foto1
foto1
foto1
foto1
foto1

In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم

Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم

ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You

WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center

เบื้องหลังการเผาทำลายมัสยิดอัลอักซอโดยไซออนิสต์

ขบวนการคริสเตียนไซออนิสต์ (Christian Zionism) ในสหรัฐอเมริกากล่าวอ้างว่าการทำลายมัสยิดอัลอักซอและการสร้างวิหารที่สามของโซโลมอนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการมาปรากฏตัวของพระคริสต์

    วันที่ 21 สิงหาคมของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันมัสยิดสากล” โดยที่ในวันนี้เมื่อปี ค.ศ.1969 มัสยิดอัลอักซอซึ่งเป็นกิบลัตแรกของชาวมุสลิมโลกได้ถูกเผาโดยน้ำมือของชาวไซออนิสต์ เกี่ยวกับสถานะทางจิตวิญญาณของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ในหมู่ชาวมุสลิมนั้นมีอย่างน้อยสี่ประเด็นตามแนวคิดและความเชื่อของอิสลาม คือ :

1. บัยตุลมักดิส (เยรูซาเล็ม) เป็นที่รู้จักกันในนามกิบลัตแรกของชาวมุสลิมมาก่อนกะอ์บะฮ์

2. เป็นสถานที่อิบาดะฮ์และการภาวนาขอพรของปวงศาสดาที่ประเสริฐที่สุดของพระเจ้า

3. การขึ้นสู่ฟากฟ้า (เมี๊ยะอ์รอจ) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้เกิดขึ้นจากสถานที่แห่งนี้และพระผู้เป็นเจ้าทรงอ้างถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ในโองการแรกของซูเราะฮ์ อัลอิสรออ์ (บนีอิสรออีล)

4. ความพินาศของอิบลีสจะเกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้

การต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรมในการครอบครองเยรูซาเล็ม (บัยตุลมักดิส)

    กรุงเยรูซาเลม (บัยตุลมักดิส) นอกเหนือจากสถานะทางจิตวิญญาณแล้วในแง่ของภูมิศาสตร์การเมืองหรือภูมิรัฐศาสตร์ก็มีสถานะที่ดีเยี่ยมเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจึงมีความสำคัญอย่างมากทั้งสำหรับฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม เนื่องจากเมืองนี้เป็นประตูเชื่อมต่อสู่สามทวีปคือแอฟริกา ยุโรปและเอเชีย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาถือเป็นจุดผ่านแดนระหว่างทั้งสามทวีป

    ดังนั้นในแง่ของยุทธศาสตร์ การพิชิตเมืองนี้เท่ากับการพิชิตพื้นที่ส่วนที่เหลือของโลกด้วย ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของกรุงเยรูซาเล็ม (บัยตุลมักดิส) ประกอบกับสถานะทางศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์ของมันสำหรับศาสนาอิบรอฮีมี (อ.) อื่นๆ ได้กลายเป็นสื่อของความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างศาสนาทั้งหลายตลอดประวัติศาสตร์ การยึดครองดินแดนปาเลสไตน์และเยรูซาเล็มโดยชาวตะวันตกและชาวไซออนิสต์เพื่อทำให้ดินแดนแห่งนี้หลุดพ้นออกจากบูรณภาพแห่งดินแดนและอำนาจการปกครองของชาวมุสลิมเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความจริงดังกล่าวนี้

สถานที่การถูกทำลายล้างของอิสราเอลในกรุงเยรูซาเล็ม

    แต่สิ่งที่สำคัญกว่าทั้งหมดก็คือมุมมองที่มีต่อกรุงเยรูซาเล็ม (บัยตุลมักดิส) จากแง่มุมทางด้านอารยธรรมของมันในท่ามกลางศาสนาทั้งหลายของพระเจ้า มีโองการของคัมภีร์อัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) จำนวนมากทั้งของชีอะฮ์และของซุนนีได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่ชี้ถึงสถานะของเมืองแห่งยุคสุดท้าย (อาครุซซะมาน)

   บนพื้นฐานข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงเหล่านี้ในความเชื่อของชาวมุสลิมนั้น มัสยิดอัลอักซอมีบทบาทสำคัญในการสร้างอารยธรรมและเป็นตัวกำหนดชะตากรรมในทิศทางของการเกิดขึ้นของการปกครองของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) โดยที่ในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาที่จะทำลายล้างอิสราเอลและพิชิตดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์นี้ให้แก่ชาวมุสลิม  ในโองการแรกๆ ของบท (ซูเราะฮ์) อัลอิสรออ์ (หรือบนีอิสรออีล) หลังจากที่ได้อ้างถึงเรื่องราวหนึ่งภายใต้ประเด็นการก่อความเสียหายของเผ่าพันธุ์อิสราเอล (บนีอิสรออีล) และการถูกทำลายของพวกเขาถึงสองครั้ง ได้แจ้งข่าวดีเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาในการย้อนกลับคืนสู่บัยตุลมักดิส (กรุงเยรูซาเล็ม) และมัสยิดอัลอักซอของชาวมุสลิม พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในโองการที่ 4 ของบท (ซูเราะฮ์) นี้ว่า :

وَقَضَیْنَا إِلَى بَنِی إِسْرَائِیلَ فِی الْکِتَابِ لَتُفْسِدُنَّ فِی الْأَرْضِ مَرَّتَیْنِ وَلَتَعْلُنَّ عُلُوًّا کَبِیرًا

“และเราได้แจ้งแก่วงศ์วานของอิสรออีลไว้ในคัมภีร์ (เตารอฮ์) ว่า “ขอยืนยันพวกเจ้าจะก่อการเสียหายในแผ่นดินสองครั้ง และแน่นอนพวกเจ้าจะก่อการกำเริบเสิบสานอย่างใหญ่หลวงยิ่งนัก”

    และในโองการถัดไป พระองค์ทรงตรัสว่า :

فَإِذَا جَاءَ وَعْدُ أُولَاهُمَا بَعَثْنَا عَلَیْکُمْ عِبَادًا لَنَا أُولِی بَأْسٍ شَدِیدٍ فَجَاسُوا خِلَالَ الدِّیَارِ وَکَانَ وَعْدًا مَفْعُولًا

“ดังนั้น เมื่อสัญญาครั้งแรกจากทั้งสองครั้งมาถึง เราก็ส่งบรรดาบ่าวของเราผู้มีอำนาจเข้มแข็งเข้าครอบครองพวกเจ้า แล้วพวกเขาบุกเข้าค้นตามบ้านเรือน (ของพวกเจ้าเพื่อการสังหารและการปล้นสะดมพวกเจ้า) และมันเป็นสัญญาที่ต้องเกิดขึ้นจริง”

    ด้วยเหตุผลต่างๆ ในเชิงตัฟซีร (การอรรถาธิบายและการตีความคัมภีร์อัลกุรอาน) การถูกทำลายครั้งแรกและครั้งที่สองของอิสราเอลก็คือความปราชัยของระบอบการปกครองของอิสราเอลและการถูกทำลายเกียรติและความหน้าเกรงขามของชาวยิวที่แฝงอยู่ในโองการเหล่านี้

    นอกจากนี้ในแหล่งอ้างอิงต่างๆ ทางด้านริวายะฮ์ (คำรายงาน) มีฮะดีษ (วจนะ) จำนวนมากที่พูดถึงเกี่ยวกับสถานะของกรุงเยรูซาเล็ม (บัยตุลมักดิส) ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน)  ตัวอย่างเช่น ท่านอิมามซอดิก (อ.) ในการอธิบายและการตีความเกี่ยวกับการประวิงเวลาของพระผู้เป็นเจ้าให้กับอิบลีส (หัวหน้าซาตาน) ไปจนถึง “วันแห่งเวลาที่ถูกกำหนดไว้” (یَوْمُ الْوَقْتِ الْمَعْلُومِ) (1) ท่านกล่าวว่า :

یَوْمُ الْوَقْتِ الْمَعْلُومِ ــ یَوْمٌ یَذْبَحُهُ رَسُولُ اللَّهِ ص عَلَى الصَّخْرَةِ الَّتِی فِی بَیْتِ‏ الْمَقْدِسِ

“วันแห่งเวลาที่ถูกกำหนดไว้นั้น คือวันที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จะเชือดมัน (อิบลีส) บนแท่นหินซึ่งอยู่ในบัยตุลมักดิส” (2)

    ดั่งที่ชาวยิวมีความเชื่อตามคำสอนของพวกเขาว่า สงครามยุคสุดท้ายที่เรียกว่า “สงครามแห่งอามาเก็ดดอน” (Armageddon) จะเกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเล็ม (บัยตุลมักดิส) ในยุคของสงครามครูเสดชาวคริสต์ก็มีมุมมองเช่นนี้ด้วยเช่นกัน และได้ทำการสังหารหมู่จำนวนมากเพื่อแย่งชิงดินแดนแห่งนี้ นอกจากนี้คำกล่าวอ้างต่างๆ เกี่ยวกับยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) ของกลุ่มก่อการร้ายไอซิส (ดาอิช) และการกำหนดเป้าพื้นที่ “ดาบิก” (Dabiq) ของพวกเขาตามฮะดีษ (วจนะ) เกี่ยวกับอาคิรซซะมานที่มีอยู่ใน "ซอเหี๊ยะห์มุสลิม" นั้นก็บ่งบอกถึงความสำคัญของภูมิภาคนี้ในสถานการณ์ของยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน)

   แต่สิ่งที่ทำให้ชาวไซออนิสต์ต้องอุตสาห์พยายามในการทำลายและเผาบัยตุลมักดิสนั้น ก็คือความเชื่อของกลุ่มคริสเตียนไซออนิสต์ในสหรัฐอเมริกาที่เชื่อว่าการทำลายมัสยิดอัลอักซอและการสร้างวิหารที่สามของโซโลมอนเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการปรากฏตัวของพระคริสต์ บนพื้นฐานของความเชื่อนี้ ส่งผลให้มัสยิดอัลอักซอถูกเผาโดยชาวไซออนนิสต์ผู้ยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ เนื่องจากหลักการของกระแสแนวคิดพระวรสารหรือพระกิตติคุณ (ผู้เผยแพร่คำสอนของพระเยซู) ในอเมริกาและอังกฤษนั้น คือการสนับสนุนทุกๆ ด้านทางความเชื่อและการเมืองของไซออนิสต์ และพวกเขาเชื่อว่าบรรดาผู้ปฏิบัติตามคริสตจักรโปรเตสแตนต์เพื่อการปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่งของพระคริสต์ (เยซู) นั้น จำเป็นจะต้องดำเนินการตามความประสงค์บางประการของพระคริสต์ (เยซู) นั่นคือ การอรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในประเด็นเกี่ยวกับคำพยากรณ์ต่างๆ ของคัมภีร์ไบเบิล

   ฮอล ลินด์เซ (Hal Lindsay) ผู้เขียนหนังสือที่มียอดขายสูงถึงแปดล้านเล่มซึ่งมีชื่อว่า "Big star is declining land” (ดาวดวงใหญ่ที่กำลังตกสู่พื้นดิน) เขาเคยพูดไว้ว่า “ชนรุ่นที่เกิดตั้งแต่ ปี 1948 เป็นต้นมาจะได้เห็นการกลับมาของพระคริสต์ แต่ก่อนที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นนั้น สงครามยะอ์ญูจ (Gog) และมะอ์ญูจ (Magog) หรือสงครามแห่งอามาเกดดอน (Armageddon) จะต้องเกิดขึ้นก่อน สงครามนี้จะเกิดขึ้นก่อนการปรากฏตัวของพระคริสต์ ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐอิสราเอล

    ตามความเชื่อของคริสเตียนไซออนนิสม์หรือผู้นับถือนิกายฟันดาเมนทัลลิสท์นั้น เหตุการณ์ต่างๆ จะต้องเกิดขึ้นโดยชาวโปรเตสแตนต์เพื่อที่พระคริสต์จะมาปรากฏอีกครั้งและบรรดาผู้ปฏิบัติตามสำนักคิดนี้มีหน้าที่ทางศาสนาที่จะต้องพยายามเร่งให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่จะต้องจัดการให้เกิดขึ้นโดยพวกเขานั้น ได้แก่ :

1.ชาวยิวจากทั่วทุกมุมโลกจะต้องถูกพาอพยพไปยังปาเลสไตน์และรัฐอิสราเอลจะต้องถูกจัดตั้งขึ้นในอานาเขตจากแม่น้ำไนล์ถึงแม่น้ำยูเฟรติส และชาวยิวที่อพยพไปยังอิสราเอลคือผู้ที่จะได้รับความรอดพ้น

2.ชาวยิวจะต้องทำลายมัสยิดทั้งสองแห่งในกรุงเยรูซาเล็ม (บัยตุลมักดิส) คือมัสยิดอัลอักซอและมัสยิดกุบบะฮ์ อัซซ็อคเราะฮ์ (Dome of the Rock) และสร้างวิหารใหญ่ขึ้นแทนที่มัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมทั้งสองแห่งนี้ (จนถึงขณะนี้มัสยิดทั้งสองแห่งในกรุงเยรูซาเล็มนี้ได้ถูกโจมตีโดยชาวยิวและคริสเตียนไซออนิสต์มากกว่าหนึ่งร้อยครั้ง)

3.วันที่ชาวยิวทำลายมัสยิดอัลอักซอและมัสยิดกุบบะตุซซ็อคเราะฮ์ ในกรุงเยรูซาเล็มนั้น สงครามศักดิ์สิทธิ์ขั้นสุดท้าย (อาร์มาเก็ดดอน) นำโดยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และในสงครามโลกครั้งนี้โลกทั้งหมดจะถูกทำลาย

4.ในสงครามอาร์มาเก็ดดอนเมื่อกลุ่มต่อต้านพระคริสต์ (แอนตี้ไครสต์) หรือ "ดัจญาล" กำลังจะชนะ พระคริสต์พร้อมกับคริสเตียนที่เกิดใหม่จะปรากฏตัวขึ้นในโลก และจะเอาชนะกลุ่มต่อต้านพระคริสต์ในช่วงสิ้นสุดสงครามอันศักดิ์สิทธิ์นี้และจะสถาปนารัฐบาลโลกของตนขึ้นโดยใช้กรุงเยรูซาเล็ม (บัยตุลมักดิส) เป็นศูนย์กลาง และมหาวิหารซึ่งถูกสร้างขึ้นแทนที่มัสยิดอัลอักซอและมัสยิดกุบบะตุซซ็อคเราะฮ์ในกรุงเยรูซาเล็มโดยชาวคริสต์และชาวยิวก่อนเริ่มสงครามอาร์มาเก็ดดอนนั้นก็จะเป็นสถานที่แห่งการปกครองโลกของพระคริสต์


เชิงอรรถ :

1- พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้ในโองการ (อายะฮ์) ที่ 36 ถึง 38 ของบท (ซูเราะฮ์) อัลฮิจรุว่า :

قَالَ رَبِّ فَأَنْظِرْنِي إِلَى يَوْمِ يُبْعَثُونَ  قَالَ فَإِنَّكَ مِنَ الْمُنْظَرِينَ  إِلَى يَوْمِ الْوَقْتِ الْمَعْلُومِ

“มัน (อิบลีส) กล่าวว่า “โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ได้โปรดประวิงเวลาให้แก่ข้าพระองค์จนถึงวันฟื้นคืนชีพด้วยเถิด” พระองค์ตรัสว่า “ดังนั้น แท้จริงเจ้าอยู่ในหมู่ผู้ถูกประวิงเวลา  จนกระทั่งถึงวันแห่งเวลาที่ถูกกำหนดไว้”

2- ตัฟซีร กุมมี, เล่ม 2, หน้า 244

   วันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1969 มัสยิดอัลอักซอถูกวางเพลิงโดยชาวไซออนิสต์ และหลายปีต่อมาหลังจากชัยชนะของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน วันนี้ (21 สิงหาคม) จึงถูกกำหนดโดยบรรดาสมาชิก OIC ให้เป็น “วันมัสยิดสากล” โดยการเสนอของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

   ในปี ค.ศ.2002 ในระหว่างการประชุมของบรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศสมาชิก OIC (57 คน) ครั้งที่ 30 ณ กรุงเตหะราน โดยการเสนอของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน โดยกำหนดให้วันที่มัสยิดอัลอักซอต้องถูกเผาโดยไซออนิสต์ (21 สิงหาคม) เป็น “วันมัสยิดโลก”


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม