วันที่ 6 ของเดือนมุฮัรรอม ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ นั้น เป็นวันครบรอบปีการเป็นชะฮีดของท่านศาสดายะห์ยา หรือจอห์น เดอะ แบ็ปติสต์ (อ.) ศาสดาผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งศาสดา (นุบูวะฮ์) ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก (ทารก) และในที่สุดท่านก็ถูกตัดศีรษะเช่นเดียวกัน โดยบุคคลที่ชั่วช้าสามาลย์ที่สุดและลุ่มหลงในโลกีย์แห่งวงศ์วานอิสราเอล
ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ท่านศาสดายะห์ยา (อ.) เป็นผู้ที่ความคล้ายคลึงกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) หลายประการ ซึ่งในที่นี้เราจะขอชี้ให้เห็นถึงบางส่วนของความคล้ายคลึงกันเหล่านั้น
ประการแรก-ชื่อของท่านทั้งสองไม่เคยถูกตั้งให้กับใครมาก่อน
ในอัลกุรอานบทมัรยัม ข่าวดีเกี่ยวกับการถือกำเนิดของท่านศาสดายะห์ยา (อ.) ถูกแจ้งแก่ท่านศาสดาซะกะรียา (อ.) ผู้เป็นบิดา โดยพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า
یَا زَکَرِیَّا إِنَّا نُبَشِّرُكَ بِغُلَامٍ اسْمُهُ یَحْیَى لَمْ نَجْعَل لَّهُ مِن قَبْلُ سَمِیًّا
“โอ้ซะกะรียาเอ๋ย! แท้จริงเราขอแจ้งข่าวดีแก่เจ้าถึงลูกคนหนึ่ง ชื่อของเขาคือยะห์ยา ซึ่งเราไม่เคยตั้งชื่อผู้ใดให้เหมือนกับเขามาก่อนเลย” (1)
เกี่ยวกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในฮะดีษคำรายงานบทหนึ่งได้กล่าวว่า ญิบรออีล (อ.) ได้ลงมาพบท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และกล่าวกับท่านว่า
إنَّ الله یَقرِءُ علیكَ السلامَ وَ یُبَشِّركَ بِمَولودٍ یولَدُ من فاطمَةَ تقتُلُهُ أُمتُكَ من بَعدِكَ
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงฝากสลามมายังท่าน และพระองค์ทรงแจ้งข่าวดีแก่ท่านถึงทารกน้อยผู้หนึ่งที่จะถือกำเนิดจากฟาฏิมะฮ์ โดยที่ประชาชาติของท่านจะฆ่าเขาภายหลังจากท่าน” (2)
ในตำราตัฟซีรมีซาน เล่มที่ 14 หน้าที่ 26 ได้กล่าวว่า ชื่อของบุคคลทั้งสองไม่เคยถูกตั้งให้ใครมาก่อนหน้านี้เลย บุคคลทั้งสองถูกตัดศีรษะเหมือนกัน เนื่องจากการปกป้องศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า และผู้ที่ฆ่าบุคคลทั้งสองเป็นลูกซินา (ลูกที่ถือกำเนิดจากการละเมิดประเวณีของผู้ให้กำเนิด) และภายหลังจากการถูกสังหารของบุคคลทั้งสอง เป็นเวลาสี่สิบวันที่ท้องฟ้ากลายเป็นสีแดงในช่วงที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและลับขอบฟ้า
ประการที่สอง ใบหน้าของบุคคลทั้งสองมีรัศมีเจิดจรัสและงดงาม
เกี่ยวกับท่านศาสดายะห์ยา (อ.) มีริวายะฮ์ (คำรายงาน) ได้กล่าวว่า
کان البیت یضییءُ بنورهِ
“บ้านจะสว่างไสวด้วยรัศมี (แห่งความงดงาม) ของเขา” (3)
เกี่ยวกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ฮิลาล บินนาเฟี๊ยะอ์ ได้กล่าวว่า : ข้ายืนอยู่กับทหารของอุมัร บินซะอัด ทหารคนหนึ่งตระโกนขึ้นว่า “โอ้อะมีร! ขอแจ้งข่าวดี ชิมร์ได้สังหารฮุเซนแล้ว” ฮิลาล บินนาเฟี๊ยะอ์ ได้เล่าต่อไปว่า ข้าได้แยกตัวออกไปจากกองทัพ และไปยืนอยู่ระหว่างสองกองทัพใกล้กับท่านฮุเซน (อ.) ในขณะที่วิญญาณกำลังจะออกจากร่างของท่าน
فوالله ما رايت قط قتيلا مضمخا بدمه احسن منه و لا انور وجها، و لقد شغلني نور وجهه و جمال هيبته عن الفكرة في قتله
“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! ฉันไม่เคยเห็นผู้ถูกสังหารคนใดที่กลิ้งเกือกอยู่กับกองเลือดของตนที่จะมีใบหน้าที่งดงามและมีรัศมีมากไปกว่าเขา รัศมีของใบหน้าของเขาและความงดงามแห่งความน่าเกรงขามของเขาทำให้ฉันลืมจากการคิดถึงการถูกสังหารของเขา” (4)
ประการที่สาม บุคคลทั้งสองถูกตัดศีรษะเหมือนกัน
ศีรษะของท่านศาสดายะห์ยา (อ.) ถูกนำไปมอบเป็นของกำนัลแก่ลูกซินา (ลูกนอกสมรส) จากวงศ์วานแห่งอิสราเอล และศีรษะของท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.) ก็ถูกนำไปมอบให้กับอินิซิยาดและยะซีด
ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้เล่าว่า : เราออกเดินทางไปพร้อมกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) มุ่งสู่แผ่นดินกัรบะลา ทุกๆ สถานที่ที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) หยุดพักหรือจะเดินทางออกจากมันนั้น ท่านจะพูดถึงศาสดายะห์ยา (อ.) และการถูกสังหารของท่าน โดยกล่าวว่า
من هوان الدنيا على الله إن رأس يحيى بن زكريا عليهما السلام اهدي إلى بغي من بغايا بني إسرائيل
“ส่วนหนึ่งจากความอัปยศของโลกนี้ ณ อัลลอฮ์ (ซบ.) ก็คือการที่ศีรษะของยะฮ์ยา บุตรของซักรียา (จอห์น เดอะแบ๊ปติสท์) (อ.) ถูกนำไปมอบเป็นของกำนัลแก่บุรุษผู้ชั่วช้าและเป็นผู้ละเมิดในกามแห่งวงศ์วานอิสรออีล” (5)
* ลักษณะการเป็นชะฮีดที่น่าเศร้าสลดของท่านศาสดายะห์ยา (อ.)
ในกรุงเยรูซาเล็ม (บัยตุ้ลมักดิส) มีกษัตริย์ผู้มักมากในกามผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า "เฮรอด" หรือ พระเจ้าเฮรอดมหาราช (Herod the Great) ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งมณฑลยูเดีย (Iudaea Province) ของจักรวรรดิโรมัน ภายหลังจากการตายของ “เจ้าชายฟิลิป” ผู้เป็นน้องชายของเขา เขาก็ได้แต่งงานกับภรรยาของน้องชายของเขา ซึ่งมีนามว่า “เฮโรเดียส”
กษัตริย์เฮรอดผู้ที่มักมากในกามผู้นี้ หลงรักลูกสาวของนาง “เฮโรเดียส” สตรีซึ่งมีความงดงาม ซึ่งก็เป็นบุตรีของน้องชายของเขา (ซึ่งเป็นหลานสาวแท้ๆ ของเขา) ด้วยความหลงใหลในความงามของนาง เขาจึงตัดสินใจที่จะแต่งงานกับนางถึงแม้จะเป็นลูกสาวของน้องชาย และเป็นลูกสาวของภรรยาของตนเองก็ตาม เมื่อข่าวนี้ล่วงรู้ไปถึงท่านศาสดายะห์ยา (อ.) (จอห์น เดอะแบ๊ปติสท์) ท่านศาสดายะห์ยา (อ.) จึงประกาศอย่างชัดเจนว่า การแต่งงานนี้ขัดต่อหลักคำสอนของคัมภีร์เตาร๊อต (โตราห์) และเป็นบาป (ฮะรอม)
คำฟัตวาหรือคำประกาศของท่านศาสดายะห์ยา (อ.) ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการตำหนิประณามบุคคลทั้งสองไปทั่วเมือง เมื่อข่าวดังกล่าวไปถึงหูของหญิงสาวผู้นั้น ทำให้นางเกิดความเครียดแค้นชิงชังท่านศาสดายะห์ยา (อ.) เนื่องจากตัวนางเองก็มีความปรารถนาที่จะเป็นภรรยาของพระเจ้าเฮรอดมหาราช (ลุงของตน) ด้วยเช่นกัน และถือว่าศาสดายะห์ยา (อ.) คืออุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นความปรารถนาของตน นางตัดสินใจที่จะหาทางแก้แค้นท่านในโอกาสอันเหมาะสม
ความสัมพันธ์ที่ต้องห้ามระหว่างหญิงสาวผู้นี้กับกษัตริย์เฮรอดผู้เป็นลุงของตนได้ขยายตัวมากขึ้น ความงดงามของนางทำให้กษัตริย์ผู้มักมากในกามผู้นี้เกิดความหลงใหลในตัวนางมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งหญิงสาวผู้นี้ได้มีอิทธิพลครอบงำเหนือกษัตริย์เฮรอด วันหนึ่งกษัตริย์เฮรอดได้กล่าวกับนางว่า “ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่เธอปรารถนา แน่นอนฉันจะทำให้เธอทุกอย่าง”
หญิงสาวผู้นี้จึงออกไปปรึกษาหารือกับนางเฮโรเดียสมารดาของนาง ซึ่งก็เป็นมเหสีของกษัตริย์เฮรอดนั้นเอง นางถามผู้เป็นมารดาว่า “ลูกจะขออะไรดี” มารดาตอบว่า “จงขอศีรษะของจอห์น เดอะแบ๊ปติสท์” นางกลับมาหากษัตริย์เฮรอดและกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่ต้องการสิ่งใดนอกจากศีรษะของยะห์ยา (จอห์น เดอะแบ๊ปติสท์) เพราะเขาทำให้ชื่อของฉันและท่านเป็นที่โจษขานในหมู่ประชาชน และทำให้ประชาชนตำหนิประณามเรา”
ในวันครบรอบปีแห่งการเฉลิมฉลองวันเกิดของกษัตริย์เฮรอดแห่งปาเลสไตน์นั้น ตามคำรายงาน (ริวายะฮ์) ส่วนหนึ่ง ท่านศาสดายะห์ยา (อ.) กำลังทำอิบาดะฮ์อยู่ในเมี๊ยะห์ร๊อบของมัสยิดในบัยตุ้ลมักดิส บรรดาทหารผู้เหี้ยมโหดได้มาหาท่าน จับกุมตัวท่านและนำตัวไปยังกษัตริย์เฮรอด
ณ ที่นั้นเองกษัตริย์เฮรอดได้บัญชาให้ตัดศีรษะท่าน และศีรษะของท่านก็ถูกวางลงในพานทอง แล้วนำไปมอบให้แก่สตรีผู้นั้น และสตรีผู้นั้นจึงถวายตัวเองตามความปรารถนาของกษัตริย์ และในช่วงเวลานั้นเองศีรษะของศาสดายะห์ยา (อ.) ได้พูดและทำการห้ามปรามความชั่ว โดยกล่าวกับกษัตริย์เฮรอดว่า
یا هذا اِتَّقِ اللهِ لا یحِل لكَ هذه
“โอ้กษัตริย์เอ๋ย! จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์เถิด สตรีผู้นี้ไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับเจ้า”
ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้เองที่ท่านศาสดายะห์ยา (อ.) ได้เป็นชะฮีดอย่างอธรรม (6)
แหล่งอ้างอิง :
[1] อัลกุรอานบทมัรยัม โองการที่ 7
[2] กามิลุซซิยาร๊อต, หน้าที่ 56, บาบที่ 16, ฮะดีษที่ 4
[3] บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 14, หน้าที่ 180, ฮะดีษที่ 17
[4] บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 57, หน้าที่ 45
[5] อัลอิรชาด, หน้าที่ 131 ; อัลมะนากิบ, อิบนิชะฮ์รอชูบ, เล่มที่ 3, หน้าที่ 253 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้าที่ 298 – 299 ; ตารีคอัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 230
[6] สรุปจากตารีค อัมบิยาอ์, อิมาดซอเดะฮ์, หน้าที่ 716 – 717
แปล/เรียบเรียง : ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center