foto1
foto1
foto1
foto1
foto1

In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم

Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم

ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You

WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center

อาชูรอ บทเรียนแห่งการแข่งขันและการรีบรุดสู่ความดีงามห้ามปรามความชั่ว

      ในคัมภีร์อัลกุรอาน เมื่ออัลลอฮ์ทรงเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์สู่การทำความดีและการเข้าร่วมในการกระทำต่างๆ ที่เป็นการสร้างสรรค์นั้น พระองค์จะทรงใช้สำนวนว่า “จงแข่งขันกัน” และคำสองคำที่ถูกใช้คือคำจากรากศัพท์ว่า “ซิบเกาะฮ์” (การนำหน้าผู้อื่น) และคำว่า “ซุรอะฮ์” (การรีบเร่ง , ความรวดเร็ว) โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

فَاسْتَبِقُوا الْخَيْراتِ إِلَى اللَّهِ مَرْجِعُكُمْ جَميعاً

“ดังนั้นพวกเจ้าจงรีบรุดนำหน้ากันในความดีงามทั้งหลายเถิด ยังอัลลอฮ์นั้นคือการกลับคืนของพวกเจ้าทั้งมวล” (1)

     และในอีกโองการหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสว่า :

وَسَارِعُوا إِلَىٰ مَغْفِرَةٍ مِّن رَّبِّكُمْ وَجَنَّةٍ عَرْضُهَا السَّمَاوَاتُ وَالْأَرْضُ أُعِدَّتْ لِلْمُتَّقِينَ

“และพวกเจ้าจงแข่งขันกันสู่การอภัยโทษจากองค์พระผู้อภิบาลของพวกเจ้าและสวรรค์ ซึ่งความกว้างของมันประดุจดังชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน มันได้ถูกจัดเตรียมไว้แล้วสำหรับบรรดาผู้ยำเกรง” (2)

     คำว่า “ซิบเกาะฮ์” นั้น หมายถึงการนำหน้าผู้อื่นในการเดินทาง การทำงาน ในการคิดและความรู้ และคำว่า “ซุรอะฮ์” นั้นหมายถึงการการเร่งรีบและการกระทำอย่างรวดเร็วในเรื่องต่างๆ

     การรีบเร่งและการนำหน้าผู้อื่นในการทำดีนั้นเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่ดีงามและน่าสรรเสริญ และศาสนาอิสลามได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ ดังตัวอย่างในสองโองการข้างต้น และในคำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ก็มีคำพูด (วจนะ) จำนวนมาก ด้วยกับสำนวนต่างๆ ที่ชี้ถึงการส่งเสริมการรีบรุดและความรวดเร็วในการทำความดี ตัวอย่างเช่น :

     ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

اغْتَنِمْ خَمْسًا قَبْلَ خَمْسٍ: شَبَابَكَ قَبْلَ هَرَمِكَ، وَصِحَّتَكَ قَبْلَ سَقَمِكَ، وَغِنَاكَ قَبْلَ فَقْرِكَ، وَفَرَاغَكَ قَبْلَ شُغْلِكَ، وَحَيَاتَكَ قَبْلَ مَوْتِكَ

จงฉวยโอกาสห้าประการก่อนห้าประการ : (คือ) ความหนุ่มของท่านก่อนความแก่ชราของท่าน ความมีสุขภาพสมบูรณ์ของท่านก่อนความเจ็บป่วยของท่าน ความมั่งมีของท่านก่อนความยากจนของท่าน ความว่างจากการงานของท่านก่อนความยุ่ง (ในภารกิจการงาน) ของท่าน และยามีชีวิตอยู่ของท่านก่อนความตายของท่าน” (3)

     ท่านอิมามอะลี (อ.) :

بادِرِ الْفُرْصَةَ قَبْلَ اَنْ تَکوُنَ غُصَّةً

“จงรีบเร่งในโอกาสก่อนที่มันจะเป็นบ่อเกิดของความเศร้าเสียใจ” (4)

     แต่การรีบร้อนและการผลีผลามในการกระทำโดยปราศจากการคิดใคร่ครวญและการตริตรองนั้น เป็นลักษณะนิสัยที่น่าตำหนิ เหตุผลของความน่าตำหนินั้นก็คือประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่แฝงอยู่ในความหมายของตัวมันเอง รอฆิบ อัลอิสฟะฮานี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัลมุฟรอดาต” ในการอธิบายความหมายของคำว่า “อะญะละฮ์” (ความรีบร้อน) ว่า :

      “อะญะละฮ์ (ความรีบร้อน) นั้น คือการแสวงหาสิ่งหนึ่งๆ ก่อนเวลาของมัน อันเกิดจากความกระสัน (อยากได้มาก) ด้วยเหตุนี้เอง มันจึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกตำหนิในทั่วทั้งหมดของอัลกุรอาน กระทั่งมีผู้กล่าวว่า : ความรีบร้อนนั้นมาจากมาร (ชัยฏอน)” (5)

      ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

إِنّما أهلك الناس العجلة، ولو أنَّ الناس تثبتوا لم يهلك أحد

“แท้จริงความรีบร้อนนั้น จะทำให้มนุษย์พินาศ และหากมนุษย์มีความสุขุมรอบคอบแล้ว จะไม่มีผู้ใดพินาศ” (6)

     ท่านยังได้กล่าวอีกว่า :

الإناةُ مِنَ اللَّهِ وَالْعَجَلَةُ مِنَ الشَّيْطَانِ

“ความสุขุมนั้นมาจากอัลลอฮ์ และความรีบร้อน (ผลีผลาม) นั้นมาจากมาร” (7)

     ในแบบฉบับและวิถีปฏิบัติของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) นั้น ก็ได้แสดงให้เราเห็นเป็นอย่างดีถึงความสุขุมรอบคอบและการคิดใคร่ครวญก่อนตัดสินใจกระทำ และเมื่อแยกแยะแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นความดีงาม พวกท่านก็จะรีบรุดในการกระทำมันอย่างไม่รีรอและปล่อยให้โอกาสของมันหลุดลอยไป

     ในคำสอนของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านก็ได้พูดถึงการแข่งขันและการรีบรุดในเรื่องของคุณธรรมและความดีงามเอาไว้เช่นกัน โดยที่ท่านกล่าวว่า :

اَيُّهَا النّاسُ نافِسوا فِى المَکارِمِ وَ سارِعوا فِى المَغانِمِ وَ لا تَحتَسِبوا بِمَعروفٍ لَم تَجعَلوا

“โอ้ประชาชนเอ๋ย! จงแข่งขันกันสู่การงานที่มีเกียรติและจงแข่งขันกันในโอกาสอันดีงาม (สิ่งที่ได้มาโดยไม่มีข้อแลกเปลี่ยน) ทั้งหลาย และพวกท่านอย่าได้คิดคำนวณความดีที่พวกท่านไม่ได้ (รีบรุด) กระทำมัน” (8)

การรีบรุดและการแข่งขันกันสู่ความดีในขบวนการต่อสู้แห่งกัรบะลา

     ในสนามศึกแห่งกัรบะลา สหายและผู้ช่วยเหลือขอท่านอิมามฮุเซน (อ.) ทุกคนรู้ดีว่า พวกเขาจะต้องเป็นชะฮีดลงในการต่อสู้ครั้งนี้ แต่เนื่องจากทุกคนรู้ดีว่า นั่นคือ นั่นคือการพิทักษ์ปกป้องหลักธรรมแห่งอิสลาม ปกป้องท่านอิมามฮุเซน (อ.) และครอบครัวของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และนั่นคือความดีงามและความสำเร็จขั้นสูงสุดในชีวิตของตน พวกเขาลังเลและประวิงเวลาที่จะให้การช่วยเหลือและสนองตอบเจตนารมณ์และคำบัญชาของท่าน แม้แต่บรรดาเยาวชน ผู้เป็นลูกหลานของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในวันอาชูรอ เราจะเห็นได้ถึงคุณลักษณะของการรีบรุดและการแข่งขันกันสู้ความดี ตามที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้

فَاسْتَبِقُوا الْخَيْراتِ إِلَى اللَّهِ مَرْجِعُكُمْ جَميعاً

“ดังนั้นพวกเจ้าจงรีบรุดกันในความดีงามทั้งหลายเถิด ยังอัลลอฮ์นั้นคือการกลับคืนของพวกเจ้าทั้งมวล” (9)

     ทุกคนต่างแย่งชิงกันเข้าไปขออนุญาตท่านอิมาม (อ.) เพื่อออกสนามศึก บรรดาสหายผู้ช่วยเหลือคนอื่นๆ ของท่านก็ไม่ยอม ตราบที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่พวกเขาจะขอปกป้องฮะรัม (ครอบครัว) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก่อน

ตัวอย่างของการรีบรุดสู่ความดีในหมู่ผู้ช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน (อ.)

      วะฮับ บินอับดุลลอฮ์ กัลบี : หรือที่รู้จักกันในนาม "วะฮับ นัศรอนี" หนึ่งในผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งตามการบันทึกของนักประวัติศาสตร์บางคน ตัวเขา มารดาของเขาและภรรยาของเขาเป็นชาวคริสต์ (นัศรอนี) แต่ในเส้นทางกัรบาลาในตำบลซะอ์ละบะฮ์ บุคคลทั้งสามได้เข้ารับอิสลามโดยการเชิญชวนของท่านอิมามฮุเซน (อ.)

      ในวันอาชูรอ วะฮับ นัศรอนี มีอายุเพียง 25 ปี และเพิ่งผ่านการแต่งงานมาเพียง 17 วัน เขาได้ออกสู่สนามรบเป็นคนแรกๆ หลังจากการต่อสู้อย่างเต็มที่และสังหารศัตรูจำนวนหนึ่งลงได้ เขาได้กลับเขาไปยังกระโจมที่พัก ไปหามารดาและภรรยาของตน ซึ่งร่วมอยู่ในกัรบาลาด้วย เขากล่าวกับมารดาของตนว่า : "ท่านพอใจจาก (การกระทำของ) ฉันแล้วใช่ไหม?"

      มารดากล่าวว่า : "ฉันจะยังไม่พอใจจากเจ้า จนกว่าเจ้าจะถูกสังหารลงต่อเบื้องหน้าของท่านอิมามฮุเซน (อ.) "

      ภรรยาของเขาได้กล่าวขึ้นว่า : "ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า! ท่านอย่าได้ทำให้ทำให้ฉันต้องจำพรากจากท่านเลย เพราะหัวใจของฉันไม่อาจจะอดทนอดกลั้นต่อความเจ็บปวดได้"

      มารดาของเขากล่าวว่า : "ลูกรักของแม่ อย่าได้ฟังคำขอร้องของภรรยาเจ้าเลย จงกลับออกไปต่อสู้เคียงข้างบุตรชายของบุตรีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เถิด เพื่อเจ้าจะได้รับชะฟาอัต (การอนุเคราะห์ ช่วยเหลือ) จากตาของท่านในวันกิยามะฮ์"

      เขาได้กลับออกไปสู่สนามรบและทำการต่อสู้ต่อไป ในช่วงที่แขนทั้งสองข้างของเขาถูกฟันจนขาดนั้น ภรรยาของเขาได้ขว้าเสากระโจมเต้นท์และวิ่งออกไปหาเขา และกล่าวว่า : "ขอพลีพ่อและแม่ของฉันเพื่อท่าน! ท่านจงต่อสู้ในทางของผู้บริสุทธิ์แห่งฮะรัม (ครอบครัว) ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เถิด"

      วะฮับ ขอให้ภรรยาของตนเองกลับเข้าไปยังกระโจมที่พัก แต่นางได้กล่าวว่า : "ฉันจะไม่เข้าไปอย่างเด็ดขาด นอกจากฉันจะถูกสังหารลงพร้อมกับท่าน"

      ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวว่า :

جُزیُتْم مِنْ أَهْلِ بیتٍ خیراً إرْجعی إلی النساء یرحمك اللّه

"ขอให้พวกเจ้าจงได้รับการตอบแทนความดีงามจากอะฮ์ลุลบัยติ์ด้วยเถิด เธอจงกลับเข้าไปยังกลุ่มบรรดาสตรีเถิด ของอัลลอฮ์ทรงเมตตาเธอ"

      ภรรยาของวะฮับจึงกลับเข้าไป แต่วะฮับยังคงอยู่ในสนามรบจนกระทั่งเขาเป็นชะฮีดลง (10)

      ในรายงานจากอบูมักนัฟ เขาสามารถสังหารศัตรูได้ 50 คน และบางรายงานกล่าวว่าถึง 100 คน (11)

      ฮุร บินยะซีด อัรริยาฮี : ผู้บัญชาการทหารของกูฟะฮ์ที่ก่อนเหตุการณ์อาชูรอ เขาได้รับมอบหมายภารกิจพร้อมกับกองทัพจำนวน 1,000 คน ให้ออกไปสกัดกั้นกองคาราวานของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไม่ให้เดินทางเข้าสู่เมืองกูฟะฮ์ ขณะเดียวกันก็สกัดกั้นไม่ให้เดินทางกลับ ในวันอาชูรอหลังจากที่ฮุร บินยะซีด อัรริยาฮี ได้เห็นแล้วว่า กองทัพของชาวกูฟะฮ์ยืนที่จะสังหารท่านอิมามฮุเซน (อ.) เขาจึงตัดสินใจแปรพรรคเข้าสมทบกับกองทัพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เขามองเห็นตัวเองอยู่ระหว่างนรกและสวรรค์ เข้าได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางสู่สวรรค์ ด้วยการเป็นชะฮีดในทางของท่านอิมามฮุเซน (อ.)

     ในขณะที่สงครามกำลังจะเริ่มต้นขึ้นนั้น ฮุรไม่ลังเลอีกต่อไปที่จะรีบรุดเข้าสมทบกับกองทัพของท่านอิมาม (อ.) เขาได้กล่าวขึ้นว่า :

إنّي والله أخيّر نفسي بين الجنّة والنار، ووالله لا أختار على الجنّة شيئاً، ولو قطّعت وحرّقت

“แท้จริงขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ฉันเห็นตัวเองกำลังเลือกระหว่างสวรรค์และนรก และขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ฉันจะไม่เลือกสิ่งใดเหนือสวรรค์อย่างแน่นอน แม้ว่าฉันจะถูกสับเป็นชิ้นๆ และถูกเผาทั้งเป็นก็ตาม”

      จากนั้นเขาได้ควบหม้าของเขาเข้าสมทบกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) (12)

      ในบางรายงานได้กล่าวว่า เขาได้ขึ้นขี่ม้าและนำพาตัวเองไปยังท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในสภาพที่วางมือไว้บนศีรษะ ร่ำไห้และกล่าวว่า :

اللهُمَّ إليك أُنيبُ، فتُبْ عليَّ، فقد أرعبْتُ قلوبَ أوليائكَ وأولادِ بنتِ نبيِّك

“โอ้อัลลอฮ์! ข้าพระองค์ขอสารภาพผิดต่อพระองค์ ดังนั้นได้โปรดรับการสารภาพผิดของข้าพระองค์ด้วยเถิด เพราะแท้จริงข้าพระองค์ได้ทำให้หัวใจของบรรดาเอาลิยาอ์ (ผู้เป็นที่รัก) ของพระองค์ และลูกๆ ของบุตรีของศาสดาของพระองค์หวาดกลัว” (13)

      เขาได้มาหยุดอยู่เบื้องหน้าท่านอิมามฮุเซน (อ.) และประกาศการเตาบะฮ์ (สารภาพผิด) ของตน โดยกล่าวว่า :

إنّي قد جئتك تائباً ممّا كان منّي إلى ربّي، ومواسياً لك بنفسي حتّى أموت بين يديك، أفترى ذلك لي توبة؟

"แท้จริงข้าพเจ้ามายังท่านในสภาพของผู้สารภาพผิดต่อพระผู้อภิบาลของข้าพเจ้าในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจากตัวข้าพเจ้า และมอบชีวิตของข้าเจ้าให้แก่ท่าน จนกว่าข้าพเจ้าจะตายลงเบื้องหน้าท่าน ท่านเห็นว่าสิ่งนี้จะทำให้ข้าพเจ้าได้รับการเตาบะฮ์ (สารภาพผิด) หรือไม่?"

      ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวว่า :

نعم، يتوب الله عليك، ويغفر لك

"ใช่แล้ว! อัลลอฮ์จะทรงรับการสารภาพผิดของเจ้า และจะอภัยโทษให้แก่เจ้า" (14)

      ก่อนที่จะเริ่มทำการรบพุ่งนั้น เขาได้ทำการตักเตือน (นะซีฮัต) ประชาชน แต่แทนที่พวกเขาจะยอมรับคำตักเตือนต่างๆ ของฮุร พวกเขากลับยิงห่าธนูเข้าใส่เขา และไม่มีใครกล้าที่จะออกมาเผชิญหน้ากับเขา จนกระทั่งพวกเขาได้ฟันขาม้าของเขา และจากนั้นด้วยกับการรุมหมู่เข้าโจมตีทำให้พวกเขาสามารถสังหารฮุร จนเป็นชะฮีดได้ (15)

      ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวกับฮุร ก่อนจะสิ้นใจว่า :

أنت حرّ كما سمّيت في الدنيا والآخرة

“เจ้าคือเสรีชน (ฮุร) ทั้งในโลกนี้และในปรโลก สมดั่งที่แม่ของเจ้าได้ตั่งชื่อเจ้า” (16)


แหล่งที่มา

1)- อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 48

2)- อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 133

3)- บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 81 , หน้าที่ 173

4)- นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , จดหมายฉบับที่ 31

5)- อัลมุฟรอดาต , รอฆิบ อัลอิศฟะฮานี , หน้าที่ 323

6)- ซะฟีนะตุ้ลบิฮาร , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 129

7)- บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 71 , หน้าที่ 340

8)- บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 75 , หน้าที่ 121; อัลอิรชาด , เชคมุฟีด , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 99

9)- อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 48

10)- อัลลุฮูฟ , ซัยยิดอิบนิฏอวูซ , เล่มที่ 1, หน้าที่ 63 ; มะซีรุ้ลอะห์ซาน , อิบนุนะมา ฮิลลี , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 46 ; มักตัล อัลฮุเซน (อ.) , คอรัซมี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 15-16 ; อัลฟุตห์ , อิบนุอะอ์ซัม , เล่มที่ 5 ,          หน้าที่ 104

11)- อะชะร่อตุ้ลกามิละฮ์ , วะก๊อร ชีราซี , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 369

12)- ตารีค อัฏฏ็อบรี , เล่มที่ 4 , หน้าที่ 325

13)- มักตะลุลฮุเซน , มุก็อรร็อม , หน้าที่ 246

14)- อัลกามิล ฟิตตารีค , อิบนิอะซีร , เล่มที่ 4 , หน้าที่ 47 ; อัลลุฮูฟ , หน้าที่ 43

15)- อัลกามิล ฟิตตารีค , อิบนิอะซีร , เล่มที่ 4 , หน้าที่ 47 ; อัลลุฮูฟ , หน้าที่ 43

16)- อัลอามาลี , เชคซุดูก , หน้าที่ 223


แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม