ขณะที่มนุษย์ต้องการแก้ไขปัญหาหลักของโลกทัศน์และการรู้จักศาสนาแห่งสัจธรรม คำถามแรกที่เขาต้องประสบ คือ เขาจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีใด และจะรับรู้ถึงการรู้จักอันเป็นพื้นฐานหลักที่ถูกต้องได้อย่างไร มีแนวทางใดบ้างที่นำไปการรู้จัก และจะเลือกแนวทางเพื่อการรู้จักได้อย่างไร
การวิเคราะห์วิจัยโดยละเอียดเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวเป็นหน้าที่ของการรู้จักสาขาหนึ่งในปรัชญา หรือที่รู้จักกันในนามของ ญาณวิทยา (Epistemology) ซึ่งจะทำหน้าทีวิเคราะห์ประเภทต่าง ๆ ในการรู้จักมนุษย์ ลักษณะ หน้าที่ และระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนประเมินคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะขออธิบายบางประเด็นที่มีความสำคัญดังต่อไปนี้
ประเภทของการรู้จัก
การรู้จักรู้จักต่าง ๆ ของมนุษย์ในมุมมองหนึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน ดังนี้
1.การรู้จักโดยวิทยาศาสตร์และวิชาการ (ในความหมายที่เฉพาะเจาะจง) การรู้จักประเภทนี้ได้รับมาด้วยการช่วยเหลือประสาทสัมผัสทั้งห้า สติปัญญาเองก็มีบทบาทในเรื่องของวิทยาศาสตร์ไม่น้อย และยังช่วยส่งเสริมประสาทสัมผัสทั้งห้าอีกต่างหาก การรู้จักด้วยการทดลองในวิชาวิทยาศาสตร์ถูกใช้ประโยชน์อย่างมากในเรื่องของ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา
2.การรู้จักโดยสติปัญญา การรู้จักประเภทนี้เกิดจากความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่แยกตัวออกมาจากประเด็นหลักหรือที่เรียกว่า (เหตุผลในระดับรอง) พื้นฐานหลักของความเข้าใจ คือ สติปัญญา แม้ว่าบางครั้งประสาทสัมผัสและวิทยาศาสตร์จะเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ หรือบางครั้งอาจใช้การสุ่มตัวอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจก็ตาม ขอบข่ายของการรู้จักประเภทนี้ครอบคลุมวิชาด้านตรรกวิทยา วิทยาศาสตร์ ปรัชญา และคณิตศาสตร์
3.การรู้จักโดยการคิดพิจารณา การรู้จักประเภทนี้จะได้รับโดยอาศัยข้อมูลจากการรู้จักในประเภทที่แล้ว หรือโดยการบอกเล่าที่เป็นความสัจจริง หรือการยอมรับประเด็นเรื่องราวของศาสนาซึ่งบรรดาศาสนิกได้รับฟังมาจากบรรดาศาสดาหรือผู้นำของตน ซึ่งในบางครั้งความเชื่อมั่นในการรู้จักประเภทนี้มั่นคงยิ่งกว่าความเชื่อที่เกิดจากประสาทสัมผัสทั้งห้า หรือผลที่ได้จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์
4.การรู้จักที่เกิดขึ้นแบบอัชฌัตติกญาณ (รู้เอง) การรู้จักประเภทนี้แตกต่างไปจากประเภทอื่น ๆ ที่ผ่านมา กล่าวคือไม่ต้องผ่านสื่อและรูปใด ๆ เป็นความเข้าใจที่ปรากฏในปัญญาและย้อนไปยังตัวตนของความรู้ ความผิดพลาดไม่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะอธิบายในบทต่อไป
ประเภทของโลกทัศน์
จากการแบ่งการรู้จักที่ผ่านมา สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานในการแบ่งโลกทัศน์ได้เช่นกัน กล่าวคือ
1.โลกทัศน์ของความรู้ หมายถึงมนุษย์เป็นผู้ค้นคว้าหรือทดลองผ่านขบวนการวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้นได้ลงความเห็นและหาบทสรุปเกี่ยวกับความรู้นั้น
2.โลกทัศน์ของปรัชญา เป็นโลกทัศน์ที่ได้รับมาโดยผ่านขบวนการพิสูจน์ การค้นคว้าและความพยายามของสติปัญญา
3.โลกทัศน์ของศาสนา เป็นโลกทัศน์ที่ได้รับมาโดยความศรัทธาที่มีต่อบรรดาศาสดาและเหล่าผู้นำ พร้อมกับการยอมรับคำสอนของท่านเหล่านั้น
4.โลกทัศน์ของรหัสย เป็นโลกทัศน์ที่ได้รับมาโดยการตรัสรู้หรือการเกิดขึ้นโดยตรงในจิตด้านใน
บัดนี้ย่อมพบแล้วว่าปัญหาพื้นฐานของโลกทัศน์นั้นสามารถแก้ไขได้โดยแนวทางทั้งสี่ดังที่กล่าวมา และหลังจากนี้เป็นคราวของคำถามที่พิเศษกว่าที่จะร่วมกันพิจารณาต่อไป
ข้อท้วงติงและการวิเคราะห์
การรู้จักโดยผัสสะหรือวิทยาศาสตร์นั้น จะเห็นว่าอยู่ในวงจรที่มีความจำกัดอยู่ที่การปรากฏเป็นรูปร่างทางธรรมชาติ ซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถรู้จักรากแห่งโลกทัศน์ และแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโลกทัศน์ได้เด็ดขาด เนื่องจากปัญหาเหล่านี้อยู่นอกระบบของวิทยาศาสตร์ ประกอบกับไม่มีวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยกล่าวในเชิงของการยอมรับหรือปฏิเสธปัญหาดังกล่าว เช่น วิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าได้ด้วยการทดลอง หรือ (ขอพระองค์ทรงคุ้มครองให้ห่างไกล) ปฏิเสธการมีอยู่ของพระองค์อย่างสิ้นเชิง เพราะว่าวิชาการด้านวิทยาศาสตร์เป็นเพียงความรู้สึกในเชิงของผัสสะ มีขอบเขตของความรู้อยู่ในวงจำกัดไม่สามารถพิสูจน์สิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติ (Supernatural) หรือสิ่งที่เป็นอุตรภาพได้
ด้วยเหตุนี้ โลกทัศน์ของความรู้และวิทยาศาสตร์ (ตามนิยามที่กล่าวมา) เป็นเพียงภาพลวงตา มิสามารถพิสูจน์หรือเข้าใจโลกทัศน์แห่งพระเจ้าในความหมายที่ถูกต้องได้ อย่างมากก็รู้และเข้าใจเพียงโลกแห่งวัตถุเท่านั้น ซึ่งการรู้จักลักษณะนี้ไม่สามารถเป็นคำตอบให้แก่ประเด็นที่เป็นรากหลักของโลกทัศน์ได้แน่นอน
แต่การรู้จักที่ได้รับมาโดยการปฏิบัติตาม ดังที่กล่าวไปแล้วว่าอยู่ในส่วนของสาขาสำรองที่วางอยู่บนพื้นฐานของหลักการ หรือหลักฐานที่พิสูจน์แล้วว่าเชื่อถือได้หมายถึง อันดับแรกศาสดาหรืออิมามต้องได้รับการพิสูจน์ก่อนแล้วว่าสภาวะการเป็นศาสดาของท่านถูกต้องและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งก่อนหน้านั้นการมีอยู่ของผู้ประทานสาส์นหมายถึงพระเจ้าต้องได้รับการพิสูจน์ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นที่ชัดเจนโดยหลักการว่าการมีอยู่ของผู้ประทานสาส์น และผู้ถือสาส์นไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยสาส์นที่มีอยู่ เช่น ไม่สามารถกล่าวได้ว่า เนื่องจากอัล-กุรอาน กล่าวว่ามีพระเจ้า ดังนั้น พระองค์จึงมี แต่หลังจากพิสูจน์แล้วว่ามีพระเจ้าอยู่จริง มีศาสดา และอัล-กุรอานคือความสัจจริง สามารถยอมรับหลักศรัทธาข้อปลีกย่อยอื่น ๆ ตลอดจนบทบัญญัติในการปฏิบัติด้วยการอ้างไปยังข่าวที่เป็นความสัจจริง หรือแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ดังนั้น ประเด็นที่เป็นรากหลักของศาสนาต้องได้รับการพิสูจน์และคลี่คลายก่อนปัญหาอื่นใดทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ วิธีของการปฏิบัติตาม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอันเป็นรากหลักของโลกทัศน์ได้เช่นกัน
ส่วนแนวทางของรหัสยะมีคำพูดมากมายที่จำเป็นต้องกล่าวถึง
ประการแรก โลกทัศน์ คือ การรู้จักที่เกิดจากความเข้าใจของปัญญา แต่ในสาระของการรู้เองมิได้อยู่ในขอบข่ายของความเข้าใจด้วยปัญญา ดังนั้น การนำความเข้าใจลักษณะนี้สัมพันธ์ไปยังการรู้เอง เท่ากับเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
ประการที่สอง การอธิบายคำว่าการรู้เอง ในกรอบของภาษาหรือความเข้าใจต้องอาศัยสติปัญญาที่มีความรอบรู้พิเศษ หรือมีประสบการณ์อันยาวนานในการขวนขวายเกี่ยวกับปรัชญา ถ้านอกเหนือจากนี้แล้วไม่อาจเป็นไปได้ ดังนั้น บุคคลที่ไม่มีความคุ้นเคยกับหลักการดังกล่าว ถ้านำเอาสำนวนคำพูด ความเข้าใจ หรือความคล้ายเหมือนในวิชาการเหล่านี้ไปใช้ อาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หลงทางก็เป็นได้
ประการที่สาม มีหลายประเด็นเป็นความสัจจริงของการรู้เอง แต่กลับอธิบายในลักษณะของการจินตนาการและอรรถาธิบายด้วยสติปัญญาอันน้อยนิด ซึ่งแม้แต่ผู้บรรลุญาณ (อาริฟ) เองยังสับสนในคำอธิบายเหล่านั้น
ประการที่สี่ การได้รับความจริงซึ่งสติปัญญาได้อธิบายในนามของ โลกทัศน์ ในมุมมองของผู้ขัดเกลาและยกระดับจิตใจตน หรือการยอมรับแนวทางด้วยวิธีการพัฒนาจิตใจในเชิงปฏิบัติการ จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางทฤษฎีและประเด็นอันเป็นรากฐานสำคัญของโลกทัศน์ ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มต้นการขัดเกลาหรือพัฒนาจิตใจจำเป็นอย่างยิ่งต้องทำความเข้าใจกับทฤษฎีเหล่านี้เสียก่อน ขณะที่การบรรลุญาณ คือ ขั้นตอนหรือผลสรุปสุดท้าย ซึ่งพื้นฐานหลักของผู้บรรลุญาณ (อาริฟ) ที่แท้จริง คือ บุคคลที่เพียรพยายามในการเคารพภักดีต่อพระเจ้าด้วยความบริสุทธิ์ใจ และความเพียรพยายามดังกล่าววางอยู่บนการรู้จักพระเจ้าก่อนหน้าและการเชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์
บทสรุป
บทสรุปที่ได้รับจากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นคือ มีอยู่แนวทางเดียวที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับพื้นฐานหลักของโลกทัศน์อันกว้างไกลได้ คือ สติปัญญาและการคิดพิจารณาเท่านั้นเอง จากจุดนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า โลกทัศน์ที่แท้จริง ก็คือโลกทัศน์ของปรัชญานั่นเอง
แน่นอน สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การเฉพาะเจาะจงหลักการในการแก้ไขประเด็นเกี่ยวกับโลกทัศน์ไว้ที่สติปัญญา และจำกัดความรู้ของโลกทัศน์ไว้ที่โลกทัศน์ของปรัชญา มิได้หมายความว่าการที่มนุษย์จะได้รับโลกทัศน์ที่ถูกต้องจำเป็นต้องคลี่คลายประเด็นของปรัชญาทั้งหมด ทว่าเพียงพอแล้วแค่คลี่คลายบางประเด็นหลักของปรัชญาที่ใกล้เคียงกับสติปัญญา เพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าซึ่งถือว่าเป็นรากหลักของโลกทัศน์ แม้ว่าจะมีความต้องการความเจนจัดในความรู้เรื่องปรัชญา และความสามารถในการตอบคำถามและข้อสงสัยต่างๆ ก็ตาม
ทำนองเดียวกันการจำกัดความรู้ของการรู้จักต่างๆ อันเป็นประโยชน์สำหรับการคลี่คลายปัญหาหลักจะขึ้นอยู่กับการรู้จักของปัญญา แต่ก็มิได้หมายความว่าห้ามมิให้ใช้ประโยชน์จากวิชาการด้านอื่นเข้าคลี่คลายข้อสงสัย ทว่าการพิสูจน์ด้วยปัญญาส่วนใหญ่แล้วในเบื้องต้นสามารถใช้ประโยชน์จากวิชาการที่เป็นความรู้แบบรู้เอง หรือจากหลักการผัสสะ ตลอดจนหลักวิทยาศาสตร์ หรือการพิสูจน์ประเด็นรองด้านความศรัทธาสามารถใช้หลักการปฏิบัติตามได้ ซึ่งมาตรฐานของสิ่งเหล่านั้นได้รับการยืนยันด้วยอัลกุรอานและแบบฉบับที่เชื่อถือได้แล้ว
ในที่สุดหลังจากได้รับโลกทัศน์ที่ถูกต้องแล้ว ลำดับต่อไปสามารถก้าวไปสู่ขั้นตอนของการขัดเกลาและการยกระดับจิตใจ เพื่อไปสู่ขั้นของการประจักษ์แจ้ง ซึ่งในขั้นนี้จะพบว่าสิ่งต่างๆ ที่เคยพิสูจน์ด้วยสติปัญญาบัดนี้ท่านสามารถรู้เองโดยไม่ต้องผ่านสื่อใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า การบรรลุญาณ หรือการเข้าสู่ชั้นของอาริฟ
บทความ : อายะตุลลอฮ์ มิซบาฮ์ยัซดีย์
แปล : เชค ดร.มุฮัมมัดชะรีฟ เกตุสมบูรณ์
ที่มา : หนังสือบทเรียนหลักความศรัทธา
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center