ดุอาอ์ (การอธิษฐานและการวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า) คือ สื่อประการหนึ่งที่ปวงบ่าวจะผูกสัมพันธ์ตนเองต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยตัวของมันเองแล้วถือเป็นอิบาดะฮ์ (การนมัสการและกาเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า) ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง เพื่อการตอบรับดุอาอ์ ก่อนอื่นใดจำเป็นต้องทำอย่างไร....
ดุอาอ์ จะช่วยเสริมสร้างและยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ให้เกิดความสูงส่งและทำให้มนุษย์กลายเป็นผู้ที่มีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์
ดุอาอ์ คือ การรำพึงรำพันของปวงผู้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า (เอาลิยาอุลลอฮ์) ที่มีต่อพระองค์
ดุอาอ์ คือ การวิงวอนขอและการเอื้อนเอ่ยความต้องการต่างๆ ของมนุษย์ต่อพระผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งที่แท้จริงของตน
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงเรียกร้องทุกคนสู่การวิงวอนและการขอดุอาอ์ต่อพระองค์ และพระองค์ได้ทรงสัญญาที่จะตอบรับการวิงวอนขอของพวกเขา
คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า
وَإِذَا سَأَلَكَ عِبَادِي عَنِّي فَإِنِّي قَرِيبٌ أُجِيبُ دَعْوَةَ الدَّاعِ إِذَا دَعَانِ
“และเมื่อปวงบ่าวของข้า ถามเจ้าเกี่ยวกับข้า ดังนั้น (จงตอบเถิดว่า) แท้จริงข้านั้นอยู่ใกล้ ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอนขอ เมื่อเขาวิงวอนขอต่อข้า”
(อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์โองการที่ 186)
ในอีกโองการหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสว่า
وَقَالَ رَبُّكُمُ ادْعُونِي أَسْتَجِبْ لَكُمْ إِنَّ الَّذِينَ يَسْتَكْبِرُونَ عَنْ عِبَادَتِي سَيَدْخُلُونَ جَهَنَّمَ دَاخِرِينَ
“และพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าได้ตรัสว่า จงวิงวอนขอต่อข้าเถิด แล้วข้าจะตอบรับพวกเจ้า แท้จริงบรรดาผู้โอหังต่อการเคารพภักดีข้านั้น ในไม่ช้าพวกเขาจะเข้าไปอยู่ในนรกอย่างน่าอัปยศอดสู”
(อัลกุรอานบท ฆอฟีร โองการที่ 60)
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ได้กล่าวถึงเงื่อนไขสำหรับการตอบรับดุอาอ์ไว้หลายประการ แต่จะขอกล่าวถึงบางส่วน ณ ที่นี้คือ
ความสะอาดบริสุทธิ์ของจิตใจ
เพื่อการตอบรับดุอาอ์ ก่อนอื่นใดจำเป็นต้องพยายามชำระจิตใจและจิตวิญญาณให้เกิดความสะอาดบริสุทธิ์ ทำการขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) สารภาพผิดและกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์) จากความผิดบาป ชำระขัดเกลาตนเอง เรียนรู้และปฏิบัติตามแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของบรรดาผู้นำแห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งได้แก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ของท่าน
มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า
إِیّاکُمْ أَنْ یَسْأَلَ أَحَدُکُمْ رَبَّهُ شَیْئاً مِنْ حَوائِجِ الدُّنْیا وَ الآْخِرَةِ حَتّى یَبْدَأَ بِالثَّناءِ عَلَى اللّهِ وَ الْمِدْحَةِ لَهُ وَ الصَّلاةِ عَلَى النَّبِیِّ وَ آلِهِ ثُمَّ الإِعْتِرافِ بِالذَّنْبِ وَ التَّوْبَةِ ثُمَّ الْمَسْأَلَةِ
“พวกท่านจงระวังในการที่คนหนึ่งคนใดจากพวกท่านอย่าได้วิงวอนขอสิ่งใดจากความต้องการทางโลกนี้และปรโลกต่อองค์พระผู้อภิบาลของเขา จนกว่าเขาจะเริ่มต้นด้วยการสรรเสริญและการขอบคุณต่ออัลลอฮ์ การซอละวาต (ประสาทพร) แด่ท่านศาสดาและวงศ์วานของท่าน จากนั้นคือการสารภาพความผิดบาปและการเตาบะฮ์ เสร็จแล้วจึงวิงวอนขอ (ต่อพระองค์)” (1)
2.ความสะอาดบริสุทธิ์ของทรัพย์สิน อาหารและปัจจัยดำรงชีพ
จำเป็นจะต้องพยายามทำให้ชีวิตของตนเองสะอาดบริสุทธิ์จากทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้มาโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม จากความอธรรมและการกดขี่ และการบริโภคอาหารที่ต้องห้าม (ฮะรอม) และได้มาจากหนทางที่ต้องห้าม (ฮะรอม) มีรายงานจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า
مَنْ أَحَبَّ أَنْ یُسْتَجابَ دُعائُهُ فَلْیُطَیِّبْ مَطْعَمَهُ وَ مَکْسَبَه
“ผู้ใดที่ปรารถนาที่จะให้ดุอาอ์ของเขาถูกตอบรับ ดังนั้นเขาจงทำให้อาหารและอาชีพของตนสะอาดบริสุทธิ์” (2)
การต่อสู้กับความชั่วและการทุจริต
เพื่อที่จะให้ดุอาอ์ของเราถูกต้องรับนั้น จะต้องไม่เพิกเฉยต่อการต่อสู้กับความชั่วร้าย ความเสื่อมทรามทางด้านศีลธรรมและการทุจริต การเรียกร้องไปสู่สัจธรรมและความดีงาม เพราะบรรดาผู้ที่ละทิ้งจากการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่วนั้น ดุอาอ์ของพวกเขาจะไม่ถูกตอบรับจากพระผู้เป็นเจ้า ดั่งที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า
لَتَأْمُرُنَّ بِالْمَعْرُوفِ وَ لَتَنْهُنَّ عَنِ الْمُنْکَرِ أَوْ لَیُسَلِّطَنَّ اللّهُ شِرارَکُمْ عَلى خِیارِکُمْ فَیَدْعُو خِیارُکُمْ فَلایُسْتَجابُ لَهُمْ
“ท่านทั้งหลายจะต้องกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว หากมิเช่นนั้นอัลลอฮ์จะทำให้บรรดาคนชั่วมีอำนาจปกครองเหนือบรรดาคนดีของพวกท่าน และเมื่อนั้นแม้เหล่าคนดีของพวกท่านจะวิงวอนขอดุอาอ์ แต่พวกเขาก็จะไม่ถูกตอบรับ” (3)
ในความเป็นจริงแล้ว การละทิ้งจากภารกิจอันยิ่งใหญ่ซึ่งถือเป็นการสอดส่องดูแลร่วมกันนี้ จะก่อให้เกิดความไร้ระบบระเบียบ ทำให้ความวุ่นวายความไร้ศีลธรรมและอื่นๆ เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งผลพวงของมันก็คือการเปิดเวทีทางสังคมให้กับบรรดาคนชั่ว ซึ่งการวิงวอนขอดุอาอ์เพื่อที่จะขจัดผลพวงต่างๆ ของความชั่วร้ายก็จะไม่บังเกิดผลใดๆ ทั้งนี้เนื่องจากสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ คือผลพวงที่แน่นอนของการกระทำต่างๆ ของตัวมนุษย์เอง
การปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า
ความศรัทธา (อีหม่าน) การกระทำความดี (อะมั้ลซอและห์) การมีความไว้วางใจ (อะมานะฮ์) และความซื่อสัตย์ (ศิดก์) นั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งจากเงื่อนไขของการตอบรับดุอาอ์ของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้เนื่องจากว่าใครก็ตามที่ไม่รักษาพันธะสัญญาต่างๆ ของตนเองที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้านั้น เขาอย่าได้คาดหวังใดๆ เลยว่าเขาจะได้เข้าอยู่ภายใต้สัญญาในการตอบรับดุอาอ์จากพระองค์
ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) บทหนึ่งได้กล่าวว่า : ชายผู้หนึ่งได้มาพบท่านอิมามอะลี (อ.) และร้องทุกข์กับท่านว่า “ทั้งๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า พวกเจ้าจงวิงวอนขอต่อข้าเถิด แล้วข้าจะตอบรับพวกเจ้า แต่ทำไมพวกเราวิงวอนขอแล้ว แต่ดุอาอ์ของเรากลับไม่ถูกตอบรับ”
ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวตอบว่า
إنّ قلوبكم خانت بثماني خصال
أُولاها: أنّكم عرفتم الله فلم تؤدّوا حقّه كما أوجب عليكم، فما أغنت عنكم معرفتكم شيئاً.
والثانية: أنّكم آمنتم برسوله ثمّ خالفتم سنته، وأمتُّم شريعته، فأين ثمرة إيمانكم؟!
والثالثة: أنّكم قرأتم كتابه المنزل عليكم فلم تعملوا به، وقلتم: سمعنا وأطعنا، ثمّ خالفتم!
والرابعة: أنّكم قلتم تخافون من النار، وأنتم في كلّ وقت تقدمون إليها بمعاصيكم، فأين خوفكم؟!
والخامسة: أنّكم قلتم ترغبون في الجنّة، وأنتم في كلّ وقت تفعلون ما يُباعدكم منها، فأين رغبتكم فيها؟
والسادسة: أنّكم أكلتم نعمة المولى فلم تشكروا عليها!
والسابعة: أنّ الله أمركم بعداوة الشيطان، وقال: {إنَّ الشَّيْطَانَ لَكُمْ عَدُوٌّ فَاتَّخِذُوهُ عَدُوًّا}، فعاديتموه بلا قول، وواليتموه بلا مخالفة.
والثامنة: أنّكم جعلتم عيوب الناس نُصب أعينكم وعيوبكم وراء ظهوركم، تلومون من أنتم أحقّ باللوم منه، فأيّ دعاء يستجاب لكم مع هذا، وقد سددتم أبوابه وطرقه؟
فاتقوا الله وأصلحوا أعمالكم وأخلصوا سرائركم وأمروا بالمعروف وانهوا عن المنكر فيستجيب الله لكم دعاءكم”.
“แท้จริงหัวใจของพวกท่านได้ทรยศในแปดประการ (และด้วยเหตุดังกล่าวนี้เองที่ดุอาอ์ของพวกท่านจึงไม่ถูกตอบรับ)
ประการแรก : พวกท่านรู้จักอัลอฮ์ แต่พวกท่านกลับไม่ปฏิบัติตามสิทธิของพระองค์ ด้วยเหตุนี้การรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ของพวกท่านจึงไม่ยังคุณประโยชน์อันใดแก่พวกท่าน
ประการที่สอง : พวกท่านศรัทธาต่อศาสนทูตของพระองค์ แต่แล้วพวกท่านกลับปฏิบัติในสิ่งที่ขัดแย้งกับซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่าน และได้ทำลายบทบัญญัติของท่าน แล้วไหนเล่าผลแห่งความของพวกท่าน!
ประการที่สาม : พวกท่านอ่านคัมภีร์ของพระองค์ที่ถูกประทานลงมายังพวกท่าน แต่พวกท่านกลับไม่ได้ปฏิบัติตามคัมภีร์นั้น ในขณะที่พวกท่านกล่าวว่า “เราได้ยินแล้วและเราเชื่อฟังแล้ว” แต่แล้วพวกท่านกลับฝ่าฝืน!
ประการที่สี่ : พวกท่านกล่าวว่า พวกท่านกลัวไฟนรก ในขณะที่ทุกๆ วัน พวกท่านกลับปฏิบัติในสิ่งที่เป็นการละเมิดฝ่าฝืนที่จะทำให้พวกท่านเข้าใกล้มัน แล้วไหนเล่า! ความกลัวของพวกท่าน
ประการที่ห้า : พวกท่านกล่าวว่า พวกท่านปรารถนาสรวงสวรรค์ ในขณะที่ทุกๆ วัน พวกท่านกลับปฏิบัติในสิ่งที่จะทำให้พวกท่านออกห่างจากมัน แล้วไหนเล่า! ความปรารถนาของพวกท่านต่อมัน
ประการที่หก : พวกท่านบริโภคเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้ แต่พวกท่านกลับไม่ขอบคุณพระองค์ในสิ่งนั้น
ประการที่เจ็ด : แท้จริงอัลลอฮ์ทรงบัญชาให้พวกท่านเป็นศัตรูกับชัยฎอน (มารร้าย) โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า “แท้จริงชัยฏอนคือศัตรูของพวกเจ้า ดังนั้นจงยึดเอามันเป็นศัตรูเถิด” แต่พวกท่านกลับฝ่าฝืนพระองค์โดยไม่เอื้อนเอ่ยใดๆ และปฏิบัติตามชัยฏอน (มารร้าย) โดยปราศจากการฝ่าฝืนใดๆ
ประการที่แปด : พวกท่านได้ทำให้ข้อบกพร่องต่างๆ ของเพื่อนมนุษย์อยู่ต่อหน้าสายตาของพวกท่าน แต่กลับละข้อบกพร่องต่างๆ ของตนเองไว้เบื้องหลัง พวกท่านตำหนิประณามบุคคลที่พวกท่านเองคู่ควรต่อการถูกตำหนิประณามมากกว่าเขา
ด้วยกับสิ่งเหล่านี้ แล้วดุอาอ์ใดของพวกท่านกระนั้นหรือที่จะถูกตอบรับ ในขณะที่พวกท่านได้ปิดประตูและเส้นทางต่างๆ ของการตอบรับดุอาอ์ลงหมดแล้ว! ดังนั้นพวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮ์ จงแก้ไขปรับปรุงการงาน (อะมั้ล) ต่างๆ ของพวกท่าน จงชำระจิตใจของพวกท่านให้สะอาดบริสุทธิ์ และจงกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว แล้วอัลลอฮ์จะทรงตอบรับดุอาอ์ของพวกท่าน” (4)
ฮะดีษ (วจนะ) ที่เต็มไปด้วยความหมายบทนี้ ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า คำสัญญาในการตอบรับดุอาอ์ของพระผู้เป็นเจ้านั้น เป็นคำสัญญาที่มีเงื่อนไข ไม่ใช่เป็นคำสัญญาที่ปราศจากเงื่อนไข และเงื่อนไขของมันก็คือ พวกท่านจะต้องปฏิบัติตามพันธะสัญญาต่างๆ ของตนที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่พวกท่านบิดพลิ้วและทรยศต่อพันธะสัญญาแปดประการนี้ พวกท่านได้ปิดประตูและเส้นทางของการตอบรับดุอาอ์เหล่านี้ แล้วพวกท่านจะคาดหวังการตอบรับดุอาอ์ได้อย่างไร? เมื่อใดที่พวกท่านยุติจากการทรยศและการบิดพลิ้วดังกล่าว ดุอาอ์ของพวกท่านก็จะถูกตอบรับ
การปฏิบัติตามคำแนะนำ 8 ประการ ข้างต้น ในความเป็นจริงแล้วมันคือเงื่อนไข (ชะรัฏ) ของการตอบรับดุอาอ์ และเป็นความพอเพียงแล้วสำหรับการขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) มนุษย์และการที่มนุษย์จะใช้ขุมกำลังต่างๆ ของตนเองไปในเส้นทางที่สร้างสรรค์และยังคุณประโยชน์สำหรับตนเอง
ดุอาอ์ (การวิงวอนขอ) และอะมั้ล (การกระทำ)
เงื่อนไขอีกประการหนึ่งของการตอบรับดุอาอ์ นั่นคือ ดุอาอ์จะต้องควบคู่ไปกับการกระทำ (อะมั้ล) ความอุตสาห์พยายามและการขวนขวาย ในคำพูดสั้นๆ ของท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า
الدّاعِی بِلا عَمَل کَالرّامِی بِلا وَتَر
“ผู้วิงวอนขอที่ปราศจากการกระทำ (และการขวนขวาย) เปรียบได้ดั่งผู้ยิงธนูที่ปราศจากสายธนู” (5)
เนื่องจากสายเอ็นของคันธนูนั้นคือสื่อในการขับเคลื่อนและการผลักดันลูกธนูไปสู่เป้าหมาย ดังนั้นบทบาทของ “อะมั้ล” ที่มีผลต่อ “ดุอาอ์” (การวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้า) เมื่ออุปมาอุปมัยต่อสิ่งดังกล่าวจึงนับว่ามีความชัดเจนยิ่ง
แหล่งอ้างอิง :
(1) ซะฟีนะตุ้ลบิฮาร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 448 และ 449
(2) ซะฟีนะตุ้ลบิฮาร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 448 และ 449
(3) ซะฟีนะตุ้ลบิฮาร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 448 และ 449
(4) ซะฟีนะตุ้ลบิฮาร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 448 และ 449
(5) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 337
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center