วันที่ 24 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 10 มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์อิสลามเกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “มุบาฮะละฮ์” อันเป็นที่มาของการประทานโองการอัลกุรอาน โองการที่ 61 จากบทอาลิอิมรอน มุบาฮะละฮ์เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่พิสูจน์ถึงความประเสริฐและสถานภาพอันยิ่งใหญ่ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)
“นัจญ์รอน” เป็นเมืองหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในแผ่นดินฮิญาซ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเยเมน ในช่วงเริ่มแรกของอิสลาม ชาวเมืองนัจญ์รอนเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์ โดยมีความเชื่อว่า เยซูหรือศาสดาอีซา (อ.) คือบุตรของพระผู้เป็นเจ้า จนกระทั่งปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 10 ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ส่งคอลิด บินวาลิด ไปยังเมืองนัจญ์รอน เพื่อเรียกร้องเชิญชวนชาวเมืองนั้นมาสู่อิสลาม ประชาชนจำนวนมากได้ยอมรับศาสนาอิสลาม แต่มีประชาชาวเมืองจำนวนหนึ่งยังคงอยู่ในศาสนาคริสต์
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้เขียนสาสน์ฉบับหนึ่งส่งไปยังบรรดาผู้นำคริสเตียนแห่งนัจญ์รอน เมื่อพวกเขาได้รับสาสน์จากท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) พวกเขารู้สึกหวาดกลัว ภายหลังจากการปรึกษาหารือกันแล้ว พวกเขาได้ตัดสินใจส่งคณะบุคคลจำนวนหกสิบคน เดินทางไปยังนครมะดีนะฮ์ เพื่อพบกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ภายใต้การนำของบาทหลวงสามคนซึ่งมีนามว่า “อะฮ์ตัม” “อากิบ”และ “ซัยยิด”
เมื่อคณะของคริสเตียนชาวนัจญ์รอนมาพบกับท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้มีการสนทนาและโต้แย้งกันในเรื่องของหลักความเชื่อเกี่ยวกับเอกภาพ (เตาฮีด) ของพระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะในเรื่องของศาสดาอีซา (อ.) ซึ่งพวกเขาอ้างว่าเยซูหรืออีซา (อ.) เป็นบุตรของพระเจ้าเนื่องจากไม่มีบิดา
ในช่วงเวลานั้นเองท่านญิบรีล (อ.) จึงได้นำโองการลงมายังท่านศานทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เพื่อใช้เป็นหลักฐานตอบโต้พวกเขา โดยที่โองการอัลกุรอานได้กล่าว :
إِنَّ مَثَلَ عِيسَى عِندَ اللّهِ كَمَثَلِ آدَمَ خَلَقَهُ مِن تُرَابٍ ثِمَّ قَالَ لَهُ كُن فَيَكُونُ
“แท้จริงข้อเปรียบเทียบของอีซา ณ อัลลอฮ์นั้น เปรียบได้เช่นเดียวกับอาดัม พระองค์ทรงสร้างเขามาจากดิน หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงตรัสต่อเขาว่า จงเป็นเถิด แล้วเขาก็เป็นขึ้นมา”
(อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 59)
ท่านศาสนทูตแห่ง (ซ็อลฯ) ตอบโต้พวกเขาโดยอ้างหลักฐานถึงศาสดาอาดัม (อ.) ที่ไม่มีทั้งบิดาและมารดา จนทำให้ชาวคริสเตียนแห่งนัจญ์รอนไม่สามารถกล่าวโต้แย้งอะไรได้อีก ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) จึงเชิญชวนพวกเขาให้เข้ารับอิสลาม แต่พวกเขาก็ยังยืนกรานปฏิเสธ และในช่วงเวลานั้นเอง อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงประทานโองการลงมายังศาสดามุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) โดยมีความว่า :
فَمَنْ حَآجَّكَ فِيهِ مِن بَعْدِ مَا جَاءكَ مِنَ الْعِلْمِ فَقُلْ تَعَالَوْاْ نَدْعُ أَبْنَاءنَا وَأَبْنَاءكُمْ وَنِسَاءنَا وَنِسَاءكُمْ وَأَنفُسَنَا وأَنفُسَكُمْ ثُمَّ نَبْتَهِلْ فَنَجْعَل لَّعْنَةَ اللّهِ عَلَى الْكَاذِبِينَ
“ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) ภายหลังจากที่ความรู้ได้มายังเจ้าแล้ว เจ้าก็จงกล่าว (กับพวกเขา) เถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจะเรียกลูกๆ ของเราและลูกๆ ของพวกท่าน และเรียกบรรดาสตรีของเราและบรรดาสตรีของพวกท่าน และตัวของเราและตัวของพวกท่านมา แล้วเราก็จะวิงวอน โดยขอให้การสาปแช่งของอัลลอฮ์จงประสบแก่บรรดาผู้มดเท็จ”
(อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 61)
เมื่อโองการดังกล่าวถูกประทานลงมา ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) เสนอแนะให้ชาวคริสเตียนแห่งนัจญ์รอนทำการมุบาฮะละฮ์ (วิงวอนต่ออัลลอฮ์ให้สาปแช่งและลงโทษฝ่ายที่มิได้อยู่บนสัจธรรม) พวกเขายอมรับข้อเสนอดังกล่าว
ระหว่างการรอคอยเช้าของวันใหม่เพื่อเข้าสู่พิธีการ “มุบาฮะละฮ์” คณะของชาวคริสเตียนแห่งนัจญ์รอนมีการชุมนุมปรึกษาหารือกัน หัวหน้าบาทหลวงได้กล่าวขึ้นกับพวกเขาว่า “ในวันพรุ่งนี้ หากมุฮัมมัดนำสาวกของเขามาทำการมุบาฮะละฮ์กับพวกเรา เราก็จะทำมุบาฮะละฮ์กับเขา แต่หากการมุบาฮะละฮ์ของเขาได้นำเอาเครือญาติใกล้ชิดมาร่วมในการมุบาฮะละฮ์ นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า เขาคือศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง และเป็นผู้สัจจริงในคำกล่าวอ้างของตนเอง”
เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ชาวคริสเตียนแห่งนัจญ์รอนออกมายังสถานที่นัดหมาย และรอคอยการมาของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ทันใดนั้นพวกเขาก็เห็นท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) กำลังเดินทางมา โดยอุ้มเด็กน้อยคนหนึ่ง พร้อมกับจูงมือเด็กน้อยอีกคนหนึ่งมาด้วย โดยมีสตรีผู้หนึ่งและบุรุษอีกผู้หนึ่งเดินตามหลังท่านมา ในเวลานั้นท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับผู้ร่วมเดินทางมากับท่านว่า “เมื่อฉันวิงวอนต่ออัลลอฮ์ พวกเจ้าก็จงกล่าวคำว่า อามีน เถิด”
บรรดาบาทหลวงชาวนัจญ์รอน ได้สอบถามชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศอรจำนวนมากที่กำลังเฝ้ารอดูเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ว่า “บุคคลเหล่านี้มีสายสัมพันธ์ต่อมุฮัมมัดอย่างไร” พวกเขาตอบว่า “บุรุษผู้นั้นคือ อะลี อิบนิอบีฏอลิบ บุตรเขยของท่าน และสตรีผู้นั้นคือฟาฏิมะฮ์ บุตรีของท่าน ส่วนเด็กน้องสองคนนั้นคือ ฮะซันและฮูเซน บุตรของฟาฏิมะฮ์กับอะลี”
นักบวชชาวคริสเตียน เมื่อได้ยินคำตอบเช่นนั้นก็รู้สึกหวาดหวั่นและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก โดยที่หัวหน้าคณะของพวกเขาได้กล่าวขึ้นว่า “ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า ฉันเห็นใบหน้าของบุคคลเหล่านั้นแล้ว หากพวกเขาวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ภูเขาทั้งหลายถล่มลงมาราบเป็นหน้ากอง การวอนขอของพวกเขาก็จะไม่ถูกปฏิเสธ ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าทำการมุบาฮะละฮ์กับพวกเขาเลย มิเช่นนั้นพวกเจ้าจะพบกับความพินาศ และจะไม่มีคริสเตียนคนใดหลงเหลืออยู่บนหน้าแผ่นดินนี้อีกเลยจวบจนถึงวันกิยามัต (ปรโลก)”
พวกเขากล่าวกับท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ว่า “โอ้ อบุลกอซิมเอ๋ย! เราไม่ขอทำการมุบาฮะละฮ์กับท่านแล้ว ท่านจงนับถือศาสนาของท่าน และโปรดปล่อยให้พวกเราอยู่บนศาสนาของพวกเราต่อไปเถิด”
ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “หากพวกท่านไม่พร้อมที่จะมุบาฮะละฮ์กับเรา ก็จงยอมรับอิสลามเสียเถิด” หัวหน้าบาทหลวงกล่าวว่า “เราไม่ขอเข้ารับอิสลาม และพวกเราก็ไม่มีความสามารถที่จะทำสงครามกับพวกท่าน แต่พวกเราจะขอจ่ายเครื่องบรรณาการเหมือนกับบรรดาชาวคัมภีร์ทั้งหลาย” ท้ายที่สุดท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ก็ยอมรับข้อเสนอของพวกเขา
นั่นคือเรื่องราวโดยสรุปของเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ ซึ่งถูกบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ทุกเล่ม และในหนังสือที่สำคัญของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ก็อ้างอิงเรื่องราวนี้ไว้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น :
– ซอเอี๊ยะฮ์ มุสลิม เล่มที่ 7, หน้าที่ 120
– มุสนัด อะห์หมัด อิบนิฮัมบัล, เล่มที่ 1, หน้าที่ 185
– ตัฟซีร อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 3, หน้าที่ 195
– มุสตัดร็อก อะลัซ ซอฮีฮัยน์, เล่มที่ 3, หน้าที่ 150
– กิตาบ ดะลาอิลุลนุบูวะฮ์, ฮาฟิส อบูนะอีม, หน้าที่ 297
– ตัฟซี ฟัครุรรอซี, เล่มที่ 8, หน้าที่ 85
– ญามิอุลอุซูล, อิบนุอะซีร, เล่มที่ 9, หน้าที่ 470
– ตัซกิร่อตุลค่อวาซ, อิบนุเญาซี, หน้าที่ 17
– ตัฟซีร อัลญะวาฮิร, ฏ็อนฏอวี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 120
– ดะลาอิลุนนุบูวะฮ์, ฮาฟิซ อบูนุอัยม์ อิสฟะฮานี, หน้าที่ 297
– อัซบาบุนุซูล, วาฮิดี นัยซาบูรี, หน้าที่ 74
ในหนังสือ “มะฟาติฮุลญินาน” ของท่านเชคอับบาส กุมมี กล่าวว่า : ในวันนี้ก่อนที่ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) จะออกไปทำการมุบาฮะละฮ์ ท่านได้นำผ้าคลุมกาย (กิซาอ์) มาคลุมตัวท่าน และเรียกบุคคลทั้งสี่เข้ามาอยู่ใต้ผ้าคลุมนั้น และวิงวอนขอพรต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) จนเป็นที่มาของการประทานโองการอัลกุรอานที่รู้จักในนาม “อายะฮ์ อัตตัฏฮีร” ที่อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า :
إِنَّمَا يُرِيدُ اللَّهُ لِيُذْهِبَ عَنكُمُ الرِّجْسَ أَهْلَ الْبَيْتِ وَ يُطَهِّرَكمُْ تَطْهِيرًا
“อันที่จริงอัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะขจัดมลทินให้หมดไปจากพวกเจ้า โอ้อะฮ์ลุลบัยติ์ (ครอบครัวศาสดา) เอ๋ย! และจะทรงชำระพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”
(บทอะฮ์ซาบ โองการที่ 33)
และในวันเดียวกันนี้ที่ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี อิบนิอะบีฏอลิบ (อ.) ได้บริจาคทานแหวนของท่านให้แก่คนยากไร้ผู้หนึ่งในขณะรุกูอ์ และเป็นที่มาของการประทานโองการที่เรียกว่า “อายะฮ์ อัลวิลายะฮ์” ซึ่งอัลลอฮ์ทรงตรัสว่า :
إِنَّمَا وَلِيُّكُمُ اللَّهُ وَرَسُولُهُ وَالَّذِينَ آمَنُوا الَّذِينَ يُقِيمُونَ الصَّلَاةَ وَيُؤْتُونَ الزَّكَاةَ وَهُمْ رَاكِعُونَ
“อันที่จริง ผู้ปกครองของพวกเจ้ามีเพียงอัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ และบรรดาผู้ที่ดำรงนมาซ และพวกเขาบริจาคทาน (ซะกาต) ในขณะที่พวกเขาโค้ง
(รุกุฮ์)” (บทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 55)
เนื่องจากความจำกัดของบทความนี้ จึงไม่อาจนำรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้งสองมานำเสนอในที่นี้ได้ หากพี่น้องประสงค์สามารถค้นหาดูในหนังสือประวัติศาสตร์อิสลาม เช่น “มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) รัศมีนิรันดร” “ชำระประวัติศาสตร์อิสลาม” หรือ “อัลมุรอญิอาต” ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาไทยแล้ว
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center