foto1
foto1
foto1
foto1
foto1

In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم

Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم

ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You

WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center

เป้าหมายในการต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) กับบทเรียนแห่งชีวิต ณ เหตุการณ์กัรบาลา

เป้าหมายในการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็เช่นเดียวกัน คือการปฏิบัติตาม “ตักลีฟ” ท่านมิได้มุ่งมองที่ชัยชนะทางภายนอกหรือทางวัตถุ ดังจะเห็นได้จากคำพูดและสุนทรพจน์ต่างๆ ของท่าน ท่านได้ตัดสินใจต่อสู้โดยไม่คำนึงว่าผลภายนอกของการต่อสู้นั้นจะจบลงอย่างไร!

      ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้ว่า

والله اَرجُو اَن یَکونَ خَیراً ما ارادَ اللهُ بِنا، قُتِلنا اَم ظَفِرنا

“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ แท้จริงฉันมุ่งหวัง (และมั่นใจ) ว่า สิ่งที่อัลลอฮ์ประสงค์ที่จะให้ประสพกับพวกเรานั้นคือสิ่งที่ดีงาม ไม่ว่าเราจะถูกฆ่าหรือเราจะได้รับชัยชนะ” (1)

     บรรดาอิมาม (อ.) ของชีอะฮ์นั้น ในทุกสภาวะและเงื่อนไขต่างๆ ทางด้านสังคม พวกท่านจะยึดถือหลักการในการปฏิบัติตาม “ตักลีฟ” (หน้าที่) ที่ถูกกำหนดเป็นสำคัญ เหตุการณ์แห่งอาชูรอก็เช่นเดียวกัน คือตัวอย่างหนึ่งของการปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการยืนหยัดต่อสู้ หรือการละวางจากการต่อสู้ของบรรดาอิมามแต่ละท่านนั้น ล้วนดำเนินไปบนบรรทัดฐานของข้อบัญญัติของศาสนาและคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งถือเป็น “ตักลีฟ” (หน้าที่ที่ถูกกำหนด) ทั้งสิ้น ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในช่วงเวลา 10 ปี ท่านวางเฉยไม่ลุกขึ้นต่อสู้ในช่วงการปกครองของมุอาวิยะฮ์ แต่ช่วงที่ยะซีดขึ้นปกครองท่านกลับยืนหยัดขึ้นต่อสู้และไม่ยอมประวิงเวลาแม้ช่วงขณะเดียว ทั้งสองกรณีนี้ก็คือ “ตักลีฟ” (หน้าที่) ที่เป็นไปตามสภาวะเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป

     เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ตัดสินใจเดินทางออกจากนครมักกะฮ์มุ่งสู่เมืองกูฟะฮ์นั้น มีซอฮาบะฮ์ (สาวก) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) บางคน อย่างเช่นท่านอิบนิอับบาซ ได้แนะนำให้ท่านเปลี่ยนใจและเตือนท่านว่า การเดินทางไปยังแผ่นดินอิรักจะไม่ปลอดภัยสำหรับชีวิตของท่านและครอบครัว เพราะประชาชนชาวอิรักเป็นกลุ่มชนที่ชอบบิดพลิ้วสัญญา แต่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวตอบอิบนิอับบาซว่า “โอ้บุตรของลุง แท้จริงฉันรู้ดีว่าท่านเป็นผู้ให้การชี้แนะด้วยความจริงใจและเป็นห่วงเป็นใย แต่ฉันได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก” (2)

     ในตำบล “ซอฟาห์” ก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้พบกับฟัรซะดัก (นักกวีผู้เรืองนาม) เขาได้รายงานถึงสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจในเมืองกูฟะฮ์ให้ท่านอิมาม (อ.) ได้รับรู้ โดยกล่าวถึงชาวเมืองกูฟะฮ์ว่า

قلوب الناس معك و سیوفهم مع بنی امیة، و القضاء ینزل من السماء، و الله یفعل ما یشاء

“หัวใจของประชาชนนั้นอยู่กับท่าน แต่ดาบของพวกเขาอยู่กับบนีอุมัยยะฮ์ และกำหนดการณ์ (กอฎออ์) จะถูกประทานลงมาจากฟากฟ้า และอัลลอฮ์จะทรงกระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์” (3)

     ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวตอบเขาว่า “ใช่ เจ้าพูดถูกแล้ว และฉันไม่เคยคลางแคลงในสิ่งที่เจ้าพูดเลย” จากนั้นท่านกล่าวว่า

النَّاسُ عَبِيدُ الدُّنْيَا ، وَ الدِّينُ لَعِقٌ عَلَى أَلْسِنَتِهِمْ ، يَحُوطُونَهُ مَا دَرَّتْ مَعَايِشُهُمْ ، فَإِذَا مُحِّصُوا بِالْبَلَاءِ قَلَّ الدَّيَّانُون

 “มนุษย์คือทาสของดุนยา (โลกแห่งวัตถุ) และศาสนานั้นติดอยู่แค่เพียงปลายลิ้นของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาจะห้อมล้อมศาสนาตราบที่ (ปัจจัยอำนวยสุขใน) การดำเนินชีวิตของเขายังพรั่งพรู แต่เมื่อใดที่พวกเขาถูกทดสอบด้วยบาลาอ์ (ความทุกข์ยาก) ผู้ที่มั่นคงอยู่กับศาสนานั้นจะเหลือเพียงน้อยนิด” (4)

     ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

وَمِنَ النَّاسِ مَن يَعْبُدُ اللَّهَ عَلَى حَرْفٍ فَإِنْ أَصَابَهُ خَيْرٌ اطْمَأَنَّ بِهِ وَإِنْ أَصَابَتْهُ فِتْنَةٌ انقَلَبَ عَلَى وَجْهِهِ

“และมนุษย์บางคนเคารพภักดีอัลลอฮ์บนชายขอบ ดังนั้นหากมีความดีงามหนึ่งมาประสบกับเขา เขาก็จะรู้สึกมั่นใจต่อพระองค์ และหากมีความทุกข์ยากหนึ่งมาประสบกับเขา เขาก็จะหันหน้ากลับ (ไปสู่การปฏิเสธ)...” (5)

     จากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวกับฟัรซะดักต่อว่า “หากกำหนดการณ์ (กอฎออ์) ของพระผู้เป็นเจ้าเป็นไปอย่างที่หัวใจของเราปรารถนาแล้ว เราก็จะขอขอบคุณในความโปรดปรานต่างๆ ของพระองค์ และขอความช่วยเหลือจากพระองค์ในการขอบคุณต่อพระองค์ แต่หากการกำหนด (ตักดีร) กลายเป็นอุปสรรคกีดขวางระหว่างเรากับสิ่งที่เรามุ่งหวัง ดังนั้นผู้ที่มีเหนียต (ความตั้งใจ) จริงและหัวใจของเขามีความยำเกรง (ตักวา) ต่อพระองค์ก็จะล่วงละเมิดสิ่งที่เป็นสัจธรรม” (6)

     คำพูดของท่านอิมาม (อ.) ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ท่านอิมาม (อ.) ได้เตรียมพร้อมและตัดสินใจอย่างสมบูรณ์แล้วที่จะปฏิบัติตาม “ตักลีฟ” (ภาระ หน้าที่) ที่ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า และไม่ว่าผลของมันจะเป็นอย่างไรก็ตาม ท่านก็จะพึงพอใจต่อสิ่งนั้น เมื่อมีชายสองคน (อับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร และยะห์ยา บินซะอีด) ได้นำจดหมายประกันความปลอดภัยจากผู้ปกครองมักกะฮ์มาให้กับท่านอิมามฮุเซน (อ.) เพื่อรบเร้าให้ท่านอิมาม (อ.) ล้มเลิกจากการเดินทางไปสู่เมืองกูฟะฮ์ในครั้งนี้ ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า

اني رأیت رویا فیها رسول الله صلی الله علیه و آله و امرت فیها بأمر انا ماض له علی کان اولی

“ฉันฝันเห็นท่านศาสนาทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และฉันได้รับคำบัญชาหนึ่งจากท่านในความฝันนั้น ซึ่งฉันจะต้องทำให้บรรลุในคำบัญชานั้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอันตราย (ต่อชีวิตของ) ฉัน หรือจะเป็นคุณแก่ฉันก็ตาม”

     บุคคลทั้งสองได้ถามว่า ما تلك الرؤیا؟ “ความฝันนั้นคืออะไร” ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า

ما حدثت بها احدا و ما انا محدث بها احدا حتی القی ربي

 “ฉันไม่เคยบอกใครในเรื่องนี้ และจะไม่บอกใคร จนกว่าฉันจะกลับไปพบกับองค์พระผู้อภิบาลของฉัน” (7)

     นี่ก็คือการปฏิบัติตามหน้าที่ (ตักลีฟ) ที่ถูกมอบหมายนั่นเอง และผลในทั้งสองกรณีคือ ไม่ว่าจะเป็นโทษหรือเป็นภัยกับตัวเอง ทั้งสองกรณีคือชัยชนะสำหรับท่านอิมาม (อ.) ดังประโยคคำพูดที่ยกไปในช่วงต้นที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวว่า

  والله اَرجُو اَن یَکونَ خَیراً ما ارادَ اللهُ بِنا، قُتِلنا اَم ظَفِرنا

 “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ แท้จริงฉันมุ่งหวัง (และมั่นใจ) ว่า สิ่งที่อัลลอฮ์ประสงค์จะให้ประสพกับพวกเรานั่นคือสิ่งที่ดีงาม ไม่ว่าเราจะถูกฆ่าหรือเราจะได้รับชัยชนะ” (8)

     ท่านอิมามโคมัยนี (รฮ.) ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า “ประชาชาติที่การเป็นชะฮีด (พลีชีพ) ของพวกเขาคือการเป็นชะฮีด (การพลีชีพในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า) โดยแท้จริงแล้ว พวกเขาคือผู้ได้รับชัยชนะ... ไม่ว่าพวกเราจะเป็นผู้ฆ่าหรือผู้ถูกฆ่าก็ตาม พวกเราก็คือผู้ชนะ” (9)

     เมื่อจดหมายต่างๆ จากประชาชนชาวกูฟะฮ์มาถึงท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในจดหมายนั้นพวกเขาได้เชิญท่านไปยังกูฟะฮ์ และสัญญาที่จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือท่าน ท่านอิมาม (อ.) รู้สึกว่านั่นคือหน้าที่ (ตักลีฟ) ที่ท่านจะต้องตอบรับคำเชื้อเชิญและจะต้องเดินทางไป แม้ท่านจะทราบดีว่าประชาชนชาวกูฟะฮ์เป็นอย่างไร แต่ทว่าคำเชื้อเชิญและการประกาศของพวกเขาที่จะให้การสนับสนุนต่อท่าน มันคือตัวกำหนดภารหน้าที่ (ตักลีฟ) แก่ท่านอิมาม (อ.) หลังจากคาระวานของท่านอิมาม (อ.) มาประจันหน้ากับกองทัพของฮูร บินริยาฮี และพวกเขาสกัดกั้นเส้นทางมิให้คาระวานของท่านอิมาม (อ.) เดินทางต่อไป ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวคำปราศรัยแก่พวกเขา ณ ที่นั้นว่า

       “การเดินทางมาของฉันคือเหตุผลที่ฉันจะกลับไปตอบต่อพระผู้เป็นเจ้าและเป็นคำตอบ สำหรับพวกท่าน ฉันไม่ได้ตัดสินใจเดินทางมายังพวกท่าน เว้นแต่ภายหลังจากที่จดหมายต่างๆ ของพวกท่านได้ไปถึงฉันแล้ว ซึ่งจดหมายเหล่านั้นได้กล่าวว่า ท่านโปรดเดินทางมายังพวกเราเถิด พวกเราไม่มีผู้นำ... หากพวกท่านยังคงยืนหยัดบนคำมั่นสัญญาของตนเองแล้วละก็ บัดนี้ฉันได้เดินทางมาถึงแล้ว แต่หากพวกท่านไม่สบายใจและไม่ต้องการ ฉันก็จะขอเดินทางกลับ” (10)

     สำนวนคำพูดนี้ชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติตามภาระหน้าที่ (ตักลีฟ) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) บรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมาม (อ.) ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ พวกเขายอมถวายชีวิตในหนทางของการช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็ด้วยเหตุผลของการปฏิบัติตามหน้าที่ (ตักลีฟ) ที่ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า เมื่อท่านอิมาม (อ.) กล่าวกับพวกเขาว่าใครที่ประสงค์จะแยกตัวออกไปจากเราก็จงไปเถิด ฉันได้ถอดถอนบัยอัต (สัตยาบัน) จากพวกท่านแล้ว บรรดาผู้ช่วยเหลือทั้งหมดต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า พวกเราจะไม่ละทิ้งท่านไปอย่างเด็ดขาด และจะขอพลีอุทิศชีวิตของพวกเราเพื่อท่าน และด้วยกับเลือดที่อยู่ในเส้นเลือดและลำคอของพวกเรานี้ พวกเราจะขอปกป้องท่านจากบรรดาศัตรู”

       พวกเขากล่าวต่อไปว่า

 فَاِذا نَحنُ قُتِلنا وَفَینا و قَضَینا ما عَلَینا

“แม้พวกเราต้องถูกสังหารลง พวกเราก็ได้รักษาคำมั่นสัญญา และพวกเราได้ทำให้บรรลุในสิ่งที่ถูกกำหนดแก่พวกเราแล้ว” (11)

     ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเราก็เช่นเดียวกัน ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ผู้นำการปฏิวัติอิสลามได้เริ่มต้นการยืนหยัดต่อสู้ของท่านต่อผู้ปกครองทรราช บนพื้นฐานการปฏิบัติตามหน้าที่ (ตักลีฟ) ที่ถูกมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้า ในทุกๆ ขั้นตอนและในทุกๆ ช่วงเวลาของการยืนหยัดต่อสู้นั้น ท่านไม่เคยครุ่นคิดสิ่งอื่นเลยนอกจากการปฏิบัติตามภาระหน้าที่ (ตักลีฟ) แห่งพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยปลุกประชาชน การกล่าวประณามผู้ปกครองผู้กดขี่ หรือในบางครั้งอาจจะต้องนิ่งเงียบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกคุมขัง การถูกเนรเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสอนหนังสือ การเขียนหนังสือ หรือการทำสงคราม หรือแม้แต่การยอมรับข้อตกลงในการหยุดสงครามกับอิรัก ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามหน้าที่ (ตักลีฟ) ทั้งสิ้น

     ด้วยเหตุนี้ในทุกขั้นตอนและในทุกช่วงเวลา ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) จึงไม่เคยรู้สึกย่อท้อ ไม่เคยแสดงออกถึงความสิ้นหวังในสิ่งที่มาประสบกับท่าน ไม่เคยหยุดยั้งจากเจตนารมณ์อันมั่นคงของตนเอง ท่านได้เรียนรู้แนวทางการยืนหยัดต่อสู้เหล่านี้จากขบวนการต่อสู้ของท่านอิมา มฮุเซน (อ.) ขบวนการต่อสู้ของท่านอิมามฮุเชน (อ.) วางพื้นฐานอยู่บนการปฏิบัติตามภาระหน้าที่ (ตักลีฟ) การเคลื่อนไหวและต่อสู้ของท่านอิมามโคมัยนี (รฮ.) ก็วางอยู่บนพื้นฐานนี้เช่นเดียวกัน

     ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบางคำพูดของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ “การที่ท่านอะบาอับดิลลาฮ์ (อ.) ได้เริ่มต้นขบวนการและยืนหยัดขึ้นต่อสู้ ทั้งๆ ที่มีจำนวนเพียงน้อยนิด และต้องเผชิญหน้ากับพวกศัตรู (จำนวนมากมาย) เหล่านี้ก็เนื่องจากเหตุผลที่ท่านกล่าวว่า หน้าที่ (ตักลีฟ) ของฉัน คือความจำเป็นที่ฉันจะต้องยับยั้งความ ชั่ว” (12)

      “ท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ถือว่าเป็นภาระหน้าที่ (ตักลีฟ) ของท่านที่จะต้องเดินทางไปแม้จะต้องถูกสังหารก็ตาม เพื่อลบร่องรอยต่างๆ ของมุอาวิยะฮ์และลูกของเขา” (13)

     สาสน์แห่งอาชูรอเป็นสาสน์สำหรับประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีสถานะพิเศษในสังคมและเป็นแบบอย่างสำหรับคนอื่นๆ “การรู้จักหน้าที่” และ “การปฏิบัติตามหน้าที่” (ตักลีฟ) คือสาสน์แห่งอาชูรอ เป็นสาสน์ที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้มอบไว้สำหรับมุสลิมในทุกยุคทุกสมัย หากผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางอันเป็นสัจธรรมนี้ในยุคสมัยของท่านอิมามฮุเซน (อ.) หากพวกเขารู้จักและสำนึกในหน้าที่ (ตักลีฟ) ของตัวเอง และปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเองด้วยการพลีอุทิศชีวิตและการปกป้องท่านอิมามเหมือนกับบรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลา เส้นทางแห่งประวัติศาสตร์จะถูกวาดไปอีกแบบหนึ่ง ชะตากรรมของอิสลามและมุสลิมก็จะเป็นไปอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน

     ในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน มุสลิมจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อหน้าที่ (ตักลีฟ) ของตนเองในรูปต่างๆ และจะต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ (ตักลีฟ) เหล่านั้น และจะต้องรับรู้ไว้ด้วยว่า ชัยชนะและความสำเร็จของผู้ศรัทธาที่แท้จริงนั้นอยู่ในการปฏิบัติตามหน้าที่ (ตักลีฟ) ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) กล่าวอยู่เสมอว่า “พวกเราทุกคนถูกบัญชาให้ปฏิบัติตามหน้าที่ (ตักลีฟ) มิได้ถูกบัญชาให้มุ่งมองที่ผลของมัน” (14) คำพูดนี้ก็คือบทเรียนที่ท่านได้รับจากอาชูรอนั่นเอง


แหล่งอ้างอิง :

(1) อะยานุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 597

(2) ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 4, หน้า 271

(3) นะฟะซุลมะฮ์มูม, หน้า 91

(4) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 382

(5) อัลกุรอานบท อัลอัจญ์/โองการที่ 11

(6) ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 4, หน้า 290

(7) อัลอิรชาด, หน้าที่ 29; กามิล อิบนิอะษีร, เล่มที่ 3, หน้า 227

(8) อะยานุชชีอะฮ์, เล่ม 1, หน้า 597

(9) ซอฮีเฟเย่ นูร, เล่มที่ 13, หน้า 65

(10) ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 4, หน้า 303

(11) ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 4, หน้า 318

(12) ซอฮีเฟเย่ นูร, เล่มที่ 4, หน้า 16

(13) ซอฮีเฟเย่ นูร, เล่มที่ 8, หน้า 12

(14) กะลิมาเต้ กิซอร, สถาบันรวบรวมผลงานของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) หน้า 50


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม