ความประเสริฐของท่านอิมามฮูเซน บินอะลี (อ.)
ก่อนที่จะเข้าสู่คำอรรถาธิบายสุนทรพจน์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) มีสิ่งหนึ่งที่เราควรตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือต่างๆ ที่มีผู้เขียนขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการดำเนินชีวิตและการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮูเซน (อ.) หรือกล่าวถึงบุคลิกภาพอันยิ่งใหญ่ของท่าน มักจะเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของความประเสริฐ สภาวะทางจิตใจ สถานภาพทางศาสนาและสถานภาพทางสังคมของท่าน และมักจะมีฮะดีษและรายงานต่างๆ ซึ่งกล่าวถึงคุณลักษณะและความสำคัญของท่านมาประกอบ
สำหรับหนังสือเล่มนี้จะแตกต่างจากหนังสือที่ได้กล่าวมา โดยจะเปิดประเด็นเข้าสู่เนื้อหาหลักและสุนทรพจน์ต่างๆ ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ตั้งแต่แรก ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเปิดเล่มด้วยสุนทรพจน์บทหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงความประเสริฐอันชัดแจ้งที่สุดของท่านที่ว่า “แท้จริงเราคือครอบครัวแห่งศาสดา และเป็นแหล่งกำเนิดของสาส์นแห่งพระผู้เป็นเจ้า…”
และปิดท้ายด้วยคำกล่าวของท่านดังนี้ “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์คือผู้ทรงมีฐานะอันสูงส่ง ทรงมีพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่…”
นับว่าเป็นดุอาอ์ที่มีความซาบซึ้งที่สุดบทหนึ่งของท่าน และยิ่งไปกว่านั้น แต่ละหน้าของหนังสือเล่มนี้จะปรากฏสุนทรพจน์ต่างๆ ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) สำหรับผู้ที่มีหัวใจผูกพันต่อท่าน หนังสือเล่มนี้ก็คือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งเกี่ยวกับความประเสริฐของท่าน หากเราจะเรียกชื่อหนังสือเล่มนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “ความประเสริฐของฮูเซน อิบนิอะลี (อ.)” แทนชื่อ “สุนทรพจน์ของฮูเซน อิบนิอะลี” ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกประการใด
วาทะของท่านต่อผู้ครองนครมะดีนะฮ์
หลังจากที่มุอาวียะฮ์จบชีวิตลงในกลางเดือนเราะญับของปีฮิจญเราะฮ์ศักราชที่ 60 ยะซีดผู้เป็นบุตรชายก็ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ปกครองแทน และโดยไม่รอช้าเขาก็เริ่มเขียนจดหมายส่งไปยังบรรดาผู้ปกครองนครและหัวเมืองต่างๆ เพื่อแจ้งข่าวการตายของมุอาวียะฮ์และการขึ้นสู่ตำแหน่งการเป็นผู้ปกครองสืบต่อของตน ที่ได้รับการแนะนำและรับสัตยาบันจากประชาชนไว้แล้วตั้งแต่ยุคของบิดาของเขา (1) นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ผู้ปกครองเหล่านั้นดำรงตำแหน่งต่อไปอย่างเดิม
ยะซีดสั่งให้ผู้ปกครองเหล่านี้ติดตามให้ประชาชนให้สัตยาบันกับเขาอีกครั้งหนึ่ง จดหมายที่มีเนื้อหาดังกล่าวก็ได้มาถึงวะลีด บินอุตบะฮ์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ครองนครมะดีนะฮ์ตั้งแต่สมัยมุอาวียะฮ์เช่นกัน พร้อมกันนั้นก็มีจดหมายสั้นๆ อีกหนึ่งฉบับแนบมาด้วย ในจดหมายนั้นเน้นย้ำให้วะลีด บินอุตบะฮ์ เรียกร้องสัตยาบันจากบุคคลสำคัญๆ อีก 3 คน ที่ยังไม่พร้อมจะให้สัตยาบันแก่ยะซีดในสมัยของมุอาวียะฮ์ จดหมายนั้นมีความว่า
“จงทวงสัตยาบันจากฮูเซน อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร และอับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ อย่างเด็ดขาดและไม่มีข้อผ่อนปรนใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าพวกเขาจะให้สัตยาบัน”
ในคืนแรกที่จดหมายมาถึง วะลีด บินอุตบะฮ์ ได้เรียกตัวมัรวาน บินฮะกัม อดีตผู้ปกครองนครมะดีนะฮ์ในยุคของมุอาวียะฮ์มาเพื่อปรึกษาหารือ มัรวานเสนอว่าให้เชิญบุคคลทั้งสามมาพบโดยด่วน และให้สัตยาบันแก่ยะซีดก่อนที่ข่าวการตายของมุอาวียะฮ์จะแพร่กระจายไปยังผู้คนในเมือง วะลีดจึงรีบส่งม้าเร็วไปเชิญตัวบุคคลทั้งสามมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ถือว่าสำคัญขั้นคอขาดบาดตายสำหรับเขา ม้าเร็วได้มอบสาส์นแก่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ขณะที่ท่านกำลังสนทนาอยู่กับอิบนิซุบัยร์ ในมัสยิดของท่านรอซูลุลลอฮ์ (ซ็อลฯ)
อิบนิซุบัยร์ รู้สึกหวาดหวั่นต่อการเชิญโดยกะทันหันในยามวิกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง ส่วนท่านอิมามฮูเซน (อ.) นั้น ก่อนที่ท่านจะไปพบวะลีด ท่านได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้แก่อิบนิซุบัยร์ว่า “ฉันคิดว่าผู้ละเมิดแห่งบนีอุมัยยะฮ์ (หมายถึงมุอาวียะฮ์ บุตรของอบูซุฟยาน) ได้ถึงแก่ความตายแล้ว และเป้าหมายของการเชิญตัวเข้าพบในครั้งนี้ ก็คงมิใช่เพื่ออื่นใด นอกจากเป็นการเรียกร้องสัตยาบันให้แก่ลูกชายของเขา”
ตามรายงานของหนังสือ “มุซีรุล อะฮ์ซาน” ท่านอิมามฮูเซน (อ.) กล่าวเสริมอีกว่า “เพราะฉันได้ฝันเห็นเปลวเพลิงลุกโชนที่บ้านของมุอาวียะฮ์ และบัลลังก์ของเขาได้พังพินาศลง”
ขณะเดียวกันท่านอิมามฮูเซน (อ.) สั่งให้สาวกและเครือญาติใกล้ชิดที่สุดของท่าน 30 คน ให้เตรียมอาวุธและร่วมเดินทางไปกับท่าน และเตรียมพร้อมอยู่นอกที่ประชุม เพื่อปกป้องท่านหากมีเหตุจำเป็น แล้วเหตุการณ์ก็เป็นจริงดังที่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้คาดการณ์ไว้ หลังจากวะลีดแจ้งข่าวการตายของมุอาวียะฮ์แล้ว เขาก็พูดถึงการให้สัตยาบันต่อยะซีด
ท่านอิมามฮูเซน (อ.) กล่าวตอบไปว่า “สถานภาพอย่างฉันนั้น ไม่เหมาะสมที่จะให้สัตยาบันแก่ใครอย่างลับๆ และท่านก็เช่นกัน ไม่ควรพึงใจต่อการให้สัตยาบันเช่นนั้น ในเมื่อท่านจะเชิญชวนประชาชนชาวมะดีนะฮ์ทั้งหมดมาให้สัตยาบันต่อยาซีดใหม่อีกครั้งหนึ่ง เราก็ควรจะอยู่ในที่ชุมนุมนั้น และให้สัตยาบันพร้อมกับมุสลิมทั้งมวล นั่นหมายความว่าการให้สัตยาบันนี้มิใช่เป็นไปเพื่อความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ แต่ทว่าเป็นไปเพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชน จะต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยมิใช่ทำกันลับๆ”
วะลีดยอมรับข้อเสนอของท่านอิมามฮูเซน (อ.) เขาจึงมิได้ยืนยันที่จะเรียกร้องสัตยาบันจากท่านอิมามฮูเซน (อ.) ในคืนนั้น
เมื่อท่านอิมามฮูเซน (อ.) กำลังจะออกจากที่ประชุมนั้น มัรวาน บินฮะกัม ซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วย ได้ส่งสัญญาณกับวะลีดด้วยความหมายว่า หากเจ้าไม่สามารถเรียกร้องสัตยาบันจากฮูเซนในคืนนี้ ในที่ประชุมอันรโหฐานนี้ได้แล้ว เจ้าก็จะไม่สามารถบังคับให้เขามาให้สัตยาบันได้อีกเลย ดังนั้นจะมีอะไรดีไปกว่าที่จะทำให้เขาอยู่ในที่ประชุมนี้ต่อไปอีก เพื่อจะได้ให้สัตยาบันหรือไม่ก็จงตัดคอเขาเสียตามคำสั่งของยะซีด
เมื่อท่านอิมามฮูเซน (อ.) เห็นพฤติกรรมของมัรวาน ท่านจึงกล่าวว่า “โอ้บุตรของซัรกออ์ (2) เจ้าหรือว่าวะลีดกันแน่ที่จะสังหารฉัน เจ้ากำลังกล่าวเท็จและกำลังจะทำบาป”
แล้วท่านหันไปทางวะลีดแล้วกล่าวว่า “โอ้ อมีร แท้จริงเราคือครอบครัวแห่งท่านศาสดา และเป็นแหล่งกำเนิดของสาส์นแห่งพระผู้เป็นเจ้า ครอบครัวของเราคือสถานที่ไปมาหาสู่ของบรรดามลาอิกะฮ์ และเป็นสถานที่ลงมาของความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงให้อิสลามเริ่มต้นจากครอบครัวของเรา และด้วยครอบครัวของเราเช่นกันที่พระองค์ทรงทำให้อิสลามดำเนินไปสู่จุดหมาย ส่วนยาซีดคนที่เจ้าหวังจะให้ฉันให้สัตยาบันต่อเขานั้น คือผู้ที่เสพสุรา ผู้ที่ฆ่าสังหารชีวิตอันบริสุทธิ์ เขาคือผู้ทำลายบทบัญญัติต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ละเมิดและก่อการบาปอย่างเปิดเผยต่อหน้าประชาขน สมควรแล้วหรือทีสถานภาพอย่างฉันจะให้สัตยาบันต่อบุคคลที่ก่อการละเมิดและอธรรมเยี่ยงยาซีด และในสภาพการเช่นนี้เราจงดูกันต่อไปเถิด และจะได้ประจักษ์ว่า ใครคือบุคคลที่สมควรและเหมาะสมยิ่งต่อตำแหน่งแห่งการเป็นผู้ปกครองและเป็นผู้นำของประชาชน และใครคือผู้ที่เหมาะสมยิ่งต่อการให้สัตยาบันของประชาชน”
ด้วยเสียงอึกทึกในที่ประชุมของวะลีด พร้อมกับวาทะอันแข็งกร้าวของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ที่มีต่อมัรวาน ทำให้ผู้ติดตามของท่านตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับท่านอิมามฮูเซน (อ.) พวกเขาจึงกรูกันมายังท่าน ดังนั้นความหวังของวะลีดที่จะได้รับสัตยาบันจากท่านอิมามฮูเซน (อ.) และการยอมรับข้อเสนอต่างๆ ของท่านจึงหมดสิ้นไป ท่านอิมามฮูเซน (อ.) จึงออกจากที่ประชุมนั้นไป
บทสรุป
จากสุนทรพจน์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ข้างต้น ให้แง่คิดต่างๆ แก่เราดังนี้
การสนทนากันในครั้งนี้ ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้อธิบายให้เห็นจุดยืนของท่านอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องที่จะให้สัตยาบันแก่ลูกของมุอาวียะฮ์ รวมทั้งการยอมรับการปกครองอย่างเป็นทางการของเขา นอกจากท่านจะพรรณนาคุณลักษณะของครอบครัวของท่าน สถานภาพของท่าน ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเหมาะสมของท่านในการเป็นผู้นำและเป็นผู้ปกครองของประชาชาติแล้ว ท่านยังได้ชี้ให้เห็นข้อเสียของยะซีดซึ่งเป็นข้อบ่งบอกถึงความน่าตำหนิในการกล่าวอ้างตัวเป็นผู้นำ และแสดงให้เห็นความไม่เหมาะสมของเขาในการแอบอ้างดังกล่าวด้วย
ในการสนทนาครั้งนี้ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ชี้ให้เห็นสาเหตุแห่งการยืนหยัด และชี้ให้เห็นแนวทางแห่งอนาคตของท่านเองอย่างชัดเจน ท่านแสดงให้รู้ถึงการตัดสินใจของท่านก่อนที่จะได้รับจดหมายเชิญจากชาวกูฟะฮ์ ก่อนที่พวกเขาจะให้สัตยาบันต่อท่านเสียอีก เพราะคำสั่งของยาซีดที่ให้เรียกร้องสัตยาบันจากท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ไปถึงวะลีดก่อนที่ข่าวการตายของมุอาวียะฮ์จะล่วงรู้ถึงประชาชน หรือไม่ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกัน แต่การเชื้อเชิญจากชาวกูฟะฮ์นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้เปิดฉากต่อต้านอย่างกล้าหาญ โดยคัดค้านการให้สัตยาบันต่อยะซีด และการเคลื่อนขบวนมุ่งสู่นครมักกะฮ์ รายละเอียดของเรื่องนี้จะชี้แจงให้ชัดเจนในภายหลัง
กล่าวโดยสรุป แม้ว่าจะมีสาเหตุหลายประการที่นำไปสู่การยืนหยัดเพื่อต่อสู้ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) จนกระทั่งถึงการเป็นชะฮีดของท่าน แต่สาเหตุหลักแห่งการยืนหยัดของท่านก็คือ การโค่นล้มอำนาจหนึ่งซึ่งไม่เพียงแต่ปราศจากความเหมาะสมที่จะเป็นผู้ชี้ชะตากรรมของประชาชาติมุสลิมเท่านั้น ผลพวงของความไม่เหมาะสมนั้นยังทำให้ความอธรรมและความชั่วร้ายได้แพร่กระจายออกไป อีกทั้งยังฉุดประชาชาติอิสลามให้ตกต่ำและหลงทางอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลเหล่านี้ยังปรารถนาที่จะกำจัดขวากหนามและอุปสรรคของครอบครัวแห่งอบูซุฟยาน ในการต่อสู้กับอำนาจแห่งอิสลามและอัลกุรอานให้หมดสิ้นไป ซึ่งครั้งหนึ่งพวกเขาเคยพ่ายแพ้มาแล้ว ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงได้สวมอาภรณ์ของผู้ปกครองแห่งอิสลามเพื่อทำให้แผนการของตนบรรลุผล สำหรับการโค่นล้มอำนาจของยะซีดนั้น บางครั้งถูกอรรถาธิบายไว้ในวจนะของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ว่าเป็น “การกำชับในคุณธรรมความดีและการห้ามปรามความชั่ว”
ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ไม่เพียงแต่จะชี้แจงถึงจุดยืนดังกล่าวของท่านในที่ประชุมของวะลีดเท่านั้น แต่ท่านยังได้ตอกย้ำถึงจุดยืนดังกล่าวนี้อีกอย่างชัดเจนเป็นครั้งที่สองโดยไม่ปิดบังใดๆ เมื่อท่านได้เผชิญหน้ากับมัรวาน บินฮะกัม ศัตรูดั้งเดิมของครอบครัวแห่งท่านศาสนทูต และเป็นอดีตผู้ปกครองนครมะดีนะฮ์ในยุคสมัยของมุอาวียะฮ์ อีกทั้งเป็นผู้รับใช้เก่าแก่ของตระกูลอะมาวีย์ ซึ่งท่านจะได้รับทราบเรื่องนี้จากสุนทรพจน์ของท่านในหน้าต่อไป
คำตอบโต้ที่มีต่อ “มัรวาน บินฮะกัม”
จากหนังสือ “อัล ลุฮุฟ” และบันทึกจากนักประวัติศาสตร์อีกหลายท่านรายงานว่า เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้พบกับมัรวาน บินฮะกัม อีกครั้งหนึ่งนอกบ้านของท่าน มัรวานได้กล่าวว่า “โอ้ อบาอับดิลลาฮ์ ฉันเป็นผู้ที่มีความปรารถนาดีต่อท่าน และฉันมีข้อเสนอแนะประการหนึ่งสำหรับท่าน ซึ่งหากท่านยอมรับมันแล้วย่อมจะเป็นผลดีต่อตัวท่านเอง”
ท่านอิมามฮูเซน (อ.) กล่าวว่า “ข้อเสนอแนะของเจ้านั้นคืออะไร” เขาตอบว่า “ก็ดังที่วะลีด บินอุตบะฮ์ได้เสนอต่อท่านในที่ประชุมเมื่อคืนนี้ ท่านจงให้สัตยาบันต่อยาซีดเสียเถิด ซึ่งการกระทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อศาสนาและต่อดุนยาของท่าน”
ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้โต้ตอบข้อเสนอนั้นว่า “แท้จริงเราเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และยังพระองค์เท่านั้นที่เราคืนสู่ อิสลามจะต้องพบจุดจบเมื่อประชาชาติได้ถูกทดสอบด้วยผู้ปกครองเยี่ยงยะซีด แท้จริงฉันได้ยินจากท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ปู่ของฉันได้กล่าวว่า อำนาจการปกครองนั้นเป็นที่ต้องห้ามสำหรับวงศ์วานแห่งอบูซุฟยาน ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่พวกท่านพบเห็นมุอาวียะฮ์ขึ้นสู่มิมบัรของฉัน พวกท่านก็จงทะลวงท้องของเขาเสีย แล้วชาวมะดีนะฮ์ก็ได้เห็นเขาขึ้นสู่มิมบัรของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) แต่พวกเขาก็มิได้ทะลวงท้องมุอาวียะฮ์แต่ประการใด ดังนั้นอัลลอฮ์ (ซบ.) จึงทรงลงโทษพวกเขาด้วยยะซีดผู้ละเมิด (3) (ซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่ามุอาวียะฮ์)”
แนวทางในการต่อสู้ที่แตกต่างกันของบรรดาอิมาม (อ.)
ดังที่ได้ชี้แจงในคำอรรถาธิบายและบทสรุปที่ผ่านมา ทั้งจากคำกล่าวของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ที่ยกมานั้นเป็นที่ประจักษ์ว่า ท่านอิมาม (อ.) ได้ย้ำให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของท่านอย่างชัดแจ้งในการเผชิญหน้ากับรัฐบาลของยะซีด โดยการต่อสู้อย่างเปิดเผยตั้งแต่ในนครมะดีนะฮ์ นับแต่วันแรกของการปกครองของยะซีด ท่านยังคงดำเนินตามเจตนารมณ์ดังกล่าวต่อไปจนถึงวาระสุดท้าย
ท่านผู้อ่านควรจะสนใจต่อประเด็นหลัก ซึ่งเป็นประเด็นพื้นฐานเกี่ยวกับแนวทางในการเผชิญหน้า และแนวทางการต่อสู้ที่แตกต่างกันของบรรดาอิมาม (อ.) ต่อผู้มีอำนาจผู้กดขี่ นั่นคือ
การเผชิญหน้ากับผู้ปกครองที่อธรรมและชั่วร้าย และการต่อสู้กับระบบการปกครองต่างๆ ที่หลงผิดนั้น มิได้มีเฉพาะกับอิมามฮูเซน (อ.) เพียงผู้เดียวเท่านั้น ตรงกันข้าม บรรดาอิมามทุกท่าน ผู้เป็นสาเหตุแห่งการดำรงอยู่ และเป็นพลังในการพิทักษ์ปกป้องอิสลามในแต่ละยุคสมัยของท่านนั้น ท่านได้ต่อสู้และทำหน้าที่เป็นผู้นำของประชาชนเหมือนกัน เพียงแต่ในการเผชิญหน้าและต่อสู้กับบรรดาผู้ต่อต้านที่ถือเอาอิสลามเป็นเครื่องเล่นนั้น บรรดาอิมาม (อ.) จะแสดงออกมาในแนวทางที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์และโอกาสที่เหมาะสม คือ
การขัดขวางโดยไม่มีการต่อสู้
ในสถานการณ์ที่เงื่อนไขของสังคมที่มีแนวโน้มว่า การต่อสู้แบบเผชิญหน้ากับกำลังที่เป็นปึกแผ่นของฝ่ายศัตรูนั้นจะนำมาซึ่งความพ่ายแพ้และความพินาศอย่างแน่นอนคือประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ผลของการต่อสู้นั้นจะไม่มีประโยชน์อันใดต่ออิสลามเลย แม้จะเป็นผลในระยะยาวก็ตาม ตรงกันข้าม การต่อสู้นั้นอาจจะจบลงโดยที่จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้แก่ศัตรูยิ่งขึ้นในทุกๆ ด้าน
ในสถานการณ์เช่นนี้ บรรดาอิมาม (อ.) จะเลือกเอาการคัดค้านต่อต้านแบบไม่ใช้กำลังแทนการต่อสู้ด้วยกำลัง หมายความว่า จะไม่มีการปฏิวัติและการต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ในทางปฏิบัติก็คือการทำสงครามจิตวิทยาและการต่อสู้กับหน่วยงานต่างๆ ของผู้กดขี่อยู่ตลอดเวลา ด้วยการต่อสู้เช่นนี้เองที่เป็นผลให้เกิดการบีบคั้น การลิดรอนเสรีภาพ การจำคุก การวางยาพิษ และจบลงด้วยการเป็นชะฮีดของบรรดาอิมาม
รูปแบบต่างๆ ในการต่อต้านขัดขวางโดยไม่ใช้กำลังของท่านผู้นำอิสลามได้แก่ การห้ามและยับยั้งความสัมพันธ์และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของผู้ปกครอง แม้แต่การร้องเรียนหรือขอความเป็นธรรมจากศาลสถิตยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบการปกครองนั้น ก็เป็นที่ห้ามปรามจากบรรดาอิมามเช่นกัน
ตัวอย่างหนึ่งของการต่อสู่ในแนวทางดังกล่าวนี้คือ คำกล่าวของท่านอิมามมูซา บินญะอ์ฟัร (อ.) ที่มีต่อซ็อฟวาน ญะมาล ที่ได้ตกลงให้เช่าอูฐของตนทั้งหมดแก่ข้าราชสำนักของฮารูน รอชีด ผู้ปกครองที่กดขี่แห่งประวัติศาสตร์ เพื่อขนสัมภาระในการเดินทางไปทำฮัจญ์ ท่านอิมาม (อ.) ได้ห้ามปรามและตำหนิซ็อฟวานอย่างรุนแรง ซึ่งเขาก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของอิมาม (อ.) ถึงขนาดที่ตัดสินใจขายอูฐทั้งหมดไปก่อนที่จะถึงกำหนดเวลาสัญญาเช่าดังกล่าว และเรื่องนี้ก็มิได้พ้นไปจากสายตาของฮารูนแต่อย่างใด เขาจึงเรียกตัวซ็อฟวานเข้าพบและข่มขู่จะเอาชีวิตของเขา (4)
แนวทางการต่อต้านและขัดขวางโดยปราศจากการต่อสู้เช่นนี้ นอกจากจะเป็นเหตุให้อำนาจของรัฐสั่นคลอน เป็นการบั่นทอนความร่วมมือต่างๆ ต่อหน่วยงานของผู้ปกครองแล้ว ยังเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นการต่อต้านระบบการปกครอง ชี้ให้เห็นความเป็นรัฐบาลที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องอีกด้วย
อันที่จริงปฏิบัติการต่อต้านของบรรดาอิมามนั้น เป็นเหตุให้ประชาชนเข้าใจถึงธาตุแท้ของผู้ปกครอง เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การยืนหยัดต่อสู้โดยการใช้อาวุธนั่นเอง
การต่อสู้แบบใช้กำลัง
ในสถานการณ์ที่การยืนหยัดต่อสู้แบบใช้กำลังอาวุธเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับเงื่อนไขในขณะนั้น แม้ว่าจะหวังผลในระยะยาวก็ตาม บรรดาอิมาม (อ.) จะไม่นิ่งเฉย ท่านจะเข้าสู่สนามแห่งการต่อสู้ในทันที ในสถานการณ์เช่นนี้การใช้วิธีต่อต้านและขัดขวางแบบไม่ใช้กำลังก็ถือว่าเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงด้วย ดังคำอธิบายของท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) ว่า “เป็นการปฏิเสธต่อสิ่งที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงประทานลงมา”
แบบอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการต่อสู้ทั้งสองแนวทางดังกล่าว ได้นำมาแสดงแล้วในแนวทางการต่อสู้ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) เพราะในช่วงเวลา 10 ปี ตั้งแต่ฮิจญเราะฮ์ศักราชที่ 50 ถึงปีที่ 60 (ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮาซัน มุจญ์ตะบา (อ.) และการตายของมุอาวียะฮ์) ท่านใช้รูปแบบการต่อต้านโดยไม่ใช้กำลังต่อสู้ เช่นเดียวกับที่บรรดาอิมามท่านอื่นๆ กระทำ โดยพิจารณาตามเงื่อนไขและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น แต่หลังจากมุอาวียะฮ์ตายลง เงื่อนไขสำหรับการต่อสู้อย่างเปิดเผยและใช้กำลังได้เกิดขึ้น ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้เปิดฉากการต่อสู้และลุกขึ้นเผชิญหน้ากับยะซีดอย่างเปิดเผยโดยไม่รีรอ แม้ว่าจะมีการคัดค้านอย่างมากมายจากบรรดาสาวกและผู้คนของท่านก็ตาม
ด้วยจำนวนผู้คนเพียงเล็กน้อย แถมยังมีจิตใจที่รวนเร ซึ่งเรื่องนี้ท่านอิมาม (อ.) ก็ตระหนักเป็นอย่างดี แต่ท่านก็ได้ตัดสินใจเลือกเอาหนทางหนึ่งซึ่งจุดหมายปลายทางของท่านนั่นคือการเป็นชะฮีด ด้วยกับหนทางนี้แม้ว่าตัวท่านจะต้องตกเป็นเป้าแห่งลูกธนู คมหอกคมดาบ และเรือนร่างของท่านจะต้องถูกเหยียบย่ำไปด้วยกีบเท้าม้าจำนวนมากมายก็ตาม แต่ใช่ว่าเลือดอันบริสุทธิ์ของท่านจะหลั่งออกไปโดยไร้ประโยชน์หรือคุณค่า และการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ของบนีอุมัยยะฮ์ก็ไม่สามารถเบี่ยงเบนเรื่องราวเหล่านี้ได้ หรือสร้างความแปดเปื้อนให้แก่เป้าหมายและเจตนารมณ์ของท่านได้ ไม่ว่าจะใช้ความเพียรพยายามอย่างที่สุดก็ตาม
คำถามมีอยู่ว่า หากท่านอิมามฮูเซน (อ.) เลือกหนทางการต่อต้านแบบนี้ในสมัยของมุอาวียะฮ์ ในขณะที่เงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ เหมือนในเวลานี้ (ยุคของยาซีด) จะเหมาะสมหรือไม่ แน่นอน หากสถานการณ์เป็นเช่นนั้น การเผชิญหน้าของท่านกับมุอาวียะฮ์ก็จะออกมาในรูปแบบการเผชิญหน้าด้วยกำลังอาวุธ เช่นเดียวกับท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) บิดาของท่าน
ณ ฮะรอม (สถานที่ฝังศพ) ของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ)
หลังจากที่ท่านอิมาม (อ.) ออกมาจากที่ประชุมของวะลีด ท่านอิมามฮูเซนได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะยืนหยัดต่อสู้กับระบบการปกครองของยะซีดต่อไป แต่ไม่ใช่ในนครมะดีนะฮ์ ขบวนการของท่านจะเป็นการต่อสู้เคลื่อนไหวอย่างหาญกล้าและเป็นขบวนการที่เป็นนิรันดร์ ตามรายงานของแหล่งต่างๆ ทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ก่อนที่ขบวนการต่อสู้ของท่านอิมามจะเริ่มขึ้น ท่านอิมามได้ไปซิยารัต (เยี่ยมเยือน) ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ปู่ของท่านหลายต่อหลายครั้ง
ความเจ็บปวดที่มีอยู่ในจิตใจของท่าน ที่ท่านได้พรรณนาคร่ำครวญออกมาในขณะซิยารัตต่อท่านศานทูต (ซ็อลฯ) นั้นเราไม่สามารถรับรู้ได้ จะมีก็แต่เพียงเนื้อหาบางส่วนของการซิยารัตสองบทของท่านที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆ ทำให้เราทราบว่า ในการซิยารัตนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้อธิบายถึงสาเหตุในการตัดสินใจออกเดินทางของท่าน หลังจากการอ้างอิงตัวบทและคำอธิบายเนื้อหาของซิยารัตทั้งบทแรกในหน้านี้ และบทที่สองในหน้าถัดไปแล้ว เราจะพิจารณาข้อความสำคัญในซิยารัตทั้งสองบทนั้น
ตามที่ท่านคอตีบ คอวาริซมีย์ ได้รายงานไว้ว่า ในค่ำคืนนั้นหลังจากที่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ออกมาจากที่ประชุมของวะลีดแล้ว ท่านก็มุ่งตรงสู่ฮะรอมของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ท่านนั่งลงข้างหลุมฝังศพของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) แล้วกล่าวซิยารัตดังนี้
“ขอความศานติพึงมีแด่ท่าน โอ้ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ข้าพเจ้าคือฮูเซน บุตรของฟาฏิมะฮ์ ผู้ซึ่งเป็นบุตรของท่าน และเป็นบุตรชายแห่งบุตรีของท่าน ข้าพเจ้าคือส่วนหนึ่งจากร่างกายของท่าน ซึ่งท่านได้ให้การสืบทอดอำนาจการปกครองแก่ข้าพเจ้าในหมู่ประชาชาติของท่าน ดังนั้นโปรดเป็นประจักษ์พยานด้วยเถิด โอ้ท่านศานทูตแห่งอัลลอฮ์ว่า พวกเขาได้ทอดทิ้งข้าพเจ้า และพวกเขามิได้พิทักษ์ปกป้องข้าพเจ้าแต่ประการใด และนี่คือการร้องเรียนของข้าพเจ้าที่มียั้งท่านจวบจนกระทั่งการกลับไปพบกับท่านของข้าพเจ้า…” (5)
อีกครั้งหนึ่ง ณ ฮะรอมของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ)
หลังจากที่ท่านอิมาม (อ.) ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ในการเคลื่อนขบวนออกเดินทาง ในค่ำคืนต่อมาท่านก็ไปซิยารัตท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) อีกเป็นครั้งที่สอง ด้วยคำซิยารัตดังต่อไปนี้
“โอ้ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงนี่คือหลุมฝังศพของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ศาสนทูตของพระองค์ และข้าฯ คือบุตรชายแห่งบุตรีของศาสนทูตของพระองค์ ในขณะนี้มีปัญหาหนึ่งได้เกิดขึ้นกับข้าฯ ซึ่งพระองค์ทรงรอบรู้ดีในสิ่งนี้
โอ้ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงข้าฯ นั้นรักในคุณธรรมความดี และรังเกียจความชั่วร้าย และข้าฯ วอนขอต่อพระองค์ โอ้ผู้ทรงเกรียงไกร ผู้ทรงเผื่อแผ่ยิ่ง ด้วยเกียรติแห่งหลุมฝังศพนี้ และบุคคลที่อยู่ภายในนั้น ขอพระองค์ทรงเลือกทางเดินหนึ่งสำหรับข้าฯ ซึ่งเป็นแหล่งแห่งความพึงพอพระทัยของพระองค์ และเป็นความพึงพอใจสำหรับศาสนทูตของพระองค์” (6)
ตามรายงานของคอวาริซมีย์ ในค่ำคืนนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้ใช้เวลาของท่านอยู่กับการประกอบอิบาดะฮ์และวิงวอนต่อพระผู้อภิบาลจวบจนกระทั่งรุ่งเช้า จากการรำพึงรำพันและการวิงวอนของท่านในครั้งนี้ เสียงร่ำไห้และเสียงคร่ำครวญของบุตรชายแห่งอะลี (อ.) ผู้ทำการอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ในยามค่ำคืน และเป็นบุรุษแห่งสนามรบในยามกลางวัน ได้ดังแว่วไปถึงโสตประสาท
บทสรุป
ในการซิยารัตทั้งสองครั้งนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้ขีดเส้นทางเดินของท่านเอง และท่านได้ชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเคลื่อนขบวนของท่าน ดังที่เราได้เห็นจากการซิยารัตครั้งแรกของท่าน ภายใต้อำนาจและความยิ่งใหญ่ของระบบการปกครองของลูกหลานบนีอุมัยยะฮ์นั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้ประกาศให้รู้ในประโยคสั้นๆ ถึงการเตรียมพร้อมของท่านในการเป็นชะฮีด ด้วยคำกล่าวของท่านที่ว่า “นี้คือการร้องเรียนของข้าพเจ้าที่มีต่อท่าน จวบจนกระทั่งการกลับไปพบกับท่านของข้าพเจ้า…” ในการซิยารัตครั้งที่สองนั้น เป็นการกล่าวถึงปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้เกิดขึ้น อันเป็นปัญหาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสายตาของบุตรแห่งศาสนทูต มิใช่มุมมองของสามัญชนทั่วไป
คำพูดของท่านที่ว่า “บุตรของอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) มีความรักและความปรารถนาอย่างแรงกล้าต่อคุณธรรมความดีงาม และเกลียดชังความอธรรมและความชั่วร้ายทั้งปวง” จุดมุ่งหมายแห่งความรักและความเกลียดชังดังกล่าวที่เป็นสาเหตุแห่งความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ (ซบ.) และเป็นความชื่นชอบของท่านศาสนทูตของพระองค์ ก็คือการเตรียมพร้อมที่จะยอมรับสถานการณ์ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น ที่สามารถทำให้คุณธรรมความดีงามต่างๆ ปรากฏขึ้น และมีผลในการทำลายล้างรากเหง้าแห่งความชั่วร้ายและอธรรมทั้งมวล แม้ว่าจะต้องสละชีวิตและยอมพลีเลือดเนื้อของท่านเองก็ตาม
(โปรดติดตามต่อ ตอนที่ 2 ความรอบรู้ของท่านอิมาม ฮูเซน (อ.) ถึงเหตุการณ์ในอนาคต)
เชิงอรรถ :
(1) กรณีการให้สัตยาบันแก่ยะซีดที่มุอาวียะฮ์จัดขึ้น ถือเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อิสลาม มีอธิบายไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ “อัล ฆอดีร” เล่มที่ 10
(2) ซัรกออ์ เป็นยายของมัรวาน ซึ่งเป็นหญิงชั่วและเป็นหญิงโสเภณีในยุคของเธอ
(3) อัล ลุฮุฟ หน้า 20 ; มุซีรุล อะฮ์ซาน หน้า 10 ; มักตัล อาวาลิม หน้า 53 ; มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 185
(4) อัล มะกาซิบ ของเชคอันซอรีย์ หมวดว่าด้วยการต้องห้ามในการร่วมมือกับยาซีด
(5) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 186 ; มักตัล อาวาลิม หน้า 54
(6) อ้างอิงเล่มเดิม
ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮูเซน บินอะลี (อ.)
แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
จัดพิมพ์โดย : ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center