foto1
foto1
foto1
foto1
foto1

In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم

Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم

ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You

WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center

การด่าทอและการหมิ่นประมาท พฤติกรรมที่จะพาสู่ความชั่วร้าย

เนื่องจากการด่าทอและการใช้วาจาที่หยาบคายนั้น เป็นพฤติกรรมที่น่าเกลียดและไม่พึงปรารถนา ในด้านหนึ่ง หากเราก่นด่าและใช้คำพูดสามหาวต่อศัตรูนั้น การกระทำเช่นนี้อาจจะเป็นสาเหตุของการเพิ่มความเป็นศัตรูและความอาฆาตพยาบาทมากยิ่งขึ้น และจะทำให้พวกเขาตอบโต้เราด้วยสิ่งที่เลวร้ายกว่า อาจจะโดยคำพูดหรือโดยการกระทำ

     การใช้คำพูดที่เหมาะสมคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดของความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพของการอยู่ในสังคมที่หลากหลาย ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกันและจริยธรรมที่เหมาะสมระหว่างกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงย้ำเตือนไว้ในหลายโองการของคัมภีร์อัลกุรอาน ในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการใช้คำพูดของชาวมุสลิม อย่างเช่น การใช้น้ำเสียงในการพูด ด้วยน้ำเสียงที่นิ่มนวล (1)

      บางครั้งในการทะเลาะเบาะแว้งและความขัดแย้งต่างๆ เกิดจากการไม่ใส่ใจต่อหลักการที่สำคัญนี้ และที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งพวกเขาก็เริ่มการหมิ่นประมาทและการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม หลายคนอาจจะคิดว่าการหมิ่นประมาทที่เป็นความผิดนั้น คือการใช้คำพูดที่หยาบคายเพียงเท่านั้น ทว่าทั้งในแง่ของบทบัญญัติทางศาสนาและในแง่ของกฎหมาย ในการให้คำจำกัดความการหมิ่นประมาทนั้น ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เงื่อนไข แต่การใช้ทุกคำพูดที่ทำลายสถานภาพของบุคคลจะถูกนับว่าเป็นการหมิ่นประมาททั้งสิ้น

      กล่าวอีกสำนวนหนึ่งง่ายๆ ก็คือ ทุกคำพูดที่ออกมาจากปากของเขา อันเป็นสาเหตุของการไม่ให้เกียรติผู้อื่น ก็คือการหมิ่นประมาทและในด้านกฎหมายและในบทบัญญัติศาสนาจะถูกกำหนดบทลงโทษไว้สำหรับกริยาและวาจาเช่นนี้

      การหมิ่นประมาทและการใช้คำพูดเหยียดหยามนั้น เป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรมที่เลวร้ายที่สุดในการจัดการกับความคิดต่างๆ ของฝ่ายตรงข้าม ในขณะที่คัมภีร์อัลกุรอานได้ปฏิเสธการกระทำเช่นนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า

وَلاَ تَسُبُّواْ الَّذِینَ یَدْعُونَ مِن دُونِ اللّهِ فَیَسُبُّواْ اللّهَ عَدْوًا بِغَیْرِ عِلْمٍ

“และพวกเจ้าจงอย่าด่าประณามผู้ที่พวกเขาวิงวอนขอ (สิ่ง) อื่นจากอัลลอฮ์ แล้วพวกเขาก็จะด่าประณามอัลลอฮ์ อันเป็นการละเมิด โดยปราศจากความรู้” (2)

      ในโองการของอัลกุรอาน ได้ห้ามการกระทำเช่นนี้ไว้อย่างชัดเจน และถือว่าการระวังรักษาหลักการของมารยาทและความสะอาดบริสุทธิ์ในการพูดนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แม้แต่กับศาสนาที่มีความเชื่องมงายที่สุดและเลวร้ายที่สุด เนื่องจากว่าไม่สามารถที่จะยับยั้งบุคคลใดจากแนวทางที่ผิดพลาดด้วยการด่าทอและการพูดประณามได้ ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของอิสลามก็ดำเนินรอยตามตรรกะของคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับการละทิ้งการด่าประณามบรรดาผู้หลงผิดและผู้เบี่ยงเบน

      บรรดาผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของอิสลามได้แนะนำสั่งเสียให้ใช้ตรรกะและการใช้เหตุผลอยู่เสมอและอย่าอาศัยเครื่องมือที่ไร้ผลของการด่าประณามความเชื่อต่างๆ ของฝ่ายตรงข้าม (3)

      ในหนังสือนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ เราจะอ่านพบว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวกับสหายกลุ่มหนึ่งของท่านที่กำลังด่าประณามไพร่พลของมุอาวิยะฮ์ในสงครามซิฟฟีนว่า :

إِنِّي أَكْرَهُ لَكُمْ أَنْ تَكُونُوا سَبَّابِينَ وَ لَكِنَّكُمْ لَوْ وَصَفْتُمْ أَعْمَالَهُمْ وَ ذَكَرْتُمْ حَالَهُمْ كَانَ أَصْوَبَ فِي اَلْقَوْلِ وَ أَبْلَغَ فِي اَلْعُذْرِ

“ฉันไม่ชอบที่พวกท่านเป็นผู้ที่ชอบด่าประณาม แต่ถ้าพวกท่านอธิบายถึงพฤติกรรมต่างๆ (ที่ชั่วร้าย) ของพวกเขา และบอกถึงสภาพของพวกเขา ย่อมจะเป็นคำพูดที่ถูกต้องมากกว่าและเป็นการให้เหตุผลที่สมบูรณ์มากกว่า” (4)

     ในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ก็เช่นเดียวกันนี้  การด่าประณามของแต่ละคนสามารถจะเป็นสาเหตุของการตอบโต้กลับที่เหมือนกันของอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้เอง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและกลับคืนสู่ความสงบจะเป็นเรื่องยาก และความไม่พอใจของพวกเขาก็จะเป็นสาเหตุทำให้คำพูดต่างๆ ที่ก้าวร้าวและโต้เถียงกันขยายวงมากขึ้น

     ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับบุคคลผู้หนึ่งที่ขอให้ท่านแนะนำตักเตือนเขา ว่า

لا تسبوا الناس فتکسبوا العداوه بينهم

“พวกท่านอย่าได้ด่าประณามผู้คน อันจะทำให้พวกท่านพบความเป็นศัตรูในหมู่พวกเขา” (5)

      เนื่องจากการด่าทอและการใช้วาจาที่หยาบคายนั้น เป็นพฤติกรรมที่น่าเกลียดและไม่พึงปรารถนา ในด้านหนึ่ง หากเราก่นด่าและใช้คำพูดสามหาวต่อศัตรูนั้น การกระทำเช่นนี้อาจจะเป็นสาเหตุของการเพิ่มความเป็นศัตรูและความอาฆาตพยาบาท มากยิ่งขึ้น และจะทำให้พวกเขาตอบโต้เราด้วยสิ่งที่เลวร้ายกว่า อาจจะโดยคำพูดหรือโดยการกระทำ

      แต่เป็นที่น่าเศร้าใจที่สิ่งที่เป็นที่แพร่หลายและกลายเป็นเรื่องปกติอย่าง มากในสังคมของเรา ก็คือการด่าประณามและการใช้วาจาหยาบคาย ซึ่งไม่เพียงแต่ในช่วงที่ทะเลาะเบาะแว้งและมีปากเสียงกันเท่านั้น ทว่าแม้แต่ในการสนทนากันโดยปกติ และในความเป็นมิตรก็เป็นที่พบเห็นอย่างแพร่หลายเช่นเดียวกัน สิ่งนี้นับเป็นความน่าอับอายและน่าหดหู่ใจยิ่ง เป็นสิ่งที่ดียิ่งที่เราจะเรียนรู้บทเรียนและข้อแนะนำจากคำพูดและมารยาทของ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอย่าอนุญาตให้ตัวเองใช้วาจาคำพูดใดๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าในยามที่เกิดกรณีพิพาทกับศัตรู หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม


เชิงอรรถ :

(1) อัลกุรอานบทลุกมาน โองการที่ 19

(2) อัลกุรอานบทอัลอันอาม โองการที่ 108

(3) ตัฟซีรนะมูเนะฮ์, มะการิม ชีราซี และคณะผู้เขียน, เล่มที่ 5หน้าที่ 395, เตหะราน, ดารุ้ลกุตุบุลอิสลามียะฮ์

(4) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, กะลามที่ 206

(5) อัลกาฟี, มุฮัมมัด บินยะอ์กูบ อัลกุลัยนี, เล่มที่ 2, ฮะดีษที่ 3, หน้าที่ 360, เตหะราน, ดารุ้ลกุตุบุ้ลอิสลามียะฮ์


เรียบเรียง : ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม