หลังจากที่อิสลามได้มีความแข็งแกร่งขึ้นในนครมักกะฮ์ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ) ได้ส่งสาส์นไปยังผู้นำของบรรดารัฐบาลต่างๆ ของโลกและศูนย์กลางต่างๆ ทางศาสนา ท่านก็ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงบิชอปคริสต์ แห่งเมืองนัจญ์รอน และในจดหมายฉบับดังกล่าวท่านศาสดาได้เรียกร้องเชิญชวนชาวคริสต์ที่อาศัยอยู่ในเมืองนัจญ์รอนให้ยอมรับศาสนาอิสลาม
คริสเตียนได้ตัดสินใจที่จะส่งคนกลุ่มหนึ่งเพื่อเป็นตัวแทนของตนไปยังนครมะดีนะฮ์ เพื่อทำการสนทนากับท่านศาสดา และทำการพิจารณาตรวจสอบคำพูดต่างๆ ของศาสดาแห่งอิสลาม คณะผู้แทนชาวคริสต์แห่งนัจญ์รอนซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบุคคลมากกว่าสิบคนที่เป็นผู้อาวุโสของพวกเขาได้มาถึงนครมะดีนะฮ์ คณะผู้แทนได้ทำการสนทนากับท่านศาสดาแห่งอิสลามในมัสยิดมะดีนะฮ์ แต่พวกเขาไม่ยอมรับคำเชิญชวนและหลักฐานต่างๆ ที่เป็นสัจธรรมของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ยืนกรานในความถูกต้องของความเชื่อต่างๆ ของตนเอง ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตัดสินใจที่จะยุติปัญหาโดยวิธีการมุบาฮะละฮ์ (วิงวอนต่ออัลลอฮ์ให้สาปแช่งและลงโทษฝ่ายที่มิได้อยู่บนสัจธรรม)
ดังนั้นพวกเขาจึงได้ตกลงกันว่า วันรุ่งขึ้นทั้งหมดจะออกมาปรากฏตัวพร้อมเพียงกันนอกเมืองมะดีนะฮ์ ในบริเวณทะเลทรายเพื่อทำการมุบาฮะละฮ์กัน แต่เนื่องจากชาวคริสต์แห่งนัจญ์รอนได้เห็นความสัจจริงและความบริสุทธิ์ใจที่เต็มไปด้วยความกล้าหาญของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาผู้ร่วมทางของท่าน จึงเกิดความหวั่งเกรงและกลัวต่อโทษทัณฑ์ต่างๆ จากพระเจ้า และไม่พร้อมที่จะทำการมุบาฮะละฮ์ และขอประนีประนอมกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และพวกเขาได้ขอต่อท่านที่จะคงสภาพอยู่บนศาสนาของตนพร้อมกับยอมที่จะจ่ายเครื่องบรรณาการ และท่านศาสดาก็ยอมรับข้อเสนอของพวกเขา
ฮะดีษมุบาฮะละฮ์ ได้ถูกรายงานไว้ในแหล่งอ้างอิงต่างๆ ทางด้านฮะดีษ ตัฟซีร ประวัติศาสตร์และกะลาม ทั้งในฝ่ายชีอะฮ์และฝ่ายอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ตัวอย่างเช่นในแหล่งอ้างอิงของฝ่ายชีอะฮ์ ได้แก่ : อัลอามาลี , เชคฏูซี , หน้าที่ 271 ; อัลอามาลี , เชคซอดูก , หน้าที่ 618 ; อุยูน อัคบาร อัรริฎอ (อ.) , เชคซอดูก , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 85 ; บิฮารุ้ลอันวาร , อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี , เล่มที่ 21 , หน้าที่ 277 และ 354 และในแหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับฮะดีษของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ก็ได้รายงานฮะดีษบทนี้ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น : ซอเฮี๊ยะฮ์มุสลิม (ดู : ฮะดีษที่ 3) ; ซุนัน ติรมีซี (ดู : ฮะดีษที่ 3) ; มุสนัด อะห์มัด อิบนิฮัมบัล (ดู : ฮะดีษที่ 3) และอื่น ๆ และในแหล่งอ้างอิงทางด้านตัฟซีรของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ที่ได้รายงานฮะดีษนี้ไว้ ได้แก่ : ตัฟซีร อัฏฏอบารี , เล่มที่ 3, หน้าที่ 300 ; ตัฟซีรอบีฮาติม อัรรอซี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 667 ; ตัฟซีรบะห์รุลมุฮีด , เล่มที่ 2, หน้าที่ 502
ดังนั้นความเป็นมุตะวาติรของฮะดีษมุบาฮะละฮ์ในแหล่งอ้างอิงทางด้านฮะดีษของอะฮฺลิซซุนนะฮ์จึงเป็นที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ฮากิม นัยซาบูรี หนึ่งในนักวิชาการอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ได้กล่าวว่า :
وَ قَد تَواتَرتِ الأخبارُ فِى التَّفاسير عَن عَبدِ اللّهِ بنِ عَبّاسِ وَ غَيرِهِ أنَّ رَسولَ اللّهِ أخَذَ يَومَ المُباهَلَةِ بِيَدِ عَلىّ وَ حَسَنٍ وَ حُسَينٍ وَ جَعَلوا فاطِمَةَ وَراءَهُم، ثُمَّ قالَ : هؤُلاءِ أبناءُنا وَ أَنفُسُنا وَ نِساءُنا
“และแน่นอนยิ่ง มีคำรายงานต่างๆ ที่อยู่ในระดับมุตะวาติรในหนังสือตัฟซีรต่างๆ ที่รายงานมาจากอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาสและคนอื่นๆ ได้กล่าวว่า ในวันมุบาฮะละฮ์ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้จูงมือท่านอะลี ท่านฮะซันและท่านฮุเซน และได้ให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ เดินตามหลังพวกเขา จากนั้นท่านได้กล่าวว่า : บุคคลเหล่านี้คือ ลูกๆ ของเรา ตัวตนของเราและบรรดาสตรีของเรา ....” (2)
นอกจากนี้บรรดานักวิชาการอะฮ์ลิซซุนนะฮ์คนอื่น ๆ ได้กล่าวชัดว่าในโองการนี้ ท่านอิมามอะลีได้ถูกกล่าวถึงในนาม “ตัวตน” ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) :
نَقَلَ رُواةُ السيَرِ و نَقَلَةُ الأثَرِ لَم يَختَلِفوا فيهِ : أنّ النبىَّ صلى الله عليه و آله أَخَذَ بِيَدِ الحَسَنِ وَ الحُسَينِ وَ عَلىٍّ وَ فاطِمَةَ رضى اللّه عنهم ، ثُمَّ دَعا النَّصارى الذين حاجّوهُ إلَى المُباهَلَة
“บรรดานักรายงานชีวประวัติและฮะดีษได้อ้างรายงานโดยไม่มีความขัดแย้งกันเลยในเรื่องนี้ว่า : ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านฮะซัน ท่านฮุเซน ท่านอะลีและท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ร.ฎ.) ออกไป ต่อจากนั้นท่านได้เรียกร้องเชิญชวนชาวคริสต์ที่ได้โต้เถียงกับท่านไปสู่การมุบาฮะละฮ์” (3)
และแม้แต่อิบนุตัยมิยะฮ์ ผู้วางรากฐานแนวคิดซะละฟีและวะฮ์ฮาบีเอง ก็ยอมรับในเรื่องนี้ และเขาได้เขียนไว้เช่นนี้ว่า :
أمّا أخذُه صلى الله عليه و آله عليّا و فاطمةَ و الحسنَ و الحسينَ فى المباهلة فحديثٌ صحيح
"ส่วนการที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้นำท่านอะลี ฟาฏิมะฮ์ ฮะซันและฮุเซน ออกไปในการมุบาฮะละฮ์น้้น มันคือฮะดีษซอเฮียะห์" (4)
ดังนั้นข้อเคลือบแคลงสงสัยในความถูกต้อง (ซอเฮี๊ยะฮ์) ของฮะดีษมุบาฮะละฮ์จากฝ่ายอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ (บางคน) หรือการบิดเบือนมัน จึงเกิดจากความไม่รู้และความดื้อรั้น หรือความเกลียดชังที่มีต่ออะฮ์ลุลบัยติ์ของท่านศาสดา และไม่มีคุณค่าทางวิชาการแต่อย่างใด” (5)
การมุบาฮะละฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กับคริสเตียนแห่งนัจญ์รอน เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความสัจจริงของท่านศาสดาในสองด้าน ประการแรก เพียงแค่การเสนอให้มีการมุบาฮะละฮ์โดยท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยตัวของมันเองก็เป็นประจักษ์พยานถึงคำกล่าวอ้างนี้แล้ว เนื่องจากว่าบุคคลใดก็ตามตราบที่เขาไม่มีความเชื่อมั่นในความสัจจริงและความเป็นผู้อยู่ในสัจธรรมของตนเองแล้ว เขาย่อมไม่กล้าที่จะย่างก้าวเข้าสู่การกระทำนี้
ผลของการมุบาฮะละฮ์ เป็นสิ่งที่หนักหน่วงและน่ากลัวมาก และอาจถึงขั้นนำไปสู่การสูญเสียและการถูกทำลายล้างของฝ่ายที่เป็นผู้มดเท็จ อีกประการหนึ่ง การที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้นำเอาบรรดาบุคคลผู้เป็นที่รักที่สุดและเป็นหน่อเนื้อเชื้อขัยใกล้ชิดที่สุดของตนเองออกไปพร้อมกับตนในสนามของการมุบาฮะละฮ์นั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาอันแกร่งกล้าและความเชื่อมั่นสูงสุดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่มีต่อความสัจจริงและความเป็นสัจธรรมของคำเรียกร้องเชิญชวนของตน โดยที่ท่านไม่เพียงแต่นำตัวเองเข้าสู่การเผชิญหน้ากับภยันตรายอันใหญ่หลวงแต่เพียงลำพัง ทว่ายังได้นำพาครอบครัวของตนเข้าสู่สิ่งดังกล่าวอย่างองอาจกล้าหาญอีกด้วย
บรรดานักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน (มุฟัซซิรีน) และนักรายงานฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) ทั้งฝ่ายชีอะฮ์และซุนนี ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า โองการมุบาฮะละฮ์ได้ถูกประทานลงมาในเรื่องของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาบุคคลที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้นำออกไปพร้อมกับตนยังสถานที่นัดหมายนั้น มีเพียงหลานชายทั้งสองของท่านคือ ท่านฮะซันและท่านฮุเซน (อ.) และบุตรีของท่านคือท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และบุตรเขยของท่านคือท่านอะลี (อ.) เท่านั้น
ดังนั้นจุดประสงค์จากคำว่า «اَبْنائَنا» (ลูกๆ ของเรา) ในโองการนี้จึงเป็นท่านฮะซัน (อ.) และท่านฮุเซน (อ.) และจุดประสงค์จากคำว่า «نِساءَنا» จึงเป็นท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และจุดประสงค์จากคำว่า «اَنْفُسَنا» จึงเป็นท่านอะลี (อ.) เพียงเท่านั้น โองการนี้ยังยังได้ชี้ให้เห็นถึงจุดที่ละเอียดอ่อนที่ว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) อยู่ในฐานะตัวตน (นัฟซ์) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
วันที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ ) ได้ตัดสินใจทำการมุบาฮะละฮ์ ก่อนหน้านั้นท่านได้คลุมผ้าคลุมกาย (อะบา) ไว้บนไหล่ของตนและได้ให้ท่านอิมามอะลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน (อะลัยฮิมุสสะลาม) เข้าอยู่ภายใต้ผ้าคลุมกายนั้น และท่านได้กล่าวว่า :
اللَّهُمَ هَؤُلَاءِ أَهْلُ بَیْتِی وَ خَاصَّتِی فَأَذْهِبْ عَنْهُمُ الرِّجْسَ وَ طَهِّرْهُمْ تَطْهِیراً
"โอ้อัลลอฮ์ บุคคลเหล่านี้คืออะฮ์ลุลบัยติ์ของข้าพระองค์ และเป็นบุคคลพิเศษของข้าพระองค์ ดังนั้นได้โปรดขจัดมนทินออกไปจากพวกเขาและโปรดทำให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริงด้วยเถิด" (6)
ในช่วงเวลานั้นเองที่ญิบรออีลได้ลงมา และได้นำอายะฮ์อัตตัฏฮีรลงมาในเรื่องของบุคคลเหล่านี้ว่า :
إِنَّما یُریدُ اللَّهُ لِیُذْهِبَ عَنْکُمُ الرِّجْسَ أَهْلَ الْبَیْتِ وَ یُطَهِّرَکُمْ تَطْهیراً
"อันที่จริงอัลลอฮ์เพียงแต่ประสงค์ที่จะขจัดมนทินออกไปจากพวกเจ้า โอ้อะฮ์ลุลบัยติ์ (ของศาสดา) เอ๋ย และทรง (ประสงค์) ที่จะทำให้พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง" (7)
นัจญ์รอน แหล่งที่หมายของการมุบาฮะละฮ์
เหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ได้เกิดขึ้นระหว่างศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กับคริสเตียนแห่งนัจญ์รอนซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรืองในประเทศซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน คริสเตียนแห่งนัจญ์รอนเป็นชาวอาหรับที่มีความมั่งคั่งและความกระตือรือร้น และด้วยเหตุนี้เองเมืองนัจญ์รอนจึงถือได้ว่าเป็นฐานที่แข็งแกร่งของศาสนาคริสต์ เขตพื้นที่ส่วนที่น่าอยู่ที่สุดของเมืองนัจญ์รอนตั้งอยู่ในจุดพรมแดนระหว่างฮิญาซและเยเมนซึ่งประกอบไปด้วยเจ็ดสิบหมู่บ้าน พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดเดียวที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวคริสเตียนแห่งฮิญาซ โดยที่ประชาชนได้หันเหออกจากการเคารพบูชารูปเจว็ด ด้วยเหตุผลบางประการได้หันมาเลื่อมใสต่อแนวทางของศาสดาอีซา (อ.)
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้เขียนสาส์นและส่งผู้แทนของตนเองไปยังอาณาจักรและประเทศต่างๆ จำนวนมากมายโดยมีเป้าหมายที่จะประกาศสาส์นแห่งพระเจ้าและเรียกร้องเชิญชวนชาวโลกทั้งหลายมาสู่สัจธรรมและการศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว ทำนองเดียวกันนี้ท่านได้เขียนสาส์นฉบับหนึ่งส่งถึง “อบูฮาริษะฮ์” บิชอปแห่งนัจญ์รอน และในสาส์นฉบับนี้ท่านได้เรียกร้องเชิญชวนประชาชนชาวเมืองนัจญ์รอนมาสู่ศาสนาอิสลาม
รายละเอียดของสาส์นของศาสดา (ซ็อลฯ) ที่ส่งถึงบิชอปของคริสตชนแห่งเมืองนัจญ์รอนมีดังนี้ คือ :
بِسمِ إلهِ إبراهيمَ وَ إسحاقَ وَ يَعقوبَ ، مِن مُحَمَّدٍ النَّبِىِّ رَسولِ اللّهِ إلى اُسقُفِّ نَجرانَ وَ أَهلِ نَجرانَ : إن أسلَمتُم فَإِنّى أحمَدُ إلَيكُمُ اللّهَ إلهَ إبراهيمَ وَ إسحاقَ وَ يَعقوبَ . أمّا بَعدُ ، فَإِنّى أدعوكُم إلى عِبادَةِ اللّهِ مِن عِبادَةِ العِبادِ ، وَ أَدعوكُم إلى وِلايَةِ اللّهِ مِن وِلايَةِ العِبادِ ، فَإِن أبَيتُم فَالجِزيَةُ ، فَإِن أبَيتُم فَقَد آذَنتُكُم بِحَربٍ ، وَ السَّلامُ
“ด้วยพระนามของพระเจ้าของอิบรอฮีม (อับราฮัม) อิสหาก (อิสอั) และยะอ์กูบ (ยาโคบ) [นี่คือจดหมาย] จากมุฮัมมัด ผู้เป็นศาสดาและศาสนทูตของอัลลอฮ์ ที่ส่งถึงบิชอปแห่งนัจญ์รอนและชาวเมืองนัจญ์รอน : หากพวกท่านยอมรับอิสลาม ดังนั้นแท้จริงฉันจะสรรเสริญอัลลอฮ์ พระเจ้าของอิบรอฮีม อิสหากและยะอ์กูบร่วมเคียงกับพวกท่าน หลังจากนี้แท้จริงฉันขอเรียกร้องเชิญชวนพวกท่านออกจากการเคารพภักดีปวงบ่าวมาสู่การเคารพภักดีอัลลอฮ์ และฉันขอเรียกร้องเชิญชวนพวกท่านออกจากการยอมรับอำนาจการปกครอง (วิลายะฮ์) ของปวงบ่าวมาสู่การยอมรับอำนาจปกครองของอัลลอฮ์ แต่หากพวกท่านปฏิเสธ ดังนั้นพวกท่านจะต้องจ่ายเครื่องบรรณาการ แต่ถ้าหากพวกท่านปฏิเสธ (ที่จะจ่ายเครื่องบรรณาการ แน่นอนยิ่ง ฉันจะประกาศสงครามกับพวกท่าน” (8)
คณะผู้แทนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งเป็นผู้ถือสาส์นเชิญชวนสู่อิสลามของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ไปถึงยังเมืองนัจญ์รอนและได้มอบสาส์นดังกล่าวให้แก่บิชอปแห่งนัจญ์รอน และเขาได้จัดการประชุมปรึกษาหารือขึ้น หนึ่งในชาวคริสต์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดและมีความคิดอ่านที่รอบคอบได้กล่าวว่า : “เราได้ยินจากบรรดาผู้นำของเราอยู่เสมอว่า วันหนึ่งตำแหน่งศาสดาจะถูกถ่ายโอนจากลูกหลานของอิสหาก (อ.) ไปสู่ลูกหลานของอิสมาอีล (อ.) และไม่ใช่เรื่องห่างไกลที่มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งเป็นลูกหลานของอิสมาอีล (อ.) จะเป็นศาสดาที่ถูกสัญญาไว้” ด้วยเหตุนี้เองที่ประชุมปรึกษาหารือจึงลงความเห็นว่า ให้ส่งคณะผู้แทนของเมืองนัจญ์รอนกลุ่มหนึ่งไปยังนครมะดีนะฮ์ เพื่อว่าจากการติดต่อสัมพันธ์กับศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) อย่างใกล้ชิด จะทำให้สามารถตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ในความเป็นศาสดาของท่านได้
ในการสนทนากับคณะผู้แทนชาวนัจญ์รอนในนครมะดีนะฮ์ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้เรียกร้องเชิญชวนพวกเขามาสู่การเคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียว แต่พวกเขายืนกรานในคำกล่าวอ้างต่างๆ ของตน และถือว่าเหตุผลของความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์ (อีซา) คือการประสูติโดยปราศจากบิดา
ในช่วงเวลานั้นเอง ญิบรออีล ได้นำโองการลงมายังท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ว่า :
إِنَّ مَثَلَ عِيسَى عِندَ اللّهِ كَمَثَلِ آدَمَ خَلَقَهُ مِن تُرَابٍ ثِمَّ قَالَ لَهُ كُن فَيَكُونُ
“แท้จริงข้อเปรียบเทียบของอีซา ณ อัลลอฮ์นั้น เปรียบได้เช่นเดียวกับอาดัม พระองค์ทรงสร้างเขามาจากดิน หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงตรัสต่อเขาว่า จงเป็นเถิด แล้วเขาก็เป็นขึ้นมา”(9)
ในโองการนี้พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงอธิบายถึงความคล้ายคลึงกันในการถือกำเนิดของศาสดาอีซา (อ.) กับ ศาสดาอาดัม (อ.) โดยชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงสร้างอาดัม (อ.) จากดินด้วยเดชานุภาพที่ไร้ขอบเขตจำกัดของพระองค์โดยไม่มีทั้งบิดาและมารดา และถ้าหากการไม่มีบิดาคือหลักฐานพิสูจน์ถึงความเป็นบุตรของพระเจ้าแล้ว ดังนั้นอาดัม (อ.) ย่อมคู่ควรต่อตำแหน่งนี้มากกว่าอีซา (อ.) เนื่องจากเขาไม่มีทั้งบิดาและมารดา ดังนั้นการประสูติของอีซา (อ.) โดยปราศจากบิดานั้น ไม่อาจเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความเป็นพระเจ้าของเขาได้ แต่แม้จะมีการยกเหตุผลดังกล่าว พวกเขาก็ไม่ยอมรับ และพระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงบัญชาให้ศาสดาของพระองค์ทำการมุบาฮะละฮ์กับพวกเขา เพื่อทำให้สัจธรรมและความจริงเป็นที่ปรากฏชัดและทำให้ความมดเท็จถูกเปิดโปง
ก่อนที่จะลงโองการมุบาฮะละฮ์นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสเกี่ยวกับวิธีการถือกำเนิดของท่านศาสดาอีซา (อ.) ในหลายโองการ และได้ให้เหตุผลทางสติปัญญาและการพิสูจน์หลักฐานแก่ชาวคริสต์ และเรียกร้องให้พวกเขาใช้สติปัญญาในการพิจารณาตรึกตรองเรื่องราว ด้วยเหตุนี้เองในช่วงเริ่มแรกนั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้พยายามที่จะสร้างความเข้าใจให้แก่พวกเขาโดยอาศัยเหตุผลต่างๆ ที่ชัดเจนและหนักแน่น แต่เมื่อการให้เหตุผลต่างๆ ไม่อาจทำให้พวกเขาตระหนักและยอมรับและยังคงความดื้อรั้นและการต่อต้าน ท่านจึงเรียกร้องเชิญพวกเขาสู่การมุบาฮะละฮ์ โดยพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสในโองการที่ 61 ของอัลกุรอานบทอาลิอิมรอนว่า :
فَمَنْ حَآجَّكَ فِيهِ مِن بَعْدِ مَا جَاءكَ مِنَ الْعِلْمِ فَقُلْ تَعَالَوْاْ نَدْعُ أَبْنَاءنَا وَأَبْنَاءكُمْ وَنِسَاءنَا وَنِسَاءكُمْ وَأَنفُسَنَا وأَنفُسَكُمْ ثُمَّ نَبْتَهِلْ فَنَجْعَل لَّعْنَةَ اللّهِ عَلَى الْكَاذِبِينَ
“ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) ภายหลังจากที่ความรู้ได้มายังเจ้าแล้ว เจ้าก็จงกล่าว (กับพวกเขา) เถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจะเรียกลูกๆ ของเราและลูกๆ ของพวกท่าน และเรียกบรรดาสตรีของเราและบรรดาสตรีของพวกท่าน และตัวของเราและตัวของพวกท่านมา แล้วเราก็จะวิงวอน โดยขอให้การสาปแช่งของอัลลอฮ์จงประสบแก่บรรดาผู้มดเท็จ” (10)
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของอิสลามได้กล่าวว่า เมื่อประเด็นเกี่ยวกับการมุบาฮะละฮ์ได้ถูกนำเสนอ บรรดาผู้แทนชาวคริสต์แห่งนัจญ์รอนได้ขอประวิงเวลาจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เพื่อคิดใคร่ครวญในเรื่องนี้และขอคำปรึกษาหารือจากบรรดาแกนนำของตน
ผลของการปรึกษาหารือของพวกเขาซึ่งพิจารณาจากจิตวิทยาก็คือว่า พวกเขาได้ออกคำสั่งแก่หมู่ชนของตนว่า หากพวกท่านเห็นมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มาสู่การมุบาฮะละฮ์ด้วยความอึกกระทึกครึกโครมพร้อมกับหมู่ชนจำนวนมาก พวกท่านก็จงทำการมุบาฮะละฮ์กับเขาและอย่าได้หวั่นกลัว เพราะในกรณีเช่นนี้ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ในคำกล่าวอ้างของเขา เขาเพียงอาศัยจำนวนผู้คนและความอึกกระทึกครึกโครมเพื่อข่มขู่พวกเราให้กลัว แต่ถ้าหากเขามายังสถานที่นัดหมายพร้อมกับบุคคลจำนวนน้อยนิดและเป็นเครือญาติใกล้ชิดและลูกหลานที่มีอายุน้อยของตน ก็จงรู้ไว้เถิดว่าเขาคือศาสดาของพระเจ้า และจงหลีกเลี่ยงจากการมุบาฮะละฮ์กับเขา เพราะนั่นจะเป็นภยันตรายต่อพวกท่านเอง
เป็นไปตามข้อตกลงก่อนหน้านี้ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และคณะผู้แทนชาวคริตส์แห่งนัจญ์รอนได้ไปปรากฏตัว ณ สถานที่เพื่อทำการมุบาฮะละฮ์ ทันใดนั้นเองเมื่อคณะผู้แทนแห่งนัจญ์รอนได้เห็นว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้อุ้มท่านฮุเซน (อ.) และจูงมือท่านฮะซัน (อ.) และท่านอะลี (อ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ได้เดินเคียงข้างมากับท่าน และท่านได้กำชับพวกท่านเหล่านั้นว่า หากฉันขอดุดาอ์ พวกเจ้าก็จงกล่าวว่าอามีนเถิด ชาวคริสต์เมื่อได้เห็นสถานการณ์เช่นนี้ พวกเขาได้เกิดความหวั่นกลัวอย่างรุนแรง จากการที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้นำเอาบรรดาบุคคลผู้เป็นที่รักที่สุดและผู้ใกล้ชิดที่สุดของตนเข้ามาสู่สนามแห่งการมุบาฮะละฮ์ พวกเขาได้ประจักษ์ว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีศรัทธาที่มั่นคงแข็งแกร่งต่อคำกล่าวอ้างของตนเอง เพราะมิฉะนั้นท่านจะไม่นำพาบรรดาบุคคลผู้เป็นที่รักที่สุดของตนเข้ามาเผชิญกับอันตรายของโทษทัณฑ์จากพระเจ้าอย่างแน่นอน ดังนั้นพวกเขาจึงยับยั้งตนจากการมุบาฮะละฮ์และยอมที่จะประนีประนอม
เมื่อคณะผู้แทนแห่งนัจญ์รอนได้เห็นว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีความมุ่งมั่นที่จะทำการมุบาฮะละฮ์ พวกเขาก็รู้สึกหวั่นกลัวอย่างมาก อบูฮาริษะฮ์ซึ่งเป็นผู้ทรงความรู้ที่สุดและเป็นอาร์คบิชอปของแห่งนัจญ์รอนได้กล่าวว่า : "หากมุฮัมมัด (ซ็อลฯ ) ไม่ได้อยู่บนสัจธรรมแล้ว เขาย่อมไม่อาจหาญที่จะทำการมุบาฮะละฮ์เช่นนี้ หากเขาทำการมุบาฮะละฮ์กับเรา ก่อนที่ปีหนึ่งจะผ่านพ้นไปจากพวกเรา จะไม่มีคริสเตียนแม้แต่เพียงคนเดียวหลงเหลืออยู่ในหน้าแผ่นดินเลย” และในริวายะฮ์ (คำรายงาน) อีกบทหนึ่งได้กล่าวว่า : "ฉันได้มองเห็นใบหน้าทั้งหลาย ซึ่งหากพวกเขาวิงวอนขอจากพระเจ้าให้ทรงเคลื่อนภูเขาทั้งหลาย แน่นอนยิ่งว่ามันจะเคลื่อน ดังนั้นพวกท่านอย่าได้ทำการมุบาฮะละฮ์เลย เพราะมิฉะนั้นแล้วพวกท่านจะพินาศและจะไม่มีคริสเตียนคนใดหลงเหลืออยู่ในหน้าแผ่นดินเลย”
อบูฮาริษะฮ์ ผู้นำของคณะผู้แทนแห่งนัจญ์รอนได้เข้ามาพบกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และกล่าวว่า : “โอ้ท่านอบุลกอซิม! โปรดละวางจากการมุบาฮะละฮ์กับพวกเราเถิด และโปรดยอมรับการขอประนีประนอมจากพวกเราในสิ่งที่พวกเรามีความสามารถที่จะกระทำมันได้”
ดังนั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงยอมรับการขอประนีประนอมจากพวกเขา โดยที่ทุกปีพวกเขาจะต้องจ่ายส่วยเป็นเสื้อคลุมยาวจำนวนสองพันชุดและเสื้อคลุมแต่ละชุดนั้นจะมีราคาสี่สิบดิรฮัม (เหรียญเงิน) และหากมีสงครามเกิดขึ้น พวกเขาจะต้องให้ยืมเสื้อเกราะสามสิบชุด หอกสามสิบเล่มและม้าศึกสามสิบตัว อย่างไรก็ดีหลังจากที่คณะผู้แทนชาวคริสต์แห่งนัจญ์รอนเดินทางกลับไปไม่นานนัก ผู้นำชาวคริสต์สองคนก็ได้เดินทางมาพบท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อีกครั้งพร้อมด้วยของกำนัลต่างๆ และประกาศตนเข้ารับอิสลาม (11)
ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า พื้นฐานการมุบาฮะละฮ์ทั้งหมดได้ถูกจัดเตรียมขึ้น แต่เนื่องจากชาวคริสต์แห่งนัจญ์รอนได้เห็นความมั่นใจในตัวเองของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ทำให้พวกเขาเกิดความหวั่นกลัวและทำให้พวกเขายอมจำนนโดยไม่มีการมุบาฮะละฮ์และขอประนีประนอมกับท่าน และในประวัติศาสตร์อิสลามจึงไม่มีการมุบาฮะละฮ์ใดๆ เกิดขึ้น
เหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ มีประเด็นต่างๆ ที่สำคัญและควรคู่ต่อการพิจารณาและการใคร่ครวญ ประเด็นที่สำคัญที่สุดของเหตุการณ์นี้สามารถพิจารณาได้ดังต่อไปนี้ :
เหตุการณ์มุบาฮะละฮ์แสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้นำคริสเตียนแห่งนัจญ์รอน ก็เช่นเดียวกับผู้รู้คริสเตียนร่วมสมัยกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ ) คนอื่นๆ ที่ได้อ่านและรับรู้สัญลักษณ์ต่างๆ ของศาสดาท่านสุดท้ายจากบรรดาคัมภีร์แห่งฟากฟ้าของตน และพวกเขาเชื่อว่าสัญลักษณ์เหล่านั้นตรงกับตัวของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) อย่างสมบูรณ์ แต่เพื่อที่จะรักษาสถานภาพและตำแหน่งของตนในสังคมคริสเตียนเอาไว้ พวกเขาได้ทำการปกปิดสัจธรรม ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
الَّذِينَ ءَاتَيْنَاهُمُ الْكِتَابَ يَعْرِفُونَهُ كَمَا يَعْرِفُونَ أَبْنَاءَهُمْ وَ إِنَّ فَرِيقًا مِّنْهُمْ لَيَكْتُمُونَ الْحَقَّ وَ هُمْ يَعْلَمُونَ
“บรรดาผู้ที่เราได้มอบคัมภีร์ให้แก่พวกเขา พวกเขารู้จักเขา (มุฮัมมัด) ประดุจเดียวกับที่พวกเขารู้จักลูกๆ ของพวกเขาเอง และแท้จริงกลุ่มหนึ่งจากพวกเขาจะปกปิดสัจธรรม ทั้งๆ ที่พวกเขาก็รู้” (12)
ดังนั้นเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์นั้น ไม่เพียงแต่มีหลักฐานที่ทรงประสิทธิภาพและเหนือกว่าทุกประการที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความสัจจริงและความเป็นสัจธรรมของท่านศาสดา (ซ็อลฯ ) ที่มีเหนือศาสนาคริสต์แห่งเมืองนัจญ์รอนเพียงเท่านั้น ทว่ายังเป็นหลักฐานประการหนึ่งที่พิสูจน์ถึงความเป็นสัจธรรมของศาสนาอิสลามที่มีเหนือศาสนาคริสต์ทั้งหมดในตลอดทุกยุคสมัยจวบจนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (กิยามะฮ์)
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นับจากช่วงเวลาของเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ที่เกิดขึ้นในปีฮิจญ์เราะฮ์ศักราชที่เก้า จวบจนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีผู้รู้ชาวคริสต์คนใดเลยที่จะประกาศความพร้อมของตนในการทำมุบาฮะละฮ์กับชาวมุสลิม.
2 หลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่าอิสลามนั้นสนับสนุนการใช้เหตุผลและการประนีประนอม
ประเด็นสำคัญที่สองในเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ คือการพิสูจน์ให้เห็นว่า ศาสนาอิสลามนั้นสนับสนุนตรรกะ (การใช้เหตุผล) การประนีประนอมและสันติภาพ เรื่องราวของการมุบาฮะละฮ์ชี้ให้เห็นว่า ศาสนาอิสลามในการเผชิญหน้ากับอำนาจต่างๆ ของฝ่ายตรงข้ามของตนนั้น ในขั้นแรกพยายามที่จะใช้การเจรจา การอภิปรายและการใช้เหตุผลและหลักฐานเพื่อเรียกร้องเชิญชวนพวกเขามาสู่สัจธรรมเสียก่อน และในขั้นที่สอง หากพวกเขาเชื่อมั่นในพระเจ้า ก็ให้เรียกร้องพวกเขาไปสู่การมุบาฮะละฮ์ และการตัดสินของพระเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง และถ้าหากเขาปฏิเสธการมุบาฮะละฮ์ แต่ยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ของอิสลาม ก็ให้ลงนามสัญญาทางการเมืองกับพวกเขา
ฉะนั้นการที่อิสลามจะใช้กำลังในสนามรบนั้นจะเป็นเพียงขั้นสุดท้ายเพื่อทำลายปราการต่างๆ ที่ปิดกั้นการรับรู้และเสรีภาพทางความคิ
3. หลักฐานพิสูจน์ความเป็นสัจธรรมของแนวทางชีอะฮ์และความเหนือกว่าของอะฮ์ลุลบัยติ์ของท่านศาสดา
ในเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เพื่อที่จะอธิบายว่า «أبنائنا» (ลูกๆ ของเรา) และ «نسائنا» (บรรดาสตรีของเรา) และ «أنفسنا» (ตัวตนของเรา) ในโองการมุบาฮะละฮ์ว่าเป็นใครนั้น ท่านได้นำฮะซัน (อ.) ฮุเซน (อ.) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และท่านอิมามอะลี (อ.) ออกไปพร้อมกับตนเพื่อการมุบาฮะละฮ์ และเรียกบุคคลเหล่านี้ในนามอะฮ์ลุลบัยติ์ของตน การกระทำดังกล่าวนี้ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าของบุคคลเหล่านั้นที่มีต่อประชาชาติมุสลิมคนอื่นๆ โดยที่อะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) เองในฮะดีษต่างๆ จำนวนมาก เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงสถานภาพอันสูงส่งของตนเองได้อ้างโองการมุบาฮะละฮ์เป็นหลักฐาน
การมุบาฮะละฮ์ แสดงและพิสูจน์ให้เห็นว่าความมั่นคงและรากฐานของศาสนาอิสลามจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยกับสื่อแห่งอะลลุลบัยติ์ (อ.) ของท่านศาสดาและผู้ที่อยู่ภายใต้ผ้าคลุม (อัศฮาบุลกิซาอ์) และหากมิเช่นนั้นแล้วลำพังตัวของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เองก็สามารถทำการมุบาฮะละฮ์ได้และไม่จำเป็นที่จะต้องนำพาอะฮ์ลุลบัยติ์ของตนออกไปพร้อมกับตน
ในการโต้เถียงกับฮารูน อัรรอชีด ค่อลีฟะฮ์แห่งราชวงศ์อับบาซิยะฮ์นั้น ท่านอิมามมูซากาซิม (อ.) ได้อ้างอิงโองการมุบาฮะละฮ์เป็นหลักฐานเพื่อพิสูจน์ถึงความสัจจริงและความเป็นสัจธรรมของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) เรื่องราวมีดังนี้คือ :
ฮารูน อัรรอชีด ค่อลีฟะฮ์แห่งอับบาซิยะฮ์ได้ถามท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ว่า : “ท่านพูดได้อย่างไรว่า “พวกเราคือลูกหลาน (ซุรรียะฮ์) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)” ในขณะที่ท่านศาสดาไม่ได้ละทิ้งเชื้อสายคนใดจากตนเองไว้เลย? เนื่องจากเชื้อสายของคนเรานั้นจะมาจากบุตรชาย ไม่ใช่บุตรี และท่านเองก็เป็นลูกของลูกสาว (ท่านศาสดา) และลูกสาวนั้นไม่อาจสืบสายตระกูลได้”
ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้ตอบว่า : “... ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์ให้พ้นจากชัยฏอน (มารร้าย) ที่ถูกสาปแช่ง ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้เมตตายิ่ง ผู้ทรงปรานีเสมอ .... คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
وَمِن ذُرِّيَّتِهِ دَاوُودَ وَسُلَيْمَانَ وَأَيُّوبَ وَيُوسُفَ وَمُوسَى وَ هَارُونَ وَكَذَلِكَ نَجْزِى الْمُحْسِنِينَ وَزَكَرِيَّا وَيَحْيَى وَعِيسَى وَإِلْيَاسَ
“และจากลูกหลานของเขา (อิบรอฮีม) คือ ดาวูด สุไลมาน อัยยูบ ยูซุฟ มูซาและฮารูน และเช่นนั้นแหละที่เราได้ตอบแทนผู้ประพฤติดีทั้งมวล และซะกะรียา ยะห์ยา อีซาและอิลยาส” (13)
จากนั้นท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้ถามฮารูน อัรรอชีด ค่อลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ว่า : “บิดาของอีซา (อ.) คือใคร?” ฮารูนตอบว่า : “อีซาไม่มีบิดา” จากนั้นท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวว่า : “ดังนั้นทำนองเดียวกับที่อัลกุรอานได้สัมพันธ์ท่านศาสดาอีซา (อ.) ไปยังศาสดาอิบรอฮีม (อ.) โดยผ่านมารดา (พระนางมัรยัม) ทั้งๆ ที่ไม่มีบิดา ด้วยเหตุนี้เองเราก็ถูกสัมพันธ์ยังท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยผ่านมารดาของเราคือท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และทำนองเดียวกับที่อีซา (อ.) ถูกนับว่าเป็นลูกหลานของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) พวกเราก็ถูกนับว่าเป็นลูกหลานของศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ด้วยเช่นกัน”
จากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า : “จะให้ฉันยกหลักฐานอื่นอีกไหม?” ฮารูนกล่าวว่า : “จงกล่าวมาเถิด” ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) กล่าวว่า : “นี่เป็นพระดำรัสของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร” จากนั้นท่านได้อ่านโองการมุบาฮะละฮ์ว่า :
فَمَنْ حَآجَّكَ فِيهِ مِن بَعْدِ مَا جَاءكَ مِنَ الْعِلْمِ فَقُلْ تَعَالَوْاْ نَدْعُ أَبْنَاءنَا وَأَبْنَاءكُمْ وَنِسَاءنَا وَنِسَاءكُمْ وَأَنفُسَنَا وأَنفُسَكُمْ ثُمَّ نَبْتَهِلْ فَنَجْعَل لَّعْنَةَ اللّهِ عَلَى الْكَاذِبِينَ
“ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) ภายหลังจากที่ความรู้ได้มายังเจ้าแล้ว เจ้าก็จงกล่าว (กับพวกเขา) เถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจะเรียกลูกๆ ของเราและลูกๆ ของพวกท่าน และเรียกบรรดาสตรีของเราและบรรดาสตรีของพวกท่าน และตัวของเราและตัวของพวกท่านมา แล้วเราก็จะวิงวอน โดยขอให้การสาปแช่งของอัลลอฮ์จงประสบแก่บรรดาผู้มดเท็จ” (14)
และจุดประสงค์ของ "ลูกๆ ของเรา" ในโองการนี้ คือฮะซันและฮุเซน และจุดประสงค์ของ "บรรดาสตรีของเรา" คือฟาฏิมะฮ์ และจุดประสงค์ของ "ตัวตนของเรา" คืออะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ดังนั้นตรงข้ามกับจารีตประเพณีของญาฮิลียะฮ์ (ยุคอนารยะ) ที่จะถือว่าลูกผู้ชายเท่านั้นคือผู้สืบเชื้อสายของตน อิสลามได้ยกเลิกวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้องนี้ไปแล้ว และลูกของลูกสาวก็เป็นเชื้อสายของคนเราเช่นเดียวกับลูกของลูกชาย
ดังนั้น «أَبنائنا» (ลูกๆ ของเรา) คืออิมามฮะซันและอิมามฮุเซน (อ.) ก็ถือเป็นลูกหลานของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
4. หลักฐานพิสูจน์ความเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) และความเป็นผู้ปกครอง (วิลายะฮ์) ของอิมามอะลีสืบทอดต่อจากท่านศาสดา
อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับจากโองการมุบาฮะละฮ์ คือการพิสูจน์อำนาจการปกครอง (วิลายะฮ์) และความเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) ของท่านอิมามอะลี (อ.) ตัวอย่างเช่น วันหนึ่งมะอ์มูน คอลีฟะฮ์แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ได้ถามท่านอิมามริฎอ (อ.) ว่า : “ความประเสริฐที่ใหญ่ที่สุดของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน อะลี (อ.) ในคัมภีร์อัลกุรอาน คืออะไร?”
อิมามริฎอ (อ.) ได้ตอบว่า : ความประเสริฐที่โองการมุบาฮะละฮ์ได้ชี้ถึง โดยที่อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า :
فَمَنْ حَآجَّكَ فِيهِ مِن بَعْدِ مَا جَاءكَ مِنَ الْعِلْمِ فَقُلْ تَعَالَوْاْ نَدْعُ أَبْنَاءنَا وَأَبْنَاءكُمْ وَنِسَاءنَا وَنِسَاءكُمْ وَأَنفُسَنَا وأَنفُسَكُمْ ثُمَّ نَبْتَهِلْ فَنَجْعَل لَّعْنَةَ اللّهِ عَلَى الْكَاذِبِينَ
“ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) ภายหลังจากที่ความรู้ได้มายังเจ้าแล้ว เจ้าก็จงกล่าว (กับพวกเขา) เถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจะเรียกลูกๆ ของเราและลูกๆ ของพวกท่าน และเรียกบรรดาสตรีของเราและบรรดาสตรีของพวกท่าน และตัวของเราและตัวของพวกท่านมา แล้วเราก็จะวิงวอน โดยขอให้การสาปแช่งของอัลลอฮ์จงประสบแก่บรรดาผู้มดเท็จ” (15)
สืบเนื่องจากการประทานโองการนี้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เรียกท่านฮะซัน ท่านฮุเซน ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์และท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อะลัยฮิมุสสะลาม) และได้กำหนดบุคคลเหล่านี้ให้อยู่ในสถานะของลูกๆ และสตรีและตัวตนของท่านตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง
เป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีบ่าวของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) คนใดที่จะประเสริฐกว่าและมีเกียรติกว่าท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองผู้ที่อยู่ในฐานะตัวตน (นัฟซ์) ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) โดยพระบัญชาของอัลลอฮ์นั้นก็ย่อมไม่มีผู้ใดที่จะประเสริฐเหนือกว่าเขาด้วยเช่นกัน” (16)
ดังนั้นโองการมุบาฮะละฮ์ เคียงคู่กับการดำเนินการในทางปฏิบัติของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในการแนะนำท่านอิมามอะลี (อ.) ในฐานะตัวตน (นัฟซ์) ของท่านนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไม่มีซอฮาบะฮ์ (สาวก) คนใดที่จะมีความคู่ควรเหมาะสมต่อตำแหน่งผู้ปกครอง (คิลาฟะฮ์) สืบต่อจากท่านเหมือนดั่งท่านอิมามอะลี (อ.) ด้วยเหตุนี้เองในคำตอบที่มีต่อมะอ์มูนที่ถามว่า : “อะไรคือหลักฐานบ่งชี้ถึงความเป็นผู้ปกครอง (ค่อลีฟะฮ์) ของปู่ของท่าน (อะลี บินอบีฏอลิบ)?” ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้อธิบายถึงคำว่า «أَنْفُسَنَا» (ตัวตนของเรา) ในโองการมุบาฮะละฮ์ และท่านได้กล่าวว่า : “คำว่า «أَنْفُسَنَا» (ตัวตนของเรา) คือโองการที่สำคัญที่สุดที่ลงมาในเรื่องของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน อะลี (อ.)”
(1)- ฮะดีษมุตะวาติร คือ ฮะดีษที่มีผู้รายงานจำนวนมากในทุกชั้น และเป็นฮะดีษที่ถูกรายงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้รายงานในแต่ละชั้นได้รับการถ่ายทอดมาด้วยตัวเอง และเป็นไปไม่ได้ที่ผู้รายงานเหล่านั้นจะร่วมกันกล่าวเท็จ
(2)- มะอ์ริฟะตุ อุลูมิลฮะดีษ , หน้าที่ 50
(3)- อะห์กามุลกุรอาน , อัลญัศศ๊อด , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 290
(4)- มันฮาญุซซุนนะฮ์, เล่มที่ 7, หน้าที่ 123
(5)- ดู : ตัฟซีร อัลมีซาน , อัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอี , เล่มที่ 3, หน้าที่ 375
(6)- บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 35 , หน้าที่ 224 ; ชะวาฮิดุตตันซีล , ฮากิม อัซกานี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 56
(7)- อัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการที่ 33
(8)- ดะลาอิลุนนุบูวะฮ์ , บัยหะกี , เล่มที่ 5 , หน้าที่ 385 ; ตัฟซีรอิบนิกะซีร , เล่มที่ 3 , หน้าที่ 43
(9)- อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 59
(10)- อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 61
(11)- ตัฟซีร มัจญ์มะอุลบะยาน , อัลลามะฮ์ฏ็อบริซี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 310
(12)- อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 146
(13)- อัลกุรอานบทอัลอันอาม โองการที่ 84 – 85
(14)- อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 61
(15)- อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 61
(16)- บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 49, หน้าที่ 189
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center