สาส์นของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
บทสรุปจากตอนที่แล้ว
จากคำตอบดังกล่าวของท่านอิมาม (อ.) ทำให้เราเข้าใจว่า ท่านอิมามมิได้ออกจากนครมะดีนะฮ์ด้วยเหตุผลของความหวาดกลัว หรือเป็นการหลบหนีแต่อย่างใด เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงแล้วท่านคงจะปฏิบัติตามคำแนะนำของสาวกของท่าน และใช้เส้นทางสายเล็กๆ มุ่งผ่านหุบเขาต่างๆ ไป เหมือนดังที่อับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์กระทำ แต่ตรงกันข้าม ท่านกลับเลือกเอาเส้นทางที่เป็นเป้าสายตาและเป็นที่รู้เห็นของประชาชนทั่วไป เพื่อให้บรรลุถึงคำสั่งอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ การต่อสู้กับการเป็นผู้ปฏิเสธของบนีอุมัยยะฮ์ “จนกว่าอัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงทำให้สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์นั้นบรรลุถึงจุดมุ่งหมาย” ดังนั้นท่านอิมาม (อ.) จึงมุ่งหน้าไปบนเส้นทางของท่านอย่างเป็นอิสระ และไม่รู้สึกสะทกสะท้านต่อสิ่งใด
คำตอบของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อ “อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร”
ขณะที่ท่านอิมาม (อ.) เข้าสู่นครมักกะฮ์ อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ได้อยู่ที่นั่นก่อนหน้าแล้ว เพื่อทำการค้าและอุมเราฮ์มุสตะฮับ เมื่อท่านอิมาม (อ.) มาถึง อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัรได้ตัดสินใจที่จะเดินทางกลับสู่มะดีนะฮ์ แต่ก่อนจะเดินทางกลับเขาได้เข้าพบกับท่านอิมาม (อ.) และเสนอให้ประนีประนอมและยอมให้สัตยาบันต่อยาซีดเสีย เขาเตือนให้ท่านอิมาม (อ.) เห็นถึงผลร้ายที่จะเกิดตามมาหากท่านต่อต้านยะซีดผู้ละเมิด รวมถึงการเข้าสู่สงครามด้วย (ดังรายงานของวาริซมีย์)
และเขายังกล่าวอีกว่า “โอ้ท่านอบาอัลดิลลาฮ์ ประชาชนได้ให้บัยอัต (สัตยาบัน) ต่อเขา ดิรฮัมและดีนารก็อยู่ในอำนาจของเขา ดังนั้นประชาชนจะต้องหันมาหาเขาอย่างแน่นอน และด้วยความเป็นศัตรูที่ครอบครัวของเขามีต่อท่าน ข้าพเจ้าเกรงว่าการขัดแย้งและการแสดงออกที่ต่อต้านเขา จะเป็นเหตุให้ท่านต้องถูกสังหาร แล้วมุสลิมกลุ่มหนึ่งก็จะกลายเป็นแพะรับบาปและถูกฆ่าตายในคราวนี้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ข้าพเจ้าเคยได้ยินจากท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) กล่าวว่า ฮูเซนจะถูกสังหาร หากประชาชนละทิ้งและหันห่างจากการช่วยเหลือเขา พวกเขาจะพบกับความต่ำต้อยและความไร้เกียรติ์ คำเสนอแนะของข้าพเจ้าที่มีต่อท่านก็คือ ท่านควรให้บัยอัต (สัตยาบัน) และยอมประนีประนอมต่อยะซีดเหมือนดังประชาชนทั้งหลายเถิด และท่านจงระวังการหลั่งเลือดของมุสลิม” (1)
โดยทั่วไปแล้วท่านอิมาม (อ.) จะพูดและให้คำตอบต่อประชาชนอย่างเหมาะสมและง่ายต่อความเข้าใจเสมอ ในการตอบข้อเสนอแนะของอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัรก็เช่นกัน ท่านได้กล่าวตอบไปว่า
“โอ้ อบาอับดิรเราะฮ์มาน เจ้าไม่รู้ดอกหรือว่า แท้จริงความอัปยศประการหนึ่งของโลกดุนยา ณ อัลลอฮ์ (ซบ.) ก็คือการที่ศีรษะของยะฮ์ยา บุตรของซักรียา (อ.) (จอห์น เดอะแบทติสท์) (2) ถูกนำไปมอบเป็นของกำนัลแก่บุรุษผู้ชั่วช้าและเป็นผู้ละเมิดในกามแห่งบนีอิสรออีล เจ้าไม่รู้ดอกหรือว่า การที่บนีอิสรออีลได้สังหารศาสนทูตแห่งพระผู้เป็นเจ้าเป็นจำนวนถึง 70 ท่าน เพียงช่วงระยะเวลาจากรุ่งอรุณถึงดวงอาทิตย์ขึ้น หลังจากนั้นพวกเขาก็ทำการซื้อขายกันในตลาดประหนึ่งว่าพวกเขานั้นมิได้กระทำความผิดใดเลย และอัลลอฮ์ (ซบ.) มิได้รีบเร่งในการลงโทษพวกเขา แต่พระองค์จะทรงประวิงเวลาสำหรับพวกเขา และจะทรงลงโทษพวกเขาภายหลังจากนั้น ด้วยการลงโทษของผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงทำการตอบสนอง”
หลังจากนั้นท่านอิมาม (อ.) กล่าวเสริมอีกว่า “โอ้ อบาอับดิรเราะฮ์มาน เจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และอย่าได้เมินเฉยต่อการเป็นผู้ช่วยเหลือฉัน”
ตามรายงานของเชคซุดูก (รฎ.) เมื่ออับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ไม่ได้รับผลจากการเสนอแนะของตนแล้ว เขาจึงกล่าวว่า “โอ้ ท่านอบาอับดิลลาฮ์ ก่อนที่ข้าพเจ้าจะจากไป ข้าพเจ้าปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะขออนุญาตจุมพิตท่าน ซึ่งท่านศาสนทูตได้ทำครั้งแล้วครั้งเล่า”
ท่านอิมาม (อ.) ดึงชายเสื้อของท่านขึ้น แล้วอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัรก็จุมพิตลงที่ทรวงอกของท่านถึงสามครั้งในสภาพที่ร่ำไห้ แล้วเขาก็กล่าวว่า “โอ้ ท่านอบาอับดิลลาฮ์ ข้าพเจ้าขอมอบหมายท่านยังอัลลอฮ์ (ซบ.) และข้าพเจ้าขอกล่าวคำอำลาต่อท่าน เพราะข้าพเจ้ารู้ว่าท่านจะต้องถูกสังหารในการเดินทางของท่านครั้งนี้อย่างแน่นอน” (3)
แผนการของ “อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร
เราจะมารู้จักโฉมหน้าที่แท้จริงและแผนการอันชั่วร้ายของอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ผู้ที่ทำทีเสนอแนะให้ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ปรองดองและยอมตามยะซีดบุตรของมุอาวียะฮ์ เขาแสดงออกต่อหน้าผู้อื่นด้วยการจูบบนอกของท่านอิมามฮูเซน (อ.) และร้องห่มร้องไห้ การกล่าวอ้างคำพูดของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ที่ว่า “พวกเขาจะสังหารฮูเซน ผู้ที่อยู่บนหนทางแห่งการปกป้องพิทักษ์อัลกุรอาน และบุคคลใดที่มิได้ให้การช่วยเหลือแก่เขา จะพบกับความต่ำต้อยและไร้เกียรติ”
ทั้งที่ท่านอิมาม (อ.) ได้บอกกล่าวแก่เขาด้วยคำพูดที่ชัดเจนว่า “โอ้ อบาอับดิรเราะฮ์มาน เจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์ และจงอย่าเมินเฉยต่อการช่วยเหลือฉัน” นอกจากว่าเขาจะไม่รีบเร่งในการให้ความช่วยเหลือต่อท่านอิมามแล้ว เขากลับมุ่งหน้าสู่มะดีนะฮ์ เมื่อไปถึงเขาก็ประกาศแสดงความจงรักภักดีต่อยาซีด นั่นคือ เขาได้เลือกการเป็นพลพรรคของมารร้ายแทนการเป็นพลพรรคของอัลลอฮ์ (ซบ.)
ใช่แล้ว! เราจะมารู้จักโฉมหน้าที่แท้จริงของอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัรให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่เราจะได้รู้จักโฉมหน้าของอับดุลลอฮ์ผู้กล่าวอ้างว่าเขาเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ (ซบ.) และบุคคลต่างๆ ในยุคสมัยของเราซึ่งมีอยู่อีกมากมายหลายคน ที่พวกเขาแสดงออกด้วยการร้องไห้เสียใจและโศกเศร้าต่อชะตากรรมของท่านอิมามฮูเซน (อ.) แต่แทนที่เขาจะให้ความช่วยเหลือต่อท่าน พวกเขากลับแอบซ่อนให้ความจงรักภักดีต่อบรรดายาซีดแห่งยุคสมัยของตน และบรรดาผู้ละเมิดทั้งหลาย
อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร กับการต่อต้านท่านอะมีรุลมุอ์มีนีน (อ.)
หลังจากการสังหารอุษมาน มุสลิมในมะดีนะฮ์ได้ให้สัตยาบันต่อท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) ด้วยความแน่วแน่และความเต็มใจ อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร เป็นหนึ่งในบุคคลเจ็ดคนที่ไม่พร้อมที่จะให้สัตยาบันต่อท่านอิมามอะลี (อ.) ข้ออ้างของเขาในการคัดค้านการให้สัตยาบันครั้งนั้นคือ “เมื่อใดก็ตามที่มุสลิมทั้งหมดให้สัตยาบัน ฉันก็จะทำตามเช่นกัน แต่ฉันจะต้องเป็นคนสุดท้ายที่จะให้สัตยาบันต่ออะลี”
มาลิก อัชตัร จึงกล่าวขึ้นว่า “โอ้ ท่านอมีรุลมุอ์มีนีน เพราะว่าเขาไม่มีความเกรงกลัวต่อคมดาบและแส้ของท่าน เขาจึงได้ยึดถือข้ออ้างเช่นนั้น ขอให้ท่านอนุญาตเถิด ข้าพเจ้าจะไปบังคับเขาเอง”
ท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) ตอบว่า “ฉันจะไม่บังคับบุคคลใดมาให้สัตยาบันต่อฉันอย่างเด็ดขาด จงปล่อยให้เขาเลือกเส้นทางเดินของเขาอย่างอิสระเถิด”
แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็นำข่าวมาแจ้งแก่ท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) ว่า อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ได้มุ่งสู่มักกะฮ์เพื่อโค่นล้มอำนาจการปกครองของท่าน เขาได้วางแผนการร้ายต่างๆ ต่อท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านอิมามจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งไปเพื่อยับยั้งความพยายามที่จะก่อการกบฏและทำลายล้างผู้ปกครอง ซึ่งในที่สุดอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัรก็กลับสู่นครมะดีนะฮ์ โดยไม่ประสบความสำเร็จในแผนการร้ายต่างๆ เหล่านั้น แต่เขาก็ไม่ยอมรับการปกครองของท่านอิมามอะลี (อ.) จนกระทั้งสิ้นยุคการปกครองของท่าน โดยมิได้ให้สัตยาบันต่อท่าน (4) แต่หลังการเป็นชะฮีดของท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) เขากลับให้สัตยาบันต่อมุอาวียะฮ์ และยอมรับระบบการปกครองของเขาได้อย่างเป็นทางการ
และนี่คือพฤติกรรมและโฉมหน้าที่แท้จริงของอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ที่มีต่อบุคคลผู้มีฐานะภาพอย่างเช่นท่านอะลี (อ.) และแสดงการต่อต้านรัฐบาลของท่าน แต่ในทางกลับกัน เขากลับยอมให้สัตยาบัน และยอมรับระบบการปกครองของมุอาวียะฮ์ได้อย่างเป็นทางการ
อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร กับการให้สัตยาบันต่อยาซีด
ในช่วงเวลาที่มุอาวียะฮ์ได้เรียกร้องสัตยาบันจากประชาชนให้แก่ยาซีดผู้เป็นลูกชายของเขา อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ได้เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มของบรรดาผู้ต่อต้านและคัดค้านการให้สัตยาบัน แต่ทว่าทั้งมุอาวียะฮ์และยาซีด มิได้มีความหวาดหวั่นต่อการต่อต้านคัดค้านดังกล่าวของเขา เพราะว่ามุอาวียะฮ์ได้สนทนากับลูกชายของเขาด้วยตนเอง เกี่ยวกับเรื่องราวของบรรดาผู้ที่ต่อต้านการให้สัตยาบันในครั้งนั้น โดยแสดงทัศนะเกี่ยวกับอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ว่า “สำหรับอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ถึงแม้ว่าเขาจะคัดค้านการให้สัตยาบันต่อเจ้า แต่หัวใจของเขานั้นอยู่กับเจ้า ดังนั้นเจ้าจงผูกมัดเขาไว้ และจงอย่าได้ละทิ้งเขา” (5)
บนพื้นฐานการมองการณ์ไกลของมุอาวียะฮ์ การต่อต้านการให้สัตยาบันของอับดุลลอฮ์อิบนิอุมัรที่มีต่อยาซีดนั้น มิเพียงแต่จะไม่เป็นอันตรายต่อยาซีดเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน เมื่อถึงเวลาหนึ่งมันจะกลับกลายมาเป็นการปกป้องและให้การค้ำจุนที่สำคัญที่สุดต่อเขา และในเวลาเช่นนั้นจำเป็นที่เขาจะต้องสวมใส่หน้ากากของการต่อต้านและการคัดค้านยาซีด และแสดงตนเชิงว่าปกป้องการยืนหยัดต่อสู้ของท่านฮูเซ็น บินอะลี (อ.) และในช่วงเวลานั้นเองที่เขาเชิญชวนท่านอิมาม (อ.) ให้กระทำการประนีประนอมเพื่อที่จะยังผลให้รัฐบาลของยาซีดเกิดความเข้มแข็งและมั่นคงขึ้นในที่สุด และเมื่อเขาต้องพบกับความผิดหวังจากแผนการดังกล่าว เขาจึงแสดงทีท่าในการอำลาอาลัยต่อท่านอิมาม (อ.) และแล้วเขาก็ได้มุ่งหน้าสู่นครมะดีนะฮ์ และจากที่นั่นเขาได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งส่งไปยังยาซีด บินมุอาวียะฮ์ เพื่อแสดงออกในการยอมรับรัฐบาลและการปกครองของเขาอย่างสุดชีวิตจิตใจ (6)
เขาได้ยืนหยัดอย่างหนักแน่นและมั่นคงต่อการให้สัตยาบันในครั้งนี้ถึงขนาดที่ว่า ภายหลังจากการเป็นชะฮีดของฮูเซ็น บินอะลี (อ.) เมื่อประชาชนชาวมะดีนะฮ์ลุกขึ้นต่อต้านยาซีดกันอย่างกว้างขวาง และขับไล่ผู้ปกครองของเขา เขาได้กล่าวปกป้องรัฐบาลของยาซีดด้วยคำพูดที่ว่า “ฉันได้รับฟังมาจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า ในวันกิยามะฮ์ทุกคนที่ทำลายสัญญา จะมีธง (สัญลักษณ์) อันหนึ่งถูกชักขึ้น ซึ่งมันจะเป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้ว่า เขาผู้นั้นคือผู้ทำลายล้างสัญญา”
อับดุลลอฮ์ กล่าวเสริมต่อไปว่า “ฉันไม่เห็นว่าจะมีการละเมิดและการบิดพลิ้วสัญญาใดๆ ที่จะร้ายแรงยิ่งไปกว่าการที่พวกเขาได้ให้สัตยาบันต่อบุคคลคนหนึ่ง และภายหลังได้ยืนหยัดต่อสู้และทำสงครามกับบุคคลผู้นั้น และด้วยเหตุนี้ หากฉันล่วงรู้ว่าบุคคลใดจากพวกเจ้าถอนตัวออกจากการให้สัตยาบันต่อยาซีดและปกป้องผู้ที่ต่อต้านเขา สายสัมพันธ์ของฉันและบุคคลผู้นั้นจะถูกตัดขาดทันที” (7)
อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร กับ ฮัจญาจ บินยูซุฟ
หลังจากยุคสมัยแห่งการปกครองของยาซีด บินมุอาวียะฮ์สิ้นสุดลง อับดุลมาลิก บินมัรวานได้ขึ้นสู่ตำแหน่งการเป็นผู้ปกครอง และเพื่อที่จะโค่นล้มอิบนิซุบัยต์ เขาได้ส่งฮัจญาจ บินยูซุฟไปยังนครมักกะฮ์ ขณะที่ฮัจญาจมาถึงนครมักกะฮ์ อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัรได้รีบเร่งไปหาฮัจญาจในยามค่ำคืนเพื่อให้สัตยาบันต่อเขา และเขาได้กล่าวว่า “โอ้ ท่านอมีร โปรดยื่นมือของท่านมาเถิด เพื่อที่ว่าข้าพเจ้าจะได้ให้สัตยาบันต่อท่านในฐานะผู้ปกครอง
อับดุลลอฮ์ได้กล่าวต่ออีกว่า “เพราะว่าข้าพเจ้าได้รับฟังมาจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า บุคคลใดก็ตามที่จบชีวิตลงในสภาพที่ไม่มีอิมาม (ผู้นำ) เขาได้จบชีวิตลงในสภาพโง่เขลา (ญาฮีลียะฮ์) และข้าพเจ้าเกรงว่าความตายจะมาประสพกับข้าพเจ้าในค่ำคืนนี้ และผลแห่งการไม่มีผู้นำ ข้าพเจ้าจะถูกรวมเข้าอยู่ในคำพูดของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และจะถูกนับว่าเป็นบุคคลหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ตายลงในสภาพของผู้โง่เขลา
เมื่อคำพูดของอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ดำเนินมาถึงตรงจุดนี้ ฮัจญาจจึงเอาเท้าของเขาออกมาจากผ้าคลุม พร้อมกับกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นเจ้าก็จงจูบลงบนเท้าของฉันแทนมือไปก่อนก็แล้วกัน” (8)
หมายความว่า “เจ้าซึ่งวันนี้ได้หยิบยกเอาฮะดีษของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ขึ้นมาให้แก่ฉันฟัง ดังนั้นทำไมในยุคของอะลี บินอบีฏอลิบ และในยุคของฮูเซ็น บินอะลี เจ้าจึงหลงลืมจากฮะดีษบทนี้เสียเล่า!”
และนี่คือความหมายของประโยคดังกล่าวที่อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัรเองได้อ้างรายงานจากท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ที่ว่า “การหลีกห่างออกจากการให้ความช่วยเหลือและการค้ำจุนฮูเซน (อ.) จะเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความตกต่ำและความไร้เกียรติ”
บทสรุป
นี่คือโฉมหน้าและรูปลักษณ์ที่แท้จริงของอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ซึ่งประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ให้เราได้รับรู้ เพื่อเราจะได้รู้จักกับโฉมหน้าของบรรดาอับดุลลอฮ์แห่งยุคสมัยของตน และรู้จักถึงเล่ห์เพทุบายของพวกเขา เพื่อที่ว่าเราจะได้หลีกห่างออกจากพวกเขา และประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้มันจะเป็นตัวย้ำเตือนบรรดาอับดุลลอฮ์แห่งยุคสมัยต่างๆ รวมทั้งบรรดาอับดุลลอฮ์แห่งยุคสมัยของเราให้ได้รู้ว่า หากพวกเขายังไม่พร้อมที่จะให้สัตยาบันต่ออะลี (อ.) อย่างสมัครใจ การกล่าวอ้างเหตุผลและข้อแก้ตัวที่ไร้สาระขึ้นมานั้น ก็จำเป็นที่พวกเขาจะต้องยอมรับการให้สัตยาบันต่อมุอาวียะฮ์อย่างสุดชีวิตจิตใจด้วย
และมาตรแม้นว่าความทะเยอทะยาน ความเย่อหยิ่งจองหอง ความโง่เขลาเบาปัญญาและความดื้อด้านของพวกเขา ยังคงหักห้ามพวกเขามิให้รีบเร่งทำการช่วยเหลือฮูเซน (อ.) แล้วไซร้ ดังนั้นจงรอคอยต่อไปเถิด วันหนึ่งซึ่งพวกเขาจะต้องมุ่งหน้าไปยังบ้านของบรรดาฮัจญาจทั้งหลายอย่างผู้อัปยศและไร้เกียรติ
พวกเขาเหล่านั้นจำเป็นต้องรับรู้ไว้ด้วยว่า หากอำนาจมืดของบนีอุมัยยะฮ์ที่ยังคงมีอยู่ ทำให้รู้จักอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ในฐานะของผู้หนึ่งที่ได้จดจำฮะดีษจำนวนมากมาย และเป็นผู้ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องของศาสนาโดยการโฆษณาชวนเชื่อและการป่าวประกาศของพวกเขา (9) เพื่อที่จะไปให้ถึงยังเป้าหมายต่างๆ ของพวกตน (นั่นคือการทำให้บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ต้องถอยร่นเข้าไปอยู่ในมุมอับ โดยปราศจากบทบาทใดๆ ในสังคม) และตัวของพวกเขาเองกลับยอมรับฐานภาพดังกล่าวด้วยความเต็มใจ ดังนั้นก็จำเป็นที่พวกเขาจะต้องก้มกรานลงจูบเท้าของมนุษย์ผู้โฉดชั่วและเป็นผู้ที่น่าขยะแขยงที่สุด เป็นการตอบแทนพฤติกรรมอันน่าเกลียดของพวกเขา การมีชีวิตอยู่ของพวกเขานั้นได้กลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์สำหรับบรรดามุอาวียะฮ์และบรรดายาซีดทั้งหลาย “นั่นเป็นความอัปยศสำหรับพวกเขาในโลกนี้ และสำหรับพวกเขาในวันปรโลกนั้นคือการลงโทษอันใหญ่หลวง”
ประเด็นสำคัญ
ในการสนทนาของท่านอิมามฮาซัน (อ.) กับอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร มีจุดที่น่าสนใจ 2 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 : ในคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ที่ท่านได้ย้ำเตือนให้รำลึกถึงการสังหารท่านศาสดายะฮ์ยา (อ.) ศีรษะของท่านถูกนำไปเป็นของกำนัลแก่อาชญากรผู้หนึ่ง มีรายงานว่าท่านอิมาม (อ.) กล่าวย้ำโศกนาฏกรรมที่แสนขมขื่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดเวลาในการเดินทางของท่าน แน่นอนเรื่องนี้มิได้ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยปราศจากเป้าหมายหรือจุดประสงค์ ความคล้ายคลึงกันในการยืนหยัดต่อสู้ของท่านกับท่านศาสดายะฮ์ยา (อ.) ที่จบลงด้วยการถูกตัดศีรษะอย่างน่าอนาถของท่านทั้งสองนั่นเอง ที่เป็นเหตุให้ท่านอิมามฮูเซน (อ.) หยิบยกเอาเหตุการณ์อันน่าขมขื่นดังกล่าวขึ้นมา
ประเด็นที่ 2 : ในคำพูดของอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ที่กล่าวออกมาขณะอำลาท่านอิมามฮูเซน (อ.) ในสภาพเสแสร้งทำเป็นเศร้าโศกว่า “โอ้ ท่านอบาอับดิลลาฮ์ ข้าพเจ้าขอมอบหมายท่านต่ออัลลอฮ์ และขอกล่าวคำอำลาต่อท่าน เพราะแท้จริงข้าพเจ้ารู้ว่าท่านจะต้องถูกสังหารในการเดินทางครั้งนี้”
อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร รับรู้เรื่องที่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) จะต้องถูกสังหารจากผู้อื่นนอกจากท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) กระนั้นหรือ ขณะที่บุคคลอื่นๆ ได้รับรู้เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นจากตัวท่าน เป็นไปได้หรือว่าท่านเองจะไม่ได้รับรู้เรื่องดังกล่าว นี่คือประเด็นหนึ่งที่แสดงให้เห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่า ท่านอิมามฮูเซน (อ.) มีความรอบรู้อย่างสมบูรณ์ในรายละเอียดของเหตุการณ์แห่งอาชูรอ ทั้งในลักษณะแห่งการรู้แบบคนธรรมดาทั่วไปและจากการบอกเล่าจากท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยไม่จำเป็นต้องอ้างถึง “ความรอบรู้แห่งอิมามัต” แต่ประการใด
สาส์นของท่านถึง “บนีฮาชิม”
อิบนิเกาลูยะฮ์ อ้างรายงานไว้ในหนังสือ “กามิลุซ ซิยะอัต” ว่า ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งจากมักกะฮ์มายังน้องชายของท่านคือ มุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ และบรรดาบนีฮาชิมโดยมีเนื้อความว่า (10) “ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปรานียิ่ง จากฮูเซน บินอะลี ถึงมุฮัมมัด บินอะลีและบนีฮาชิมที่อยู่ ณ ที่แห่งนี้ แท้จริงบุคคลใดก็ตามที่เข้าร่วมเดินทางไปกับฉันในครั้งนี้ เขาจะได้รับชะฮีด และบุคคลใดก็ตามที่หันเหจากการเข้าร่วมกับฉัน เขาจะไม่ได้สัมผัสกับชัยชนะ วัสลาม”
อย่างไรก็ตาม ซัยยิด อิบนิฏอวูซ (รฏ.) ได้คัดลอกมาจากท่านมัรฮูม กุลัยนีย์ (รฏ.) กล่าวว่า ท่านอิมามฮูเซน (อ.) เขียนจดหมายฉบับนี้หลังจากที่ท่านเคลื่อนขบวนออกจากนครมักกะฮ์แล้ว (11) แต่อิบนิซากิร และซะฮะบีย์ สนับสนุนทัศนะของอิบนิเกาลูยะฮ์ และเขียนเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่จดหมายฉบับนี้ไปถึงมะดีนะฮ์ ลูกหลานของอับดุลมุฏฏอลิบจำนวนหนึ่งได้เคลื่อนขบวนติดตามท่านอิมามไป และมุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ก็ตามขบวนมาทันที่มักกะฮ์เช่นกัน (12)
บทสรุป
เนื้อหาของจดหมายดังกล่าวก็คือ ตั้งแต่ฮูเซน บินอะลี (อ.) เริ่มย่างก้าวเข้าสู่นครมักกะฮ์ ไม่เพียงแต่ท่านจะรู้ล่วงหน้าถึงการที่ท่านจะเป็นชะฮีดพร้อมกับผู้คนที่ร่วมเดินทางไปด้วยกับท่านและผู้ที่ติดตามท่านมา ว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น แต่ท่านก็มิได้รู้สึกสิ้นหวังต่อความสำเร็จที่จะไม่มีวันเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังสามารถคาดการณ์ถึงบรรยากาศที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้น แม้แต่ภายหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านแล้ว การที่จะได้มาซึ่งชัยชนะและอำนาจการปกครองของบุคคลจากบนีฮาชิมรวมทั้งสมาชิกในครอบครัวของท่าน หรือการโค่นล้มลูกหลานของอะมาวีย์ลงจากบัลลังก์และการเป็นผู้ปกครอง รวมทั้งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมก็มิอาจเกิดขึ้นได้โดยง่ายดายและรวดเร็ว
แต่ท่านมองการณ์ไกลกว่านั้นว่า ชัยชนะขั้นสูงสุดและชัยชนะอันนิรันดร์ตราบจนถึงวันกิยามะฮ์นั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเป็นชะฮีดของท่าน และบรรดาผู้ร่วมขบวนการของท่าน อีกทั้งด้วยกับการเป็นเชลยของบุคคลในครอบครัวและลูกหลานของท่านเอง
สาส์นของอิมามฮูเซน (อ.) ถึงชาวบัศเราะฮ์
ตามรายงานของฏ็อบรีย์กล่าวว่า หลังจากที่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) เขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปยังผู้นำเผ่าต่างๆ ในเมืองบัศเราะฮ์ เช่น มาลิก บินมัซมะฮ์ บิกรีย์, มัสอูด บินอัมร์ และมุนซิร บินญารูด เป็นต้น เนื้อความของจดหมายฉบับดังกล่าวมีดังนี้
“แท้จริงอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงเลือกมุฮัมมัดจากบรรดาสิ่งถูกสร้างทั้งหลายของพระองค์ ทรงประทานเกียรติแก่ท่านด้วยตำแหน่งการเป็นศาสนทูตของพระองค์ และทรงคัดเลือกท่านให้ทำหน้าที่ถือสาส์นของพระองค์ แน่นอนท่านได้ทำการตักเตือนปวงบ่าวของพระองค์ ท่านได้ประกาศถึงสิ่งที่พระองค์ทรงประทานมาพร้อมกับตัวท่าน แท้จริงเราคือบุคคลในครอบครัวของท่าน เป็นมิตรสนิทของท่าน เป็นทายาทผู้สืบมรดกจากท่าน และเราเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดต่อตำแหน่งของท่านในหมู่มนุษยชาติ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามแย่งชิงสิทธิอันชอบธรรมนี้ไปจากเรา แต่เราก็ต้องยินยอมทั้งๆ ที่เราตระหนักดีถึงความเหนือกว่าและเหมาะสมกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนเหล่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะเรารังเกียจความแตกแยก และวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในหมู่มุสลิม และเราถือว่าความสงบสุขของประชาชนสำคัญกว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันชอบธรรมของเรา
บัดนี้ฉันได้แต่งตั้งผู้ถือสาส์นจากฉันมายังพวกท่าน และเชิญชวนพวกท่านมาสู่คัมภีร์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) และแบบฉบับของศาสนทูตของพระองค์ เพราะแท้จริงแบบฉบับของท่านนั้นกำลังจะถูกทำลายให้สูญสิ้นไป ในขณะที่อุตริกรรม (บิดอะฮ์) และสิ่งแปลกปลอมทั้งหลายกำลังมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นหากท่านทั้งหลายได้รับฟังคำเรียกร้องของฉันแล้ว ฉันก็ขอนำพวกท่านเข้าสู่ทางนำและความไพบูลย์ ขอความสันติ ความเมตตา และความเป็นสิริมงคลจากอัลลอฮ์ (ซบ.) จงมีแด่พวกท่านทั้งหลาย” (13)
ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ส่งจดหมายฉบับนี้ไปยังเมืองบัศเราะฮ์ โดยให้ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของท่านชื่อ “สุลัยมาน” เป็นตัวแทนของท่าน หลังจากที่ท่านสุลัยมานผู้นี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ในเมืองบัศเราะฮ์แล้ว ท่านก็ถูกจับกุม และอิบนิซิยาดได้มีคำสั่งให้แขวนคอท่านในคืนก่อนที่ท่านจะเดินทางสู่เมืองกูฟะฮ์
ปัญหาที่สำคัญ
ในจดหมายฉบับดังกล่าวนั้นมีเนื้อความเพื่อเชิญชวนประชาชนชาวบัศเราะฮ์ให้ร่วมมือกับท่าน เพื่อต่อสู้กับวิกฤติการต่างๆ ที่ขัดแย้งต่ออิสลามและอัลกุรอาน พร้อมกับชี้แจงให้เห็นถึงฐานะของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) รวมทั้งการเบี่ยงเบนเงื่อนไขของคิลาฟะฮ์ (การสืบต่ออำนาจการปกครอง) และการหันเหออกจากแนวทางแห่งอิสลาม
ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ยังได้แสดงข้อเปรียบเทียบและชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่มีความสำคัญก่อน และปัญหาที่จะตามมาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ ท่านได้ชี้แจงให้เข้าใจถึงปรัชญาของการวางตัวนิ่งเฉยของอะฮ์ลุลบัยต์ในช่วงเวลาหนึ่ง และสาเหตุที่ทำให้ท่านต้องลุกขึ้นต่อสู้ในช่วงเวลานั้นว่า
“การที่ท่านนิ่งเฉยแทนที่จะลุกขึ้นต่อสู่ในช่วงเวลานั้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ขณะนั้นแล้ว ไม่เพียงแต่ว่าการยืนหยัดต่อสู้ของท่านจะไม่ยังประโยชน์อันใดแล้ว ตรงกันข้ามจะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่าศัตรู (มุนาฟิกีน) และผู้ฉวยโอกาสทั้งหลาย ใช้การต่อสู้ของท่านเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของตน
ด้วยเหตุนี้เราจึงจำยอมในสิ่งนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า เราไม่ปรารถนาที่จะเห็นความแตกแยกและความเป็นศัตรูในประชาชาติอิสลาม และเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมมุสลิม เราจึงยับยั้งการต่อสู้เพื่อนำสิทธิอันชอบธรรมของเรากลับคืนมา แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มิได้ละความพยายามที่จะนำทางประชาชาติมุสลิมสู่ความเจริญและความก้าวหน้า ด้วยการสั่งสอนและชี้นำพวกเขา แต่ขณะนี้ถึงช่วงเวลาใหม่ที่อิสลามมิเพียงแต่จะถูกบิดเบือนไปเท่านั้น แต่อิสลามกำลังตกอยู่ในอันตรายและความเสียหายที่ไม่อาจจะเยียวยาได้อีกแล้ว”
แท้จริงแบบฉบับของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้ถูกทำลายลงจนหมดสิ้น การบิดเบือน (บิดอะฮ์) และความเห็นแก่ตัวถูกชุบชีวิตขึ้นมาแทนที่ และในวันนี้เงื่อนไขสำหรับการลุกขึ้นต่อสู้กับความชั่วร้ายทั้งมวลได้ปรากฏขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นหมายความว่า ถึงแม้การยืนหยัดต่อสู้ครั้งนี้เลือดบริสุทธิ์ของคนกลุ่มหนึ่งในประชาชาติอิสลามจะต้องถูกสังเวยไปก็ตาม แต่สำหรับเหล่าศัตรูแล้ว ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถใช้เรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้แล้ว และผลในบั้นปลายยังจะเป็นประโยชน์และเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่สำหรับอิสลามอีกด้วย
สาส์นของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ที่มีต่อ “ชาวกูฟะฮ์”
เมื่อประชาชนชาวกูฟะฮ์ทราบข่าวเกี่ยวกับการคัดค้านของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ต่อการให้สัตยาบันกับยาซีด และการเตรียมพร้อมของท่านในการลุกขึ้นต่อสู้กับความชั่วร้าย และรู้ว่าท่านได้เข้าสู่นครมักกะฮ์แล้ว บรรดาผู้ถือสาส์นพร้อมกับจดหมายจำนวนมากจากพวกเขาได้ถูกส่งไปถึงท่านอิมาม ซึ่งใจความของจดหมายเหล่านั้นมีดังต่อไปนี้
“หลังจากที่มุอาวียะฮ์ได้จบชีวิตลง ประชาชาติมุสลิมรู้สึกสบายใจที่พ้นจากความชั่วร้ายและความป่าเถื่อนของเขา พวกเราเห็นว่าเราต้องการผู้นำและผู้ปกครองที่จะเป็นผู้ให้ความปลอดภัยและความสงบ หลังจากความปั่นป่วนวุ่นวาย จะเป็นผู้นำทางและชี้นำเรือที่กำลังอับปางของเราขึ้นสู่ฝั่งแห่งความรอดพ้นและปลอดภัย ในตอนนี้พวกเราชาวกูฟะฮ์คัดค้านและต่อต้าน “นัวอ์มาน บินบาชีร” ซึ่งเป็นผู้ปกครองของยาซีดในเมืองนี้ และพวกเราได้ตัดความสัมพันธ์และความร่วมมือทุกรูปแบบกับเขา แม้กระทั้งการนำนมาซของเขาพวกเราก็มิได้เข้าร่วมด้วย พวกเรากำลังรอคอยการมาของท่าน สิ่งใดก็ตามที่เราสามารถทำให้เจตนารมณ์ของท่านบรรลุผลได้เราก็จะปฏิบัติโดยไม่รีรอ แม้จะต้องเสียสละทรัพย์สินและการพลีชีวิตของพวกเราในหนทางของท่าน” (14)
ในการตอบจดหมายเหล่านั้น (ตามรายงานของนักรายงานฮะดีษบางท่านนั้นมีจำนวนถึง 12,000ฉบับ) ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้เขียนตอบไปว่า
“ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ (ซบ.) ผู้ทรงกรุณา ผู้ทรงปรานียิ่ง จากฮูเซน บินอะลี ถึงหัวหน้าและผู้นำของศรัทธาชนทั้งหลาย เนื้อความมีว่า แท้จริงฮานีย์และสะอีด ได้มาพบฉันพร้อมด้วยจดหมายจำนวนมากจากพวกท่าน เขาทั้งสองเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่นำจดหมายของพวกท่านมายังฉัน แน่นอนยิ่งฉันเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกท่านได้แจ้งมา ประเด็นที่สำคัญมีอยู่ว่า พวกเรานั้นไม่มีอิมามและผู้นำ ด้วยเหตุนี้ขอให้ท่านได้โปรดตอบรับ (การเป็นผู้นำ) หวังว่าอัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงรวมเราเข้าด้วยกันด้วยสื่อของท่าน ที่ตั้งอยู่บนทางนำและสัจธรรม
บัดนี้ ฉันได้ส่งน้องชายของฉัน ผู้เป็นบุตรของลุงของฉัน (คือมุสลิม บินอะกีล) อีกทั้งเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากครอบครัวของฉันมายังพวกท่าน และฉันได้กำชับให้เขารายงานสภาพความเป็นอยู่ ของกิจการต่างๆ รวมทั้งทัศนคติและความคิดเห็นของพวกท่านมายังฉัน ซึ่งถ้าเขาเขียนมาว่าความต้องการส่วนใหญ่ของพวกท่านนั้น เป็นสิ่งเดียวกับที่ปรากฏในจดหมายทั้งหลายที่พวกท่านเขียนมาถึงฉัน อินชาอัลลอฮ์ (หากเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮ์) ฉันก็จะรีบเร่งมุ่งหน้าไปสู่พวกท่านเช่นกัน ขอสาบานด้วยอายุขัยของฉันว่า ไม่มีอิมามและผู้นำคนใดที่อยู่บนสัจธรรม นอกจากผู้ที่ปฏิบัติตามคัมภีร์แห่งพระผู้เป็นเจ้า และเป็นผู้ซึ่งยึดถือความเที่ยงธรรม ผู้ปฏิบัติตามสัจธรรม และเป็นผู้ที่อุทิศชีวิตของตนเองในหนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า วัสลาม”
จากรายงานของฏ็อบรีย์ และดัยนูรีย์ กล่าวว่า ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ส่งจดหมายโดยให้ฮานีย์และสะอีด ชาวกูฟะฮ์สองคนเป็นผู้ถือไปยังเมืองกูฟะฮ์อีก (15) แต่จากรายงานของคอวาริซมีย์นั้น ท่านอิมามได้มอบจดหมายให้แก่มุสลิม บินอะกีล นำไปยังเมืองกูฟะฮ์ และท่านได้กล่าวกับมุสลิม บินอะกีลว่า
“ฉันจะส่งเจ้าไปยังประชาชนชาวกูฟะฮ์ และขออัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงประทานความสำเร็จอันเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงยินดีและพึงพอพระทัย จงมุ่งเดินทางไปเถิด และอัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงเป็นที่พึ่งและเป็นผู้คุ้มครองเจ้า ฉันเองมีความหวังอย่างยิ่งว่า ทั้งเจ้าและฉันนั้นจะได้รับตำแหน่งในฐานะของบรรดาชะฮีด” (16)
บทสรุป
ในจดหมายฉบับนี้ ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ตอบรับการเรียกร้องของประชาชนชาวกูฟะฮ์ และประกาศให้รู้ถึงการส่งตัวแทนไปยังเมืองกูฟะฮ์ ท่านได้แนะนำให้รู้ว่าเขาอยู่ในฐานะน้องชายของท่าน และเป็นผู้ที่ท่านมอบความไว้วางใจ ท่านยังได้ชี้ให้เห็นรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ของการเป็นอิมามหรือผู้นำที่แท้จริงที่ประชาชาติมุสลิมจะต้องให้สัตยาบันและปฏิบัติตาม ว่าเขาจะต้องมีนโยบายในการทำงานที่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้า เจตนารมณ์และเป้าหมายของเขาจะต้องเป็นไปเพื่อการเสริมสร้างสัจธรรมและความยุติธรรมในสังคม ชีวิตของเขาจะต้องทุ่มเทและอุทิศไปในหนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า
เชิงอรรถ :
(1) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1, หน้า 190
(2) ท่านศาสดายะฮ์ยา ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอาน เช่นเดียวกับบรรดาศาสดาท่านอื่นๆ โดยเฉพาะ ในหลายโองการของซูเราะฮ์มัรยัม และในปีที่ 28 แห่งคริสต์ศักราช
ท่านถูกสัหารโดยการปลุกปั่นของ “ซาลูมะฮ์” บุตรสาวผู้ชั่วร้ายของกษัตริย์ในยุคของท่าน
(3) อัล อามาลีย์ เชคซุดูก มัจญ์ลิสที่ 30
(4) ชัรอ์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิ อบิลฮะดีษ เล่ม 4, หน้า 9-10
(5) อัล อามาลีย์ โดยการคัดลอกของ บิฮารุล อันวาร เล่ม 4, หน้า 311
(6) ฟัตฮุลบารีย์ เล่ม 13, หน้า 60
(7) ซอเฮี๊ยะฮ์บุคอรี เล่ม 9, กิตาบุลฟิดัน
(8) ชัรอ์นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ อิบนิ อบิลฮะดีด เล่ม 13, หน้า 242
(9) ในประเด็นดังกล่าวนี้ เราจะเห็นได้จากตัวอย่างของมุสนัด อะห์หมัด อิบนิฮัมบัล ที่ฮะดีษจำนวนมากกว่า 1,700 บท อ้างสายรายงานมาจากอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ใน
ขณะที่รายงานฮะดีษจากท่านอิมามฮาซัน มุจญ์ตะบา (อ.) และท่านอิมามฮูเซน บินอะลี (อ.) มีเพียง 22 บทเท่านั้น
(10) กามิลุซ ซิยารอต หน้า 75
(11) อัลลุฮูฟ หน้า 25 และในอัลลุฮูฟนี้ ในเนื้อความของจดหมายที่ว่า “เขาจะไม่ได้สัมผัสกับฉัน” ถูกบันทึกไว้แทนคำว่า “ลับบัยละฆ่อฟัตฮะ”
(12) หนังสือ “ฮูเซน บินอะลี (อ.)” (ฉบับแปล) จากหนังสือประวัติศาสตร์ของอิบนิอะซากิร และประวัติศาสตร์อิสลามของซะฮะบีย์ เล่ม 2, หน้า 343
(13) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7, หน้า 240
(14) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7, หน้า 235 ;อัลกามิล อิบนิอะซีร เล่ม 3, หน้า 267 ; อิรชาร หน้า 204 ; มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1, หน้า 195-196
(15) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7, หน้า 235 ; อัคบารุต ตอวาล หน้า 238
(16) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1, หน้า 196
ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮูเซน บินอะลี (อ.)
แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
จัดพิมพ์โดย : ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center