ในวันที่ 25 ซุลฮิจญะฮ์ ซูเราะฮ์อัลอินซาน (ฮัล อะตา) ได้ถูกประทานลงมาในสถานะของท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) ท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) และเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งนี้ได้เกิดขึ้นหลังจากสามวันของการถือศีลอดของพวกท่านและการให้อาหารแก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึกโดยที่ในวันนั้นอาหารสวรรค์ได้ถูกประทานลงมาให้ท่านเหล่านั้นด้วย
ท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในขณะวัยเด็กได้ป่วยและท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) พร้อมกับซอฮาบะฮ์ (สาวก) สองคนของท่านได้ไปเยี่ยมบุคคลทั้งสอง สาวกคนหนึ่งเอ่ยกับท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า : “เป็นการดีทีเดียวหากท่านจะบนบาน (นัซร์) ต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อการเยียวยาบุตรชายทั้งสองของท่าน”
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า : “ฉันบนบานว่าหากเขาทั้งสองคนหายป่วย ฉันจะถือศีลอดสามวัน” ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ก็กล่าวเช่นนี้ ท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็ได้กล่าวเช่นกันว่า : “เราก็จะถือศีลอดเป็นเวลาสามวัน ด้วยเช่นกัน และฟิฎเฎาะฮ์คนรับใช้ของพวกท่านก็ได้บนบานแบบเดียวกันนี้
หลังจากนั้นไม่นานนักท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็หายป่วย บุคคลทั้งหมดก็ได้ปฏิบัติตามคำบนบาน (นัซร์) ของตนด้วยการถือศีลอด แต่เมื่อครั้นถึงเวลาละศีลอดในบ้านกลับไม่มีอาหารอะไรเลยสำหรับการละศีลอด
ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงไปหาเพื่อนบ้านชาวยิวคนหนึ่งของท่าน เขาเป็นช่างทอผ้าขนสัตว์และมีนามว่า “ชัมอูน” ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวกับเขาว่า : “ท่านพร้อมที่จะให้บุตรีของมุฮัมมัดปั่นกรอด้ายขนสัตว์จำนวนหนึ่งให้แก่ท่านเพื่อแลกกับข้าวบาร์เลย์ปริมาณหนึ่งเป็นค่าตอบแทนหรือไม่?”
ชัมอูนกล่าวว่า : “ได้ซิ!” แล้วเขาก็มอบด้ายขนสัตว์จำนวนหนึ่งแก่ท่าน
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ได้ปั่นกรอหนึ่งในสามของด้ายขนสัตว์นั้นและรับเอาข้าวบาร์เลย์จำนวนหนึ่งซออ์ (ภาชนะตวง) จากชัมอูน และได้โม่ข้าวบาร์เลย์ให้เป็นแป้งเพื่อจะทำขนมปังให้ได้ห้าชิ้นสำหรับบุคคลห้าคน
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ทำมนาซมัฆริบร่วมกับท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และได้กลับไปยังบ้าน ท่านได้นั่งลงตรงสำรับอาหารและบุคคลทั้งห้าก็ได้นั่งลง ณ สำรับอาหาร ในขณะที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ฉีกอาหารชิ้นแรกเพื่อรับประทาน ทันใดนั้นเอง คนยากจนผู้หนึ่งได้เคาะประตูบ้านและกล่าวว่า : “ขอความสันติพึงมีแด่พวกท่าน โอ้อะฮ์ลุลบัยติ์ของมุฮัมมัด ข้าพเจ้าเป็นชาวมุสลิมที่ยากจน ได้โปรดแบ่งปันอาหารที่พวกท่านกินให้ข้าพเจ้าได้กินด้วยเถิด ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงประทานเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) แห่งสวรรค์ให้แก่พวกท่านด้วยเถิด"
ทุกคนในบ้านได้มอบขนมปังทั้งห้าชิ้นให้แก่คนยากจน ในคืนนั้นบุคคลทั้งห้าได้นอนในสภาพที่หิวโหยและไม่ได้รับประทานสิ่งใดนอกจากน้ำ
วันรุ่งขึ้นพวกท่านก็ได้ถือศีลอดอีกเป็นวันที่สอง ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ได้ปั่นกรอด้ายขนสัตว์หนึ่งในสามส่วนและได้ค่าตอบแทนเป็นข้าวบาร์เลย์หนึ่งซออ์ และท่านได้นำไปโม่เป็นแป้งและทำขนมปังห้าชิ้น หลังจากการนมาซมัฆริบ ทันทีที่พวกท่านนั่งลงที่สำรับอาหาร เด็กกำพร้าก็ได้เคาะประตูบ้านและกล่าวว่า : “ขอความสันติพึงมีแด่พวกท่าน โอ้อะฮ์ลุลบัยติ์ของมุฮัมมัด ข้าพเจ้าเป็นเด็กกำพร้าชาวมุสลิม ได้โปรดแบ่งปันอาหารที่พวกท่านกินให้ข้าพเจ้าได้กินด้วยเถิด ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงประทานอาหารแห่งสวรรค์ให้แก่พวกท่านด้วยเถิด" ในคืนนั้นบุคคลทั้งห้าก็ได้นอนในสภาพที่หิวโหยเช่นเคยโดยไม่ได้รับประทานสิ่งใดนอกจากน้ำ
ในวันรุ่งขึ้นเหตุการณ์ก็เป็นเช่นเดียวกับสองวันแรก แต่ครั้งนี้เชลยศึกชาวมุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี) ได้มาเคาะประตูบ้านและกล่าวว่า : “ขอความสันติพึงมีแด่พวกท่าน โอ้อะฮ์ลุลบัยติ์ของมุฮัมมัด พวกท่านได้จับเราเป็นเชลยศึก และล่ามโซ่ตรวนพวกเรา พวกท่านจะไม่ให้อาหารแก่พวกเราบ้างหรือ?” ในคืนนั้นบุคคลทั้งห้าก็ได้ให้อาหารแก่เชลยศึกผู้นั้น และได้ละศีลอดด้วยน้ำและนอนหลับในสภาพที่หิวโหย
วันรุ่งขึ้นท่านอิมามอะลี (อ.) ได้พาท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน (อ.) ไปพบท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) บุคคลทั้งสามมีอาการสั่นเทาเนื่องจากความหิวโหย ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เมื่อเห็นสภาพของพวกท่านจึงกล่าวว่า : “โอ้อบัลฮะซัน สภาพของพวกเจ้าทำให้ฉันไม่สบายใจอย่างยิ่ง เราจงไปยังฟาฏิมะฮ์ ลูกสาวของฉันกันเถิด” บุคคลทั้งหมดได้ไปยังท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และได้พบว่านางอยู่ในมิห์ร๊อบ (สถานที่ทำการเคารพภักดีต่อพระเจ้า) และมีสภาพที่อิดโรยอย่างรุนแรงเนื่องจากความหิวโหย และดวงตาทั้งสองของนางนั้นขอบคล้ำ
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้โอบกอดนางไว้แนบกับอกและกล่าวว่า : "ฉันขอความคุ้มครองต่อพระผู้เป็นเจ้า พวกเจ้าหิวมาสามวันแล้วซินะ!"
ญิรออีล (อ.) ได้ลงมาและกล่าวว่า : "โอ้มุฮัมมัด จงรับสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงจัดเตรียมสำหรับท่านเกี่ยวกับอะฮ์ลุลบัยติ์ไว้ด้วยเถิด" ท่านศาสดากล่าวว่า : “มันคืออะไร?”
ญิบรออีล (อ.) ทูตสวรรค์ ได้อ่านโองการส่วนแรกของบท (ซูเราะฮ์) ฮัลอะตา (อัลอินซาน) จนกระทั่งถึงโองการที่กล่าวว่า :
إِنَّ هَٰذَا کَانَ لَکُمْ جَزَاءً وَکَانَ سَعْیُکُمْ مَشْکُورًا
“แท้จริง (สวรรค์) นี้คือ รางวัลตอบแทนสำหรับ (การกระทำของ) พวกเจ้า และความอุตสาห์พยายามของพวกเจ้า (ในหนทางของการภักดีต่อพระเจ้า) นั้นเป็นที่ยอมรับแล้ว” (1)
บทเรียนที่สามารถรับรู้ได้จากเหตุการณ์นี้ :
ก.ความบริสุทธิ์ใจ
เหตุผลของการพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานซูเราะฮ์ (บท) หนึ่งลงมาในเรื่องของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) นั้น เกิดจากความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) ในระดับที่สูงส่งของพวกท่านที่กระทำด้วยความมุ่งหวังความพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น โดยไม่มีเป้าหมายหรือจุดประสงค์อื่นใดนอกจากเพียงเพื่อพระองค์ ด้วยเหตุนี้เองพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงชี้ถึงสิ่งนี้ไว้ในซูเราะฮ์ (บท) อัลอินซาน ด้วยคำว่า عَلى حُبِّهِ (ด้วยความรักที่มีต่อพระองค์ ) และ لِوَجْهِ اللَّهِ (เพื่อพระพักตร์ของพระองค์) :
وَ یُطْعِمُونَ الطَّعامَ عَلى حُبِّهِ مِسْکِیناً وَ یَتِیماً وَ أَسِیراً، إِنَّما نُطْعِمُکُمْ لِوَجْهِ اللَّهِ لانُرِیدُ مِنْکُمْ جَزاءً وَ لا شُکُوراً
“และพวกเขาได้ให้อาหารแก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก ด้วยความรักที่มีต่อพระองค์ (พวกเขากล่าวว่า) แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด แท้จริงเรากลัวต่อพระผู้อภิบาลของเรา ในวันซึ่งใบหน้าทั้งหลายมีแต่ความบึ้งตึงและความทุกข์ยาก” (2)
ข.ความเสียสละ
ผู้มีเกียรติเหล่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นผู้ถือศีลอด มีความหิวกระหายและมีความต้องการอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่สองและวันที่สาม แต่ในขณะเดียวกันพวกท่านกลับให้ความสำคัญต่อผู้อื่นมากกว่าตัวเองและให้อาหารแก่บุคคลเหล่านั้นในขณะที่ตนเองก็มีความจำเป็นต่ออาหารดังกล่าว ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
ویُؤْثِرُونَ عَلى أَنْفُسِهِمْ وَ لَوْ کانَ بِهِمْ خَصاصَةٌ
“และพวกเขาเสียสละให้แก่ผู้อื่นก่อนตัวเอง ถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอย่างมากก็ตาม” (3)
และสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังและความยิ่งใหญ่ทางด้านจิตวิญญาณของพวกท่าน ในขณะที่ความต้องการอาหารของพวกท่านอยู่ในขั้นวิกฤต แต่ก็เลือกที่จะเสียสละให้แก่ผู้อื่นก่อน
ค.การบริจาค
การบริจาคจะมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นก็ต่อเมื่อสิ่งที่บริจาคนั้นเป็นสิ่งผู้เป็นเจ้าของรักและมีความผูกพันต่อมันและตามสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอาน ได้กล่าวว่า :
لَنْ تَنالُوا الْبِرَّ حَتَّى تُنْفِقُوا مِمَّا تُحِبُّونَ وَ ما تُنْفِقُوا مِنْ شَیْ ءٍ فَإِنَّ اللَّهَ بِهِ عَلیمٌ
“พวกเจ้าจะยังไม่บรรลุสู่คุณธรรม จนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้ารัก และสิ่งใดที่พวกเจ้าบริจาคไป แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรู้ยิ่งในสิ่งนั้น” (4)
และตัวอย่างที่ชัดเจนของการบริจาคในลักษณะเช่นนี้สามารถที่จะเห็นได้เป็นอย่างดีในเหตุการณ์นี้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :
لِیَبْلُوَکُمْ أَیُّکُمْ أَحْسَنُ عَمَلا
“เพื่อพระองค์จะทรงทดสอบพวกเจ้าว่าใครในหมู่พวกเจ้าที่มีการกระทำที่ดีเยี่ยมที่สุด” (5)
ในเหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้น แม้ว่าอาหารเหล่านั้นในแง่ของปริมาณแล้วไม่ได้มากมายแต่ประการใด แต่เนื่องจากคุณค่าทางจริยธรรมที่สูงส่งอันได้แก่ ความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) ความเสียสละ (อีษาร) และการบริจาคหรือการมอบให้ในทางของพระผู้เป็นเจ้า (อินฟาก) จึงเป็นเหตุทำให้อัลกุรอานบท (ซูเราะฮ์) หนึ่งได้ถูกประทานลงมาในสถานะของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.)
เชิงอรรถ :
1.อัลกุรอานบทอัลอินซาน โองการที่ 1 ถึง 22
2.อัลกุรอานบทอัลอินซาน โองการที่ 8, 9 และ 10
3.อัลกุรอานบทอัลฮัชร์ โองการที่ 9
4.อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 92
5.อัลกุรอานบทฮูด โองการที่ 7
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center