foto1
foto1
foto1
foto1
foto1

In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم

Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم

ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You

WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center

สังคมที่แปดเปื้อนไปด้วยบาปจากผลร้ายของการให้ร้ายคนอื่น

     ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในปัจจุบัน สังคมมนุษย์ได้รับทุกข์จากการหลงทางไปจากทางแห่งจิตวิญญาณ ความฉ้อฉลทุจริตทางจิตในแบบต่างๆ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาจริยธรรมให้ทันต่อความฟุ่มเฟือยทางด้านวัตถุได้ สังคมจึงประสบกับโรคร้ายต่างๆ ซึ่งทำให้ห้วงมหาสมุทรแห่งชีวิตต้องท่วมท้นไปด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ในขณะที่วันเวลาล่วงไป ผู้ที่พยายามต่อสู้อย่างเข้มแข็งเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด มักจะจบลงด้วยการมัวเมาอยู่ในบาป แสวงหาที่หลบภัยอยู่ในห้วงแห่งความต่ำต้อย เพื่อจะลดความเจ็บปวดรวดร้าวทางจิตและความวิตกกังวลของเขาให้น้อยลง แต่กระนั้นก็ตาม รัศมีแห่งความสุขก็จะไม่มีวันฉายแสงอันสดใสให้แก่ชีวิตของเขาได้เลย

     ผู้คนเหล่านี้หลอกลวงตัวเองด้วยการเชื่อว่า เขาปลอดพ้นจากกฎเกณฑ์ข้อบังคับทั้งปวง และบัดนี้ กำลังแข่งขันกันอยู่ในสมรภูมิแห่งความเลวทรามและล้มเหลว เมื่อเราตรวจตราชีวิตของผู้คนที่ไร้คุณธรรมเหล่านี้อย่างละเอียดแล้ว เราก็จะพบว่า พวกเขาใช้วิธีการทางวัตถุให้ก้าวไปสู่จุดหมายที่เขาคาดหวังไว้อย่างรวดเร็ว คนเหล่านี้ทำให้ปรากฏการณ์ทางวัตถุเป็นแกนกลางแห่งความหวังและความปรารถนาของตนเอง แล้วความบาปก็ที่ทอดเงาอันมืดมนลงมาเหนือสังคมของพวกเขา

     แต่หากพวกเขาจะใช้ทรัพย์อันมากมาย ที่เขาใช้จ่ายไปในการบิดเบือนและก่อความยุ่งยากนั้น เพื่อส่งเสริมความประพฤติที่ดี แต่แท้จริงแล้วเพื่อที่จะเป็นประโยชน์มากกว่า อย่างไรก็ตาม มาตรฐานของความประพฤติอันเป็นที่ยอมรับของคนนั้นมักเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

     ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวว่า หากคนเรามิได้ถือว่าคุณสมบัติที่ดีงามคือข้อพิจารณาถึงบุคลิกภาพที่ดีในสังคมใดๆ แล้วไซร้ สมาชิกของสังคมจะไม่รักษาคุณสมบัติเช่นนี้ไว้ แต่จะหันไปเลียนแบบความประพฤติอื่นๆ โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดผลร้ายอะไรขึ้นบ้าง เกี่ยวกับเรื่องนี้เราควรรู้ว่าอารยธรรมในยุคปัจจุบัน ขาดความสามารถที่จะนำเอาลักษณะที่ดีงามสูงส่งมาให้แก่ผู้คนได้ และไม่สามารถรับประกันความสุขหรือการรอดพ้นจากความบาปในสังคมใดๆ ได้

     ดร. คาร์ล นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศสได้กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องมีโลก ซึ่งทุกคนสามารถพบที่ที่เหมาะสมสำหรับตนเองได้ โดยไม่ต้องเลือกว่าจะเอาเฉพาะด้านวัตถุหรือด้านจิตวิญญาณ ถ้ามีโลกเช่นนี้เราก็จะสามารถรู้ได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่า การดำเนินไปตามวิถีชีวิตที่ปราศจากการนำสู่ทางที่เที่ยงธรรมนั้น เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยอันตราย บัดนี้เมื่อเรารู้ถึงอันตรายเช่นนี้แล้ว ก็น่าประหลาดใจนักที่เรายังทอดทิ้งไม่สนใจต่อการแสวงหาวิธีคิดอย่างมีเหตุผลอยู่อีก ความจริงมีอยู่ว่า คนที่รู้ถึงอันตรายเช่นนี้มีอยู่ไม่กี่คน คนส่วนใหญ่นั้นเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา และมัวเมาอยู่กับกิเลสตัณหาเหล่านั้นเสียจนไม่คำนึงถึงว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามิได้ให้อะไรแก่เขาสักเท่าไร เขาไม่เต็มใจที่จะละทิ้งความสนุกสนานอันไม่ถูกต้อง เพื่อเห็นแก่อารยธรรมอันดีงาม

     ชีวิตทุกวันนี้เปรียบได้ดังแม่น้ำใหญ่ที่ไหลไปตามที่ลาดชัน กวาดเอาความหวังและความฝันต่างๆ ของเขาลงไปสู่ท้องทะเลแห่งความทุจริตฉ้อฉล เพราะเห็นแก่การทำให้ความกระหายและความต้องการในปัจจุบันเต็มอิ่มเท่านั้น ผู้คนจำนวนมากคิดหาความต้องการใหม่ๆ ขึ้นมา และบัดนี้ ก็กำลังต่อสู้อย่างหนักหน่วง เพื่อให้ความต้องการเหล่านั้นสัมฤทธิ์ผล นอกจากความต้องการเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีสิ่งอื่นๆ อีกที่นำเอาความสุขเพียงชั่วคราวมาให้เขา อย่างเช่นการกล่าวร้ายผู้อื่น การลอบกัด คำพูดที่ไร้สาระ ฯลฯ อันที่จริงสิ่งนี้เป็นอันตรายยิ่งกว่าสุราที่มีอันตรายต่อสุขภาพเสียอีก”

     การเถลไถลไปจากทางที่ถูกต้องอย่างหนึ่งของสังคม คือการให้ร้ายคนอื่น การที่จะอธิบายความหมายของศัพท์เฉพาะของการให้ร้ายผู้อื่น เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นนักเพราะทุกคนเข้าใจอย่างดีแล้ว

ผลของการให้ร้ายผู้อื่น

     ผลร้ายที่เป็นอันตรายที่สุดของการกล่าวให้ร้ายผู้อื่น คือความสำนึกในบุคลิกภาพด้านจิตวิญญาณของผู้กล่าวให้ร้ายจะเสียหาย ผู้ที่ละเมิดไม่ทำตามแนวทางแห่งธรรมชาติของความคิดของตนเอง นอกจากจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่นแล้ว ยังได้สูญเสียความสมดุลทางความคิดและระบบความประพฤติอันดีงามของตนไป โดยการเปิดเผยความลับและความผิดของเขาเอง

     การให้ร้ายผู้อื่นจะทำลายหลักแห่งศีลธรรมของมนุษย์ ทำให้มนุษย์หมดสิ้นเกียรติภูมิและคุณสมบัติอันดีงามไปรวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์ อันที่จริงมันจะเผาผลาญเส้นเลือดแห่งความมีศีลธรรมในหัวใจของผู้กล่าวให้ร้ายนั้นมอดไหม้เป็นเถ้าถ่าน ผู้ให้ร้ายจะเปลี่ยนความคิดอันบริสุทธิ์ จนทำให้ประตูแห่งเหตุผลและความเข้าใจของเขาปิดตาย เมื่อเราคิดถึงอันตรายที่มันมีต่อสังคม เราก็จะพบว่าการกล่าวร้ายนั้นจะนำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่สมาชิกในสังคม

     การให้ร้ายมีบทบาทอันร้ายกาจที่จะนำความเป็นศัตรูและความเกลียดชังมาสู่สมาชิกต่างๆ ในสังคมนั้น หากยอมให้มันแพร่กระจายไปในชาติใดๆ การให้ร้ายผู้อื่นก็จะทำให้ชื่อเสียงที่ดีงามของชาตินั้นหมดสิ้นไป จะสร้างรอยแตกร้าวและยากที่จะสมานขึ้นมาให้ดีใหม่ได้อีก

     แต่ก็น่าเสียดายที่เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า การกล่าวให้ร้ายต่อผู้อื่นนั้นได้เล็ดลอดเข้าไปในสังคมต่างๆ ภายในชาติ จนทำให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตวิญญาณและจิตใจ ซึ่งอาจมีอยู่ในชนชั้นหนึ่งและแพร่ไปสู่ชนชั้นอื่นๆ ในสังคมด้วย ผลก็คือ การแพร่ระบาดของการกล่าวร้ายต่อผู้อื่น การมองผู้อื่นในแง่ร้ายและการระแวงสงสัย จะทำให้ความนึกคิดและจิตใจของคนในสังคมนั้นมืดมนไป ผู้คนจะหมดความไว้วางใจ และทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เมื่อคำนึงถึงข้อนี้แล้ว เราก็อาจกล่าวได้โดยไม่ผิดว่า หากสังคมนั้นไม่ทำตัวให้สว่างไสวด้วยการคิดถึงกันแบบพี่น้องและด้วยคุณสมบัติที่ดีงามแล้ว สังคมนั้นก็ย่อมไม่มีวันที่จะมีความสมัครสมานสามัคคีหรือมีความคล้องจองกันได้ สังคมที่ขาดพรแห่งคุณสมบัติที่ดีงาม ก็ย่อมต้องห่างไกลออกจากคุณลักษณะที่แท้จริงของชีวิตอย่างแน่นอน

สิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้การให้ร้ายแพร่หลายออกไป

     การให้ร้ายต่อผู้อื่น นอกจากจะเป็นการแสดงออกซึ่งความบาปในจิตใจแล้ว การกล่าวร้ายยังเกี่ยวข้องโดยตรงต่อจิตวิญญาณของมนุษย์ การกล่าวร้ายเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอันตรายที่ซ่อนเร้นอยู่ในความสับสนทางจิต เราจะต้องแสวงหาขอบเขตด้านจิตวิญญาณและจิตใจของมนุษย์ให้พบ

     นักวิชาการจิตวิทยาด้านพฤติกรรม ได้ให้เหตุผลของการแพร่ระบาดของการกล่าวร้ายไว้มากมาย สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ ความอิจฉาริษยา ความโกรธ ความอวดดี การคิดว่าตัวเองถูกต้อง และความระแวงสงสัย ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การกระทำทุกอย่างของคนๆ หนึ่ง ย่อมมาจากภาวะบางอย่างที่แฝงอยู่ในจิตสำนึกของเขา ผลของตัวตนที่แสดงออกมาจากภาวะเช่นนั้น เปรียบได้ดังถ่านไฟสีแดงที่หมกอยู่ใต้กองขี้เถ้าเย็นๆ ลิ้นซึ่งเป็นสื่อความรู้สึกของมนุษย์ก็จะกล่าวคำให้ร้ายออกมา

     เมื่อลักษณะบางอย่างฝังลึกอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ มันก็จะทำให้นัยน์ตาของเขามืดบอด และจะบีบคั้นความคิดของเขา เหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้การกล่าวร้ายแพร่หลายออกไปก็คือ ผู้กล่าวร้ายมิได้สนใจต่อผลร้ายที่จะติดตามมาภายหลังจากการกล่าวร้าย เราจะมองเห็นคนที่ยับยั้งตนจากบาปอื่นๆ ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่มักจะไม่คิดให้ดีก่อนจะทำบาปอันนี้ คือการกล่าวร้ายต่อผู้อื่นอยู่เรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะตามมา ทำให้คนเราไร้ความสามารถที่จะยับยั้งตนมิให้ทำตามกิเลสตัณหาของเขาได้ ไม่ว่าเขาจะรู้ถึงความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยอันตรายของมันหรือไม่ก็ตาม คนเหล่านี้พยายามที่จะทำตัวให้ซื่อตรงและสมบูรณ์ คนเช่นนี้มองไม่เห็นความเป็นจริง เพราะไม่ยอมรับความเจ็บปวดแม้แต่น้อย ที่จะอยู่ในหนทางของการที่จะได้มาซึ่งความสุข ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตกเป็นเหยื่อของกิเลสตัณหาอันต่ำทรามของเขาเอง

     ผู้ที่ไม่รักษาเกียรติภูมิของตนเองหรือของผู้อื่น ก็คือผู้ที่ไม่รักษากฎแห่งจริยธรรม ผู้ที่ทำให้ชีวิตของตนเองกลายเป็นเวทีสำหรับกิเลสตัณหาของเขา และละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ย่อมสมควรได้รับความทุกข์

     การมีความประพฤติที่ไม่ดี ย่อมมาจากศรัทธาที่อ่อนแอ และพฤติกรรมก็เป็นผลมาจากความเชื่อ (ความศรัทธา) ผู้ที่ไม่มีศรัทธา เขาย่อมไม่มีแรงบันดาลใจที่จะให้ประพฤติตัวดีหรือรักษาศีลธรรมที่ดีไว้ได้

     ทุกคนต่างก็มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า จะมีวิธีการอย่างไรที่ดีที่สุดที่จะช่วยคนให้พ้นจากการเบี่ยงเบนไปจากหนทางที่ถูกต้องและความเสื่อมทรามทางศีลธรรม ตามความคิดของข้าพเจ้านั้น วิธีที่ได้ผลที่สุดก็คือ การส่งเสริมให้มีบุคคลมีคุณสมบัติในความตั้งใจที่ดี โดยการปลุกเร้าความดีงามและสัญชาตญาณของมนุษย์ในตัวเขาขึ้นมา และแนะนำให้เขาใช้คุณสมบัติที่มีอยู่ในความนึกคิดของเขาไปในหนทางที่จะบรรลุสู่ความสุข ด้วยการทำให้เขานึกถึงผลของการประพฤติชั่ว และทำให้เขามีความปรารถนาที่เข้มแข็งขึ้น เราก็อาจจะเอาชนะลักษณะที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงได้ และเอาคุณลักษณะที่ดีงามมาแทนที่ลักษณะที่ไม่ดี

     ดร.ญาโก ได้เขียนไว้ว่า “เมื่อเราตั้งใจจะต่อสู้กับนิสัยที่ไม่พึงปรารถนาอันใด ขั้นแรกเราจะต้องรู้ถึงผลร้ายของมันเสียก่อน แล้วเราก็ควรจะยอมรับว่าเรามีนิสัยที่ไม่ดีนั้น ต่อมาก็คือการคิดใคร่ครวญถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เรากลายเป็นเหยื่อของนิสัยนั้น เมื่อเรารู้ถึงขั้นตอนต่างๆ ของนิสัยนั้นแล้ว เราก็จะมีชัยชนะเหนือการหลอกล่อของนิสัยนั้นได้ และยินดีที่จะละทิ้งนิสัยนั้นเสีย”

     ถ้าเรามีพืชพันธุ์ของความซื่อตรงอยู่ในจิตใจ และมีหนทางในการปกป้องรักษามันไว้ได้ เราก็จะสามารถรู้ถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการนำไปสู่หนทางที่ผิดๆ ได้ และก็จะสามารถลบความสับสนออกไปจากจิตใจและความนึกคิดของเราได้ ด้วยการสร้างกำแพงอันแข็งแกร่งไว้ตรงหน้าความต้องการและกิเลสตัณหาอันไม่สิ้นสุดของเรา

     การกระทำของผู้หนึ่งผู้ใด สามารถทำให้เรามองเห็นได้ว่า คนผู้นั้นจริงๆ แล้วเป็นคนอย่างไร และการกระทำของเขาจะเป็นเงาสะท้อนถึงเกียรติและความเป็นจริงของเขา ด้วยเหตุนี้ถ้าใครต้องการความสุข เขาก็ต้องเลือกการกระทำที่ถูกต้องเที่ยงตรง เพื่อจะได้เปลี่ยนรูปมันให้เป็นเมล็ดพันธุ์มีค่าของความสุข มนุษย์จะต้องจำไว้เสมอว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้ถึงการกระทำทุกย่างของเขา ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยอย่างไรก็ตาม

     นักปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าวว่า “จงอย่ากล่าวว่าสากลจักรวาลนั้นไม่มีเหตุผลหรือความหมาย เพราะถ้ากล่าวเช่นนั้นก็เท่ากับว่าท่านกล่าวหาตัวเองด้วยว่า ไม่มีเหตุผลและไม่มีความหมาย ดังนั้นถ้าจักรวาลไม่มีเหตุผลหรือไม่มีความหมาย ท่านก็ไม่มีความหมายหรือเหตุผลเช่นกัน”

     ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่สังคมต้องการก็คือสิ่งต่างๆ ที่มีความจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต สังคมจึงต้องมีความกลมเกลียวกัน เพื่อให้เกิดความผูกพันทางจิตวิญญาณระหว่างสมาชิกในสังคมด้วย สังคมที่รับภาระอย่างหนักในการทำหน้าที่ ย่อมได้รับประโยชน์อย่างมากจากการทำหน้าที่นั้น

     เพื่อที่เราจะได้นำจิตวิญญาณของเรา ออกจากความมืดมนสู่แสงสว่าง เราก็ต้องรวบรวมเอาความคิดที่ดีงามทั้งหมดมาไว้ในใจเราให้เข้มแข็ง เพื่อจะได้ต่อต้านความคิดและแรงบันดาลใจที่ร้ายกาจได้ ด้วยการควบคุมลิ้นของเราไว้ไม่ให้กล่าวร้ายต่อผู้อื่น ก็จะเป็นก้าวแรกที่เราจะก้าวไปสู่ความสุขได้ เพื่อจะสามารถต่อต้านความทุจริตเลวทรามที่แพร่าหลายอยู่ในวงกว้าง เราจำเป็นต้องทำให้การปฏิวัติทางจิตวิญญาณเกิดขึ้นในมวลมนุษย์ เราอาจทำได้ด้วยการรักษาสิทธิของผู้อื่น เพื่อทำให้รากของมนุษยธรรมและจิตวิญญาณเติบโตขึ้น ซึ่งจะเป็นการก้าวไปสู่การชักนำให้คนหันมามีคุณลักษณะที่ดี ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะทำให้ทุกสังคมอยู่รอดได้

ศาสนาเปรียบเทียบกับความประพฤติชั่ว

      คัมภีร์อัลกุรอานได้เผยถึงความเป็นจริงของการกล่าวร้ายไว้ในโองการสั้นๆ แต่ทว่าน่าฟัง

       “พวกเจ้าคนหนึ่งคนใด ชอบกินเนื้อของพี่น้องของเจ้าที่ตายไปแล้วหรือ พวกเจ้ามีแต่จะรังเกียจมันเท่านั้น”

      ในทำนองเดียวกัน เป็นธรรมดามนุษย์จะต้องรังเกียจการกินเนื้อจากศพของมนุษย์ ความมีเหตุผลของเขาก็ควรจะทำให้เขารังเกียจการพูดให้ร้ายด้วย บรรดาผู้นำทางศาสนาให้ความใส่ใจเป็นอย่างมากที่จะแก้ไขความรู้สึกและลักษณะทางจิตใจของผู้คนให้ถูกต้อง เท่าๆ กับความพยายามยามที่จะกำจัดการยึดถือพระเจ้าหลายองค์และการปฏิเสธพระเจ้า

      ท่านศาสดามุฮัมมมัด (ซ็อลฯ) ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ได้กล่าวว่า “ฉันมิได้ถูกส่งมาเพื่อการใด นอกจากเพื่อมาทำให้ความประพฤติที่ดีงามนั้นสมบูรณ์”

      ศาสนาอิสลามที่ยิ่งใหญ่ ได้นำพาผู้คนไปสู่ความมีศีลธรรมจรรยา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่เข้มแข็งและมีเหตุผลหนุนอยู่เบื้องหลัง อิสลามถือว่าการละเมิดขอบเขตของศีลธรรม เป็นบาปที่ใหญ่หลวงและน่ากลัว

      อันที่จริงอิสลามมิได้หยุดอยู่แต่เพียงแค่ที่ว่า การกล่าวให้ร้ายผู้อื่นนั้นเป็นบาปที่ใหญ่หลวงเพียงเท่านั้น แต่ยังได้สั่งสอนด้วยว่าเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนด้วย ในอันที่จะปกป้องเกียรติของผู้ที่ถูกใส่ร้าย “ถ้าคนๆ หนึ่งถูกใส่ร้ายในขณะที่เจ้าอยู่ที่นั่น ก็จงช่วยเขาผู้นั้น จงตำหนิผู้กล่าวร้ายและออกไปจากกลุ่มนั้น” (นะฮ์ญุล ฟะซอฮะฮ์ หน้า 48)

      ท่านศาสดามุฮัมมัด กล่าวว่า “เขาผู้ปกป้องเกียรติของพี่น้องของเขา ในขณะที่ผู้นั้นไม่อยู่ เขาจะมีสิทธิ์ได้รับการปกป้องจากอัลลอฮ์ให้พ้นจากไฟนรก” (นะฮ์ญุล ฟะซอฮะฮ์ หน้า 613)

      และท่านกล่าวด้วยว่า “เขาผู้ซึ่งกล่าวร้ายมุสลิมในระหว่างเดือนรอมฎอน ย่อมไม่ได้รับผลรางวัลจากการถือศีลอดของเขา” (บิฮารุล อันวาร เล่มที่ 16 หน้า 179)

      ท่านศาสดามุฮัมมัด ยังได้กล่าวถึงมุสลิมดังต่อไปนี้ว่า “มุสลิมคือผู้ที่มุสลิมคนอื่นๆ จะปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา”

      เป็นที่ชัดเจนว่า ถ้าคนๆ หนึ่งยอมให้ลิ้นของเขากล่าวร้ายต่อพี่น้องมุสลิม เขาได้ละเมิดหลักศีลธรรมและกลายเป็นอาชญากรในสายตาของมนุษย์และของอิสลาม ทุกสำนักคิดของอิสลามเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า การกล่าวร้ายนั้นเป็นบาปมหันต์ เพราะผู้กล่าวร้ายได้ล่วงละเมิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า และละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่สนใจใยดีต่อคำสั่งของพระผู้ทรงสร้าง

     ในทำนองเดียวกัน คนที่ไม่ได้อยู่ในที่นั้น ย่อมไม่สามารถปกป้องเกียรติภูมิและชื่อเสียงของเขาได้ และผู้ที่ตายไปแล้วก็ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องยึดถือในกฎข้อบังคับที่เกี่ยวกับเกียรติภูมิของผู้ตายด้วย

     การกล่าวร้ายและการลอบกัดทางด้านหลัง เป็นความกดดันทางจิตใจอย่างหนึ่ง ท่านอิมามอะลี ได้กล่าวว่า “การกล่าวร้าย คือความเครียดแค้นของผู้อ่อนแอ” (ฆุรอร อัลฮิกัม หน้า 36)

     ดร.เอ็ช ซาคตีร กล่าวว่า “ความผิดหวังในสิ่งที่เราต้องการ เป็นผลทำให้จิตใจรู้สึกทุกข์ทรมาน ความทรมานในจิตใจนี้จะยุยงเราให้ป้องกันตัวเองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้คนมีการแสดงออกต่างๆ กัน ถ้าคนๆ หนึ่งรู้สึกว่าผู้อื่นมิได้ให้ความสนใจในตัวเขาอย่างที่เขาคาดหมาย ด้วยความเกรงว่าจะถูกละเลยหรือถูกรังเกียจ เขาก็จะเลือกการแยกตัวออกไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากกว่าจะมาอยู่ร่วมในสังคม เขาจะไม่พูดกับใคร แต่จะวิจารณ์ตำหนิติเตียน หรือหัวเราะเยาะผู้คนโดยไม่มีเหตุผล เขาอาจนั่งอยู่ในที่ชุมนุม แต่จะนั่งเงียบๆ แยกจากผู้อื่น หรือมิฉะนั้นเขาก็อาจโต้เถียงกับคนอื่น พูดให้ร้ายผู้ที่ไม่ได้อยู่ที่นั่น และตำหนิติเตียนคนอื่นๆ จนกระทั่งเขาจะได้พิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่า เขาอยู่ที่นั่นแล้วด้วยวิธีดังกล่าว” (รัชเด ชัคซียัต)

     ในหนังสือ The Fundamentals of Psychology (หลักเบื้องต้นของจิตวิทยา) ของ ดร.มานน์ ได้เขียนไว้ดังนี้ว่า “เพื่อที่จะรักษาเกียรติของเราไว้ เราอาจจะพยายามทดแทนความพ่ายแพ้หรือข้อบกพร่องของเรา ด้วยการกล่าวโทษผู้อื่น อย่างเช่นถ้าเราสอบตก เราก็จะโทษครูผู้ออกข้อสอบ หรือถ้าเราไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งได้ เราก็จะกล่าวโทษหรือให้ร้ายผู้ที่ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือเราอาจหาว่าเป็นความผิดของผู้อื่น ในขณะที่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น”

     สรุปได้ว่า เพื่อที่จะสร้างคุณลักษณะที่ดีให้เกิดขึ้น เราจะต้องพิจารณาตัวเองและรักษาความตั้งใจที่บริสุทธิ์เอาไว้ เราควรตั้งต้นที่ตัวเราเองก่อน เพื่อว่าจะได้มีพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับความสุขของเราและความสุขของสังคมในทุกๆ ด้าน


แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม