ในชีวิตประจำวัน เราทุกคนจะพบเห็นความตายหรือการจากโลกนี้ไปของคนจำนวนมากมาย และตัวเราเองก็เช่นเดียวกัน ไม่อาจล่วงรู้ถึงชะตาของตัวเองว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกยาวนานสักเพียงใด และไม่ช้าก็เร็ว เราก็จะต้องจบชีวิตลงเหมือนกับทุกคนที่เราเห็น ไม่ว่าเราจะต้องการหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความน่าประหลาดใจสำหรับคนเราก็คือ ทั้งๆ ที่เราได้เห็นและประจักษ์ในเรื่องของความตาย แต่ทำไมเราจึงหลงลืมและไม่ใส่ใจที่จะเตรียมพร้อมตนเองสำหรับการเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ที่เราไม่อาจหลีกหนีได้นี้ ในฮะดีษ (วจนะ) ของท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า
عَجِبْتُ لِمَنْ نَسِیَ اَلْمَوْتَ وَ هُوَ یَرَى اَلْمَوْتَى
“ฉันประหลาดใจต่อบุคคลที่หลงลืมความตาย ในขณะที่เขาได้เห็นคนตาย (อยู่ตลอดเวลา)” (1)
คัมภีร์อัลกุรอานในหลายๆ โองการ ได้ย้ำเตือนให้ผู้ศรัทธารำลึกถึงความตาย และเน้นย้ำพวกเขาให้ตระหนักอยู่เสมอว่าสิ่งมีชีวิตทั้งมวลนั้นจะต้องสัมผัสกับความตาย และสรรพสิ่งทั้งหลายก็จะพบกับการสิ้นสลาย ดังตัวอย่างเช่น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า
كُلُّ نَفْسٍ ذَائِقَةُ الْمَوْتِ وَنَبْلُوكُم بِالشَّرِّ وَالْخَيْرِ فِتْنَةً وَإِلَيْنَا تُرْجَعُونَ
“ทุกชีวิตต้องลิ้มรสความตาย และเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยความเลวร้ายและความดีงาม และพวกเจ้าจะต้องกลับไปสู่เราอย่างแน่นอน” (2)
ในอีกโองการหนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า
كُلُّ مَنْ عَلَيْهَا فانٍ . وَيَبْقَى وَجْهُ رَبِّكَ ذُو الْجَلالِ وَالإكْرَامِ
“ทุกๆ สิ่งที่อยู่บนแผ่นดินย่อมสิ้นสลาย จะคงเหลืออยู่แต่เพียงพระพักตร์ของพระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงเกรียงไกร ผู้ทรงเกียรติเพียงเท่านั้น” (3)
ในอีกโองการหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสว่า
قُلْ إِنَّ الْمَوْت الَّذِي تَفِرُّونَ مِنْهُ فَإِنَّهُ مُلَاقِيكُمْ ثُمَّ تُرَدُّون إِلَى عَالِم الْغَيْب وَالشَّهَادَة فَيُنَبِّئُكُمْ بِمَا كُنْتُمْ تَعْمَلُونَ
“จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด แท้จริงความตายที่พวกท่านหลบหนีมันนั้นมันจะมาพบกับพวกท่าน แล้วพวกท่านจะถูกนำกลับไปยังพระผู้ทรงรอบรู้สิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย แล้วพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกท่านถึงสิ่งที่พวกท่านได้เคยกระทำไว้” (4)
และในอีกโองการหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสว่า
وَلِكُلِّ أُمَّةٍ أَجَلٌ فَإِذَا جَاء أَجَلُهُمْ لاَ يَسْتَأْخِرُونَ سَاعَةً وَلاَ يَسْتَقْدِمُونَ
“และแต่ละประชาชาตินั้นย่อมมีกำหนดอายุขัย ครั้นเมื่อกำหนดอายุขัยของพวกเขาได้มาถึง พวกเขาไม่อาจขอประวิงให้ล่าช้าออกไปได้สักชั่วโมงเดียว และไม่อาจขอให้เร็วขึ้นได้ (สักชั่วโมงเดียว)” (5)
จากโองการลักษณะนี้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นที่ว่า ไม่มีมนุษย์คนใดหรือแม้แต่สรรพสิ่งใดๆ ที่จะรอดพ้นไปจากความตายและการดับสูญ ยกเว้นพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น และมนุษย์ในฐานะที่เป็นสิ่งถูกสร้างที่ประเสริฐที่สุดของพระองค์ เป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่แค่การมีชีวิตอยู่ในโลกอันไม่จีรังยั่งยืนนี้เพียงเท่านั้น ผู้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าจะต้องเชื่อมั่นว่าชีวิตในโลกนี้เป็นแค่เพียงทางผ่าน และเป็นสถานที่ในการสะสมเสบียงแห่งความดีงาม เพื่อมุ่งเดินทางต่อไปสู่การมีชีวิตอันเป็นนิรันดร์ในปรโลก
การเตรียมพร้อมและการตรวจสอบตนเอง
หน้าที่ประการหนึ่งสำหรับผู้ศรัทธาที่พึงปฏิบัติตลอดเวลาในช่วงแห่งการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ นั่นคือการเตรียมพร้อมและการตรวจสอบตนเอง ซึ่งเราได้กล่าวถึงอยู่เสมอว่าผู้ศรัทธาที่ฉลาดที่สุด คือผู้ที่รำลึกถึงความตายอย่างมากมาย และเตรียมพร้อมตนเองอย่างจริงจังเพื่อพบกับวันดังกล่าว และการเดินทางมุ่งสู่ชีวิตอันเป็นนิรันดร์แห่งปรโลก อันเป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต ในที่นี้จะขอชี้ถึงฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่กล่าวกับท่านอบูซัรว่า
يَا أَبَا ذَرّ: لَا يَكُونُ الرَّجُلُ مِنَ الْمُتَّقِينَ حَتَّى يُحَاسِبَ نَفْسَهُ أَشَدَّ مِنْ مُحَاسَبَةِ الشَّرِيكِ شَرِيكَهُ فَيَعْلَمَ مِنْأَيْنَ مَطْعَمُهُ وَ مِنْ أَيْنَ مَشْرَبُهُ وَ مِنْ أَيْنَ مَلْبَسُهُ أَ مِنْ حَلَالٍ أَوْ مِنْ حَرَامٍ
يَا أَبَا ذَرٍّ: مَنْ لَمْ يُبَالِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَ الْمَالَ؟ لَمْ يُبَالِ اللَّهُ مِنْ أَيْنَ أَدْخَلَهُ النَّارَ
“โอ้อบาซัร! คนเราจะยังไม่เป็นส่วนหนึ่งจากมุตตะกีน (ผู้ยำเกรงพระเจ้า) ได้ จนกว่าเขาจะตรวจสอบตนเองอย่างเข้มงวด ยิ่งกว่าหุ้นส่วนที่จะตรวจสอบผู้เป็นหุ้นส่วนของตนเอง เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าอาหารของตนนั้นได้มาจากที่ใด เครื่องดื่มของตนได้มาจากที่ใด และเครื่องนุ่งห่มของตนเองได้มาจากที่ใด โอ้อบาซัร! ผู้ใดที่ไม่ใส่ใจว่าเขาแสวงหาทรัพย์สินเงินทองมาจากหนทางใดนั้น อัลลอฮ์ก็จะไม่ทรงสนพระทัยว่าพระองค์จะทรงทำให้เขาเข้าสู่ไฟนรกจากหนทางใด” (6)
ในฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่งจากท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวว่า
لَيسَ مِنّا مَن لَم يُحاسِبْ نفسَهُ في كُلِّ يَومٍ ، فَإن عَمِلَ حَسَناً استَزادَ اللّهَ ، وإن عَمِلَ سَيِّئاً استَغفَرَ اللّهَمِنهُ وتابَ إلَيهِ
“ไม่ใช่ส่วนหนึ่งจากเรา บุคคลที่ไม่ได้ตรวจสอบตนเองในทุกๆ วัน โดยที่หากเขาได้ทำดีแล้วเขาก็จะขอเพิ่มพูนจากอัลลอฮ์ และหากเขาได้ทำสิ่งที่เลวร้าย เขาก็จะขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ และกลับเนื้อกลับตัวไปสู่พระองค์” (7)
แนวทางในการบรรลุสู่เป้าหมาย
ด้วยโอกาสที่แสนสั้นและอายุขัยที่จำกัดที่เรามีอยู่นี้ จำเป็นที่เราจะต้องหลีกเลี่ยงจากการใช้มันไปในกิจการต่างๆ ที่จะทำให้เราสูญเสียเวลา แต่เราจะต้องใช้มันไปในสิ่งต่างๆ ที่สำคัญและมีความจำเป็นที่จะสนองตอบชีวิตในโลกนี้และปรโลกของเรา
เราจำเป็นต้องยึดถือเอาเป้าหมายที่จำเป็นที่สุดและมีความสำคัญที่สุดเป็นที่ตั้ง และจะต้องอุตสาห์พยายามเพื่อที่จะไปให้ถึงสิ่งดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากการกระทำในสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีความสำคัญนั้น จะทำให้เราสูญเสียและพลาดโอกาสจากสิ่งที่สำคัญและมีคุณค่าไป และจะยับยั้งเราจากการไปถึงยังเป้าหมายสูงสุดแห่งการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือความสำเร็จในชีวิตแห่งปรโลก ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า
مَنِ اشْتَغَلَ بِغَیْرِ الْمُهِمِّ، ضَیَّعَ الْاَهَمَّ
“ผู้ใดที่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไม่สำคัญ เขาได้ทำลายสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดลง” (8)
การกระทำและการหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไร้คุณค่าและไม่จำเป็นนั้น จะยับยั้งเราจากการบรรลุสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และสูงส่ง นี่คือความจริงประการหนึ่งที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ชี้ให้เห็นในคำพูดสั้นๆ ของท่าน เพื่อเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่าสำหรับสังคมของมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาวทั้งหลาย
หากสังคมมนุษย์ยึดถือคำพูดนี้เป็นบทเรียนและอุทาหรณ์สอนใจแล้ว ย่อมจะก่อให้เกิดการพลิกผัน เกิดการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าขึ้นในสังคมที่เป็นอยู่ได้ เนื่องจากชีวิตและอายุขัยของเรามีความจำกัด เราไม่มีศักยภาพและความสามารถมากพอที่จะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ดังนั้นเราจะต้องใช้มันไปในการกระทำที่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุด ควรหลีกเลี่ยงจากการใช้อายุขัยของตนไปในการกระทำสิ่งที่ไม่มีคุณค่า โดยเฉพาะการทำความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ใดๆ ต่อชีวิตของเราแล้ว ยังจะนำความเสียหายและความวิบัติมาสู่ชีวิตและสังคมของเราอีกด้วย
การที่จะใช้ประโยชน์จากอายุขัยที่จำกัดไปเพื่อภารกิจต่างๆ ที่สำคัญและมีคุณค่านั้น เราจะต้องไม่คิดและหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นเรื่องปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ เพื่อที่เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่สูงส่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า
إِنَّ رَأْیَكَ لایَتَّسِعُ لِكُلِّ شَیْءٍ فَفَرِّغْهُ لِلْمُهِمِّ
“ความคิด (และการกระทำ) ของท่านไม่กว้างขวางพอที่จะครอบคลุมทุกสิ่งได้ ดังนั้นท่านจงทำให้มันว่างเปล่าสำหรับเรื่องสำคัญ” (9)
การคิดคำนึงถึงผลของการกระทำ
สำหรับการเลือกเป้าหมายที่สำคัญที่สุดและดีที่สุดนั้น ผลบั้นปลายของมันจะต้องเป็นสิ่งที่ชัดเจนอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้เราจะต้องมีการวางแผนในการกระทำงานต่างๆ คิดใคร่ครวญและตรวจสอบถึงผลบั้นปลายของมันอย่างสมบูรณ์ เมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้วจึงลงมือกระทำในสิ่งดังกล่าว ในกรณีที่เราพบว่าผลบั้นปลายของมันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับคัมภีร์อัลกุรอานและคำสอนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) เราก็จงเสริมสร้างความพยายามและความมุ่งมั่นของเราให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อให้บรรลุในสิ่งนั้น จะต้องระมัดระวังตนจากความเผอเรอและสิ่งที่จะยับยั้งเราจากการไปถึงยังเป้าหมายอันสูงส่ง
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า
إِذا هَمَمْتَ بِأَمْرٍ فَتَدَبّرْ عاقِبَتَهُ فَإِنْ كانَ خَیْراً فَأَسْرِعْ إِلَیْهِ وَاِنْ كانَ شَرّاً فَانْتَهِ عَنْهُ
“เมื่อท่านมีเจตนาที่จะกระทำสิ่งใด ก็จงคิดใคร่ครวญถึงผลบั้นปลายของมัน ดังนั้นหากมันเป็นสิ่งที่ดี ก็จงรีบเร่งในการกระทำมัน และหากมันเป็นสิ่งเลวร้าย ก็จงยับยั้งตนจากการกระทำมัน” (10)
แหล่งอ้างอิง :
(1) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 126
(2) อัลกุรอานบทอัลอันบิยาอ์ โองการที่ 35
(3) อัลกุรอานบทอัรเราะห์มาน โองการที่ 26 – 27
(4) อัลกุรอานบทอัลญุมุอะฮ์ โองการที่ 8
(5) อัลกุรอานบทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 34
(6) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 11, หน้าที่ 379
(7) มีซานุ้ลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 280
(8) ชัรห์ ฆุร่อรุลฮิกัม, เล่มที่ 5, หน้าที่ 330
(9) ชัรห์ ฆุร่อรุลฮิกัม, เล่มที่ 2, หน้าที่ 606
(10) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 72, หน้าที่ 342
ที่มา : คุฏบะฮ์ (คำเทศนา) นมาซวันศุกร์ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.) จ.ปทุมธานี
แปลและเรียบเรียงโดย เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center