ความเป็นผู้มีศาสนาหรือมีความมั่นคงอยู่กับศาสนาของบรรดามุสลิมนั้น สามารถรับรู้ได้จากการที่บุคคลผู้นั้นมีความเคร่งครัดและปฏิบัติตามหน้าที่ทางศาสนาที่ๆพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดในทุกๆ ด้านของการดำเนินชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ส่วนบุคคลหรือหน้าที่ทางด้านสังคมก็ตาม
คำว่า “หน้าที่ทางศาสนา” ซึ่งในสำนวนภาษาอาหรับเรียกว่า “ตักลีฟ” หรือ “วะซีฟะฮ์” ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาวะและเงื่อนไขต่างๆ และอาจเป็นไปได้ว่า บางภาระหน้าที่ที่ศาสนากำหนดนั้นอาจจะสอดคล้องกับความต้องการทางด้านจิตใจของผู้ที่ถูกมอบหมาย (มุกัลลัฟ) หรืออาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการทางด้านจิตใจของเขา หรือเป็นไปได้ว่าหน้าที่ที่เขาปฏิบัตินั้นอาจจะเป็นที่พึงพอใจของประชาชน หรือบางครั้งไม่เป็นที่พึงพอใจและไม่สบอารมณ์ของผู้อื่น แต่เนื่องจากมุสลิมเป็นผู้ที่ถูกมอบหมายภารหน้าที่จากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นบ่าวของพระองค์
ดังนั้นการกระทำและการปฏิบัติตนของเขาจำเป็นต้องสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ เขาจะต้องไม่ละเมิดและพลี "หน้าที่ทางศาสนา" (ตักลีฟ) ให้กับอารมณ์ความต้องการของตนเอง และสิ่งอื่นๆ
ในกรณีเช่นนี้ (หมายถึงเมื่อเขาได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ถูกกำหนดจากพระผู้เป็นเจ้าแล้ว) แม้ว่าในภาพภายนอกดูว่าเขาไม่ประสบความสำเร็จ หรือบรรลุเป้าหมายของการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แต่ก็ถือว่าเขาได้ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้นแล้ว และได้ประสบความสำเร็จแล้วในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ เรื่องการญิฮาด (การต่อสู้) ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อปกป้องศาสนา แม้ภายนอกจะดูว่าผู้กระทำการญิฮาดนั้นอาจจะประสบกับความพ่ายแพ้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเขาคือผู้ที่ได้รับชัยชนะ เนื่องจากเขาได้ทำตามหน้าที่ของตนเอง และมิได้บกพร่องในสิ่งที่ตนเองได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า
วัฒนธรรมของ "การปฏิบัติตามหน้าที่" นั้น หากมันได้ปกคลุมอยู่ในสังคมและในหมู่สมาชิกของสังคมแล้ว สังคมหรือสมาชิกของสังคมนั้นก็จะมีความรู้สึกถึงความภาคภูมิใจและมีความรู้สึกถึงชัยชนะ ไม่ว่าเข้าจะได้รับผลเลิศจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นหรือไม่ก็ตาม เหมือนดังในสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอานที่กล่าวถึงการญิฮาด (ต่อสู้) ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า บุคคลที่ทำหน้าที่ในการญิฮาดนั้นเขาจะได้รับ “หนึ่งจากสองความดีงาม” «اِحدی الحُسنَیَين» ไม่ว่าเขาจะถูกฆ่าตาย หรือจะได้รับชัยชนะทางการทหารหรือทางการเมืองเหนือฝ่ายศัตรูก็ตาม ทั้งสองกรณีนั้นคือความดีงามและคือชัยชนะ
คัมภีร์อัลกุรอาน ได้กล่าวถึงผลของการต่อสู้ไว้เช่นไร
ลักษณะที่เลวร้ายประการหนึ่งของมุนาฟิกีน (พวกกลับกลอก) นั่นก็คือ หากมีความดีงามใดๆ มาประสพกับท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) และบรรดาสาวกของท่าน พวกเขาจะรู้สึกกระวนกระวายและไม่พอใจ ในทางตรงกันข้าม หากมีความทุกข์ยากหนึ่งๆ หรือความพ่ายแพ้มาประสพกับท่าน พวกเขาก็จะรู้สึกปีติยินดี
อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้สอนท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ให้ตอบโต้บุคคลที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ด้วยคำพูดประโยคสั้นๆ ว่า “พวกท่านกำลังรอคอยและคาดหวังสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นกับพวกเรากระนั้นหรือ ไม่มีสิ่งใดจะมาประสพกับพวกเรา เว้นแต่หนึ่งจากสองความดีงามเท่านั้น” คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า
قُلْ هَلْ تَرَبَّصُونَ بِنا إِلاَّ إِحْدَى الْحُسْنَيَيْنِ
“จงประกาศเถิด พวกท่านรอคอย (และคาดหวัง) สิ่งใดที่จะมาประสพกับพวกเรากระนั้นหรือ (ไม่มีสิ่งใดจะมาประสพกับพวกเราอย่างแน่นอน) เว้นเสียแต่หนึ่งจากสองความดีงามเท่านั้น (นั่นคือชัยชนะในการทำศึกหรือการเป็นชะฮีดในหนทางของอัลลอฮ์)” (1)
สำหรับบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) นั้นไม่มีทางตัน ในกรณีที่เข้าได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีคำว่าสูญเสียหรือสูญเปล่า การญิฮาดของพวกเขานั้นมีผลที่เป็นไปได้เพียงสองอย่างเท่านั้น ผลที่เป็นไปได้ประการแรกคือ การต่อสู้ (ญิฮาด) ด้วยกับความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งอาจจบลงด้วยกับความปราชัยของฝ่ายศัตรู และพวกเขาจะรอรับผลรางวัลของการต่อสู้และความเหนื่อยยากจากการต่อสู้ และรับเกียรติยศและความภาคภูมิใจทั้งในโลกนี้และปรโลกจากพระผู้เป็นเจ้า
หรือผลประการที่สองนั่นคือ การลิ้มรสความหวานชื่นแห่งการเป็นชะฮีด ด้วยเจตนา (เหนียต) ที่บริสุทธิ์และหัวใจที่กระหาย ในสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นคือ การมีชีวิตที่นิรันดร และรอรับความโปรดปรานต่างๆ จากอัลลอฮ์ (ซบ.) โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า
وَلَا تَحْسَبَنَّ الَّذِينَ قُتِلُوا فِي سَبِيلِ اللَّهِ أَمْوَاتًا بَلْ أَحْيَاءٌ عِنْدَ رَبِّهِمْ يُرْزَقُونَ * فَرِحِينَ بِمَا آتَاهُمُ اللَّهُ مِنْ فَضْلِهِ
“และเจ้าจงอย่าคิดว่าบรรดาผู้ที่ถูกฆ่าในหนทางของอัลลอฮ์นั้นตาย ทว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ ณ องค์อภิบาลของพวกเขา ในสภาพที่ได้รับปัจจัยยังชีพ พวกเขามีความปลาบปลื้มต่อสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่พวกเขาจากความโปรดปรานของพระองค์…” (2)
และหลังจากการเป็นชะฮีดของบรรดามุอ์มิน เลือดของชะฮีดหรือผลต่างๆ ของการเป็นชะฮีดก็จะปรากฏขึ้นในสังคม และจะนำมาซึ่งเป้าหมายอันสูงส่งของการต่อสู้นั้น
อีกโองการหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า “ชัยชนะ” และ “ความพ่ายแพ้” ในการญิฮาด (ต่อสู้) ในทัศนะของอิสลาม มิได้วัดกันที่ผลทางวัตถุหรือผลทางภายนอกเมื่อสงครามและการต่อสู้ได้ยุติลงเพียงเท่านั้น แต่อิสลามมองว่าผู้ที่ทำการต่อสู้นั้นมีเป้าหมายอย่างไร และต่อสู้ในแนวทางของผู้ใด หากเป้าหมายเป็นเป้าหมายที่บริสุทธิ์และมีเจตนาบริสุทธิ์ เป็นการปฏิบัติตาม “ตักลีฟ” (หน้าที่ที่ถูกมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ปกป้องหลักธรรมอันสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เขาคือผู้ประสพความสำเร็จและได้รับชัยชนะ ไม่ว่าเขาจะต้องประสพกับชะตากรรมเช่นไรก็ตาม ในบทอันนิซาอ์ โองการที่ 74 อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสว่า
وَمَن يُقَاتِلْ فِي سَبِيلِ اللّهِ فَيُقْتَلْ أَو يَغْلِبْ فَسَوْفَ نُؤْتِيهِ أَجْرًا عَظِيمًا
“และผู้ใดที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ ไม่ว่าเขาจะถูกฆ่าหรือจะพิชิตก็ตาม ในไม่ช้าเราจะให้รางวัลอันยิ่งใหญ่แก่เขา” (3)
ในโองการนี้อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผลบั้นปลายของผู้ที่ปฏิบัติตาม “ตักลีฟ” (หน้าที่) ของการต่อสู้ (ญิฮาด) ในหนทางของอัลลอฮ์ (ซบ.) คือหนึ่งจากความดีงามสองประการ اِحدی الحُسنَیَين นั่นคือ
1) ชะฮาดะฮ์ การถูกสังหารในหนทางของอัลลอฮ์
2) การมีชัยชนะเหนือฝ่ายศัตรู
ในทั้งสองรูปแบบนี้ (ทั้งในกรณีของการถูกสังหารและการได้รับชัยชนะ) เขาจะได้รับผลรางวัลตอบแทนอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮ์ (ซบ.) ในความจริงแล้วทั้งสองกรณีนี้ คือชัยชนะในทัศนะของพระผู้เป็นเจ้า
แหล่งอ้างอิง :
(1) อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 52
(2) อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 169-170
(3) อัลกุรอานบทอันนิซาอ์ โองการที่ 74
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center