู้นำการก่อจลาจลครั้งนี้ คืออับดุลลอฮ์ บุตรฮันซอละฮ์ ฆอซีลุลลอฮ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากอับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ ให้เป็นผู้ปกครองนครมะดีนะฮ์ เพื่อที่จะปราบปรามการจลาจลและการก่อกบฏครั้งนี้ ยะซีดได้ส่งกองทัพของเขาจำนวนห้าพันคนเดินทางมุ่งสู่นครมะดีนะฮ์ ภายใต้การนำของ "มุสลิม บินอุกบะฮ์" ผู้ซึ่งด้วยเหตุของการเข่นฆ่าและการสังหารหมู่ประชาชนอย่างมากมาย เขาจึงได้รับฉายานามว่า "มุซริฟ" (ผู้ที่ทำการสังหารอย่างมากมายเกินความจำเป็น) กองทัพจำนวนห้าพันคนของเขา (12) ดูเหมือนว่าเพียงพอแล้วในการที่จะทำลายล้างนครมะดีนะฮ์และนครมักกะฮ์ แม้ในบางทัศนะจะบอกว่าจำนวนของพวกเขามีมากกว่านี้
ยะซีดได้กล่าวกับบรรดาทหารชาวเมืองชามว่า หลังจากได้รับชัยชนะแล้วสามารถทำการปล้นสะดมเมืองมะดีนะฮ์และยึดทรัพย์สินทุกอย่างที่มีอยู่ในบ้านเรือนของประชาชนได้ (13) และก่อนที่จะออกเดินทางมุ่งสู่นครมะดีนะฮ์ พวกเขาได้รับส่วนแบ่งของตนเองจากบัยตุ้ลมาล (กองคลัง) อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมกันนั้นก็ได้เพิ่มให้กับพวกเขาอีกหนึ่งร้อยดีนารอีกด้วย (14) ประชาชนชาวมะดีนะฮ์ได้ขุดสนามเพาะ (ค็อนดัก) หรือลำคูบริเวณปากทางเข้าเมือง (ในสถานที่ซึ่งในสมัยของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ท่านได้ทำการขุดสนามเพาะในบริเวณแห่งนั้น กล่าวคือ ระยะห่างระหว่างตำบลฮัรเราะฮ์ตะวันออกและตะวันตกในด้านทิศเหนือของนครมะดีนะฮ์) เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องปกป้องเมืองเอาไว้จากการโจมตีของศัตรู บรรดาแกนนำของพวกเขา ได้แก่ อับดุลลอฮ์ บินมุเฏี๊ยะอ์, มะอ์กัล บินซะนาน และในส่วนหัวของพวกเขาคืออับดุลลอฮ์ บินฮันซฮละฮ์ ซึ่งตัวของเขาและลูกๆ ของเขาถูกฆ่าตายในขณะที่มีการปะทะและต่อสู้กัน
เมื่อกองทัพของเมืองชามได้มาถึงยังมะดีนะฮ์ ด้วยกับการปรึกษาหารือกับอับดุลมะลิก บินมัรวาน ซึ่งเขาเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกขับไล่ออกจากเมืองมะดีนะฮ์พร้อมกับบนีอุมัยยะฮ์คนอื่นๆ พวกเขาได้มาไปตั้งหลักที่เขตตำบลฮัรเราะฮ์ โดยการช่วยเหลือของมัรวาน บินหะกัม ที่สามารถหลอกล่อคนกลุ่มหนึ่งจากบนีฮาริษได้ ด้วยการให้สัญญาต่างๆ เกี่ยวกับเงินทอง (15) และโดยอาศัยสื่อบุคคลเหล่านี้เองที่ทำให้พวกเขาสามารถเข้าสู่เมืองมะดีนะฮ์ได้ และการต่อสู้กันระหว่างสองฝ่ายใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวัน หลังจากนั้นเมืองมะดีนะฮ์ก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพแห่งเมืองชาม (16)
ตามคำสัญญาที่ยะซีดได้ให้ไว้กับกองทัพแห่งเมืองชาม มุสลิม อุกบะฮ์ ได้อนุญาตให้บรรดาทหารของเขาเข่นฆ่าสังหาร ปล้นสะดมทรัพย์สินและล่วงละเมิดบรรดาสตรีและเด็กสาวของชาวเมืองมะดีนะฮ์ เป็นเวลาสามวัน บรรดาทหารที่อำมหิตและชั่วช้าสามาลย์แห่งเมืองชามได้สร้างอาชญากรรมที่โหดร้ายป่าเถื่อน ซึ่งทำให้หน้าประวัติศาสตร์ต้องดำสนิท และพวกเขาไม่ได้ให้ความเมตตาต่อบรรดาซอฮาบะฮ์ (สาวก) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่เหลืออยู่และต่อบรรดาลูกหลานของบุคคลเหล่านั้นเลยแม้แต่เพียงคนเดียว และได้สังหารหมู่บุคคลเหล่านั้น กล่าวกันว่าเกือบ 1,700 คน จากบรรดาซอฮาบะฮ์ (สาวกของศาสดา) และบุคคลสำคัญของมะดีนะฮ์ได้ถูกสังหารในเหตุการณ์ครั้งนี้ พร้อมกับประชาชนโดยทั่วไปของเมืองนี้อีกประมาณ 10,000 คน เฉพาะบ้านของท่านอิมามซัยนุ้ลอาบิดีน (อ.) และบ้านของอะลี บินอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส เพียงเท่านั้น ที่กองทัพของยะซีดไม่ได้กระทำการล่วงละเมิดเนื่องจากคำสั่งของยะซีด (17)
จำนวนของผู้ถูกสังหารตามรายงานของ อิบนิกุตัยบะฮ์ นั้น จำนวน 1,700 คน เป็นชาวมุฮาญิรีนและชาวอันซ๊อรและลูกหลานของบุคคลเหล่านี้ และจำนวน 10,000 คน เป็นประชาชนส่วนอื่นๆ (18) และเขาได้เขียนว่าซอฮาบะฮ์ (สาวกของท่านศาสดา) จำนวน 80 คน ถูกสังหารในเหตุการณ์ครั้งนี้ (19) แต่ ฮัยซัม บินอะดีย์ ได้กล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตมี 6,500 คน (20) มัสอูดี ได้เขียนว่า : มีจำนวนผู้ถูกสังหารกว่าเก้าสิบคนเป็นกุเรช (มุฮาญิรีน) และจำนวนใกล้เคียงกันนี้จากชาวอันซ๊อรและอีกจำนวนสี่พันคนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก (21)
อิบนุอะอ์ซัม ได้กล่าวว่า ลูกหลานของชาวมุฮาญิรีนมีจำนวน 1,300 คน และลูกหลานชาวอันซ๊อรมีจำนวน 1,700 คน (22) จำนวนนี้ยังไม่รวมถึงบรรดาผู้เสียชีวิตจากประชาชนกลุ่มอื่นๆ ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่าจำนวนมากของประชาชนชาวมะดีนะฮ์ถูกสังหารในเหตุการณ์ครั้งนี้ และบ้านเรือนจำนวนมากถูกปล้นสะดมและถูกทำลาย และผลของการปล่อยอิสระให้มีการล่วงละเมิดสตรีและเด็กสาวในครั้งนี้ ตามการรายงานของ อัลมะดาอินีย์ ภายหลังจากเหตุการณ์ฮัรเราะฮ์นี้ สตรีนับพันคนได้ตั้งครรภ์โดยไม่มีสามี และให้กำเนิดบุตรที่เกิดจากการถูกข่มขืน (23) ยากูต หะมะวีย์ ได้กล่าวว่า : บรรดาทหารของยะซีดได้เข้าสู่นครมะดีนะฮ์ และได้ปล้นสะดมทรัพย์สินของชาวมะดีนะฮ์และจับกุมลูกหลานของพวกเขาเป็นเชลยศึก บรรดาสตรีถูกเปิดอิสระให้แก่บรรดาทหารเหล่านี้ ซึ่งจากการกระทำที่อุกอาจครั้งนี้ สตรีจำนวน 800 คน ได้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรที่ไม่ถูกต้องตามศาสนบัญญัติ และเด็กเหล่านี้ได้ถูกเรียกว่า “ลูกหลานแห่งฮัรเราะฮ์” (24)
หลังจากสิ้นสุดเหตุการณ์เลือดในเมืองมะดีนะฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แล้ว มุสลิม บินอุกบะฮ์ ได้กล่าวว่า :
اللّهمّ إنّي لم أعمل عملاً قط بعد شهادة لا إله إلاّ الله،
وأنّ محمداً عبده ورسوله أحبّ إليّ من قتل أهل المدينة، ولا أرجى عندي في الآخرة
"โอ้อัลลอฮ์! ภายหลังจากการปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และแท้จริงมุฮัมมัดคือบ่าวของพระองค์ และเป็นศาสนทูตของพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ไม่เคยกระทำสิ่งใดเลยที่จะเป็นที่ชื่นชอบสำหรับข้าพระองค์ ยิ่งไปกว่าการเข่นฆ่าชาวมะดีนะฮ์ และเป็นที่มุ่งหวังยิ่งสำหรับข้าพระองค์ในชีวิตแห่งปรโลก" (25)
ภายหลังจากการฆ่าสังหารและการปล้นสะดมชาวเมืองมะดีนะฮ์แล้ว กองทัพแห่งเมืองชามก็มุ่งหน้าเดินทางสู่นครมักกะฮ์ เพื่อเป้าหมายที่จะจัดการกับอับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ ด้วยชะตากรรมเดียวกันนี้ แต่ในระหว่างทางนั้นเอง มุสลิม บินอุกบะฮ์ ได้เสียชีวิตลง และในขณะที่เขาใกล้จะสิ้นใจนั้นเอง เขาได้กล่าวว่า :
اللهم انک تعلم انی لم اشاق خلیفة ولم افارق جماعة قط فاغفرلی
"โอ้อัลลอฮ์! พระองค์ทรงทราบดีว่า แท้จริงข้าพระองค์ไม่ได้เป็นศัตรูกับค่อลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) คนใด และข้าพระองค์ไม่ได้แยกตัวออกจากญะมาอะฮ์ (หมู่คณะ) เลย ดังนั้นได้โปรดอภัยโทษให้ข้าพระองค์ด้วยเถิด" (26)
และตามคำสั่งของยะซีด หน้าที่ในการนำกองทัพได้ตกมาอยู่ในมือของ “ฮะซีน บินนุมัยร์” เขาได้นำกองทัพมุ่งหน้าเดินทางต่อไปยังนครมักกะฮ์ และทำการปิดล้อมมัสยิดิลฮะรอมไว้เป็นเวลาหลายเดือน เนื่องจากอับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ และไพร่พลของเขาได้เข้าไปอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ในสถานที่แห่งนั้น และในที่สุด ฮะซีน บินนุมัยร์ ก็ได้ออกคำสั่งให้ยิงลูกไฟด้วยแท่นยิง (มันญะนีก) จากที่สูงเข้าไปยังบ้านของอัลลอฮ์ จนทำให้อาคารกะอ์บะฮ์เกิดความเสียหาย แต่ท้ายที่สุดเมื่อข่าวการตายของยะซีดมาถึงยังกองทัพของเมืองชาม ฮะซีน บินนุมัยร์ ก็เลิกล้มจากการปิดล้อมเมืองมักกะฮ์ และเดินทางกลับไปยังแผ่นดินชามพร้อมกับกองทัพของเขา (27)
คำพยากรณ์และคำเตือนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เกี่ยวกับเหตุการณ์แห่งฮัรเราะฮ์ ท่านศานทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้พยากรณ์ถึงเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวนี้ไว้ในขณะท่านกำลังเดินทางสู่นครมักกะฮ์ เมื่อออกมาถึงบริเวณสถานที่แห่งนี้ (28) ท่านได้กล่าวว่า :
من أخاف أهل المدينة أخافه الله، وعليه لعنة الله والملائكة والناس أجمعين
"ผู้ใดก็ตามที่ทำให้ชาวมะดีนะฮ์หวาดกลัว อัลลอฮ์ก็จะทรงทำให้เขาหวาดกลัว และการสาปแช่งของอัลลอฮ์ ของมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) และของมนุษย์ทั้งมวล จงประสบกับเขา" (29)
และวจนะ (ฮะดีษ) บทนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งจากหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า “ยะซีด บุตรของมุอาวิยะฮ์นั้นสมควรได้รับการสาปแช่ง”
แหล่งอ้างอิง :
(1) อัลอิมามะฮ์ วัซซิยาซะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 220 ; ตารีค อัฏฏอบะรี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 374-380 ; อันซาบุลอัชร๊อฟ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 41
(2) อันซาบุลอัชร๊อฟ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 31
(3) มุคตะศ็อร ตารีค ดิมิชก์, เล่มที่ 3, หน้าที่ 156
(4) อัลอะฆอนี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 21–24
(5) ตารีคยะอ์กูบี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 250 ; อัลอิมามะฮ์วัซซิยาซะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 206
(6) ตารีค อัฏฏอบะรี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 368 ; อันซาบุลอัชร๊อฟ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 31
(7) ตารีค อัฏฏอบะรี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 370 ; อันซาบุลอัชร๊อฟ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 32
(8) อัลอิมามะฮ์ วัซซิยาซะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 208
(9) อัลอิมามะฮ์ วัซซิยาซะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 210
(10) อันซาบุลอัชร๊อฟ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 37–38
(11) อัลฟุตูห์, เล่มที่ 5, หน้าที่ 292–293
(12) ตารีค ยะอ์กูบี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 250
(13) อัลอิมามะฮ์ วัซซิยาซะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 209 ; ตารีค อัฏฏอบะรี, เล่มที่ 3, หน้าที่ 372
(14) อันซาบุลอัชร๊อฟ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 23 ; ตารีค อัฏฏอบะรี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 371
(15) อัลอิมามะฮ์ วัซซิยาซะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 211
(16) บางคนคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว ถึงความไร้ประสิทธิภาพและความสามารถของชาวมะดีนะฮ์ (อัลอิมามะฮ์ วัซซิยาซะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 210) และบางคนก็ได้แสดงความประหลาดใจในความไม่ยืนหยัดของพวกเขา (อัลอิมามะฮ์ วัซซิยาซะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 216–217
(17) ตารีค อัฏฏอบะรี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 485 ; อุซุดุลฆอบะฮ์, อะลี บินอบิลกะร็อม อัลญะซะรี, เล่มที่ 3, หน้าที่ 219 ; มุนตะฮัลอามาล, เชคอับบาส กุมมี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 3; ตารีค อุมะรออ์ อัลมะดีนะตุ้ลมุเนาวะเราะฮ์, อาริฟ อะห์มัด อับดุลฆอนี, หน้าที่ 59
(18) อัลอิมามะฮ์ วัซซิยาซะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 215
(19) อัลอิมามะฮ์ วัซซิยาซะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 216–220
(20) อันซาบุลอัชร๊อฟ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 42
(21) มุรูญุซซะฮับ, เล่มที่ 3, หน้าที่ 70
(22) อัลฟุตูห์, เล่มที่ 5, หน้าที่ 295
(23) อัลบิดายะฮ์ วันนิฮายะฮ์, เล่มที่ 8, หน้าที่ 241
(24) มุอ์ญะมุลบุลดาน, เล่มที่ 2, หน้าที่ 249
(25) ตารีค อัฏฏอบะรี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 497 ; อัลกามิล ฟิตตารีค, เล่มที่ 4, หน้าที่ 123
(26) อันซาบุลอัชร๊อฟ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 42 ; ตารีค อัฏฏอบะรี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 382
(27) ตารีค อัฏฏอบะรี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 497-499 ; อัลฟุตูห์, เล่มที่ 5, หน้าที่ 164 ; มุรูญุซซะฮับ, เล่มที่ 3, หน้าที่ 270
(28) บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 81, หน้าที่ 125
(29) อันนิฮายะฮ์ วัลนิฮายะฮ์, เล่มที่ 8, หน้าที่ 223 ; ฮะดีษอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดูได้จาก หนังสือ กันซุลอุมมาล, กิตาบุลฟะฎออิล, ฮะดีษที่ 34886 ; อัลวะฟาอุลวะฟาอ์, หน้าที่ 90 และ ซะฟีนะตุลบิฮาร, เล่มที่ 8, หน้าที่ 38-39
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center