foto1
foto1
foto1
foto1
foto1

In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم

Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم

ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You

WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center

ภาพ-นิทรรศการ

25,10,0,50,1
5,600,50,1,3000,500,25,800
100,150,1,50,12,30,50,1,70,12,1,40,1,1,1,3000
0,1,0,0,2,40,15,5,2,1,0,17,0,1
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW..
Loves Of Muhammad SAW...
Loves Of Muhammad SAW...
Loves Of Muhammad SAW...
Loves Of Muhammad SAW...
Loves Of Muhammad SAW...
Loves Of Muhammad SAW...
Loves Of Muhammad SAW...
Loves Of Muhammad SAW...
Loves Of Muhammad SAW...
Loves Of Muhammad SAW...

สุนทรพจน์ ฮูเซน บินอะลี(อ.) ภาค1 ตอนที่ 2

ความรอบรู้ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ถึงเหตุการณ์ในอนาคต

บทสรุปตามตอนที่แล้ว

       ในการซิยารัตทั้งสองครั้งนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้ขีดเส้นทางเดินของท่านเอง และท่านได้ชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเคลื่อนขบวนของท่าน ดังที่เราได้เห็นจากการซิยารัตครั้งแรกของท่าน ภายใต้อำนาจและความยิ่งใหญ่ของระบบการปกครองของลูกหลานบนีอุมัยยะฮ์นั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้ประกาศให้รู้ในประโยคสั้นๆ ถึงการเตรียมพร้อมของท่านในการเป็นชะฮีด ด้วยคำกล่าวของท่านที่ว่า “นี้คือการร้องเรียนของข้าพเจ้าที่มีต่อท่าน จวบจนกระทั่งการกลับไปพบกับท่านของข้าพเจ้า…” ในการซิยารัตครั้งที่สองนั้น เป็นการกล่าวถึงปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้เกิดขึ้น อันเป็นปัญหาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสายตาของบุตรแห่งศาสนทูต มิใช่มุมมองของสามัญชนทั่วไป

       คำพูดของท่านที่ว่า “บุตรของอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) มีความรักและความปรารถนาอย่างแรงกล้าต่อคุณธรรมความดีงาม และเกลียดชังความอธรรมและความชั่วร้ายทั้งปวง” จุดมุ่งหมายแห่งความรักและความเกลียดชังดังกล่าวที่เป็นสาเหตุแห่งความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ (ซบ.) และเป็นความชื่นชอบของท่านศาสนทูตของพระองค์ ก็คือการเตรียมพร้อมที่จะยอมรับสถานการณ์ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น ที่สามารถทำให้คุณธรรมความดีงามต่างๆ ปรากฏขึ้น และมีผลในการทำลายล้างรากเหง้าแห่งความชั่วร้ายและอธรรมทั้งมวล แม้ว่าจะต้องสละชีวิตและยอมพลีเลือดเนื้อของท่านเองก็ตาม

คำตอบของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อ “อุมัร อัฏร็อฟ”  

      หลังจากเรื่องราวการต่อต้านการให้สัตยาบันต่อยะซีดของท่านอิมามฮูเซน (อ.) และการตัดสินใจที่จะยืดหยัดต่อสู้ของท่าน รวมทั้งการเคลื่อนขบวนออกจากเมืองมะดีนะฮ์ ล่วงรู้ไปถึงบรรดาบุคคลสำคัญและเครือญาติใกล้ชิดของท่าน บางคนที่ไม่รู้และไม่เข้าใจถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในตำแหน่งอิมามัตและการเป็นผู้นำ ผนวกกับความรัก ความห่วงใยและความต้องการที่จะปกป้องท่านอิมาม ก็พากันเข้าพบท่านอิมามและขอให้ท่านประนีประนอมกับยาซีด       

       หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “อุมัร อัฏร็อฟ” บุตรชายคนหนึ่งของท่านอะมีรุลมุอ์มีนีน (อ.)  ดังรายงานจากหนังสือ “อัล ลุฮูฟ” ว่า เขาได้เสนอความเห็นประการหนึ่งต่อท่านอิมามฮูเซน (อ.) ว่า “โอ้พี่ชายที่รัก ท่านอิมามฮาซัน มุจญ์ตะบาพี่ชายของฉัน กล่าวถึงคำพูดของบิดา อะมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) ว่า พวกเขาจะสังหารท่าน และฉันคิดว่าการที่ท่านต่อต้านยาซีด บุตรของมุอาวียะฮ์ในครั้งนี้จะเป็นสาเหตุให้ท่านต้องถูกสังหาร นั่นหมายความว่าคำพูดของพี่ชายของฉันจะเป็นจริงขึ้นมา หากท่านยอมให้สัตยาบันต่อยาซีดเสีย อันตรายดังกล่าวก็จะหมดไป และท่านก็จะรอดพ้นจากการถูกสังหาร”     

        ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “บิดาของฉันได้เคยกล่าวกับฉันว่า แท้จริงท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้บอกข่าวแก่ท่านถึงการถูกสังหารของท่านและการถูกสังหารของฉัน แท้จริงหลุมศพของท่านจะอยู่ใกล้เคียงกับหลุมศพของฉัน เจ้าคิดหรือว่าเจ้านั้นรู้ในสิ่งที่ฉันไม่รู้ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันจะไม่ให้ความต่ำต้อยบังเกิดกับฉันเป็นอันขาด และในวันกิยามะฮ์นั้น ฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ มารดาของฉัน จะมาพบกับท่านศาสนทูตบิดาของท่าน ในฐานะผู้ร้องเรียนต่อสิ่งที่ลูกหลานของท่านได้รับจากประชาชาติของท่านเอง และบุคคลใดก็ตามที่ได้กลั่นแกล้ง ทั้งยังสร้างความเจ็บปวดให้แก่ท่านโดยการกระทำต่อลูกหลานของท่าน เขาจะไม่ได้เข้าสู่สรวงสวรรค์อย่างแน่นอน” (1)

บทสรุป    

       ในการสนทนาโต้ตอบของท่านอิมาม (อ.) กับน้องชายของท่านนั้น ท่านมิได้เพียงแต่จะบอกถึงข่าวการที่ท่านจะถูกสังหารแต่เพียงอย่างเดียว แต่ท่านยังได้เล่าเรื่องราวส่วนหนึ่งที่ท่านได้รับฟังมาจากบิดาของท่าน คือท่านอิมามอะลี (อ.) บิดาของท่านได้ฟังมาจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลลฮ์ (ศ็อลฯ) ในเรื่องที่สถานที่ฝังศพของท่านจะได้อยู่ใกล้เคียงกับที่ฝังศพของบิดาของท่าน โดยหลุมศพของท่านอะมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) อยู่ที่เมืองกูฟะฮ์ และหลุมศพของท่านอิมามฮูเซน (อ.) อยู่ในแผ่นดินที่มีชื่อว่า “กัรบะลาอ์”

คำตอบของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อท่านหญิง “อุมมุ สะลามะฮ์”

        ตามรายงานของท่านมัรฮูม รอวันดีย์ ท่านบะฮ์รอนี และผู้รายงานฮะดีษอีกหลายท่านกล่าวว่า เมื่อท่านหญิงอุมมุสะลามะฮ์ ภรรยาของท่านศาสนทูต (ศ็อลฯ) ได้รับทราบการตัดสินใจของท่านอิมามฮูเซน(อ.) ที่จะออกเดินทาง ท่านหญิงได้มาพบท่านอิมาม (อ.) และกล่าวว่า “ท่านอย่าได้ทำให้ฉันต้องโศกเศร้าด้วยการเดินทางสู่แผ่นดินอิรักในครั้งนี้เลย เพราะแท้จริงปู่ของท่านได้กล่าวไว้ว่า บุตรชายของฉันคือฮูเซน จะถูกสังหารในแผ่นดินอิรักที่ชื่อว่า “กัรบะลาอ์”

        ท่านอิมาม (อ.) ตอบแก่ท่านหญิงว่า “โอ้แม่จ๋า ท่านคิดหรือว่ามีเพียงท่านที่รู้ถึงสถานการณ์นั้น ข้าพเจ้าเองก็ตระหนักดีว่าข้าพเจ้าจะถูกสังหาร ถูกตัดศีรษะอย่างอธรรม ด้วยความเคียดแค้น และพระผู้อภิบาลผู้ทรงเกรียงไกร ทรงปรารถนาที่จะได้เห็นครอบครัวของข้าพเจ้าและผู้คนของข้าพเจ้าต้องพลัดพรากจากที่เคยอยู่ร่วมกัน ทารกน้อยของข้าพเจ้าจะถูกสังหาร ถูกจับเป็นเชลย และถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวน ในสภาพที่เขาเหล่านั้นร้องของความช่วยเหลือ แต่พวกเขาจะไม่ได้พบผู้ที่จะช่วยเหลือเลย” (2)

ความรอบรู้ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ถึงเหตุการณ์ในอนาคต 

        จากคำตอบของท่านอิมาม (อ.) ต่ออุมัร อัฏร็อฟและท่านหญิงอุมมุซะละมะฮ์ และคำพูดของท่านในอีกหลายๆ วาระ ซึ่งจะนำมากล่าวถึงในโอกาสต่อไปนั้น แสดงให้เห็นว่าท่านอิมามตระหนักเป็นอย่างดีถึงความทุกข์ยากและความเจ็บปวดที่จะมีขึ้นในระหว่างการเดินทางของท่านในครั้งนี้โดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกจับเป็นเชลย เรื่องสถานที่ฝังศพของท่านเอง และรายละเอียดอื่นๆ อีก แต่เราจะไม่กล่าวอ้างว่าความรู้ของท่านในเรื่องนี้ว่าเป็น “ความรอบรู้ของอิมามัต” (ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ถกเถียงกันในวิชากะลาม) เพียงเท่านั้น ความรู้ของอิมามฮูเซน (อ.) ในเรื่องดังกล่าวนั้นเหนือกว่าความรอบรู้ของอิมามัต โดยมีสื่อของการบอกเล่าจากบิดาและปู่ผู้ทรงเกียรติของท่าน นอกจากนี้บรรดาภรรยาและสาวกของท่านศาสนทูต (ศ็อลฯ) ก็รู้เรื่องราวนี้เป็นอย่างดี  

        แน่นอนในฐานะผู้นำการปฏิวัติและผู้นำขบวนการสู่เป้าหมายและเจตนารมณ์แห่งอิสลาม ตามหน้าที่ที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อปลดปล่อยอิสลามและอัลกุรอาน ผู้ต่อสู้กับอำนาจอธรรมและการกดขี่ ท่านย่อมพร้อมเสมอที่จะแบกรับความเจ็บปวดและความทุกข์ยากทั้งหมด แม้ว่าท่านจะรู้ล่วงหน้าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็ตาม

        ดังที่กล่าวไปแล้วถึงคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ที่ตอบแก่ท่านหญิงอุมมุซะละมะฮ์ ซึ่งได้ถูกอ้างอิงไว้ในหนังสือฮะดีษและประวัติศาสตร์หลายเล่ม (จะมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย) (3) เป็นไปได้ว่าหลักฐานเหล่านั้นอาจจะมาจากแหล่งเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดข้ออ้างถึงความไม่น่าเชื่อถือ ในเรื่องนี้ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องหาข้อโต้แย้งหรือยืนยันในความน่าเชื่อถือนั้น หรือจะหาข้อสนับสนุนว่าความรู้ของท่านที่กล่าวมานั้นอยู่เหนือญาณวิสัยของคนทั่วไป (ความรู้ของอิมามัต) ในการล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เพราะหลักฐานจากรายงานอื่นๆ จากทั้งในสายธารอิมามียะฮ์ (4) และจากรายงานของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ (5) ซึ่งมาจากคำบอกเล่าของบรรดาศาสดาต่างๆ ในอดีต จากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซบ.) และจากท่านอะมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์แห่งอาชูรอ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้น การอ้างอิงรายงานดังกล่าวในที่นี้ ก็เพียงเพื่อความสอดคล้องกับตัวบทที่เป็นคำตอบและคำพูดของท่านอิมาม (อ.) เพียงเท่านั้น         

       เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่มีนักเขียนบางคน ได้เพียรพยายามที่จะปฏิเสธความรอบรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าของท่านอิมาม (อ.) จนถึงขนาดที่ทำให้การสนทนาระหว่างท่านอิมาม (อ.) กับท่านหญิงอุมมุซะละมะฮ์นี้หมดความน่าเชื่อถือ และเป็นเสมือนรายงานที่ถูกอุปโลกน์ขึ้น

       อะไรคือเหตุผลในความพยายามของเขาที่มีต่อรายงานดังกล่าว โดยนำมาเปรียบเปรยกับคำกล่าวอ้างของเขา เรื่องนี้เป็นปริศนาที่เรายังไม่สามารถหาคำตอบได้ชัดเจน

       สำหรับประเด็นที่ว่าท่านอิมาม (อ.) ตัดสินใจกระทำการดังกล่าวออกไปได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ท่านเองก็ตระหนักเป็นอย่างดีว่าจะต้องถูกสังหารหากท่านเลือกหนทางนี้ และความหมายของคำกล่าวของท่านที่ว่า “อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงปรารถนาที่จะเห็นข้าพเจ้าได้ถูกสังหารและ…” นั้นคืออะไร เป็นปัญหาที่ท่านทั้งหลายจะได้รับความกระจ่างในหน้าถัดไป

คำตอบของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อ “มุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์”

       บุคคลอีกผู้หนึ่งที่มีความวิตกกังวลและหวาดหวั่นต่อการตัดสินใจของท่านอิมามในครั้งนี้ คือมุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ บุตรชายคนหนึ่งของท่านอะมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) ซึ่งตามรายงานของท่านฏ็อบรีย์และนักประวัติศาสตร์ท่านอื่นๆ กล่าวว่า เขาได้เข้าพบท่านอิมามฮูเซน (อ.) และได้กล่าวต่อท่านว่า         

       “พี่ชายที่รัก ท่านคือผู้ที่เป็นที่รักและเป็นที่หวงแหนยิ่งของประชาชน ข้าพเจ้าได้ไตร่ตรองดูแล้วถึงสิ่งที่จะเป็นผลดีต่อท่าน ข้าพเจ้าสำนึกในหน้าที่ที่จะต้องกล่าวสิ่งนี้ต่อท่าน ข้าพเจ้าคิดว่าในสถานการณ์ขณะนี้ ขอให้ท่านอย่าได้อยู่ที่เมืองใดเมืองหนึ่งเป็นการถาวรเลย ขอให้ท่านและลูกหลานของท่านจงตั้งมั่นอยู่ในที่ๆ ห่างไกลจากเงื้อมมือของยะซีด และออกไปให้ห่างจากเมืองใกล้เคียงนี้ ณ ที่นั้นท่านสามารถที่จะส่งตัวแทนของท่านไปพบประชาชน และเรียกร้องให้พวกเขาปกป้องท่าน หากพวกเขาได้ให้บัยอัต (สัตยาบัน) ต่อท่านก็อัลฮัมดุลิลลาฮ์ (ขอขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า) แต่หากพวกเขาให้บัยอัตต่อบุคคลอื่นนอกเหนือจากท่านแล้ว ท่านก็จะได้ไม่ต้องตกอยู่ในอันตรายใดๆ แต่ถ้าท่านอยู่ในเมืองนี้ ข้าพเจ้าเกรงว่าจะมีความขัดแย้งในหมู่ประชาชนที่จะปกป้องท่านฝ่ายหนึ่ง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งจะต่อต้านท่าน ผลที่ได้รับก็คือการเข่นฆ่าและการหลั่งเลือด ท้ายที่สุดท่านเองซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดในประชาชาตินี้ก็จะต้องถูกสังหาร ในขณะเดียวกัน บรรดาลูกหลานและบุคคลในครอบครัวของท่านก็จะถูกผลักไสเข้าสู่ความตกต่ำและความไร้เกียรติ” (6)

       ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “เจ้าคิดว่า ฉันควรจะมุ่งสู่ทิศทางใดเล่า” มุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์ กล่าวตอบว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าท่านควรจะมุ่งสู่นครมักกะฮ์ และหากว่าในเมืองนั้นไม่มีความปลอดภัย จากหนทางแห่งทะเลทรายและทุ่งกว้างท่านสามารถเคลื่อนขบวนไปยังเมืองอื่นๆ เพื่อที่ท่านจะได้พิจารณาสภาพของประชาชนและอนาคตของคนเหล่านั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าความเข้าใจอันลึกซึ้งและทัศนคติอันกว้างไกลของท่านจะนำท่านสู่หนทางที่ถูกต้องเสมอ ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ก็จะหมดไปทีละน้อย ด้วยความพินิจพิเคราะห์และความรอบคอบของท่าน”        

       คำตอบที่มีต่อมุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า “โอ้น้องรัก (ที่เจ้าได้เสนอแนะให้ฉันเดินทางออกจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงจากการให้บัยอัต (สัตยาบัน) ต่อยะซีด ขอให้เจ้าจงรู้ไว้เถิดว่า) หากแม้นในโลกดุนยาอันกว้างใหญ่นี้จะไม่มีที่พักพิงสำหรับฉันเลย ฉันก็จะไม่ให้บัยอัตต่อยะซีดบุตรของมุอาวียะฮ์อย่างเด็ดขาด”         

       เมื่อได้ฟังเช่นนั้น น้ำตาของมุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์ ก็ไหลริน ท่านอิมาม (อ.) จึงกล่าวเสริมต่อไปอีกว่า “น้องรัก ขออัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงประทานสิ่งที่ดีงามให้แก่เจ้า ที่เจ้าได้แสดงความปรารถนาดีและชี้แนะหนทางให้แก่ฉัน แต่ทว่าฉันนั้น (รู้หน้าที่ของตนเองดีกว่าเจ้า และฉันก็) ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วที่จะมุ่งสู่นครมักกะฮ์ ตัวฉัน พี่น้องและลูกๆ ของฉัน ลูกๆ ของพี่ชายของฉัน รวมทั้งบรรดาชีอะฮ์ของฉันได้เตรียมพร้อมแล้วสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ เพราะคนเหล่านี้มีอุดมการณ์เดียวกับฉัน แต่สำหรับเจ้านั้นไม่มีปัญหาอะไรในที่จะคงอยู่ในมะดีนะฮ์นี้ต่อไป เพื่อที่เจ้าจะได้เป็นหูเป็นตาให้แก่ฉัน การกระทำหรือแผนการใดๆ ของพวกเขาจะได้ไม่ถูกปกปิดแก่ฉัน”

       หลังจากการสนทนากับมุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์ ท่านอิมาม (อ.) ได้มุ่งหน้าไปยังมัสยิดและฮะรอมของท่านศาสนทูต (ศ็อลฯ) อีกครั้งหนึ่งเพื่อซิยารัต ในระหว่างทางท่านได้อ่านโคลงบทหนึ่งของยาซีด บินมัฟร็อฆ ซึ่งเป็นการรำพึงรำพันเพื่อการรักษาไว้ซึ่งสถานภาพของตนเอง แม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับภยันตรายร้ายแรงก็ตามว่า  

       “ฉันไม่รู้สึกหวาดหวั่นต่อการจู่โจม ในยามเช้าตรู่ ที่จะทำให้ฉันเป็นผู้เปลี่ยนแปร และจงอย่างเรียกฉันว่ายาซีด บินมัฟร็อฆ ในวันที่ฉันได้ยื่นมือเข้าสู่ความต่ำต้อยเนื่องจากหวาดกลัวความตาย และหันเหออกจากจุดยืนเนื่องจากอันตราย” (7)       

        อบูซะอีด มักบะรีย์ กล่าวว่า “เมื่อฉันได้ยินโคลงบทนี้จากท่านอิมาม ในขณะที่ท่านมุ่งหน้าสู่มัสยิดของท่านศาสนทูต (ศ็อลฯ) ด้วยเนื้อความของโคลงนั้น ทำให้ฉันรู้ทันทีว่าท่านอิมามมีเป้าหมายอันสูงส่งอยู่ในใจ พร้อมกับภารกิจที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง” (8)

บทสรุป       

        ในการสนทนากับมุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์ และการรำพันบทกลอนของยาซีด บินมัฟร็อฆในครั้งนี้ ท่านอิมาม (อ.) มีเป้าหมายที่จะอธิบายให้รู้ถึงสาเหตุของการยืนหยัดของท่าน คือการลุกขึ้นต่อต้านยะซีดบุตรของมุอาวียะฮ์ และได้ประกาศให้รู้ถึงการตัดสินใจอันแน่วแน่ของท่านว่า แม้แผ่นดินกว้างใหญ่นี้จะไม่มีที่พำนักพักพิงสำหรับท่านก็ตาม ท่านจะไม่ยอมให้บัยอัต (สัตยาบัน) ต่อยะซีดอย่างเด็ดขาด ท่านจะยืนหยัดและเผชิญหน้ากับภยันตรายในทุกๆ รูปแบบที่จะนำไปถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์ของท่าน     

        นี้คือเป้าหมายและเจตนารมณ์อันสูงส่งของท่านอิมาม (อ.) และเป็นเรื่องราวของชีวิตแห่งการต่อสู่ของท่าน ซึ่งท่านอธิบายออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่นการรำพันบทโคลงและการเปรียบเปรย (9)

คำสั่งเสียของท่านอิมามฮูเซน (อ.)

        ก่อนที่ท่านอิมาม (อ.) จะเคลื่อนขบวนจากมะดีนะฮ์ไปยังมักกะฮ์ ท่านได้เขียนคำสั่งเสียฉบับหนึ่งพร้อมกับประทับตราประจำตัวของท่านแล้วมอบให้แก่น้องชายของท่านคือ “มุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์” ซึ่งมีเนื้อความว่า

       “ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณา ผู้ทรงเมตตายิ่ง นี่คือคำสั่งเสียของฮูเซน บินอะลี ที่มีต่อน้องชายของตน คือมุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ แท้จริงฮูเซนขอปฏิญาณว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และแท้จริงมุฮัมมัดคือบ่าวของพระองค์ และเป็นศาสนทูตของพระองค์ เป็นผู้ที่นำสัจธรรมมาจากพระองค์ และแท้จริงสวรรค์คือสัจธรรมและไฟนรกนั้นคือสัจธรรม วันแห่งการตอบแทนตัดสินจะมาถึงโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น และอัลลอฮ์จะทรงทำให้บรรดาผู้ที่อยู่ในหลุมศพฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง” (10)

       หลังจากคำปฏิญาณถึงความเชื่อมั่นในเอกภาพแห่งพระผู้เป็นเจ้า ความเป็นศาสนทูตและวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (เตาฮีด นบูวัต และมะอาด) ท่านอิมาม (อ.) ได้อธิบายถึงเจตนารมณ์ของท่านว่า  

        “แท้จริงฉันมิได้มาเพื่อก่อการละเมิดและความทรนง ฉันมิได้มาเพื่อก่อความเสียหายและความอธรรมแต่อย่างใด ฉันมาเพื่อสร้างความดีงามในหมู่ประชาชาติของปู่ของฉัน ฉันปรารถนาในการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว ฉันปรารถนาที่จะดำเนินรอยตามแนวทางของปู่ของฉัน และบิดาของฉันคืออะลี บินอบีฏอลิบ ดังนั้น บุคคลใดที่สนองตอบต่อฉันด้วยการยอมรับสัจธรรม ดังนั้น อัลลอฮ์ (ซบ.) เป็นผู้ทรงเหมาะสมยิ่งต่อสัจธรรม และบุคคลใดก็ตามที่ต่อต้านฉันโดยไม่ยอมรับการเรียกร้องของฉัน ฉันจะอดทนจนกว่าอัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงตัดสินระหว่างฉันกับบุคคลเหล่านั้น และพระองค์คือผู้ทรงเป็นเลิศที่สุดในบรรดาผู้ตัดสินทั้งหลาย และนี้คือคำสั่งเสียของฉันที่มียังเจ้า โอ้น้องรักของฉัน ไม่มีความสำเร็จใดๆ ที่ฉันจะได้รับนอกจากด้วยการช่วยเหลือของอัลลอฮ์ (ซบ.) เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่ฉันมอบหมาย และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่ฉันจะกลับคืนสู่”

สาเหตุแห่งการยืนหยัดต่อสู้ของอิมามฮูเซน (อ.)     

         ท่านอิมาม (อ.) อธิบายถึงสาเหตุประการแรกแห่งการยืนหยัดต่อสู่ และเป็นสาเหตุแห่งการต่อต้านยะซีด บุตรของมุอาวียะฮ์ ซึ่งปรากฏในคำกล่าวของท่านที่มีต่อวะลีดและมัรวาน เมื่อถึงเวลาที่ท่านจะเคลื่อนขบวนออกจากมะดีนะฮ์ ท่านได้ชี้ให้เห็นสาเหตุอีกประการหนึ่งซึ่งอยู่ในคำสั่งเสียของท่าน อันเป็นสาเหตุหลักในการยืนหยัดต่อสู้ของท่าน นั่นคือ การกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่ว การต่อสู้กับอธรรมและความยุ่งเหยิงทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นในรูปแบบของการต่อต้านหลักการอิสลาม ที่กดขี่บีบคั้นมนุษยชาติอยู่ด้วยระบบการปกครองของยาซีด ตามสำนวนคำกล่าวของท่านที่ว่า

         “แม้ว่าพวกเขาจะไม่ต้องการให้สัตยาบันแก่ฉันก็ตาม ฉันก็จะไม่นิ่งเงียบโดยไม่ดำเนินการแต่อย่างใด เพราะว่าการคัดค้านของฉันต่อระบบการปกครองดังกล่าวนี้ มิใช่เพียงเรื่องของการถูกบังคับให้มอบสัตยาบันต่อยาซีดแต่อย่างเดียว ทว่าการคงอยู่ของยาซีดและวงศ์วานของเขานั้นเป็นเหตุของการกดขี่และอธรรม เป็นต้นเหตุของการแพร่กระจายความชั่วร้าย อีกทั้งยังบิดเบือนต่อบทบัญญัติและหลักคำสอนของอิสลาม เป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องลุกขึ้นเพื่อแก้ไขสภาพอันเลวร้ายนี้ให้ดีขึ้น ทำหน้าที่กำชับความดีงามและห้ามปรามความชั่วร้าย พร้อมทั้งพลิกฟื้นบทบัญญัติของท่านศาสนทูต (ศ็อลฯ) ปู่ของฉัน และแนวทางของบิดาของฉันให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมแผ่กระจายออกไป นอกจากนี้แล้วยังเป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องถอนรากเหง้าแห่งความชั่วร้าย นั่นคือวงศ์วานแห่งบนีอุมัยยะฮ์

         ประชาชาติทั้งหลาย พึงสังวรไว้ว่า ฮูเซนมิใช่ผู้แสวงหาตำแหน่ง อำนาจ และความมั่งคั่งแต่ประการใด มิใช่ผู้ก่อการเสียหายหรือการละเมิด เป้าหมายและเจตนารมณ์ดังกล่าวนี้ประทับอยู่ในจิตวิญญาณของฮูเซนนับแต่วันแรก และจะดำเนินต่อไปจวบจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย”

         ถึงตอนนี้อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า การทำหน้าที่กำชับความดีและการห้ามปรามความชั่วนั้น มิได้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขของความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินกระนั้นหรือ ทำไมท่านอิมาม (อ.) จึงไม่ให้ความสำคัญต่อเงื่อนไขดังกล่าว ตรงกันข้ามท่านได้ก้าวไปไกลจนถึงยอมสูญเสียชีวิต และยอมพลีเลือดเนื้อของท่านและสาวกของท่าน รวมทั้งยอมรับสภาพการเป็นเชลยของเด็กๆ และสตรีในครอบครัวของท่าน เราจะให้คำตอบต่อคำถามเหล่านี้อย่างละเอียดในภาคที่สองของหนังสือเล่มนี้

สุนทรพจน์ของท่านอิมาม (อ.) ในขณะเดินทางออกจากมะดีนะฮ์      

        ภายหลังจากที่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้รับสาส์นจากวะลีด ท่านได้ไปพบกับเขา และประกาศจุดยืนของท่านต่อหน้าอย่างชัดเจน ตรงกันข้ามกับอับดุลฮ์ อิลนิซุบัยร์ ซึ่งไม่กล้าพอที่จะไปพบกับวะลีด และหลบหนีออกจากมะดีนะฮ์ไปในยามค่ำคืนมุ่งหน้าสู่มักกะฮ์     

        ทางด้านของอิมามฮูเซน (อ.) ในวันอาทิตย์ก่อนที่เดือนเราะญับจะสิ้นสุดลงเพียงสองวัน ท่านได้เคลื่อนขบวนมุ่งหน้าสู่นครมักกะฮ์ พร้อมด้วยลูกหลานและเครือญาติของท่าน ขณะที่จะเดินทางออกจากนครมดีนะฮ์ ท่านอ่านโองการหนึ่งจากอัลกุรอาน ซึ่งเป็นโองการที่เกี่ยวกับการเดินทางหลบหนีของศาสดามูซา บินอิมรอน (อ.) ออกจากประเทศอียิปต์ และเป็นการเตรียมพร้อมที่จะทำสงครามกับเผ่าพันธุ์ของฟิรอูน โองการดังกล่าวคือ

        “ดังนั้นเขา (มูซา) จึงได้หลบหนีออกจากเมืองนั้น ในสภาพของผู้ที่มีความหวาดกลัว อีกทั้งระแวดระวัง และเขาได้วิงวอนว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ โปรดทำให้ข้าพระองค์ปลอดภัยจากกลุ่มชนผู้ทุจริตเหล่านี้ด้วยเถิด” (11)

        ท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) เลือกใช้เส้นทางหลักที่ผู้เดินทางส่วนใหญ่เลือกใช้กัน ซึ่งผิดไปจากที่อับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ บรรดาสาวกของท่านอิมาม (อ.) เสนอแก่ท่านว่า “จะเป็นการดีกว่าหากท่านจะเลือกใช้เส้นทางสายย่อย แล้วข้ามผ่านช่องเขาต่างๆ ไป เหมือนกับอับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ ทั้งนี้หากทหารของยะซีดติดตามท่านไปโดยมุ่งจะสังหารท่าน พวกเขาจะไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเป้าหมาย”   

        ท่านอิมาม (อ.) ตอบข้อเสนอแนะดังกล่าวว่า “ไม่ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ฉันจะไม่แยกออกไปจากเส้นทางอันเป็นสายหลักนี้เป็นอันขาด จนกว่าอัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงโปรดให้สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์นั้นบรรลุถึงจุดมุ่งหมาย” (12)

บทสรุป   

       จากคำตอบดังกล่าวของท่านอิมาม (อ.) ทำให้เราเข้าใจว่า ท่านอิมามมิได้ออกจากนครมะดีนะฮ์ด้วยเหตุผลของความหวาดกลัว หรือเป็นการหลบหนีแต่อย่างใด เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงแล้วท่านคงจะปฏิบัติตามคำแนะนำของสาวกของท่าน และใช้เส้นทางสายเล็กๆ มุ่งผ่านหุบเขาต่างๆ ไป เหมือนดังที่อับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์กระทำ แต่ตรงกันข้าม ท่านกลับเลือกเอาเส้นทางที่เป็นเป้าสายตาและเป็นที่รู้เห็นของประชาชนทั่วไป เพื่อให้บรรลุถึงคำสั่งอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ การต่อสู้กับการเป็นผู้ปฏิเสธของบนีอุมัยยะฮ์ “จนกว่าอัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงทำให้สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์นั้นบรรลุถึงจุดมุ่งหมาย” ดังนั้น ท่านอิมาม (อ.) จึงมุ่งหน้าไปบนเส้นทางของท่านอย่างเป็นอิสระ และไม่รู้สึกสะทกสะท้านต่อสิ่งใด

เข้าสู่นครมักกะฮ์

       ค่ำวันศุกร์ที่ 3 ของเดือนชะอ์บาน ท่านอิมาม (อ.) เข้าสู่มักกะฮ์ หลังจากการเดินทางได้ห้าวัน ขณะที่ท่านกำลังเข้าสู่มักกะฮ์ท่านอิมาม (อ.) ได้อ่านโองการอัลกุรอานอีกโองการหนึ่ง ซึ่งมีความว่า

      “และเมื่อเขา (มูซา) ได้มุ่งหน้ามาถึงเมืองมัดยัน เขาได้รำพึงรำพันขึ้นว่า “หวังว่าพระผู้อภิบาลของฉันจะทรงชี้นำทางแก่ฉันสู่หนทางอันเที่ยงตรง” (13)

จุดมุ่งหมายของโองการทั้งสองนั้นคืออะไร      

        ขณะที่ท่านออกเดินทางจากมะดีนะฮ์มุ่งสู่มักกะฮ์ ทำไมอิมามฮูเซน (อ.) จึงต้องอ่านอัลกุรอานสองโองการข้างต้นนี้ด้วย และอะไรคือเหตุผลในการเลือกสองโองการนี้จากโองการต่างๆ ในอัลกุรอาน   

        การอ่านโองการทั้งสองซึ่งมีความสัมพันธ์กัน และเป็นโองการที่ต่อเนื่องกัน (ในช่วงเวลาที่ห่างกันเพียงห้าวัน) นั้น ท่านต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่นบีมูซา (อ.) ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนที่อยู่ของตนไปยังเมืองอื่นที่ไม่มีความคุ้นเคย อีกทั้งอยู่ห่างไกลนั้น มิใช่จะปราศจากซึ่งเป้าหมายและไร้เหตุผลแต่อย่างใด ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ก็เช่นกัน ในขณะที่ท่านเคลื่อนขบวนออกจากนครมะดีนะฮ์นั้น ท่านก็ได้กำหนดเป้าหมายของท่านไว้แล้ว ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สูงส่งกว่าเป้าหมายของวีรบุรุษทั้งหลาย ในขณะที่ท่านย่างก้าวเข้าสู่มักกะฮ์ ท่านก็มีเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่า ซึ่งหากไม่เป็นเพราะการอนุเคราะห์และการนำทางแห่งพระผู้เป็นเจ้าแล้ว การที่จะบรรลุเจตนารมณ์และเป้าหมายดังกล่าวก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่มิอาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน “หวังว่าพระผู้อภิบาลของฉัน จะทรงนำทางฉันสู่หนทางอันเที่ยงตรง” (14)


เชิงอรรถ :

(1) อัล ลุฮุฟ, หน้า 23

(2) อัล คอรออิจญ์ หน้า 26, มะดีนะตุล มะอาญิซ หน้า 244

(3) อัล คอรออิจญ์ รอวันดีย์ หน้า 26, มะดีนะตุล มะอาญิซ บะฮ์รอนีย์ หน้า 244

(4) ท่านมัรฮูมมัจญ์ลีซีย์เพียงคนเดียว ก็รายงานไว้ใน บิฮารุล อันวาร ถึง 71 รายงาน

(5) ท่านอัลลามะฮ์ อามินีย์ อ้างไว้อย่างละเอียดในหนังสือ ซีเราะตุลนาวะซุนนะตุนา ซึ่ง  

      รวบรวมรายงานฮะดีษจากแหล่งต่างๆ ของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ไว้ถึง 20 รายงาน และอธิบาย

      ถึงผู้รายงานฮะดีษเหล่านี้และความน่าเชื่อถือของพวกเขาไว้อย่างละเอียด

(6) มักตัล อาวาลิม, หน้า 54, คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 188

(7) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 221, กามิล อิบนิกะซีร เล่ม 3 หน้า 265, อิรชาด เชคมุฟีด หน้า 202

(8) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 221, กามิล อิบนิกะซีร เล่ม 3 หน้า 265 โดยที่อิบนิ อบีลฮะดีด ได้

      นำเข้ามาไว้ใน “ชัรฮุนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์” เล่ม 1 หน้า 357 บทกวีบทนี้เป็นของยาซีด

      บินมัฟรอฆ ฮัมบะรีย์ ซึ่งท่านอิมามนำมาใช้ในที่นี้

(9) คำพูดของท่านอิมามข้างต้นได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งโดยท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ผู้นำที่

     ยิ่งใหญ่แห่งการปฏิวัติอิสลาม ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) เมื่อท่านถูก

     พรรคบาสแห่งอิรักบังคับให้ออกนอกประเทศ และเป็นคำประกาศครั้งประวัติศาสตร์ของ 

     ท่านที่ว่า “แม้ว่าไม่มีรัฐบาลใดๆ ในโลกนี้ อนุญาตให้ฉันพำนักอยู่ในประเทศของเขา ฉันก็

     จะลงเรือ และท่ามกลางกระแสคลื่นลมที่โหมกระหน่ำแห่งห้วงมหาสมุทร ฉันจะประกาศ

     ด้วยเสียงเรียกร้องของฉัน เป็นเสียงเรียกร้องของการถูกกดขี่ของประชาชาติมุสลิม ให้ดัง     

     กึกก้องไปถึงชาวโลกทั้งหมด

(10) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 186, อัล อาวาลิม หน้า 54

(11) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 222, อัล กามิล เล่ม 3 หน้า 365, อิรชาด เชคมุฟีด หน้า 202 และ

       มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 189

(12) อ้างอิงเล่มเดิม

(13) ฏ็อบรีย์ เล่มที่ 7 หน้า 222 และ 271, อัล กามิลอิบนิอะซีร เล่ม 3 หน้า 365, อิรชาด

       เชคมุฟีด หน้า 200, มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 189

(14) อัล ลุฮุฟ หน้า 26, มุซีรุลอะฮ์ซาน หน้า 20


ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮูเซน บินอะลี (อ.)

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

จัดพิมพ์โดย : ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม