จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปรับปรุง คือการแก้ไขปรับปรุงตนเอง การแก้ไขปรับปรุงตนเองในความคิดและการกระทำนั้น คือหน้าที่สำคัญอันดับแรกของทุกคนที่จะต้องคิดใคร่ครวญและกระทำมัน ในทัศนะของท่านอิมามอะลี (อ.) คนที่อ่อนแอที่สุดคือบุคคลที่อ่อนแอและไร้ความสามารถในการแก้ไขปรับปรุงตนเอง บุคคลที่รู้ถึงจุดอ่อนและข้อบกพร่องต่างๆ ของตน แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะขจัดมัน เขาคือผู้ที่มิได้ปรารถนาความดีงามสำหรับตัวเอง แต่ทว่าบุคคลที่เมื่อเขารับรู้ถึงความผิดพลาดและข้อบกพร่องต่างๆ ของตนเอง เขาได้หันห่างออกจากสิ่งเหล่านั้นและแก้ไขปรับปรุงตนเองอย่างรีบเร่ง บุคคลเช่นนี้เท่านั้นที่สามารถคาดหวังความรอดพ้นและความสำเร็จในชีวิตของตนเองได้
เราจะรับรู้ถึงข้อบกพร่องของตนเองได้อย่างไร?
คนที่มีความชาญฉลาดและเป็นผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) นั้น ในโอกาสต่างๆ เขาจะนำพาตัวเองไปพบหมอเพื่อตรวจเช็คร่างกาย เพื่อจะได้รับรู้ถึงความป่วยไข้ที่ซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายของเขา ในประเด็นที่เกี่ยวกับจริยธรรมก็เช่นเดียวกัน เขาจำเป็นที่จะต้องไปพบแพทย์และครูทางด้านศีลธรรม (อัคลาก) ใช่แล้ว! มิตรแท้และผู้มีศรัทธา (มุอฮ์มิน) สามารถที่จะเป็นผู้ให้คำแนะนำที่ดีที่สุดได้สำหรับเขาในแนวทางนี้ มิตรแท้เหล่านี้จะช่วยทำให้เขารับรู้ถึงความป่วยไข้ต่างๆ ทางด้านจิตวิญญาณของเขา เพื่อที่จะได้หาทางเยียวยาแก้ไขโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม แนวทางเช่นนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ผู้มีความป่วยไข้พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำตักเตือนของผู้ตักเตือนที่มีความห่วงใยและมิตรสหายที่จริงใจของเขา และขอร้องให้บุคคลเหล่านั้นช่วยเตือนตนเองให้รู้ถึงข้อบกพร่องและความผิดพลาดต่างๆ ของเขา
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) จึงกล่าวว่า
اِجتَهِدُوا فِی أَن یَكُونَ زَمَانُكُم أَربَعَ سَاعَاتٍ سَاعَةٌ لِمُنَاجَاتِ اللّهِ وَسَاعَةٌ لِأَمرِ المَعَاشِ وَ سَاعَةُ لِمُعَاشـِرَةِ الاِخوَانِ وَالثّقَاتِ الّذِینَ یُعَرّفُونَكُم عُیُوبَكُم وَیُخلِصُونَ لَكُم فِی البَاطِنِ وَسَاعَةٌ تُخَلّونَ فِیهَا لِلَذّاتِكُم فِی غَیر مُحَرّمٍ وَبِهَذِهِ السّاعَةِ تَقدِرُونَ عَلَی الثّلاثه سَاعَاتٍ
“จงพยายามในการแบ่งสรรเวลาของพวกท่าน (ในวันและคืนหนึ่ง) ออกเป็น 4 ส่วน คือ
1. เวลาส่วนหนึ่งสำหรับการภาวนาขอพรต่ออัลลอฮ์
2. อีกส่วนหนึ่งสำหรับการทำงานเพื่อการดำรงชีวิต
3. อีกส่วนหนึ่งสำหรับการคบหาสมาคมกับมิตรสหายและคนที่ไว้วางใจได้ ผู้ซึ่งจะแนะนำพวกท่านให้รู้ถึงข้อบกพร่องต่างๆ ในตัวพวกท่าน โดยที่พวกเขามีความบริสุทธิ์ใจต่อพวกท่าน
4. และอีกส่วนหนึ่ง พวกท่านจะทำตัวว่างในช่วงเวลานี้ เพื่อแสวงหาความสุขต่างๆ ของพวกท่าน ในสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องห้าม (ทางศาสนา) เพราะด้วยกับเวลาส่วนนี้เองที่พวกท่านจะสามารถ (ปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบ) ในสามส่วน (แรก) ได้” (1)
เพื่อนที่ดีที่สุด
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า
أَحَبُّ إِخْوَانِی إِلَیَّ مَنْ أَهْدَی إِلَیَّ عُیُوبِی
“พี่น้อง (และมิตรสหาย) ผู้เป็นที่รักยิ่งของฉัน คือบุคคลที่แนะนำฉันให้รู้ถึงข้อบกพร่องต่างๆ ของฉัน” (2)
ดังนั้นบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเพื่อน แต่ไม่เตือนให้เพื่อนของตนเองรับรู้ถึงข้อบกพร่องต่างๆ ของเขา ปล่อยปะละเลยข้อบกพร่องและความผิดพลาดที่พบเห็นจากเพื่อน แน่นอน เขาไม่ใช่เพื่อนแท้ ในขณะที่บางครั้งศัตรูยังจะดีเสียกว่าเพื่อนแบบนี้ ช่างมากมายเสียนี่กระไร! ที่ศัตรูของคนเราได้รับใช้บริการเรา (ด้วยสาเหตุของความเป็นศัตรูโดยมิได้เจตนา) เขาจะเปิดเผยให้เราเห็นถึงจุดอ่อนและข้อบกพร่องของเรา โดยที่หากเขาไม่กล่าวถึงมัน มนุษย์อย่างเราก็ไม่สามารถที่จะรับรู้ข้อบกพร่องของตนได้โดยง่ายดายนัก
จงเป็นผู้ที่คอยตรวจสอบตนเองอยู่เสมอ
ท่านอายะตุลลอฮ์บะห์ยัต (ร.ฮ.) ได้กล่าวไว้ในส่วนหนึ่งของคำแนะนำตักเตือนของท่านว่า :
เราจะต้องคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับตนเอง เราจะต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเอง หากเราไม่รับรู้ถึงตัวเองและไม่ได้แก้ไขปรับปรุงตัวเอง เราก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปรับปรุงผู้อื่นได้ เราจำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่คอยตรวจสอบตนเอง แม้เราจะไม่ใช่ผู้ที่กลับตัวกลับใจ (เตาบะฮ์) และไม่ได้เป็นผู้ที่กระทำการชดเชยความผิดพลาดของตนก็ตาม แต่โดยตัวของการตรวจสอบตนเอง (มุฮาซะบะฮ์) นั้นคือสิ่งที่ดีงาม
การตรวจสอบตนเองในริวายะฮ์ (คำรายงาน)
อิสลามให้ความสำคัญและส่งเสริมในเรื่องของการตรวจสอบตนเอง เพื่อที่คนเราจะได้รับรู้ถึงข้อบกพร่องและความผิดพลาดต่างๆ ของตนเอง และแก้ไขปรับปรุงได้ทันท่วงที เพื่อที่จะยกระดับตัวเองไปสู่ความสมบูรณ์ให้มากยิ่งขึ้น ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) จำนวนมากจากอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ได้กล่าวย้ำในเรื่องนี้ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างโดยสังเขปในที่นี้
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า
مَن حاسَبَ نفسَهُ وَقَفَ علی عُیُوبِهِ
“ผู้ใดที่ตรวจสอบตนเอง เขาก็จะรับรู้ถึงข้อบกพร่องต่างๆ ของตน” (3)
ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า
مَن حاسَبَ نَفسَهُ رَبَحَ وَمَن غَفَلَ عَنهَا خَسِر
“ผู้ใดที่ตรวจสอบตนเอง เขาก็จะได้รับผลกำไร และผู้ใดที่เพิกเฉย เขาก็จะขาดทุน” (4)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า
لایَکُونُ الرَّجُلُ مِنَ المُتَّقینَ حَتَّی یُحاسِبُ نَفسَهُ أشَدُّ مِن مُحاسَبَةِ الشَّریکِ شَریکَه
“มนุษย์จะยังไม่เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ยำเกรง (มุตตะกีน) จนกว่าเขาจะตรวจสอบตนเองอย่างเข้มงวด ยิ่งกว่าการที่หุ้นส่วนคนหนึ่งจะตรวจสอบผู้เป็นหุ้นส่วนของตนเอง” (5)
ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) กล่าวว่า
لَيْسَ مِنّا مَنْ لَمْ يُحاسِبْ نَفْسَهُ فى كُلِّ يَوْمٍ فَاِنْ عَمِلَ خَيْرا اسْتَزادَ اللّهَ مِنْهُ وَ حَمِدَ اللّهَ عَلَيْهِ وَ اِنْ عَمِلَ شَيْئا شَرّا اسْتَغْفَرَ اللّهَ وَ تابَ اِلَيْهِ
“ไม่ใช่พวกเรา บุคคลที่ไม่ตรวจสอบตนเองในทุกๆ วัน โดยที่หากเขาทำดีแล้ว เขาจะขอเพิ่มพูนความดีนั้นจากอัลลอฮ์ และหากเขากระทำสิ่งใดที่เป็นความชั่ว เขาจะขออภัยโทษจากอัลลอฮ์ และสารภาพผิดต่อพระองค์” (6)
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า
أَفْضَلُ النّاسِ مَنْ شَغَلَتْهُ مَعایِبُهُ عَنْ عُیُوبِ النّاسِ
“มนุษย์ที่ดีที่สุด คือบุคคลที่ข้อบกพร่องต่างๆ ของเขา ทำให้เขาหมกมุ่นอยู่กับ (การแก้ไขปรับปรุง) ตนเอง โดยละเว้นจากข้อบกพร่องต่างๆ ของเพื่อนมนุษย์” (7)
ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องทำการตรวจสอบตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราบที่เรายังไม่สามารถรับรู้และแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆ ในตัวเองได้ เราก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปรับปรุงผู้อื่นได้
หนังสืออ้างอิง :
(1) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 7 หน้าที่ 321
(2) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 75 หน้าที่ 249
(3) ชัรห์ ฆุร่อรุ้ลฮิกัม เล่มที่ 5 หน้าที่ 299
(4) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 78 หน้าที่ 352 ฮะดีษที่ 9
(5) วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่มที่ 16 หน้าที่ 96
(6) อัลอิคติซ็อซ หน้าที่ 26
(7) มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล เล่มที่ 11 หน้าที่ 315
แปลและเรียบเรียง : ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center